Skip to main content
 อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) 
กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้
 อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา
 
ด้วยพระนามของอัลลอฮ.ผู้ทรงเมตตากรุณาเสมอ ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนฑูตมูฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกท่าน
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมเวทีเสวนามากมายในพื้นที่และนอกพื้นที่หลังจากมีการทำบันทึกข้อตกลงการพูดคุยเพื่อสันติภาพ “peace dialogue” ระหว่างรัฐบาลไทย กับ BRN  เมื่อ28 ก.พ.56 ที่ประเทศมาเลเซีย  มีทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วยแต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ เช่นในเวทีภาคประชาสังคมชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม  2556 ณ สำนักงานศูนย์ประสานงานโครงการป้องกันและดูแลเอดส์แห่งประเทศไทย  ตำบลสะเต็ง  อำเภอเมือง  จังหวัดยะลา มีผลสรุปสำคัญคือ
1. การให้แต่ละองค์กรที่อยู่ภายใต้สภาประชาสังคมออกแถลงการณ์หนุนเสริมกระบวนการต่างๆในการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
              นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ได้ออกแถลงการณ์สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ฉบับที่ 8/2556 เรื่อง ขอสนับสนุนการลงนามแสดงเจตนารมณ์ร่วมเพื่อริเริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนทางการไทย และผู้แทนกลุ่ม B.R.N. – Coordinate ผู้แทนขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า สืบเนื่องจากการที่เลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ลงนามในเอกสารฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพกับผู้แทนขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี กลุ่ม B.R.N. –Coordinate เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วนั้น เพื่อเป็นการผลักดันกระบวนการสันติภาพดังกล่าวให้ก้าวรุดไปอย่างมีพลัง สภาประชาสังคมชายแดนใต้
           จึงขอเชิญชวนและเรียกร้องต่อทุกภาคส่วนของสังคมไทย ดังนี้ 1. การลงนามแสดงเจตนารมณ์ร่วมระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติกับกลุ่ม B.R.N. –Coordinate ครั้งนี้ นับเป็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดของรัฐบาล เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.สภาประชาสังคมชายแดนใต้มีมติสนับสนุนกระบวนการสันติภาพดังกล่าวอย่างเต็มที่ และขอเรียกร้องให้ประชาชาติไทยทุกหมู่เหล่า ตลอดจนกลุ่มพลังทางสังคมทุกภาคส่วนได้ร่วมกันสนับสนุนเจตนารมณ์ที่สร้างสรรค์นี้โดยพร้อมเพรียงกัน
2. ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพเท่าที่มีบทบาทและความสามารถจนนำไปสู่ “เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” (Safety Net)
           กระบวนการสันติภาพ (Peace Process) ในครั้งนี้ ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในบทบาทที่ตัวเองทำได้เพราะกรบวนดังกล่าวมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายชั้นและหลายระดับ กล่าวคือระดับที่ 1 (ระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจ), ระดับที่ 2 (ระดับองค์กรภาคประชาสังคมที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจและชุมชน) และระดับที่ 3 (ระดับชุมชนฐานรากในพื้นที่) ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อยุติความรุนแรงทางกายภาพ หรือในแง่นี้คือ “สันติภาพเชิงลบ” และเพื่อแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งยืดเยื้อเรื้อรังไปสู่สันติภาพที่ยุติธรรมและยั่งยืน หรือ “สันติภาพเชิงบวก” (ดังแผนภาพข้างล่างนี้ อ้างอิงจาก http://www.deepsouthwatch.org/node/4014)
  
