จิตต์ปภัสสร์ บัตรประโคน
ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงได้รับการนำเสนอผ่านสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ภาพความตาย ความสูญเสีย และความทุกข์ของผู้คนมีให้เห็นแทบทุกวัน เสียงร้องไห้ระงมของคนและแผ่นดินดังกังวานกลบสรรพเสียงอื่นๆ จนดูราวกับว่าแทบจะหากำลังใจ ความหวัง และความสุขสงบไม่ได้อีกแล้ว แต่เมื่อได้สัมผัสลึกเข้าไปในชีวิตและชุมชนที่นั่น เราได้พบความหวังที่สุกสกาวในหัวใจคนธรรมดาสามัญ ซึ่งเป็นดั่ง “ฝนกลางไฟ” ที่คอยประทังไฟไม่ให้ลุกลาม
แม้ว่าเรื่องราวของชีวิตผู้คนในจังหวัดชายแดนใต้จะได้รับการถ่ายทอดออกมาหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะในรูปแบบหนังสือที่มีเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน แต่ครั้งนี้นับว่าได้พลิกมุมมองการนำเสนอที่แตกต่างออกไป เพราะเสียงที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดเป็น “เสียง” ของผู้หญิงจำนวนห้าสิบคน แต่ละคนเป็นผู้หญิงธรรมดาที่มีชีวิตอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่ยังสามารถใช้ชีวิตอย่าง “ปกติ” เท่าที่จะเป็นไปได้ ผู้หญิงเหล่านี้มีทั้งแม่บ้าน ชาวนา ครู อาจารย์ พยาบาล หมอ นักศึกษา ผู้ใหญ่บ้าน นักพัฒนาเอกชน และภรรยาผู้ต้องคดีความมั่นคง ที่บางภารกิจและบทบาทต่างๆ กัน ได้เกื้อกูล เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนของชีวิตผู้คนร่วมแผ่นดินที่นั่น โดยทุกๆ เรื่องราวปรากฏอยู่ในหนังสือ “ฝนกลางไฟ: พลังชีวิต พลังใจ ห้าสิบเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้”
สนิทสุดา เอกชัย ที่ปรึกษากองบรรณาธิการเขียนบทนำหนังสือเล่มนี้ เปรียบเทียบฝนกับผู้หญิง ซึ่งไม่เพียงทำให้เกิดความรู้สึกฉ่ำเย็น แต่ยังช่วยปรับสายตาให้มองถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเปี่ยมด้วยความหวัง ดังความว่า
“ผู้หญิง “ธรรมดา” ที่ “ไม่ธรรมดา” ทั้งห้าสิบคนนี้เป็นตัวแทนของผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ทำหน้าที่ของตนเองอยู่เงียบๆ อย่างมุ่งมั่น แต่ละคนเปรียบเหมือนเม็ดฝนแต่ละเม็ดที่นำความเย็นมาสู่พื้นดินที่กำลังร้อนเป็นไฟ
ในยามที่เปลวเพลิงร้อนแรง เม็ดฝนเหล่านี้ทำได้แค่ประทังไฟไม่ให้ลุกลาม และให้ความเย็นชื่นใจได้บ้าง แต่เมื่อความร้อนลดองศาลง เม็ดฝนเหล่านี้แหละจะช่วยให้ดินที่แห้งกร้านได้กลับมาชุ่มชื้น เติมพลังใหม่ให้ต้นไม้ใบหญ้ากลับมาเขียวขจี อุดมสมบูรณ์และร่มเย็นดังเดิม
ด้วยพลังของผู้หญิงเล็กๆ เหล่านี้ ความสงบในภาคใต้คงไม่ใช่ความฝันแน่นอน”
เนื้อหาในหนังสือ “ฝนกลางไฟ: พลังชีวิต พลังใจ ห้าสิบเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” ประกอบด้วยบทสัมภาษณ์ผู้หญิงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 50 คน แต่ละคนได้บอกเล่าสถานการณ์ ปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ตลอดจนถึงแนวทางและวิธีการที่จะแก้ไขเพื่อนำไปสู่ความสงบสุขสันติ ผู้อ่านจะได้เห็นมุมมองอันหลากหลาย จากประสบการณ์ในสถานการณ์ที่แต่ละคนเผชิญอยู่ บางเรื่องเศร้าสะเทือนใจ บางเรื่องตื่นเต้นสนุกสนาน อีกหลายเรื่องทำให้รู้สึกถึงพลังใจ ความมุ่งมั่น และความศรัทธาในวิถีชีวิต และการทำหน้าที่ของตนเอง ซึ่งความสำคัญของคนธรรมดาเหล่านี้อยู่ที่การสร้างประชาธิปไตยให้แก่การอธิบายปัญหาความไม่สงบ ลดอำนาจและการผูกขาดคำอธิบาย ที่ถูกทำให้เป็นกิจกรรมเฉพาะกลุ่มคน เช่น นักวิชาการในการนำเสนอทางออกบนแนวคิดและกรอบทางทฤษฎี แต่บางครั้งขาดการสะท้อนถึงชีวิต ความคิด ความรู้สึกของชีวิตธรรมดา หรือ “ชีวิตคนข้างล่าง” ที่สัมผัส มีประสบการณ์โดยตรง และได้รับผลกระทบทุกวัน
