Skip to main content

โดย  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

1.ปัญหาทางการเมืองการปกครอง

1.1 การปกครองของไทย ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังยึดติดอยู่กับระบบศักดินา ถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้าง มีการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ก็ยังมีรูปแบบของ   ศักดินาและระบบอุปถัมภ์ในการบริหารและปฏิบัติงานในระบบราชการ เป็นระบบพวกพ้อง เลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรม                

1.2 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ปัจจุบันประเทศไทยนำรูปแบบของรัฐเดียวกับการกระจายอำนาจการปกครองมาใช้ผสมกัน จึงเป็นปัญหาในการบริหารจัดการ เช่น เมื่อ 12 ตุลาคม พ.ศ.2540 ที่มีการยกฐานะตำบลขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการกระจายอำนาจการปกครอง  แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยระบุว่า ประเทศไทยมีการการปกครองที่เป็นรัฐเดียว

1.3 ปัญหาการคอรัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและในจังหวัดชายแดนภาคใต้

1.4 การแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐขาดความเป็นเอกภาพ ขาดระบบที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีองค์กรหลักในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง โยนปัญหากันไปกันมา

1.5 นักการเมืองระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของประชาชน

1.6 เจ้าหน้าที่ของรัฐเลือกปฏิบัติ และกระทำต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นมุสลิม แบบไม่เป็นธรรม

1.7 รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ไม่มีความจริงใจในการที่จะหยุดความขัดแย้งและหยุดความรุนแรง มักจะเป็นการสร้างภาพ

1.8 เจ้าหน้าที่ของรัฐขาดจิตสำนึกในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่จริงใจ เลือกปฏิบัติ ไม่ทำงานและสร้างภาพ   

1.9 การใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม (กระบวนการยุติธรรมล่าช้า) ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่จะมองว่าความล่าช้านั้นก็คือความไม่ยุติธรรม

1.10 เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ ยังไม่เข้าใจปัญหาวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง

1.11 ประชาชนในพื้นที่ไม่ชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ใช้อำนาจในการเข้าไปจับกุม โดยที่ยังไม่ทราบว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ มักจะใช้ความไม่ชอบธรรม ใช้คำสั่งข่มขู่ และกำลัง ให้เกิดความเกรงกลัว ให้รับความผิด

1.12 ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น จากที่มองว่ามีกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง เป็นกลุ่มที่เป็นคนภาครัฐถูกยิง และกลุ่มที่สองที่เป็นกลุ่มผู้ก่อการฯ ที่ถูกภาครัฐยิง แต่ในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ยังมีอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่สาม ซึ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ขัดแย้งกันเอง เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลและเป็นเรื่องของการค้ายาเสพติดและของผิดกฎหมาย โดยอาศัยสถานการณ์ความไม่สงบในการก่อเหตุ ซึ่งภาครัฐจะต้องพิจารณาให้ชัดเจนและหาแนวทางในการแก้ปัญหาให้ตรงประเด็นว่าเป็นกลุ่มไหน เรื่องใด เพราะอาจสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาด เป็นการสร้างความแค้นให้เกิดขึ้น และจะไม่สามารถแก้ปัญหาจริงๆให้ยุติได้         

ข้อเสนอแนะ และแนวคิด วิธีการในการแก้ปัญหา

1. ควรจะต้องมีการปฏิรูปสังคมไทย เนื่องจากประชาชนจะต้องได้รับการศึกษาที่ทั่วถึง ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นในการพัฒนาประเทศด้านอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พัฒนาคนน้อยมาก สังคมไทยมีจุดอ่อน คือ คนไทยทำอะไรก็จะไม่มีการวางแผน การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และที่สำคัญที่สุดที่เป็นปัญหาของประเทศคือ คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ อ่านหนังสือน้อยมาก ดังนั้น ต้องพัฒนาคนเป็นประเด็นหลัก หากไม่พัฒนาคน ก็จำไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาคอรัปชั่น และแก้ปัญหาในการพัฒนาประเทศไทยได้ รวมถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้ ทุกอย่างต้องแก้ไขที่คน

2. รัฐต้องสร้างระบบการบริหารจัดการให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้มีองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาโดยตรงและชัดเจน และมีความจริงใจในการแก้ปัญหา หยุดสร้างภาพ

3. การคืนอำนาจให้ฝ่ายปกครอง, ตำรวจ ดูแลพื้นที่ แทนทหาร

4. ในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ควรที่จะนำกำลังทหารบางส่วนออกนอกพื้นที่ และให้ฝ่ายพลเรือน มาดูแลร่วมกับฝ่ายทหารที่มีอยู่บางส่วน เป็นการลดความหวาดระแวงที่มีต่อกัน

5. เปิดเวทีให้เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายพลเรือน ประชาชน มานั่งคุยกัน ทำความเข้าใจให้ตรงกัน ใครคิดอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ก็ให้พูดออกมา จะได้มีความเข้าใจตรงกัน ความขัดแย้งก็จะไม่เกิด

