Skip to main content

 

 

วันที่ 7 สิงหาคม(วานนี้) ศาลจังหวัดปัตตานีจัดกิจกรรมรำลึกถึง ‘วันรพี’ อันเป็นวันรำลึกถึงพระบิดาแห่งกฎหมายไทย เพราะบรรดาเหล่านักกฎหมายทั้งหลาย ต่างน้อมรำลึกถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ที่ศาลปัตตานีก็เช่นเดียวกัน โดยมีการจัดมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งนิทรรศการ เวทีเยาวชน การแข่งขันตอบปัญหากฎหมาย เวทีให้ความรู้เยาวชนเกี่ยวกับประวัติของพระองค์ การให้ความรู้กฎหมายเบื้องต้นแก่เยาวชน โดยความร่วมมือกันระหว่างศาลจังหวัดปัตตานี สำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี สภาทนายความความจังหวัดปัตตานี ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดปัตตานี รวมไปจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ

นายเปี่ยมศักดิ์ มาฆทาน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงความสำคัญของวันนี้ในการกล่าวสดุดีเทิดพระเกียรติว่า วันรพีเป็นวันที่มีความสำคัญและมีความหมาย ให้น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นแรกที่ได้เสด็จไปศึกษาต่อยังทวีปยุโรป ทรงเลือกศึกษาวิชากฎหมาย ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมทางกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ แล้วทรงศึกษากฎหมายไทยในภายหลัง เคยทรงดำรงตำแหน่งสภานายกข้าหลวงพิเศษ ทรงสามารถปฏิบัติงานในหลายตำแหน่ง อีกทั้งทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และทรงเป็นครูสอนกฎหมายด้วยพระองค์เอง 

“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงได้รับการยกย่องให้เป็น “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” และเรียกวันที่ 7 สิงหาคม อันเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ทุกปีว่า “วันรพี” โดยนอกจากทรงวางรากฐานกฎหมาย ระบบศาลแล้ว ทรงเน้นย้ำเรื่องของจริยธรรม คุณค่าของความดี ความงามทั้งหลาย ทรงสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า คนเราเวลาจะทำอะไรควรคิดถึงคนอื่นให้มาก นักกฎหมายที่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ นิติกรตามกระทรวงต่างๆ หรือในอาชีพอื่นใดที่ต้องใช้กฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ครูคนแรกได้บอกไว้ว่า ความรู้ทางกฎหมายนั้น จริงอยู่ต้องเรียน ต้องขวนขวาย แต่การที่จะนำความรู้มาใช้นั้น ต้องให้เป็นประโยชน์ของส่วนรวม ไม่กลั่นแกล้งรังแกใคร ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ”ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปัตตานีกล่าว 

ในการร่วมกิจกรรมวันรพี ณ ศาลปัตตานีในครั้งนี้ หลายสถาบันการศึกษาได้ให้ความสนใจในการมาร่วมกิจกรรมทั้งการตอบปัญหากฎหมาย ทัศนศึกษาศาล รับฟังกฎหมายจากผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ

โดยผู้มาร่วมงานอย่าง ด.ญ.จินต์จุฬา วิทยปรีชากุล อายุ 11 ปี นักเรียนชั้น ป. 6/1 โรงเรียนอนุบาลสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้แสดงความรู้สึกของการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ว่า “มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเยอะมาก ทั้งเรื่องทางแพ่ง ทางอาญา และรู้ว่ากฎหมายสูงสุดคือ รัฐธรรมนูญ กฎหมายอื่นๆเป็นกฎหมายลูกไม่สามารถขัดกับกฎหมายสูงสุดได้ โดยส่วนตัวอยากให้คนทำงานด้านกฎหมายช่วยดูแล ให้ความเป็นธรรม และมาช่วยกันนำสันติภาพมาในพื้นที่บ้านเรา”

ด.ญ. ต่วนเกาซัร อัลอิดรุส นักเรียนจากโรงเรียนเดียวกันกล่าวว่า “แต่เดิมคิดว่าการมาศาลนั้นน่ากลัว เพราะคนที่มาศาลก็จะเป็นผู้กระทำความผิดและญาติๆ บรรยากาศไม่ค่อยดี แต่การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ความรู้ที่ได้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนได้ และที่สำคัญคือทำให้หนูใฝ่ฝันอยากเป็นผู้พิพากษา อยากทำงานเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับสังคม หนูอยากเป็นผู้หนึ่งที่มาช่วยแก้ปัญหาความไม่สงบ และรักษาความยุติธรรม”

นอกจากนี้ในกิจกรรมของศาลปัตตานีได้เปิดโอกาสให้นักศึกษมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาร่วมกิจกรรม ซึ่งได้สร้างทัศนคติที่ดีต่อกระบวนการยุติธรรม และมีความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำสันติภาพมาสู่พื้นที่

“แต่เดิมพวกผมก็ได้เรียนตามตำรา การมาศาลคราวนี้ได้ทำให้เห็นของจริง เห็นห้องพิจารณาคดีจริงๆ เห็นการดำเนินการสืบพยานจริงๆ ก็ได้ปรับความคิดที่ศาลเป็นเรื่องน่ากลัวไปได้บ้าง”
 อดินันท์ สะมาแอ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จาก มอ.ปัตตานีเปิดเผยความรู้สึก

 

alt

 

นอกจากนั้นเพื่อนของเขาอย่าง นายอดินันท์ มะแซ ได้กล่าวเสริมว่า “กิจกรรมแบบนี้น่าจะจัดปีละหลายๆครั้ง โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในงานมากขึ้น และต้องการให้ท่านผู้พิพากษา หรือนักกฎหมาย มาเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยในการให้ความรู้เรื่องนี้บ้าง การที่คนไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้สิทธิ ไม่เข้าใจกระบวนการยุติธรรม มันก็ยากที่เขาจะต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรมได้จริง” 

เขายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าอยากให้ชาวบ้านเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม จัดโครงการโมบายความรู้กฎหมายไปสู่หมู่บ้านในพื้นที่ เพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีความรู้มากที่สุด

ทางด้านนายอนุกูล อาแวปูเตะ ประธานศูนย์ทนายความมุสลิม ได้ให้ภาพของการทำงานของนักกฎหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า บทบาทของนักกฎหมายไม่ใช่แค่เพียงปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีเวทีอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนที่ห่างไกลด้วย

“ ชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมนั้นน้อยมาก เมื่อไม่รู้ก็ทำให้เกิดความกลัวในการมาศาล เราต้องช่วยกันสร้างทัศนคติใหม่ว่า การมาศาลไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว และประเด็นสำคัญที่อยากจะพูดคือ วงการกฎหมายนั้นอยู่บนหลักเหตุและผล ไม่ใช่เรื่องของอำนาจ ถ้าประชาชนไม่ได้กระทำผิดก็ไม่ต้องกลัว ระบบศาลนั้นได้ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่” ประธานศูนย์ทนายความมุสลิมกล่าวทิ้งท้าย