Skip to main content

 ฟารีดา ปันจอร์

               แม้คนทำงานในองค์กรภาคประชาสังคมในฟิลิปปินส์ต้องเผชิญหน้ากับกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักครั้งแล้วครั้งเล่า แต่พวกเขาก็มีความพยายามยืนหยัดในการสร้างสันติภาพท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ การก่อตัวของภาคประชาสังคมที่ได้ดำเนินมาอย่างยาวนานนับแต่ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร  (MNLF) แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลงต่องานด้านสันติภาพของพวกเขา

               เมื่อกล่าวถึง ความบาดหมางที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ปกครองและกลุ่มมุสลิมโมโรในเรื่องข้อพิพาททางดินแดนมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์  ถือว่าเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานตามห้วงเวลาของประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดินิยมสเปน (ระหว่าง ค.ศ.1521-1898)  และการต่อต้านนักล่าอาณานิคมชาวอเมริกัน (ระหว่าง ค.ศ.1898-1946)  จนมาถึงในยุคปัจจุบัน (ตั้งแต่ ค.ศ.1970) ที่มีการต่อต้านรัฐบาลฟิลิปปินส์นำโดยแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front - MNLF ) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการสู้รบทำให้ผู้คนราว 120,000 ราย ถูกสังหารและอีกกว่า 2 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้อพยพ

             แม้มีความพยายามในการสร้างสันติภาพมาตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่ามีความยากลำบากในการแสวงหาสันติภาพอย่างยั่งยืน นับตั้งแต่ ฟิเดล รามอส ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (1992-1998) เขามีความพยายามเป็นครั้งแรกในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่ม MNLF ในข้อตกลงสันติภาพฉบับสมบูรณ์ (Final Peace Agreement) ในปี 1996  แต่ด้วยการอ้างว่าข้อตกลงกล่าวบิดเบือนไปจากกรอบที่รัฐบาลทำไว้ตั้งแต่ต้น กลับทำให้กลุ่มย่อยภายใน MNLF ไม่พอใจ นำมาสู่การเรียกร้องเอกราชจากฟิลิปปินส์ และแยกตัวออกมาก่อตั้งแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF) กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดทางที่เกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์           

             ความพยายามของเครือข่ายภาคประชาสังคมในช่วงเวลานั้นเป็นไปในลักษณะของการเปิดพื้นที่การพูดคุยระหว่างศาสนา ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970  นำโดยกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างชาวคริสต์และชาวมุสลิมในประเทศ ต่อมาในสมัยของประธานาธิบดี ฟิเดล รามอส ช่วงปี 1992 ความพยายามดังกล่าวได้รับการสนับสนุนต่อโดยรัฐบาลซึ่งมีการก่อตั้งคณะกรรมการเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (National Unification Commission - NUC)  ตามมาด้วยสัมมนาระหว่างผู้นำศาสนาคริสต์และมุสลิม (Bishops-Ulama Conference) ในปี 1996  

 

Peace Zone - ในปี 2003 ผู้นำชาวคริสต์และมุสลิมที่เมือง Davoa จังหวัด Davao del Sur ซึ่งติดกับจังหวัด Cotabato ในมินดาเนา กำลังเรียกร้องพื้นที่สันติภาพให้กับชุมชนของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการ (ที่มา -http://www.gbgm-umc.org/honduras/old/articles/cover%20story%20philippines%20space%20for%20peace.htm)

 

           อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกรอบของความขัดแย้งทางศาสนาทั้งหมด เพราะการต่อสู้ของกลุ่ม MNLF ที่เขาอ้างว่าเป็นตัวแทนชาวโมโรมุสลิมส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวในแบบชาติพันธุ์นิยมไม่ใช่ปัญหาทางศาสนา ดังนั้น การสนับสนุนให้มีการพูดคุยระหว่างศาสนาจึงยังไม่สะท้อนการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด  นอกจากนี้สถานการณ์ความรุนแรงยังกระตุ้นให้ชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีความยากลำบากและไม่ไว้วางใจชาวมุสลิมที่เป็นชนส่วนน้อยในประเทศ

              เนื่องจากภาคประชาสังคมท้องถิ่นไม่สามารถรีรอรัฐบาลและฝ่ายขบวนเป็นฝ่ายสร้างสันติภาพได้อีกต่อไป พวกเขาจึงก็มีความพยายามอีกครั้งในช่วงหลังของทศวรรษที่ 1990 ในการผลักดันและประกาศให้มีเขตสันติภาพ หรือ “Peace Zones” โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งบางครั้งก็มีหน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่นให้การสนับสนุน ช่วงเวลานี้จัดได้ว่าเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงการทำงานสร้างสันติภาพในระดับรากหญ้าเช่น มีความพยายามในการจัดให้มีที่พำนักเพื่อสันติ หรือ “Sanctuaries for Peace” ใน 42 ชุมชน

