อันธิฌา ยังสนใจเรื่องการแบ่งเป็นสี่กล่อง อยากขอให้ช่วยอธิบายตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้นค่ะ วิธีการนี้น่าสนใจที่ตรงไหนบ้างมีจุดเด่นอย่างไรแตกต่างจากงานวิชาการด้านภาคใต้ของไทยของนักวิชาการคนอื่นๆอย่างไรบ้างและมันได้ให้ภาพของสถานการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นหรือไม่อย่างไรคะ
สมัชชา จากการที่ อ.ศรีสมภพจัด workshop ที่มี อ.แอนเดรีย อ.นอเบิร์ด อ.ดันแคน มาด้วยผมก็สงสัย มีความรู้สึกทึ่งในวิธีการของอาจารย์ที่มันแน่นเราทำงานด้านวารสารการเอาข้อมูลมาต่อกันอันที่จริงเราก็ทำได้มันเป็นทักษะอย่างหนึ่งแต่มาเจอที่สัมภาษณ์สี่ร้อยกว่าคน รวมใบปลิว รวมเอกสาร บทความที่เขียนมาอีกแล้วเอามาต่อ เชิงอรรถที่มันแน่นจนเกินจะทน ผมว่ามันน่าทึ่งมาในการที่จะเอามาประติดประต่อเป็นเรื่องราวขึ้นมาใช้วิธีการอย่างไร ผมถามเหมือน อ.อัน เหมือนกันว่าทำอย่างไรจึงได้เป็นสี่กล่องเขาบอกว่าเขาร่างกล่องขึ้นมา ใช้วิธีใส่ Key words ลงไปในเอกสารพอเขาจัดหมวดหมู่ ก็ลองจัดจาก key words เหล่านั้นจนได้เป็นกล่องสี่กล่องขึ้นมาเขาวางแผนทุกขั้นตอนอย่างละเอียดตั้งแต่การเดินทางมาเก็บข้อมูลที่นี่ทุกอย่างมีการวางแผน เราเคยเจอนักวิชาการมาเยอะ นักมานุษยวิทยาก็จะพูดอะไรเยอะแต่คนนี้แปลกเขาจะเงียบ ถามอะไรไม่พูด ขอสัมภาษณ์ก็ไม่ให้ พอไปลงพื้นที่อยู่กับเราไม่พูดพอไปเจอกับชาวบ้านก็อีกเรื่องแถมพูดเป็นภาษามลายูกลางอีกพอมาได้อ่านงานแล้วเมื่อเทียบกับตัวเราเองรู้สึกว่าเขาอัจฉริยะมากดูรายละเอียดของการเก็บข้อมูล การวางโครงเรื่อง ซึ่งพื้นฐานของการเรียนด้าน literatureมาอาจจะช่วยในการเล่าเรื่อง
ผมเคยถามว่าทฤษฎีรัฐศาสตร์มีตั้งเยอะทำไมถึงเลือก“ความชอบธรรม” การที่จะขมวดมันเข้ามาให้เป็นเล่มนี้ผมว่ามันคงเป็นความรู้สึกลึกๆของคนทำงานที่คิดว่ามันใช่อันนี้และมันคือความน่าสนใจที่เขียนร้อยทั้งสี่บทเข้าไว้ ในงานรีวิวบทความผมจะย้ำว่าคำว่า“ความชอบธรรมบกพร่อง” จะเป็นตัวร้อยโยงอยู่เป็นระยะและข้อมูลที่เก็บมาจะคอยเป็นเหตุผลสนับสนุนข้อเสนอของเขาว่าด้วยเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆและสี่บทก็ถูกร้อยเรียงให้เห็นได้ชัดขึ้น
ศรีสมภพ ผมจะเสริมว่าเขาร้อยมาเป็นสี่กล่องได้อย่างไร ผมคิดว่าแนวคิดที่ดันแคนมีและพูดบ่อยตั้งแต่ช่วงแรกๆที่มาก็คือแนวคิดเรื่องnetwork เครือข่าย ดันแคนหลงใหลคำว่าเครือข่ายมากซึ่งมันทำให้เกิดคำหนึ่งที่ดังมากที่เขาเป็นคนตั้งขึ้นมาคือ networkmonarchy ผมเชื่อว่าเขาได้คำคำนี้ที่ปัตตานีเพราะว่าคุยกันตั้งแต่ปี47-48 ดันแคนจะเป็นคนที่มีความเป็นศิลปิน เขามีไอเดียเยอะกับคนที่ไม่รู้จักเขาก็จะสงวน แต่ถ้าคนที่คุ้นกันเขาจะพูดมาก พรั่งพรูอยากจะแสดงออก คำคำนี้เขาเคยนำมาพูดกับผมก่อนที่จะเอาไปเขียนแล้วเป็นที่รู้จักผมพบว่าสิ่งที่เขาเขียนมักจะเป็นสิ่งที่เคยคุยกันดันแคนเคยเล่าว่าเขาใช้ตอนที่คุยกันนั่นแหละในการรวบรวมความคิดหลังจากคุยกันเขาจะกลับไปบันทึกเก็บไว้ทันที เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ดีมากเรียกว่ามีความคิดต่างๆออกมามากมาย ตอนอยู่สิงคโปรก็เอาที่บันทึกไว้เหล่านี้มาอ่านอีกทีหนึ่ง