6. อย่าสร้างความแค้น และความเกลียดชังให้เกิดขึ้น จะไม่สามารถแก้ปัญหาให้ยุติได้

7. ภาครัฐและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรลบมุมมองเดิม จากที่มองว่าเยาวชนที่เป็นนักศึกษาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยจะต้องเป็นแนวร่วมหรือแกนนำผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ควรมีมุมมองในแง่บวก ซึ่งอาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ กลับจะสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนมากขึ้นจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้

8. ควรที่จะต้องให้มีการอบรม กระบวนการให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ลงมาแก้ปัญหา ให้มีความเข้าใจถึงวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และอยู่ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ได้    

9. การขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ แก้โดยสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้น ไม่เลือกปฏิบัติ ภาครัฐจะต้องแยกให้ออกอย่างชัดเจนว่าเรื่องใดเป็นเรื่องของความขัดแย้งในเรื่องของอุดมการณ์ และเรื่องใดเป็นเรื่องของความรุนแรงของกลุ่มอิทธิพลการค้ายาเสพติด

10. เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จะต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม มีวินัย มีจิตสำนึกที่ดีและมีความจริงใจต่อประชาชนในพื้นที่

11. รัฐบาลต้องมีนโยบาย มาตรการที่ชัดเจนในการดูแลประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนผจญชะตากรรมด้วยตัวเองแบบวันต่อวัน โดยไม่ทราบชะตากรรมว่าในแต่ละวันจะเจอเหตุการณ์ร้ายอะไรบ้าง

2.ปัญหาทางสังคม

2.1 ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งเน้นในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจเพื่อให้เจริญเท่าเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยละเลยการพัฒนาคน ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญจึงทำให้คนไทยมีจุดอ่อนในเรื่องการพัฒนาคน เป็นปัญหาหลักของประเทศไทยในขณะนี้

2.2 เยาวชนในพื้นที่ที่เรียนในโรงเรียนสอนศาสนาได้รับการปลูกฝังให้มีความเข้าใจผิดจากสถานศึกษา ผู้บริหารของโรงเรียนที่มาจากต่างประเทศ (ประเทศที่เป็นมุสลิม) โดยปลูกฝังความคิดให้เด็ก เยาวชนเกลียดภาครัฐ และให้ทวงคืนเมืองปัตตานีกลับคืนมา

2.3 การที่มีกำลังทหารอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวง หวาดกลัว ไม่มีความเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีการตั้งด่านตรวจมาก ทำให้กระทบต่อการทำมาหากินและเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ และส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องชู้สาวตามมา

2.4 ปัญหายาเสพติด กลุ่มอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดขัดแย้งกันเองและก่อให้เกิดความรุนแรงตามมา

2.5 การระแวงเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ยอมรับและความไม่เข้าใจประเพณี วัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ทำให้ประชาชนไม่พอใจกับการที่มีกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่

2.6 หลักสูตรที่ใช้สอนในโรงเรียนสอนศาสนา ที่สอน 2 หลักสูตร ทำให้เกิดการสอนและปลูกฝังความคิดในด้านลบให้กับเยาวชน ให้เกลียดชังภาครัฐ

2.7 ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการพัฒนา และการคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ข้อเสนอแนะ และแนวคิด วิธีการในการแก้ปัญหา

1. ประชาชนต้องได้รับการศึกษาในระบบการศึกษาอย่างทั่วถึง ต้องพัฒนาคน หากไม่พัฒนาคน ก็จะไม่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาได้ ดังนั้นจึงต้องปฏิรูปการศึกษาและสังคมไทย ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา เน้นที่ทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาศักยภาพของคนในประเทศให้มากก็จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้ในที่สุด

2. การปฏิบัติต่อประชาชนในพื้นที่ต้องเสมอภาค ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ดูหมิ่นในความแตกต่าง ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงนามธรรมที่พูดให้ดูดีเท่านั้น ต้องให้เห็นเป็นรูปธรรม

3. ให้ภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและความมั่นคงทบทวน ตรวจสอบหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียนสอนศาสนาที่สอน 2 หลักสูตร พิจารณาว่ามีความสุ่มเสี่ยงในการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและปลูกฝังเยาวชนในทางที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อภาครัฐหรือไม่

4. การสื่อสารหรือเผยแพร่ข่าวสารของสื่อมวลชนในกรณีความไม่สงบในพื้นที่ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรให้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ควรที่ให้ข่าวออกไปเกินความเป็นจริง เพราะสื่อมวลชนจะเป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความรุนแรงและความหวาดกลัวต่อสถานการณ์ในพื้นที่ และกระทบต่อเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่โดยตรง

5. การแก้ปัญหาในเรื่องของการใช้วิธีพูดคุยหรือจะขยายผลต่อไปถึงการเจรจาที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลจะต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหา และหยุดสร้างภาพ

6. เสนอให้มีหลักสูตร “สันติศึกษา” ในเรื่องของพหุวัฒนธรรมและการพัฒนา ในสถานศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้และมีความเข้าใจในการที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และมีความสุขในสังคมที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีความเข้าใจในความแตกต่างที่มีความเหมือน เพื่อลดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม ให้เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขท่ามกลางความหลากหลายและแตกต่างกันของวัฒนธรรมและประเพณี