Skip to main content

  color:#333333">ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ


เมื่อเช้า ขณะที่กำลังระบายความทุกข์อยู่ในห้องน้ำในสถานีขนส่งอาเขต จ.เชียงใหม่ ข้าพเจ้าพลันคิดได้ว่า...

หากเปรียบเทียบ เชียงใหม่กับปัตตานี หรือ ล้านนากับปตานี แล้วมันมีความต่างกันมากอยู่อักโข มันไม่ใช่ความต่างทางวัฒนธรรม การใช้ชีวิต ภาษา ฯลฯ หากมันคือปมประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์กับปัญหาของอาณานิคม น่าทึ่งจริงๆ หากเราเทียบเส้นเวลาแล้วเราอาจพบว่าปัญหาของภาวะสมัยใหม่ของล้านนาและปตานีอาจเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเกิดขึ้นของเทศาภิบาล อาณาจักรล้านนามีเส้นทางการค้าเชื่อมต่อยังจีนและเขตดินแดนตอนใน ผู้คนคุ้นเคยกับสินค้าทางวัฒนธรรมมากมายมานาน ทั้งยังเป็นแหล่งระบายสินค้าของอาณานิคมอังกฤษเสียอีก (ผ่านทางพม่า) ขณะที่ปตานีก็ไม่น้อยหน้า เชื่อมต่อกับการค้าทางทะเล สัมพันธ์กับอาณานิคมอังกฤษ และผู้คนหลายเชื้อชาติที่อพยพเข้ามาในดินแดนแถบคาบสมุทร

ผมคิดว่าปัญหาหลังจากการปกครองแบบเทศาภิบาลและช่วงเวลาหลังจากนั้นส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เชียงใหม่และล้านนากลายสภาพเป็นอาณานิคมภายใน อัตลักษณ์ท้องถิ่นถูกสร้างขึ้นผ่านการหยิบยืมและอิงแอบโครงเรื่องประวัติศาสตร์ อำนาจ และกลวิธีการเล่าจากส่วนกลาง มันจึงไม่แปลกที่ล้านนาจะกลายเป็น "ภาคเหนือ" ที่ถูกยอมรับและกลายเป็นกระแสท้องถิ่นนิยม (เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่ามันไม่ใช่แค่ท้องถิ่นนิยมแต่เป็น "ล้านนาบ้าเลือด" ในความหมายของเสื้อหม้อฮ่อมต้องมาก่อนทุกอย่าง) ประเด็นพวกนี้ผมเคยวิเคราะห์ไว้บ้างในบทความศึกษาความคิดของบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ในวารสารไทยคดีศึกษา กับการวิเคราะห์เรื่องสั้นของ ส.ธรรมยศ ในงานสัมมนาที่มธ. ปีที่แล้ว แต่หากจะกลายให้กระชับขึ้นคือ ผมมองวิถีล้านนาเป็นสังคมหลังอาณานิคม ผู้คนไม่สงสัยว่าวัฒนธรรมล้านนาที่เป็นอยู่คือบทสนองและบทเสนอตนกับศูนย์กลางอำนาจ มองแบบคนรู้น้อยแต่กร่างก็คือ การศึกษาวัฒนธรรมล้านนาในภาพกว้างๆที่บรรจุคำสำคัญประเภท ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น การต่อรอง ต่อสู้ ฯลฯ อาจดูฟังขึ้นและมีตรรกเหตผลที่ดี แต่มันดูหน่อมแหน้มไปนิด หากขาดการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง โดยเฉพาะอำนาจและเสียงเล่าอัตลักษณ์ที่ตนใช้นำเสนอ ความน่าสนใจในล้านนาในปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องชายขอบ ความเป็นอื่นเพียงอย่างเดียวหรืออีกต่อไป หากคือการย้อนวิพากษ์การใช้อำนาจของคนตัวเล็กตัวน้อย การใช้อำนาจของท้องถิ่นและคนชายขอบว่ามีปัญหาอย่างไรมากกว่า