รอมฎอน ผมเคยถามว่าแกใช้แม่เหล็กอะไรในการดึงแนวคิดออกมาจากข้อมูลก็เป็นอย่างที่ อ.ศรีสมภพ ว่า คือใช้การลงภาคสนามเป็นหลัก ทฤษฎีจะมาทีหลังถ้าดูในบทนำแรกๆนี่งานที่สำคัญที่ถูกอ้างคือของ โมฮัมเหม็ด ฮาเฟซ (MohammedHafez) เรื่อง Why Muslims Rebel และของมูธีอาห์ อาลากัปปา (Muthiah Alagappa) แกเล่าให้ฟังว่าไปยืนรอถ่ายเอกสารก็คุยกับเพื่อนระหว่างนั้นเขาก็แนะนำให้อ่านงานของฮาเฟซก็ง่ายๆอย่างนั้นก็ได้แม่เหล็กมา ของ อ.ดันแคน จึงมาจากภาคสนามเป็นสำคัญ
ตอบคำถาม อ.อัน ผมคิดว่าสี่กล่องหรือสี่เครือข่ายในหนังสือเล่มนี้พยายามฉายภาพความสัมพันธ์ของตัวแสดงต่างๆและภูมิหลังของมันให้เห็นว่าตอนนี้ความรุนแรงมันเป็นแค่อาการหนึ่งของความชอบธรรมที่มันบกพร่องรัฐก็บกพร่อง การปกครองในพื้นที่แห่งนี้มันจึงไม่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากผู้ถูกปกครองและวิธีการของรัฐที่พยายามรักษาดินแดนและผู้คนที่นี่เอาไว้ ก็ทำหลายแบบหนึ่งในนั้นคือการเอาผู้นำทางศาสนามาเป็นพวกเพื่อให้คนเหล่านี้ไปนำความยินยอมพร้อมใจมาจากชาวบ้านอีกทอดหนึ่งในบทที่ว่าด้วยอิสลามเราจะเห็นความปริแตก ปริร้าวภายในผู้นำศาสนาต่อมวลชน ซึ่งการที่รัฐไปดึงมาคุณต้องมาเข้าพวกนะไม่งั้นคุณจะถูกเพ่งเล็ง นึกออกไหมคุณต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐนะ คุณจึงจะเป็นพวกเรา มีความภักดีแต่ว่าเมื่อดึงเข้ามาเมื่อไหร่การยึดโยงเกาะเกี่ยวกับมวลชนก็จะห่างหายไปมีของแบบนี้เกิดขึ้นตลอดแต่รัฐก็มองไม่เห็นในสิ่งนี้
ขณะเดียวกันความเป็นผู้นำต่างๆก็เริ่มเสื่อมลงในหนังสือก็วิจารณ์ไว้อย่างเจ็บแสบว่าในปอเนาะเดี๋ยวนี้ก็มี “เจ้าบาบอ” ไว้เรียกคนที่ตั้งตนเป็นใหญ่แล้วก็มีเครือข่ายแม้กระทั่งนักการเมืองก็มีกลุ่มวาดะห์แล้วก็แตกไปเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้เครือข่ายเหล่านี้มันเกาะเกี่ยวกันและห่างกันด้วย
ในแง่ความมั่นคง การใช้กำลังทหารของรัฐเพื่อรักษาพื้นที่ตรงนี้เอาไว้แต่มันสะท้อนให้เห็นว่ารัฐสูญเสียความชอบธรรม คนไม่ยินยอมไง คุณจึงต้องใช้กำลังและการใช้กำลังอย่างนี้ก็ผ่อนถ่ายให้กับพลเรือนด้วยรัฐไทยก็ไม่มีความสามารถจัดการกับประชาชนของตัวเองได้นอกจากการใช้กำลังพอถึงจุดหนึ่งก็แปรรูปกิจการด้านความมั่นคงให้กับพลเรือนอันนี้มันก็สะท้อนให้เห็นว่ามันเปราะบาง มันประสบปัญหา
พอพูดถึงบทสุดท้ายปัญหาคือการที่มันหาแกนนำไม่พบเราสืบหาไอเดียว่าคนลุกขึ้นมาต่อสู้ใช้อาวุธขนาดนี้เพราะอะไร แต่เราไม่เห็นคนนำเราไม่เห็นความชอบธรรมของการออกมาพูดว่าที่นี่ควรจะเป็นอย่างไรเราเห็นแต่ปฏิบัติการทางทหาร อย่างนี้ก็คือ liminal lattice มันเผยออกมาตอนที่มันปฏิบัติการแต่คุณไม่สามารถจับต้องมันได้เวลาที่มันอยู่นิ่งๆมันเบลอ มันตาย คุณไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นำ ไม่รู้ว่ามันจะนำไปสู่อะไร อันนี้จึงนำมาซึ่งปัญหาความชอบธรรมที่ว่าคนเหล่านี้จะพาปาตานีไปที่ไหนทั้งหมดนี้มันร้อยอยู่บนฐานที่พิจารณาความชอบธรรมบนฐานที่แตกต่างกันแล้วมันสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของพวกตัวแสดงเหล่านี้.
(โปรดติดตาม ตอนที่ 3 ว่าด้วยข้อเสนอต่อยอดและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนนี้ "สำคัญ" มากๆค่ะ)