              เมื่อประธานาธิบดี โจเซฟ เอสตราดา (1998-2001) เข้ารับตำแหน่ง แม้เขาจะสานต่อการพูดคุยอย่างเป็นทางการ แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้ประกาศมาตรการที่แข็งกร้าวในการทำสงครามกับกลุ่ม MILF (all-out war) นำมาสู่ความไม่พอใจกับฝ่ายตรงข้ามและเกิดเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างสองฝ่ายอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่ภาคประชาสังคมสานต่อความพยายามในการจัดตั้งเขตสันติภาพต่อไป เช่น ชาวคริสต์และชาวมุสลิมนำโดยบาทหลวงคาทอลิกที่เมือง Nalapaan จังหวัด North Cotabato ได้พยายามตอบโต้มาตรการดังกล่าวด้วยการสร้างตัวอย่างเขตสันติภาพที่เมือง Nalapaan ซึ่งถือเป็นเมืองหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ ศาสนา และเศรษฐกิจสูง การสร้างเขตสันติภาพดังกล่าวนับว่าเป็นการเยียวยาบาดแผลจากสงครามและดึงเอาชุมชนต่างๆ เข้ามาอยู่ด้วยกันจนชุมชนรอบข้างเอาเป็นแบบอย่าง ด้วยความช่วยเหลือขององค์กรระหว่างประเทศ แต่ความรุนแรงที่ปราศจากสัญญาณแห่งการมีข้อตกลงสันติภาพจากรัฐบาล ทำให้เขตสันติภาพของพวกเขายังไร้หลักประกันด้านความปลอดภัย

            ครั้งเมื่อประธานาธิบดี กลอเรีย มาคาปากัลป์ อาร์โรโย เข้ามาบริหารประเทศ (2001-2010) ก็มีความพยายามอีกครั้งในกรอบข้อตกลงทั่วไปเพื่อเริ่มต้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพครั้งใหม่ (Agreement for the General Framework for the Resumption of Peace Talks) ซึ่งมีการลงรายละเอียดในการให้อำนาจเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมมินดาเนา (Autonomous Region of Muslim Mindanao: ARMM) แต่เมื่อกองกำลังความมั่นคงของรัฐบาลบุกโจมตีกลุ่ม MILF ในปี 2003 ที่ Buliok Complex ซึ่งเป็นค่ายและฐานบัญชาการที่ใหญ่ที่สุดของขบวนการ MILF  ความรุนแรงครั้งใหญ่จึงได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ต่อมาในปี 2008 การต่อสู้กันก็เกิดขึ้นอีกเมื่อ MILF ตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการออกบันทึกความตกลงร่วมกันเกี่ยวกับอาณาเขตที่เป็นของบรรพบุรุษ หรือ Memorandum of Agreement on Ancestral Domain (MOA-AD) ซึ่งบันทึกดังกล่าวมีปัญหาติดขัดอยู่ที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายของฟิลิปปินส์

            ในช่วงการบริหารประเทศของประธานาธิบดีอาร์โรโย องค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทโดยตรงมากขึ้นที่จะเข้าไปมีอิทธิพลโดยตรงต่อรัฐบาล เช่น การจัดให้มีเวทีสันติภาพในระดับประเทศนำโดยนักรณรงค์ภาคประชาสังคมคนสำคัญอย่างไอรีน ซานติอาโก (Irene Santiago) ผู้ก่อตั้งองค์กรมารดาเพื่อสันติภาพ (Mothers for peace) หรือ การจัดให้มีเวทีสันติภาพร่วมกันทั้งจากองค์กรภาคประชาสังคมและฝ่ายรัฐบาลในช่วงกลางปี 2001 แต่เมื่อความรุนแรงได้เกิดขึ้นในช่วงปี 2003 ที่ค่าย Buliok Complex ภาคประชาสังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับระหว่างประเทศก็รีบพัฒนาให้เกิดข้อตกลงหยุดยิง Bantay Ceasefire โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กร IID (The Initiatives of International Dialogue) และ สำนักเลขาธิการสภาประชาชนมินดาเนา (Secretariat of the Mindanao Peoples Caucus) เพื่อพัฒนาคณะทำงานประเมินและติดตามในระดับท้องถิ่น ( Local Monitoring Team) ในการติดตามกลไกการหยุดยิงของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวยังมีลักษณะของการปิดลับและไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนทางการเมือง อีกทั้งยังขาดแคลนการสนับสนุนทางด้านการเงินอีกด้วย