แต่ก็อย่างที่บอกไว้นานนม พอกลับมาย้อนดูภูมิหลังการทำงานของตัวเอง ผมก็เริ่มรู้จักภาคใต้โดยเฉพาะแถบคาบสมุทรมลายูน้อยลงทุกที ในเบื้องต้น ผมคิดว่าปัญหาของโลกมลายูก็ไม่ต่างจากล้านนามากเท่าไหร่ ซ้ำร้าย ชนชั้นปกครองหรือชนชั้นนำมลายูตั้งแต่อดีตก็ออกจะร้ายกว่าที่อื่นๆ นับตั้งแต่ปล้นสดม ฉุดคร่าลูกสาวชาวบ้าน เก็บภาษีแพง ไม่แปลกใจเลยที่ผมมักเบ้หน้าหรือยี้ เวลาคนเอาหลักฐานประเภทเซอจาเราะห์มลายูและมลายูเกอราจาอานมาอ้างว่าคือประวัติศาสตร์ปตานี เพราะแท้จริงแล้วมันก็ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์เสียกรุงอยุธยาสองครั้งนั่นแหละ มันคือโลกของชนชั้นนำและบรรดากษัตริย์ มันมีความสำคัญก็จริงแต่ก็มีข้อจำกัดมากในการอธิบาย ทุกวันนี้ คนมลายูจำนวนมากก็ตกอยู่ในวิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ทั้งยังพยายามสร้างอัตลักษณ์เพื่อเสนอและสนองรัฐไม่ต่างจากล้านนา

สิ่งเดียวที่แตกต่างในมุมมองของผมซึ่งไม่ใช่นักวิชาการที่เชี่ยวชาญอะไรเลย (แถมยังจะตกงานอีก) คือในปัจจุบันคนในโบลกมลายูมิได้ดำรงตนในสังคมหลังอาณานิคมเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีอาการต่อต้านอาณานิคมเกิดขึ้นเป็นระยะ บางครั้ง ผมอดนึกไม่ได้ว่าสำนึกของคนมลายูจำนวนหนึ่งก็คือ "ยอมตายไม่ยอมแพ้" ผมเคยสัมภาษณ์ผู้อยู่ในกลุ่มก่อการ แนวร่วม หรือผู้เห็นเหตุการณ์ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ แต่พวกเขาทำให้ผมตระหนักว่าการหยิบพร้าและวิ่งออกมาสู้กับกระบอกปืนมีจริง การตอบโต้ด้วยตาต่อตาฟันต่อฟันมีจริง และทั้งหมดก็เกิดขึ้นท่ามกลางปริศนาและความสับสนว่า "อัตลักษณ์มลายู" คืออะไรและควรเดินไปในทิศไหน เพราะปัจจัยไม่ได้มีแค่รัฐหากยังมีกระแสปฏิรูปศาสนาอิสลามเป็นอีกหนึ่งปัจจัย พูดอีกอย่างคือ ผัสสะเรื่องความไม่เป็นธรรมและอยุติธรรมของคนมลายูเกิดขึ้นเร็วมาก

แหมมม พูดอย่างนี้ผมไม่ได้หมายหมายถึงล้านนาอ่อนแอหรือไม่สู้นะครับ อย่าสู้กันเลย...ผมกลัว...ผมหมายถึงผัสสะที่เกิดขึ้นความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐต่างหาก ข้อเสียบางประการของ"อาการตื่นตัวเร็ว" ในภาคใต้ก็คือ มันนำมาสุ่ความรุนแรงเร็วหน่ะสิ ทั้งยังเอาเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ และศาสนามาใช้เป็นความชอบธรรมกระทำความรุนแรงด้วย...

แต่บางครั้งถ้าให้ผมเลือก ระหว่างการสยบยอม เสนอตนหรือสร้าง, ต่อรองอัตลักษณ์แบบล้านนากับการยอมตายไม่ยอมแพ้แบบมลายู ผมคงเลือกอย่างหลังแม้ว่าจะเป็นได้แค่เพียงในจินตนาการ 

นั่นเป็นเพราะ การกอบกู้จิตวิญญาณที่สูญหายไป คือสิ่งที่ยากที่สุดของความเป็นมนุษย์ พวกเราทุกคนจึงเลือกที่จะอยู่แบบโกหกตัวเองไปวันๆ ด้วยคำว่า ต่อรองอัตลักษณ์บ้าง การสร้างพื้นที่ที่สามบ้าง หรือการต่อสู้ด้วยการเมืองเรื่องอัตลักษณ์บ้าง จินตนาการว่าพวกเรายังคงเป็น agency, actor ซึ่งกำลังต่อสู้กับโครงสร้างครอบงำมากมาย

บางที ความตายจึงง่ายกว่าการมีชีวิตอยู่ การมีชีวิตอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นพันธะกิจของมนุษย์..."ปัญหาของการอยู่" ต่างหากคือคำถามสำคัญ

พอแล้ว...ยิ่งเขียนยิ่งนึกถึงสภาพห้องน้ำเมื่อเช้านี้...