 กระบวนการสันติภาพในระดับต่างๆ ที่มีตัวแสดงหรือผู้เกี่ยวข้องแนวทางการทำงานแตกต่างกัน
 
           ทุกคนควรมีบทบาทของการพูดคุยเพื่อสันติภาพเท่าที่มีความสามารถจนได้รับการหนุนเสริมจากสาธารณะ และหากสามารถนำไปสู่“เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” (Safety Net) ทั้งที่เป็นทางการหรือไม่ทางการก็จะทำให้ การทำงานเพื่อสันติภาพของผู้คนอันหลากหลายในระดับต่างๆ เพื่อประคับประคองให้กระบวนการสันติภาพเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน (อินชาอัลลอฮฺแปลว่า หากเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า)
 
3..กระบวนทัศน์อิสลามในเรื่องการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพมีความสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้
           อันเนื่องมาจากประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือคนในขบวนการBRN นับถือศาสนาอิสลามและยึดมั่นกับหลักการอิสลามสูงดังนั้นในหลักการศาสนาอิสลามหรือประวัติศาสตร์อิสลามใดบ้างหนุนเสริมกระบวนการพูดคุยและเจรจาสันติภาพ  (ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นคนนำเสนอในการประชุมกรรมการสภาประชาสังคมครั้งต่อไป)
           (หะยีมุหรอด ใบสะมะอุ ในนามสมาชิกสภาที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศฮ.บต.) ฝ่ายผู้นำศาสนา ได้เชิญผู้เขียนและบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาคือจะนะ  นาทวี  เทพาและสะบ้าย้อย เข้าร่วมเวทีพูดคุยผู้นำศาสนากับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน)
           เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2556 ณ  ที่ทำการชมรมผู้นำศาสนาอำเภอเทพา ทางหะยีมุหรอด  ใบสะมะอุ ในนามสมาชิกสภาที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศฮ.บต.) ฝ่ายผู้นำศาสนา ได้เชิญผู้เขียนและบรรดาผู้นำศาสนาอิสลามสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาคือจะนะ  นาทวี  เทพาและสะบ้าย้อย เข้าร่วมเวทีพูดคุยผู้นำศาสนากับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน  ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้มีข้อเสนอมากมายแต่ที่สำคัญคือกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐกับคนเห็นต่างนั้นผู้นำศาสนาสนับสนุน  โดยยกแบบอย่างศาสนฑูตมุฮัมมัดว่าท่านเคยทำสัญญากับทางต่างศาสนิก (ที่แม้ฝ่ายมุสลิมจะเสียเปรียบแต่เพื่อสันติภาพท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดก็ยอม) ซึ่ง เรียกว่า  สนธิสัญญา "อัลฮุดัยบียะห์"  ซึ่งมีประวัติพอสังเขปดังนี้
          หลังจากบรรดามุสลิมได้อพยพมาอยู่ที่มะดีนะฮ์ 6 ปี พวกเขาถูกตัดขาดมิให้เยี่ยมเยือนมัสญิด อัล ฮะรอมที่เมืองมักกะฮฺ  และทำศาสนพิธีด้วยการเดินรอบหรือฏอวาฟรอบบัยตุลลอฮ์ ทั้งๆ ที่พวกเขามีสิทธิ์ในการเยี่ยมเยือน
          ครั้นเมื่ออัลลอฮฺได้ทรงให้บรรดามุสลิม ไปเยี่ยมเยือนมัสญิด อัล ฮะรอม ดังโองการในคัมภีร์อัลกุรอานความว่า
