หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เป็น “คำนำ” ในหนังสือชื่อ “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน” ซึ่งพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์ (deepbooks) และจะเปิดตัวครั้งแรกในงานสมัชชาปฏิรูปชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 “เสียงเพรียกเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” ในวันที่ 28 เมษายน 2556 ณ หอประชุมโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จังหวัดปัตตานี
คำนำ
บรรยากาศสันติภาพ
Suasana Kedamaian
ผมเชื่อว่ามีคนไม่น้อยกำลังสนใจว่ากระบวนการสันติภาพที่ชายแดนใต้หรือที่ปาตานีนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร มีอนาคตหรือไม่ เราจะหยุดฆ่ากันได้จริงหรือไม่ เราจะได้รับความยุติธรรมหรือไม่ เราจะมีความเป็นตัวของตัวเองหรือไม่ เราจะไปสู่จุดที่เรียกว่า “สันติภาพ” ได้จริงๆ หรือเปล่า?
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการริเริ่มพูดคุยระหว่างคณะทำผู้แทนฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นต้นมา คำถามที่ว่านี้ก็ดูจะสำคัญมากยิ่งขึ้น บางคนบอกว่ามันจะล้มเหลวในไม่ช้า แต่บางคนก็บอกให้อดทนดูไปอีกหน่อย
ผมว่าคำตอบไม่ได้อยู่ที่ปลายทาง แต่อยู่ที่ระหว่างทาง อยู่ที่ว่าในตอนนี้พวกเรา (ซึ่งรวมทั้งคุณด้วย) กำลังทำอะไรกันบ้าง สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็น “ปัตตานี” หรือ “ปาตานี” หรืออย่างไรก็ตาม ขอให้มี “ป” ขึ้นหน้าและลงท้ายด้วย “นี” ก็เป็นพอ!
ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ตั้งใจจะ “กวน” ใคร (แต่จงใจ!) แต่ผมต้องการจะบอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องนั่งลงคุยกันถึงอนาคตของที่นี่ แต่การคุยกันที่ว่านี้ไม่ใช่ว่าจะคุยกันแต่พวกกันเอง คุยกันแต่เฉพาะคนที่มีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน แต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปิดให้คนที่เห็นต่างกันได้มานั่งถกเถียงกับเรา ความขัดแย้งย่อมจะมีขึ้นอย่างแน่นอน แต่เราจะมองเห็นมุมมองใหม่ๆ เข้าใจสถานการณ์ที่เป็นจริงมากขึ้น และสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ที่อาจทำให้ต่อจากนี้ไปอย่างน้อยๆ เราก็ทะเลาะกันได้โดยที่ไม่ต้องฆ่ากัน
ถ้าคำตอบอยู่ที่ระหว่างทางจริงอย่างที่ผมว่า กระบวนการสันติภาพที่เรากำลังทำความเข้าใจอยู่นี้ก็ไม่น่าจะใช่สิ่งที่เป็นกลไกหยุดนิ่ง ตายตัว และมีทางลัดเดินไปสู่เป้าหมายได้เลย แต่เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการสร้างสิ่งที่คนมลายูเรียกว่า “ซัวซานอ” หรือ “บรรยากาศ” ซึ่งต้องอาศัยประสาทสัมผัสทางวัฒนธรรมในระดับที่พอจะรับรู้ “กลิ่น” ของสันติภาพเหล่านี้ได้ เพราะสิ่งที่หล่อหลอมให้สังคมชายแดนใต้เป็นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นผลมาจากซัวซานอที่อยู่รอบตัว ผู้คนต่างรู้สึกร่วมกันในเรื่องบางเรื่องก็เพราะว่าพวกเขาผูกพันกับสิ่งที่อยู่ล้อมรอบพวกเขาในชีวิตประจำวัน อยู่ในวิถีการเรียนรู้ของพวกเขามาตั้งแต่เด็กยันหลุมฝังศพ อยู่ในสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนทั้งที่ร่วมศาสนาและต่างชาติพันธุ์
“ซัวซานอ” จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคนต้องรู้สึกหรือสัมผัสได้ก่อน คนถึงจะเชื่อว่าเรื่องบางเรื่องนั้นเป็นไปได้
ผมคิดว่าสันติภาพเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนต่อพื้นที่แห่งนี้อย่างมาก หากไม่ใช่เรื่องสำคัญเร่งด่วน ผมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไรได้อีก เพราะเราคงต้องฆ่ากันต่อไป ยอดสะสมของผู้บาดเจ็บล้มตายก็ทับถมต่อไป (ดีพเซ้าท์วอชท์ก็คงต้องนับศพกันต่อไป) ซึ่งก็ดูเหมือนว่าเป้าหมายที่แต่ละฝ่ายต้องการก็ยิ่งห่างไกลออกไปตามตัวเลขเหล่านั้นด้วย เพราะกลิ่นของความรุนแรงมันกลบเอาโอกาสต่างๆ ที่คนเราจะอยู่ร่วมกันได้ในอนาคตมากยิ่งขึ้นไปอีก
เรื่องกลิ่นเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมากลิ่นคาวเลือดนั้นแรง คนมักจะโกรธแค้นเจ็บใจต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงโต้ตอบ เป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการถึงทางเลือกหรือทางออกใดๆ กลิ่นที่ว่านี้มันฉุนเพราะความรุนแรงมักจะเป็นผู้ผูกขาดการบอกเล่าเรื่องราว แต่หากเรามีประสาทสัมผัสอย่างที่ผมว่า เราก็จะพบว่าจริงๆ แล้วในสังคมชายแดนใต้ก็มี “กลิ่น” ของสันติภาพกระจายอยู่โดยรอบเช่นกัน เรื่องเหลือเชื่อก็คือว่ากลิ่นที่ว่านี้ขจรขจายขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวินาทีนี้ หลังจากการริเริ่มพูดคุย ซัวซานอก็กำลังเปลี่ยนไป กลิ่นของกระบวนการสันติภาพก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ตามลำดับ เราจะยิ่งสัมผัสได้ก็เมื่อเดินลงไปดูในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
หนังสือเล่มนี้เป็นบทบันทึกจากเวทีสนทนานานาชาติ “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวทีวิชาการที่ มอ.หาดใหญ่เมื่อกลางปี 2555 เวทีในครั้งนั้นมีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้การพูดคุยเรื่องกระบวนการสันติภาพที่ฐานจากองค์ความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่ความขัดแย้งหลายแห่งนั้นทำให้กรณีของเรา “ชายแดนใต้/ปาตานี” สามารถจะเรียนรู้ได้
หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศและทำให้กลิ่นหอมของสันติภาพแรงขึ้น!