 

Bantay Ceasefire - ภาคประชาสังคมรวมตัวกันเรียกร้องให้มีการหยุดยิงหรือเรียกว่า Bantay Ceasefire ในปี 2003 (ที่มา - http://www.caritas.org.au/learn/countries/philippines)

              หลังจากนั้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่โดดเด่น เริ่มเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพที่เป็นทางการมากขึ้น เช่น ซิลเวีย ปารากูยา (Sylvia Paraguya) ได้เข้าไปเป็นประธานสภาการพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชนของมินดาเนา (Mindanao Caucus of Development NGOs - MinCODE) ส่วน เทเรซิต้า ควินโตส เดลส์ (Teresita  Quintos Deles) เข้าไปในฐานะผู้ช่วยประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ค่อนข้างเป็นความลับมีช่องทางในการพูดคุยเป็นการเฉพาะ อีกทั้งยังมีเทคนิคในกระบวนการพูดคุยค่อนข้างสูง ทำให้ภาคประชาสังคมโดยทั่วไปรู้สึกตึงเครียดและปราศจากความมั่นใจในสิ่งที่พวกเขาสามารถจะพูดได้ในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐบาลเพื่อเป็นที่ปรึกษาได้อย่างอิสระ  

             ไม่นานมานี้ ความหวังเริ่มมีมากขึ้นเมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดี เบนิกโน อากีโน ที่ 3  (2010 – ปัจจุบัน) เดินหน้ากระบวนการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการทันที หลังจากที่มีการส่งสัญญาณจากกลุ่ม MILF ว่าพวกเขาไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป แต่ต้องการการปกครองตัวเองอย่างจริงจังที่ไม่เหมือนกับการจัดตั้งเป็นเขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมมินดาเนา (ARMM) จนมาถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2012 รัฐบาลได้เซ็นกรอบข้อตกลงบังซาโมโร (Framework Agreement on the Bangsamoro) ที่ให้อำนาจมากกว่าการเป็นเขตปกครองตนเองแบบเดิม ซึ่งรวมเอาประเด็น “การแบ่งสรรอำนาจและความมั่งคั่ง” อยู่ในนั้นด้วย

 

Framework  Agreement color:#4F6228;"> - หญิงชาวโมโรกำลังร่วมเซ็นกรอบข้อตกลงสันติภาพบังซาโมโรจำลอง ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วมของประชาชน (ที่มา - http://www.mindanews.com/top-stories/2012/10/16/davaoenos-stage-symbolic-signing-of-framework-agreement/)

              ในกรอบข้อตกลงบังซาโมโร ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานเบื้องต้น ในเนื้อหาของข้อตกลงนี้ได้ให้อำนาจในการมีคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านที่มีลักษณะความร่วมมือในแบบประชาธิปไตยที่ให้ภาคประชาสังคมสามารถเสนอกฎหมายจากภาคประชาชนได้เอง แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการทำงานของภาคประชาสังคมและแง่มุมในการจัดการความขัดแย้ง ควบคู่กันไปนั้น ภาคประชาสังคมก็ผนึกความเข้มแข็งมากขึ้น เช่น การที่สภาประชาชนมินดาเนาได้เข้าไปร่วมกับคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อประเมินและติดตามการปกป้องพลเรือน (Mindanao People’s Caucus involvement in the Civilian Protection Component of the International Monitoring Team) ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนสองแห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนมินดาเนา (Mindanao Human Rights Action Center - MinHRAC)  และองค์กรมุสลิมในภาครัฐและภาควิชาชีพต่างๆ (Muslim Organization of Government and Other Professionals - MOGOP)

         ในการนี้รัฐบาลอากีโน เดินหน้าตามนโยบายความมั่นคงของประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือและทำงานในเชิงการบูรณาการกระบวนการสันติภาพอย่างจริงจัง โดยก่อตั้งสำนักที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ (Office of the Presidential Adviser on the Peace Process - OPAPP)  หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่ผลักดันกระบวนการสันติภาพให้อยู่ในกระแสหลักของสังคม เพื่อหาความสนับสนุนจากสาธารณชนในการผลักให้รัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธรักษาโต๊ะเจรจาและก่อร่างข้อตกลงสันติภาพให้เร็วเท่าที่สามารถจะทำได้ ความพยายามดังกล่าวประกอบไปด้วยการสื่อสารมวลชน การรณรงค์ขับเคลื่อนทางสังคม ร่วมกับภาคส่วนที่หลากหลายในการสนับสนุนโครงการและกิจกรรมเพื่อสันติภาพ เพื่อให้กระบวนการสันติภาพอยู่ในความตระหนักรู้แก่สาธารณชน