           “แท้จริง อัลลอฮฺได้ทรงทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงแก่ศาสนฑูตของพระองค์ด้วยความเป็นจริง แน่นอน พวกเจ้าจะได้เข้าสู่มัสญิดอัล ฮะรอม อย่างปลอดภัยตามที่อัลลอฮฺ ทรงประสงค์โดย (บางคน) ของพวกเจ้าโกนผมและ (อีกบางคน) ตัดผม พวกเขาไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ เพราะอัลลอฮ์ ทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้ ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงกำหนดชัยชนะอื่นจากนั้นด้วยกับชัยชนะอันใกล้นี้” (อัลฟัตฮ์ 48 : 27)
         บรรดามุสลิมที่ไปพร้อมกับท่านศาสนฑูตครั้งนี้มีจำนวนถึง 10,400 คนและเมื่อท่านศาสนฑูตมุฮัมมัดได้ทราบข่าวในระหว่างทางว่าชาวกุเรชเตรียมขัดขวางไม่ให้มุสลิมเข้ามักกะฮ์  ท่านจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินเพื่อหลบเลี่ยงการปะทะ จนเดินทางไปถึงที่ “ อัลฮุดัยบียะห์ ” และลงพักที่ตรงนั้น
          เมื่อถึงที่นั่น ท่านศาสนฑูต ได้ส่งอุษมาน บิน อัฟฟาน เป็นตัวแทนเพื่อเจรจากับพวกกุเรช และพยายามที่จะให้พวกเขาเปิดเส้นทางให้บรรดามุสลิมเข้าสู่มัสญิดอัล ฮะรอม แต่ว่าพวกกุเรชได้กักขังหน่วงเหนี่ยวอุษมาน แล้วปล่อยข่าวว่าได้ทำการสังหารอุษมานเสียแล้ว   ท่านศาสนฑูต จึงให้บรรดาสหายของท่านทำสัตยาบัน ในการร่วมเป็นร่วมตายด้วยกัน บรรดาสหายท่านจึงจับมือทำสัตยาบันร่วมกับบท่านศาสนฑูต และเรียกการทำสัตยาบันครั้งนี้ว่า “บัยอะตุรริฎวาน” ซึ่งทำกันใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง อัลลอฮ.ทรงชมเชยผู้ที่เข้าทำสัตยาบันในครั้งนี้ ด้วยโองการที่ความว่า :
           “แท้จริง อัลลอฮ. ทรงพอพระทัยต่อบรรดาผู้ศรัทธา ขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้า (มุฮัมมัด) ใต้ต้นไม้ (ที่ฮุดัยบียะห์) พระองค์ทรงรอบรู้ดีถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา พระองค์จึงได้ทรงประทานความสงบใจลงมาบนพวกเขาและได้ทรงตอบแทนให้แก่พวกเขาซึ่งชัยชนะอันใกล้นี้”  (อัลฟัตฮ์ 48 : 18)
          เมื่อพวกกุเรชได้ล่วงรู้ถึงการทำสัตยบัน พวกเขาจึงปล่อยท่านอุษมาน แล้วส่งตัวแทนเพื่อเจรจาต่อรองกับท่านศาสนฑูตมุฮัมมัด ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันแก่ชาวกุเรชว่า ท่าน กับบรรดาสหายท่านนั้นมิได้มาเพื่อสู้รบ หากแต่ว่ามาเพื่อทำการเยี่ยมเยือน  อัลบัยตัลฮะรอม แต่พวกกุเรชไม่ยอมอนุญาติให้ตามที่ได้แจ้งไป เพราะการอนุญาตนั้นพวกเขาถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของพวกเขาต่อหน้าชาวอาหรับ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงคิดหาทางออก และทำให้เกิดการประนีประนอมเพื่อรักษาหน้าไว้ และแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของมุสลิมซึ่งข้อตกลงในสนธิสัญญานี้ มีดังนี้  ;
·       ให้มุสลิมเดินทางกลับในปีนี้ โดยไม่เข้ามักกะฮ์เพื่อทำอุมเราะฮ์(ศาสนพิธีหนึ่ง) แล้วปีหน้าให้กลับไปทำใหม่
·       ให้ยุติสงครามระหว่างทั้งสองฝ่าย เป็นระยะเวลา 10 ปี
·       ใครที่เป็นมุสลิมออกจากมักกะฮ์ไปอยู่มะดีนะฮ์ให้ส่งกลับมักกะฮ์
·       ใครออกจากการเป็นมุสลิมแล้วกลับไปมักกะฮ์ ชาวกุเรชจะไม่ส่งคืนเขาให้กับมุสลิม
·       บุคคลในเผ่าต่าง ๆ ที่จะเข้ารวมกับศาสนฑูตมุฮัมมัดหรือกุเรช พวกเขาก็ย่อมทำได้และให้แต่ละฝ่ายเคารพให้เกียรติพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย
          เท่าที่พิจารณาในเงื่อนไขต่างๆในข้อตกลงนี้พบว่าฝ่ายมุสลิมเสียเปรียบชาวกุเรซมักกะฮฺ จึงทำให้สหายท่านศาสฑูตทั้งหลายได้ทักท้วงท่านศาสนฑูต และแสดงความไม่เห็นด้วยในข้อตกลงนั้น แต่ทว่า ท่านศาสนนทูต ได้กล่าวไว้ความว่า :
          “แท้จริง ฉันเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ แน่นอน อัลลอฮฺจะไม่ทรงทอดทิ้งฉันแน่นนอน”