ดังนั้นหากผู้คนธรรมดาได้มีพื้นที่บอกเล่า หรืออธิบายปัญหาจากมุมมองแต่ละคนที่แตกต่างกันบ้างแล้ว การบรรลุถึงสันติภาพและความสงบสุขในอนาคต ย่อมจะเปิดกว้างแก่แนวทางและวิธีการที่หลากหลาย สอดคล้องกับความเป็นจริงของสถานการณ์ และผลกระทบต่อชีวิตในระดับที่แตกต่างกันไปมากขึ้น
นอกจากนี้การที่คน “ธรรมดา” ทั้งหมดล้วนเป็นผู้หญิง ก็เพื่อสื่อสารให้เห็นถึงกลุ่มคนที่มักถูกละเลย ทอดทิ้ง และกีดกัน ออกจากการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา หรือถูกจัดไว้เป็นเพียงผู้ได้รับผลกระทบ หรือ “เหยื่อ” ที่ต้องคอยรับการช่วยเหลือ ไร้ความสามารถในการกำหนดชะตากรรม การดำเนินชีวิต และการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการนำสันติภาพมาสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคมตนเอง
การถูกกระทำและถูกละเลยดังกล่าว เป็นผลจากกระบวนการตั้งแต่ระดับนโยบาย และการปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ดำเนินไปภายใต้การตัดสินใจ การจัดการ การควบคุม รวมถึงการประเมินผลที่มีสัดส่วนผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ขาดความอ่อนไหวต่อผลกระทบ ปัญหา และความต้องการแตกต่างกันระหว่างหญิงชาย
ความแตกต่างนี้เป็นผลจากบทบาททางสังคมวัฒนธรรม สะท้อนความคาดหวังของสังคมที่มีต่อทั้งหญิงชาย โดยแต่ละสังคมมีความคิด ความเชื่อที่กำหนดนิยามและความหมายของความเป็นหญิงชาย นำมาสู่แบบแผน พฤติกรรม และการปฏิบัติที่ยอมรับกันในสังคมนั้น เช่น การเป็นลูกสาวถูกคาดหวังให้เป็นผู้ดูแลพ่อแม่ การเป็นเมียต้องซื่อสัตย์ คอยปรนนิบัติรับใช้สามี และคอยดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบ้าน ขณะที่การเป็นแม่จะต้องเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของลูกและสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น
จากสถานะและบทบาททางสังคมดังกล่าวได้หล่อหลอมตัวตนของผู้หญิงให้เป็นผู้ดูแล เกื้อกูลและรับผิดชอบต่อคนอื่น กำหนดความสนใจไว้ในเรื่องใกล้ตัว และเป็นรูปธรรมได้แก่ ปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ และชีวิตของสมาชิกในครอบครัว รวมถึงญาติพี่น้อง แม้แต่ในสถานการณ์ความรุนแรง ปัญหาเหล่านี้ได้รับความสำคัญเป็นอันดับแรก เมื่อใครถามว่าผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด ส่วนใหญ่จึงต้องการได้รับการจ้างงาน มีอาชีพ และมีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ลูกหลานในวัยเรียนได้รับการศึกษา
แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้หญิงในสถานการณ์ความรุนแรง หรือสถานการณ์การต่อสู้ด้วยอาวุธจึงมุ่งไปที่ปัญหาขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เรื่องการดูแลรักษาพยาบาล หรือประเด็นที่ใกล้ชิดกับตัวเองและครอบครัว ก่อนเข้าร่วมจัดการปัญหาอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือประสบการณ์ชีวิตของตนเอง
