หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หรือ EOD (Explosive Ordnance Disposal) เป็นชุดปฏิบัติการที่สำคัญของทั้งหน่วยงานทหารและตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ งานของพวกเขาถูกท้าทายด้วยการชิงไหวชิงพริบจากโจทย์ฝ่ายตรงกันข้ามวางเอาไว้ ระคนกับรู้สึกเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในขณะเดียวกันคุณูปการของเขาจากการป้องชีวิตผู้คนจำนวนมาก ให้อยู่รอดปลอดภัยจากแรงระเบิดนั้นเกินจะประมาณ
บนเส้นทางชีวิตของคนปลดชนวนระเบิดที่ต้องผจญกับความรู้สึกที่ไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา จากฝ่ายตรงข้ามจะทิ้งโจทย์อันหนักหน่วงทั้งอาจมองว่าพวกเขาเป็นตัว “ขัดขวาง” ที่สำคัญ เพราะหากระเบิดถูกเก็บกู้มาได้ ปฏิบัติการทางทหารที่อีกฝ่ายต้องการจะบรรลุในการสร้างความสะพรึงกลัวให้กับพื้นที่ก็จะล้มเหลว ภารกิจที่แสนตึงเครียดของทหาร EOD คงไม่ใช่เรื่องง่ายดายนักที่จะสามารถรักษาระดับความมั่นคงทางจิตใจได้อย่างคงเส้นคงวา หากพวกเขาไม่ได้ถูกฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
คอลัมน์สื่อสันนิวาส ฉบับนี้จะชวนกันมองชายแดนใต้ผ่าน มิวสิควีดิโอเพลง “หยุดบอกเลิกกันเสียที” ในเรื่องราวของ “ทหาร” เหมือนกับฉบับที่แล้ว แต่เปลี่ยนจาก “ทหารเกณฑ์” มาเป็น “ทหารหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด” ซึ่งมีความสามารถเฉพาะ (Specialist) มีชีวิตอย่างเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายแทบทุกวัน ผลกระทบจากสถานการณ์อันเลวร้ายส่งผลต่อสภาพจิตใจของเขาอย่างไรบ้าง
วิทยุ: เพื่อนของคนเมือง
วิทยุกระจายเสียงเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงความรู้สึกของผู้คนได้เสมอ โดยเฉพาะคนในสังคมเมืองที่ความเป็นปัจเจกชนที่แยกขาดตัวเองออกจากสังคมรอบข้าง แต่กลับมีสายสัมพันธ์ทางสังคมอย่างเหนียวแน่นใน ‘พื้นที่เสมือน’ ถึงขนาดกล้าที่จะบอกเล่าบอกกล่าวเรื่องราว เบื้องลึกภายในจิตใจ ระบายอารมณ์ความรู้สึกของตนได้ราวกับเป็นญาติสนิท
รายการวิทยุอาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิตเมือง เคยมีการสำรวจความนิยมการใช้เวลาว่างพบว่าคนกรุงเทพฯ ใช้เวลาว่างในฟังวิทยุมากที่สุดถึงร้อยละ 88.7 เลยที่เดียว เหตุผลหนึ่งอาจเพราะมันได้ทำหน้าที่ของช่องทางในระบายอารมณ์ ความรู้สึก ที่เคร่งเครียดจากการงาน ‘ดีเจ’ (DJ – Disc Jockey: ผู้เขียน) จึงกลายสถานะจากคนจัดรายการเพลงมาเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือกระทั่งจิตแพทย์ผู้ทำจิตบำบัดให้แก่ผู้ฟังที่แสนเปลี่ยวเหงา
Club Friday : Based On True Story (คลับฟรายเดย์ : เบสออนทรูสตอรี่) คือรายการวิทยุรายการหนึ่งที่ได้รับความนิยมในเขตพื้นที่กรุงเทพ ออกอากาศผ่านคลื่น Green Wave 106.5 เอฟเอ็ม โดย 2 ดีเจร่วมจัด คือ ดีเจฉอด- สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา และดีเจอ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล เป็นรายการวิทยุที่จัดต่อเนื่องทุกๆ วันศุกร์มาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว มีแฟนคลับทั่วประเทศและมีคอนเสิร์ตเป็นการเฉพาะโดยสามารถเชื่อมโยงกับโครงการ ‘เดอะสตาร์’ ให้นักร้องในโครงการมาร้องเพลงและผลิตมิวสิควีดิโอ (MV) จากคอนเซปBased On True Story ที่นำเอาชีวิตจริงเพลงสู่เพลง