 

Teresita - เทเรซิต้า ควินโตส เดลส์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพคนสำคัญในฟิลิปปินส์ เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ ทั้งในปี 2003 และ ได้รับเลือกอีกครั้งโดยประธานาธิบดีอากิโนในปี 2010  ในข้อความนี้เธอกล่าวว่า “กระบวนการสันติภาพนั้นถูกรักษาไว้ด้วยความหวัง ซึ่งเป็นเครื่องหมายของผู้สร้างสันติภาพทั้งหมด และคุณสามารถอธิบายได้ดีกว่าฉันว่าความหวังนั้นเชื่อมโยงกับความศรัทธาไว้อย่างใกล้ชิดอย่างไร” (ที่มา - https://www.facebook.com/peace.opapp)

          สิ่งนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าภาคประชาสังคมโมโรและรัฐบาล เริ่มเข้าใจถึงความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพมากขึ้นในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ประเด็นความขัดแย้งที่ซูลูและบาซิลันจะฉุดรั้งการพัฒนาภาคประชาสังคมให้น้อยกว่าในมินดาเนาส่วนกลาง แต่ภาคส่วนประชาสังคมมุสลิม ไม่ว่าจะเป็นอูลามาอ์และอลีมัต (ผู้รู้ศาสนาหญิง) ก็เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในการช่วยแก้ปัญหา เช่น การมีสภาอูลามาอ์เพื่อสันติภาพและการพัฒนา (Sulu Ulama Council for Peace and Development) เกิดขึ้นในปี 2010 ที่ทำงานร่วมกับจังหวัดในประเด็นการพัฒนาและกองกำลังความมั่นคงการรักษาสันติภาพและความสงบเรียบร้อย

          นอกจากนี้ก็ยังมีภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนและทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิเอเชีย (Asia Foundation) หรือศูนย์สนทนาเพื่อมนุษยธรรม (Centre for Humanitarian Dialogue - HD) ก็เพื่อที่จะเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างกลุ่ม MNLF และ MILF โดยให้ความสำคัญกับรากหญ้า เพื่อนำเสนอวาระของชาวโมโร “Moro Agenda” ร่วมกัน อีกทั้งกระบวนการสันติภาพได้รวมเอาพลังของผู้หญิงในภาคประชาสังคมด้วย เช่น ศาสตราจารย์มีเรียม โคโรเนล-เฟอเรอร์ (Professor Miriam Coronel-Ferrer) เป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นเป็นประธานเวทีสันติภาพของรัฐบาลในการพูดคุยกับขบวนการ MILF

         โดยสรุปแล้ว แม้ภาคประชาสังคมมินดาเนาจะมีข้อจำกัดในตัวเองอยู่มากและบ่อยครั้งอาจมีอิทธิพลน้อยในการทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี แห่งความขัดแย้ง แต่จากการเดินทางของภาคประชาสังคมที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของวิธีการของพวกเขาในการพิสูจน์ว่าวิธีทางการทหารนั้นใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่เรียกร้องให้หันหน้ามายึดมั่นต่อแนวทางของสันติภาพ ความพยายามตลอดมาแสดงให้เห็นว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนการทำงานด้านสันติภาพของรัฐบาลที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน จากที่เคยทำงานในแนวราบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่พูดคุยกันระหว่างคนต่างศาสนา การสร้างพื้นที่สันติให้แก่ชุมชนของตนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง กลับก้าวเข้ามาสู่การเดินหน้าเข้าสู่การมีส่วนร่วมเพื่อกำหนดนโยบายสันติภาพร่วมกับรัฐบาล

 

แหล่งอ้างอิง

Mindanao People Caucus. What Is Bantay Ceasefire? [Online]. 2012. Available from: http://www.mpc.org.ph/index.php?option=com_content&view=article&id=105&Itemid=87 [2013, April 9]

Rood,S. Civil Society More Ready Than Ever to Play Role in Forging Peace in Mindanao [Online]. 2013. Available from: http://asianphilanthropy.org/?p=3017 [2013, April 8]

Rood,S.  Forging sustainable peace in Mindanao : the role of civil society.  Washington, D.C.: East-West Center  Washington, 2005.

The Office of the Presidential Adviser on the Peace Process.  About OPAPP [Online]. 2010. Available from: http://www.opapp.gov.ph/what-is-opapp [2013,  April 10]

Wikipedia. Peace process with the Bangsamoro in the Philippines [Online]. 2013. Available from: http://en.wikipedia.org/wiki/Peace_process_with_the_Bangsamoro_in_the_Philippines [2013, April 10]