          ในท้ายที่สุดได้เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดามุสลิมว่า เงื่อนไขต่างๆที่เสียเปรียบได้กลับกลายเป็นผลดีกับฝ่ายมุสลิมเอง เช่น ทำให้ชาวกุเรชได้ยอมรับต่อการมีเสถียรภาพและเขตแดนของมุสลิม ในขณะที่มีการเซ็นสัญญาตกลงกันทำให้บางเผ่าได้เข้าร่วมเป็นมิตรกับบรรดามุสลิมอย่างเปิดเผย อย่างไม่หวาดเกรงต่อชาวกุเรชอีกต่อไป เช่น ที่เผ่าคุซาอะฮ์ได้กระทำ และได้เปิดโอกาสให้มุสลิม มีเวลาในการเผยแพร่หลักการอิสลามอย่างสันติ โดยท่านศาสนฑูต สามารถส่งตัวแทนไปยังเจ้าเมืองต่าง ๆ และบรรดาผู้นำประเทศในคาบสมุทรอาหรับ
4. การเยียวยาเพื่อความเป็นธรรมและการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจด้วยการกระจายอำนาจควรเป็นวาระสำคัญอยู่ช่วงการเจรจา
          นอกจากวงเสวนาประชาสังคมที่หนุนเสริมการเยียวยา  การสร้างกระบวนการยุติธรรมและกระจายอำนาจที่จะต้องทำควบคู่กันไป
          อีกเวทีหนึ่งที่ผู้เขียนในนามสภาประชาสังคมได้เข้าร่วมคือ  "คนไทยขอมือหน่อย" ณ ลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ข่ายงานชุมชนท้องถิ่น ได้ร่วมกันจัดเวทีสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ขึ้นมา โดยมุ่งเน้นที่การขับเคลื่อน 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นยุติธรรมสมานฉันท์ และประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ และสรุปผลจากเวทีสมัชชา ได้มีแถลงการณ์ออกมาจำนวน 3 ฉบับ"
          สำหรับแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เรื่องการเยียวยาเพื่อความเป็นธรรมและสมานฉันท์อย่างมีศักดิ์ศรี แถลงการณ์ฉบับที่ 2 ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และแถลงการณ์ฉบับที่ 3 การกระจายอำนาจเพื่อท้องถิ่นจัดการตนเอง และการยกร่างเอกสาร ร่าง พ.ร.บ.การปกครองพิเศษ สำหรับจังหวัดชายแดนใต้  โดยอยากให้ฝ่ายการเมืองแสดงเจตนารมณ์ว่าจะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีเพื่อสันติภาพอย่างแท้จริง เราทุกคนต้องถอยคนละก้าว เพื่อให้ที่ยืนแก่กันและกัน
          "นายรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล" เลธิการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2555 เกือบ 10 ปี ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปแล้วกว่า 14,890 คน นับเป็นความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมากมาย ช่วงหลังจึงเริ่มมีการเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกัน เอาข้อมูลมารวมกัน และตั้งขึ้นเป็นสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ตอนนี้อายุได้ 1 ปีแล้ว มีการทำนโยบายในแนวคิด เขตปกครองพิเศษ ที่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่หลายๆ คนคิดกัน คือแนวคิด "ปัตตานีมหานคร" เขตปกครองพิเศษ ให้มีคุณภาพชีวิต คุณภาพการจัดการศึกษา อัตลักษณ์ มีวัฒนธรรมของตัวเอง"
          สรุปได้ว่า  หลังจาก จาก16 ศพ ถึง“peace dialogue” รัฐบาลไทย – BRN   นั่นเราควรหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพร่วมกันทุกภาคส่วน และควรรับฟังข้อท้วงติงอย่างมีอารยะของทุกคนโดยเฉพาะคนในพื้นที่ ในขณะที่ควรนำหลักการศาสนาอิสลามในการหนุนเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพอันเป็นจิตวิญญานของคนในพื้นที่และไม่ลืมที่จะให้การเยียวยาเพื่อความเป็นธรรมและการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจด้วยการกระจายอำนาจโดยการสร้างจิตสำนึกความเป็นพลเมืองของทุกคน