เรื่องของคุณจ้าว : เมื่อเรื่องแต่งมาจาก ‘เรื่องจริง’
ในเพลง“หยุดบอกเลิกกันเสียที”ถูกหยิบยกมาจากเรื่องราวของผู้ฟังรายหนึ่งชื่อว่า “คุณจ้าว” ผู้ฟังรายการที่โทรเข้ามาเล่าเรื่องราวความรักของเธอให้ ‘ดีเจฉอด’ และ ‘ดีเจอ้อย’ ในคลับฟรายเดย์ ตอน “เรื่องราวรักเธอมากกว่า” ในค่ำวันหนึ่ง
คุณจ้าว เธออยู่ด้วยกันคนรักซึ่งเป็นทหารในหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดหรือ EOD ซึ่งหมายความว่าเธออาจจะสูญเสียเขาไปจากการปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกเมื่อ ในขณะเดียวกันฝ่ายชายพยายามบอกเลิก เผื่อว่าวันหนึ่งหากเขาต้องจากไป เพื่อให้เธอมีชีวิตที่ดีกว่าก็ได้ (ในความคิดของเขา)
คุณจ้าวยังเล่าด้วยว่า ในช่วงที่แฟนคุณจ้าวต้องลงไปประจำการที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จริง ซึ่งต้องมีความรู้สึกเป็นห่วงกันมากแต่ก็อยู่ไกลกันมากและก็รู้สึกเป็น ทุกข์มากจนแฟนของคุณจ้าวเอ่ยปากขึ้นมาว่า
“จริงๆ คุณควรจะมีชีวิตที่ดีกว่านะ รักใครสักคนหนึ่งที่มีอนาคตกับคุณได้”
“ผมเองก็ไม่รู้ว่าตื่นมาแล้วจะมีวันพรุ่งนี้รึเปล่า เพราะในทุกย่างก้าวที่ต้องเดินไป ไม่รู้ว่าจะได้กลับมารึเปล่า”
กระทั่งเมื่อแฟนของคุณจ้าวได้พักงานและก็กลับมาในวันหยุด ในระหว่างที่กำลังดูโทรทัศน์ด้วยกัน เขาก็ถามขึ้นมาลอยๆ ว่า
“ถ้ามีคนอื่นคุณจะแต่งมั้ย? ผู้หญิงทุกคนอยากแต่งงาน อยากมีชีวิตที่อบอุ่น ผมยังไม่รู้เลยว่าจะมีวันข้างหน้ารึเปล่า”
คุณจ้าวเล่าให้ฟังว่าหลังจากวันนั้น แฟนของก็เธอก็กลายเป็นคนฉุนเฉียวง่าย ขี้โมโห แม้จากเรื่องเล็กๆ น้อย
“ทำไมคุณไม่ไปรักคนอื่นที่มีชีวิตปกติ ไม่ต้องมาลุ้นว่าผมจะมีลมหายใจพรุ่งนี้รึเปล่า”
คุณจ้าวเป็นห่วงแฟนเธอมากๆ เพราะหลังจากที่ต้องกลับไปปฏิบัตงานในภาคสนามแล้ว
การติดต่อระหว่างกันทำได้ยากมาก บางทีอาจยาวนานถึง 20 วัน แฟนคุณจ้าวมักเปรยๆ เสมอว่า
“ถ้าวันเวลานี้ๆ ถ้าผมไม่ติดต่อกลับ ทางหน่วยจะบอกเองว่าผมเป็นอะไร แล้วในหน้าจอทีวีก็คงมีชื่อผมเอง”
คุณจ้าวยังเล่าอีกว่า ฝ่ายชายมักจะเปรยอยู่บ่อยๆ เพื่อขอบอกเลิกกับเธอ
“ผมเป็นคนนึงที่เข้ามาในชีวิตคุณ ไม่ใช่ออกซิเจน ไม่ใช่อากาศ คุณขาดผม คุณก็ต้องอยู่ให้ได้ แล้วต้องอยู่แบบคนที่มีสติ เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีผมคุณยังอยู่ได้”
คุณจ้าวยังเล่าอีกว่า เขามักพูดเสมอเรื่องของการจัดการงานศพ ที่เขาอธิบายไว้อย่างละเอียด ในไดอารี่ถึงกับเขียนสั่งความว่า ถ้าเขาตายงานศพจะต้องจัดอย่างไร สวดกี่วัน จะเอาอะไรบ้าง จะไม่เอาอะไรบ้าง เคยมีเหมือนกันเมื่อสถานการณ์สามจังหวัดแย่ๆ ลงมาก เขามักจะพูดย้ำๆ ว่า
“ให้ไปกรวดน้ำให้เขาด้วยวันนี้เลย เพราะเขารู้สึกไม่ดีเลย” บ่อยครั้งที่เขาก็จะพูดว่า “มันชักจะเข้าใกล้ตัวผมเข้าทุกที”
แฟนของคุณจ้าวขยายความให้ฟังว่า แม้คนที่ลงไปประจำการจะมีเยอะ แต่คนที่นอนข้างเตียงของเขา “ตอนเช้าคนที่นอนอยู่ข้างกัน แต่พอตอนเย็นก็ไม่มีเสียแล้ว”
“ผมรู้นะว่าคุณรักผม แต่มันคงจะดีกว่านี้ ถ้าหากว่าทางนี้มีคนที่ดูแลคุณได้ ผมคงดูแลคุณได้อยู่ห่างๆทางนี้ดูแลให้คุณปลอดภัยทางนี้ก็แล้วกัน”
“ผมก็อยากจะกลับบ้านเหมือน แต่คุณต้องทำใจนะ ไม่ว่าผมจะกลับไปในสภาพที่มีลมหายใจหรือไม่”
เป็นสภาพการที่คุณจ้าวต้องเผชิญอยู่เสมอมา เป็นการบอกเลิกมักมาจากการ ‘หมดรัก’ ในขณะที่กรณีนี้ การบอกเลิกมาจาก ‘ความรัก’
‘ปาตานีซินโดรม’ โรคป่วยทางใจจากสงครามสามจังหวัดฯ
“ไม่มียาวิเศษใดๆ ที่สามารถลบภาพเพื่อนทหารที่แรงระเบิดฉีกเป็นชิ้นๆ ไปต่อหน้าต่อตาหรือความรู้สึกผิดที่แลกเวรกัน แล้วเพื่อนไปเสียชีวิต”
เป็นข้อความจากแนวทางการรักษาผลกระทบทางจิตใจของทหารที่ผ่านสงคราม โดยเฉพาะทหารที่เคยผ่านสมรภูมิอิรักและอัฟกานิสถาน จากหนังสือชื่อ Combat Stress Injury ซึ่งมี Charles Figley และ William Nash เป็นบรรณาธิการและได้รับการตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2549 ซึ่งเสนอว่าแม้การรักษาด้วยยาจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างสิ้นเชิง แต่การให้ยาก็พอที่จะช่วยทำให้อาการผิดปกติทางจิตเหล่านี้ เป็นเพียง “ภาวะชั่วคราว” ไม่ใช่การเจ็บป่วย ลดความรุนแรงลง จนทหารสามารถกลับมาปฏิบัติงานได้ตามปกติ ซึ่งทำให้ทหารยังปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ
ไม่ง่ายดายนักที่คนๆ จะสามารถทนทานต่อสภาวะอันเลวร้ายเหล่านี้ได้ แฟนของคุณจ้าวอาจเข้าข่ายอาการเหล่านี้จากบรรยากาศการทำงานที่กดดันอย่างยาวนานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในทางปฏิบัติเขาควรได้รับการบำบัดหรือเยียวยาอย่างเร่งด่วนหรือไม่
อุตสาหกรรม “สื่อ” ในบรรยากาศ อุตสาหกรรม “ความไม่มั่นคง”
กรณีของคุณจ้าว ในมิวสิควีดิโอและเพลง “หยุดบอกเลิกกันเสียที” บอกอะไรกับเราบ้าง ประการแรก เป็นเรื่องการหาช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างมูลค่าให้กับ “เรื่องเล่า” ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่เชื่อมโยงเอาความแปลกแยก ไม่มั่นคงของคนเมืองเป็นพื้นฐานด้วยการเป็นตัวเชื่อมร้อยด้วยวิทยุกระจายเสียง ที่มีดีเจ เป็นผู้ปลอบประโลมความทุกข์ของผู้คน โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “ความรัก” ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สำคัญของชีวิตชนชั้นกลางในเมืองและเป็น “แก่น” (Theme) เรื่องหลักในอุตสาหกรรมความบันเทิง
ความชาญฉลาดของยักษ์ใหญ่วงการบันเทิงอย่างแกรมมี่นั้น เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการแปลงเอา “เรื่องเล่า” ให้กลายเป็นสินค้า สามารถสร้างกระบวนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่ามหาศาล ตั้งแต่เรื่องเล่าในคลับฟรายเดย์ ซึ่งมีกลุ่มผู้ติดตามรายการมาอย่างยาวนาน ขยับเข้าไปสู่การนำเอาแก่นเรื่องไปพัฒนาสู่การทำเพลงและเนื้อร้อง ยกระดับจากเนื้อร้องไปสู่การสร้าง “มิวสิควีดิโอ” (MV) ที่มีเนื้อหาสามารถสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ชมได้มากที่สุด (โดยเฉพาะคนเมืองซึ่งห่างไกลจากพื้นที่) ด้วยดาราคู่ขวัญ (ตั๊ก-นภัสกร มิตรเอม และ ป๊อก-ปิยธิดา วรมุสิก) โดยให้มีทหารหน่วย EOD เป็นฮีโร่ ด้วยรายการสัมภาษณ์พิเศษและกิจกรรมกองทุนช่วยเหลือเหล่าทหารทำลายล้างวัตถุระเบิด
เรื่องเล่าของคุณจ้าว ได้ถูกพัฒนาจากคำบอกเล่าปากต่อปาก มาสู่กระบวนการในอุตสาหกรรมสื่อ มาจนเป็นภาพและเสียง แพร่กระจายไปทุกทิศทางด้วยระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งให้ความหมายกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ควรให้เข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะนี่เป็นพื้นที่ๆ ทำให้ “ความรัก” ของเธอ “ล้มเหลว”
ประการที่สอง ในสงครามอันยืดเยื้อยาวนานของสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่รัฐพยายามพร่ำบ่นอยู่เสมอก็คือ ความสามารถในการกุมสภาพสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในทิศทางที่คิดว่า “ถูกทาง”แล้ว ทั้งยังเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าสามารถจะกุมชัยชนะได้ในไม่ช้า
สงครามที่จะประกาศว่าจะเอาชนะเหนือจิตใจ เพื่อช่วงชิงมวลชนพี่น้องประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้จงได้ มิวสิควีดิโอเพลง “หยุดบอกเลิกกันเสียที” ที่สะท้อนความทุกข์ยากของบรรดาเหล่าทหารในฐานะผู้ปกป้องและคุ้มครองสังคมให้พ้นจากภยันตรายทั้งปวง แต่ในอีกมุมหนึ่งในความรู้สึกของผู้คนที่ห่างไกลเกินที่จะรู้จักจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแท้จริง แต่น่าสะพรึงของพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกติดตั้งลงไปในจิตใจของผู้รับ ซึมลึกไปสู่วิถีชีวิตประจำวันของชาวเมืองโดยกะเทาะความรู้สึกบอบบางที่สุดของมนุษย์คือประเด็นเรื่องของ “ความรัก” ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้เราจะมั่นใจได้เช่นไรว่า บรรยากาศของการเพรียกหา “สันติภาพ” อันอยู่บนความเข้าอกเข้าใจพื้นที่ฐานทางความรู้สึกของผู้คนจะมีทางเป็นจริงได้ในอนาคต การรับรู้และความทรงจำเช่นนี้ไม่ง่ายนักที่คนจากสังคมใหญ่จะเข้าใจคนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ในแง่มุมที่ดีขึ้นจากปมความขัดแย้งที่ไม่สามารถอธิบายได้ในระยะเวลาอันจำกัด
นัยหนึ่งการให้กำลังใจคนงานเสี่ยงภัยอย่างทหาร EOD เป็นสิ่งที่น่ายกย่อง แต่มุมกลับของความรู้สึกจากคนในสังคมใหญ่ต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน
หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารรูสะมิแล ปีที่ 33 ฉบับที่ 3 (2012) ในคอลัมน์ “สื่อสันนิวาส : มองชายแดนใต้ผ่านเพลง (2)” กรุณาคลิกดูต้นฉบับ ที่นี่
เพลง หยุดบอกเลิกกันเสียที ศิลปิน : นิว & จิ๋ว เดอะสตาร์
ก็รู้ดีทุกทุกอย่าง ว่าความจริงเป็นเช่นไร ได้โปรดฟังฉันให้ดีดี นี่คือคำขอร้องที่มาจากใจ หยุดบอกว่าเราควรเลิกกัน หยุดบอกลากันสักวัน รู้ว่าเธอหวังดี แต่อดน้อยใจไม่ได้เลย ได้โปรดฟังฉันให้ดีดี นี่คือคำขอร้องที่มาจากใจ หยุดบอกว่าเราควรเลิกกัน หยุดบอกลากันสักวัน หยุดบอกว่าเราควรเลิกกัน หยุดบอกลากันสักวัน
|
ข้อมูลประกอบการเขียน
ท ทหาร อดทน. อาชีวเวชศาสตร์ปริทัศน์, เวบไซต์หมอชาวบ้าน. http://doctor.or.th/clinic/detail/7167
http://www.atimemedia.com/200x/atime_update/2012/05/club-friday-mv.html
ภาพประกอบจากเวบไซต์www.atimemedia.com