แต่ทั้งนี้ผู้หญิงก็มิได้ละทิ้งประเด็นปัญหาส่วนรวม หรือปัญหาสาธารณะที่สมาชิกในชุมและสังคมต้องเผชิญร่วมกันเช่น ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังจะเห็นการเข้าร่วมในขบวนการสันติภาพ เพราะนั่นหมายถึงการที่ครอบครัวจะสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติและสงบสุขได้อย่างยั่งยืน
หากมองปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากมุมมองของผู้หญิง ซึ่งเป็นมุมมองที่ได้เชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ชีวิต บทบาททางสังคมวัฒนธรรม โดยเฉพาะการเป็นผู้ดูแลครอบครัวและชุมชนของตนเอง รวมถึงความรับผิดชอบและหน้าที่ของผู้หญิงในบริบทต่างๆ เชื่อได้ว่าจะเป็นโอกาสขยายมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาให้กว้างขวางออกไป อย่างน้อยการนำเสนอเรื่องราวผ่านบทสัมภาษณ์ของผู้หญิงทั้ง 50คน อาจเป็นแนวทางและวิธีการในการแก้ไขปัญหาได้ถึง 50 แนวทาง
ตัวอย่างใน “นิทานดีสร้างเด็กดี” ครูเจะฮาฟเซาะ เจะอาแวบอกเราถึงปัญหาและผลกระทบจากสถานการณ์ ทำให้ครูทำการสอนได้ไม่เต็มที่ เพราะครูต้องมาโรงเรียนเป็นกลุ่มพร้อมกับชุดคุ้มครองที่ประกอบด้วยทหารและตำรวจ กว่าจะถึงโรงเรียนก็สาย แล้วต้องรีบกลับในช่วงบ่าย เมื่อครูเจะฮาฟเซาะนำเสนอปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่ครูอนุบาลคนหนึ่งสนใจจึงอยู่ที่จะทำให้การศึกษามีประสิทธิภาพในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร
เช่นเดียวกับปาตีเมาะ ยูโซ๊ะ พนักงานคุมประพฤติ สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี ใน “ผู้นำความสดใสของเด็กๆ กลับคืนมา” เธอรู้สึกว่า แนวทางการเยียวยาและบำบัดของสถานพินิจฯ ควรได้รับการออกแบบให้เหมาะสมกับสังคมและสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่ที่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีเด็กและเยาวชนในกลุ่มนี้ทำผิดเป็นจำนวนมาก ควรนำแนวทางตามหลักคำสอนทางศาสนา หรือศาสนาบำบัดเพื่อเยียวยาและบำบัดพฤติกรรมของเด็ก
ความปรารถนาของปาตีเมาะที่จะเห็นสันติภาพจึงไม่ใช่เพียงการปราศจากเหตุร้ายและสถานการณ์ความไม่สงบ แต่เป็นสิ่งที่เธอบอกว่า
“สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือ มีคดีเข้ามาน้อยหรือไม่มีเลย จำนวนคดีที่น้อยลงเป็นเครื่องวัดความสำเร็จในการทำงานของเรา เราอยากให้บรรยากาศที่ดีเก่าๆ กลับคืนมาสู่สามจังหวัด อยากเห็นเด็กๆ มีแววตาสดใสเหมือนเดิม”
หนังสือ “ฝนกลางไฟ: ห้าสิบเสียงจากผู้หญิงชายแดนใต้” แทรกตัวขึ้นมาเพื่อสะท้อนชีวิตและประสบการณ์ของคนธรรมดา โดยการเลือกเสนอเฉพาะเรื่องราวและเรื่องเล่าของผู้หญิงเท่านั้น เป็นการกระตุ้นเตือนความทรงจำและความตระหนักต่อผลกระทบ ความต้องการ และศักยภาพของผู้หญิงที่ถูกละเลยไป
จากมุมมองและประสบการณ์ของผู้หญิงทั้ง 50 คนนี้ จะเป็น “ส่วนขยาย” และ “ต่อยอด” ความหวังในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
............................................
ผู้สนใจขอรับหนังสือได้ด้วยตัวเองที่ห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม หรือที่คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย