ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
นับว่าเป็นเรื่องตลกร้ายถึงขั้นร้ายแรงที่สื่อไทยยังคงล้าหลังคลั่งชาติแบบไม่รู้ทิศทางต่อกรณีการนำเสนอความหมายของป้ายผ้าจำนวน 119 ผืนในเขตจังหวัดชายแดนใต้ว่าเป็นการ "ค้านการเจรจาสันติภาพ" และต้องขอขอบคุณอาจารย์ชินทาโร่ จากมอ.ปัตตานี ที่กรุณาช่วยเปิดแปลและไขความหมายภาษารูมีให้ทราบกันอย่างกระจ่างแจ้ง แต่สำหรับผม เรื่องตลกร้ายนี้มันสะท้อนภาพความเจ็บป่วยของการเจรจาสันติภาพกับปัญหาความเป็นเจ้าของอย่างตรงไปตรงมา ผมจะลองเรียบเรียงตามภูมิปัญญาที่มีแบบนี้
อันดับแรก ปัญหาของการนำเสนอความหมายของป้ายผ้าว่า "ค้านการเจรจา" มันมิใช่เรื่องแปลผิดแบบฉาบฉวย หากเป็นความผิดพลาดขั้นวิธีวิทยาของการแปลซึ่งถูกควบคุมบงการด้วยอุดมการณ์ชาตินิยม โดยเฉพาะการเล็งเป้าไว้แล้วว่าคู่เจรจามิอาจอยู่ร่วมกันได้ เฉกเช่นมิตรและศัตรู การนี้ สันติภาพ ที่สื่อไทยหรือชาตินิยมไทยคาดฝันไว้คือความสงบราบคาบ ปราศจากซึ่งความเห็นต่าง การทักท้วง มันคือสันติภาพที่ยังพิทักษ์รักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจชุดเดิมเอาไว้ ซึ่งในแง่นี้แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ กลุ่มผู้ก่อการ แนวร่วม หรือประชาชนในพื้นที่จะรับได้ มันจึงไม่แปลกที่เห็น "ป้ายต่างภาษา" ปุ๊ปจะมีการแปลความออกมาทันที โดยปราศจากความละเอียดรอบคอบ ทั้งๆที่ในความเป็นจริง ประชากรไทยที่พูกและเขียนภาษามลายู และอ่านอักษรรูมีได้มีไม่น้อย เผลอๆ อาจจะมีมากเป็นอันดับสองหรือสามรองจากภาษาไทยและอังกฤษเสียด้วยซ้ำ ความผิดพลาดเชิงวิธีวิทยาของการแปลเช่นนี้ มันจึงไม่ใช่การแปลแบบข้ามวัฒนธรรมที่พยายามรักษาความหมายอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด หากคือ การแปลเชิงครอบงำ แบบลากเข้าตัวเอง...
ผมคิดว่าความเถลิงอำนาจต่อการแปลเช่นนี้สะท้อนสถานะภาพ "สิ่งแปลกปลอม" ของมลายูในรัฐไทย (อดนึกสองเรื่องไม่ได้คือ ดีเท่าไหร่แล้วที่ไม่เขียนด้วยอักษรยาวี ซึ่งยากกว่านี้สักหลายสิบเท่า และอดนึกสมเพชไม่ได้ เนื่องจากผู้เขียนแผ่นป้าย "อุตสาห์" ใช้อักษรรูมีหรือภาษามลายูที่เขียนด้วยตัวโรมันแล้ว เพราะอย่างน้อย คนไทยยังสะกดได้แต่ดันไม่ยอมหาความหมาย) ร่วมไปถึงการเจรจาสันติภาพก็ตกอยู่ในสถานะสิ่งแปลกปลอมไปด้วย การแปลความหมายผิดพลาดดังกล่าวคือความจงใจและความพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมออกไป ผมอดนึกไม่ได้ว่าผู้เขียนป้ายผ้า กำลัง "เล่น" และ "ตรวจสอบ" ความจริงใจของการเจรจาต่างหาก เนื่องจากการเจรจาเพื่อสันติภาพนั้น จำเป็นต้องทราบดีว่าความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีนัยทางวัฒนธรรมที่ถูกยกระดับขึ้นมาในฐานะความชอบธรรมในการสร้างความรุนแรงและเป็นความรุนแรงในตัวมันเอง หากต้องการสันติภาพ คู่เจรจาจำเป็นต้องรู้จักวัฒนธรรม ภาษา และวิถีชีวิตของอีกฝ่าย ซึ่งเป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่า การเขียนป้ายผ้าเป็นภาษาไทยนั้นกระทำได้ง่ายในกลุ่มผู้ก่อการ แต่การเขียนเป็นตัวรูมีนั้นสะท้อนถึงศักดิ์ศรีทางวัฒนธรรมของคู่เจรจาที่ถัดเทียมกันมากกว่า ดังนั้น การไม่พยายามแปลให้ถูกต้องย่อมสะท้อนความป่วยไข้ของการเจรจา
เรื่องต่อมา คือ การกระจายตัวของป้ายผ้าซึ่งมิได้ถูกติดตรึงแค่ "สามจังหวัดภาคใต้" อีกต่อไป หากยังครอบคลุมบริเวณ อ.เทพาและ อ.สะบ้าย้อย ของจ.สงขลาด้วย การกระจายตัวนี้น่าสนใจ เพราะป้ายผ้ามิใช่ป้ายผ้าอีกต่อไป หากมันคือ "พรมแดนทางการเมืองวัฒนธรรมของโลกมลายูที่สนทนากับรัฐสมัยใหม่ของไทย" ซึ่งเคยมีอยู่เดิมก่อนทีเราจะเรียกว่า "สามจังหวัดชายแดนใต้" พรมแดนดังกล่าวถูกวาดขึ้นมาด้วยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และสายสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ดังนั้น การกระจายตัวของป้ายผ้าคือความพยายามที่จะแหกวงล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ขีดจำกัดวงความขัดแย้งให้หดแคบเหลือแค่สามจังหวัด (ตั้งแต่ตอนไหน เรื่องนี้ยังไม่มีใครตอบ) เอ้อ...ไม่ต้องนึกถึงสตูลนะ เพราะถ้าป้ายผ้าเกิดขึ้นที่สตูลจริงๆจะมันส์กว่านี้
สุดท้าย ผมติดใจการแปลความหมายบนแผ่นป้ายว่า "สันติภาพจะไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่ความเป็นเจ้าของยังไม่ได้รับการยอมรับ" เนื่องจากเป็นที่ถกเถียงกันถึงความหมายของ "ความเป็นเจ้าของ" ซึ่งแน่นอนว่ามีหลายฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐเริ่มเห็นพ้องกันว่าน่าจะหมายถึงเรื่องสิทธิเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสิทธิทางภาษา ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือพูดง่ายๆ คือสิทธิในการดำรงชีวิตที่แตกต่างรวมไปถึงความการเรียกร้องความเป็นธรรมซึ่งเกิดจากความอยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ...แน่นอน เรื่องพวกนี้ผมเห็นด้วย ผมเพียงอยากชวนให้เห็นว่าความหมายในป้ายผ้านี้กำลังวิจารณ์นักวิชาการไทยจำนวนมากอย่างถูกรากถึงโคนทีเดียว...
หลายสิบปีที่ผ่านมาเราพูดถึงความเป็นเจ้าของและสิทธิกันอย่างไรบ้าง เราพูดถึงสิทธิอย่างจำกัดภายใต้ช่องทางกฎหมายที่จะเอื้อไปได้หรือไม่เคยหลุดออกจากโครงกรอบสมาชิกที่รัฐต้องการและไม่เห็นเป็นสิ่งแปลกปลอม ที่ผ่านมา ในชีวิตของคนมลายูพวกเค้าเคยผ่านการเรียกร้องสิทธิและความเป็นเจ้าของในหลายเรื่องร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆทั่วประเทศ เช่น สิทธิในการจัดการทรัพยากร การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ฯลฯ เหตุใดเรื่องพวกนี้จึงดู "ฟังขึ้น" หรือรับแรงเสียดทานน้อยกว่าสิทธิในการแสดงตนเป็นมลายูอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าๆกับคนไทย คำตอบของผม การเรียกร้องสิทธิและความเป็นเจ้าของที่ผ่านมาทั้งในเชิงมโนทัศน์และการเคลื่อนไหว ไม่เคยตั้งคำถามและวิพากษ์ต่ออุดมการณ์ชาติเลย หากเป็นการสมยอมไปกับอุดมการณ์หลักๆ ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันให้สำเร็จอาทิ พุทธศาสนา, วัฒนธรรมชุมชน, ความเป็นไทย ฯลฯ ครั้นพอเจอกับการพยายามที่จะก่อร่างสร้างสิทธิแบบถึงรากถึงโคน เช่น ภาษามลายู ตัวยาวีและรูมี ศาสนาอิสลาม ความเป็นธรรม อุมมะห์ (ชุมชนหรือประชาคมอิสลาม) กฎหมายอิสลาม รวมไปถึงรูปแบบการปกครองที่ต้องกระจายอำนาจและใช้อำนาจปกครองอย่างหลากหลายจริงๆ ฯลฯ มันจึงไม่แปลกที่ "สิทธิและความเป็นเจ้าของ" ต่อกรณีป้ายผ้านี้จะเกิดคำถามมากมาย
สำหรับผม การพูดถึงสิทธิและความเป็นเจ้าของแบบลอยๆ โรแมนติกประเภท พูดได้แค่อยากสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ อยากให้คนมีศักดิ์ศรีเท่ากัน นั้นเป็นเพียงวรรณกรรมพาฝันของชนชั้นนำเท่านั้น สิทธิและความเป็นเจ้าของในโลกมลายูจำเป็นต้องพุ่งตรงสู่การสร้างความเป็นธรรม การยอมรับความแตกต่างเชิงวิพากษ์ และการชำระความอยุติธรรมที่เคยเกิดขึ้น
แน่นอน ผมห่างจากโลกคาบสมุทรมาเลย์มานาน ต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่กว่าจะกลับไป ณ ที่แห่งนั้นอีกครั้ง แต่อย่างน้อย ก็แอบหวังเล็กๆว่า วันใดที่กลับไป จะพบคนที่รู้สึกชอบภาษาไทยเท่าๆกับภาษามลายูบ้าง นินทาพระองค์โน้นพอๆกับโต๊ะครูคนนี้ หรือเห็นการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างทัดเทียมกันบ้าง
มันก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ใช่ไหม...