Skip to main content

 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

 
ผมเคยสัญญาแบบไม่เป็นทางการกับมิตรรุ่นน้องท่านหนึ่งว่าจะไม่ออกตัวจนเกินงามเกี่ยวกับความไม่รู้ในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมก็ไม่รู้จริงๆ คิดว่าจะมาตั้งหลักฝึกฝนทักษะใหม่อีกเยอะ แต่เรื่องต่อไปนี้ ผมเขียนด้วยความไม่รู้อย่างบริสุทธิ์ใจครับ
                         
หลายวันก่อนผมกลับบ้านที่เชียงใหม่และตระเวนหาโรตีกินให้หนำใจตามประสาคนติดโรตี มีหลายร้านแถวช้างคลานที่รสชาติพอเข้าท่า ส่วนในเมืองก็นิยมขายโรตีใส่ชีสบ้าง ทาแยมตระกูลเบอร์รี่ทั้งหลายบ้าง แต่ที่น่าสนใจคือ โรตีหลายร้านไม่ได้มีคนอิสลามเป็นผู้ขาย จำนวนมากทีเดียวที่เป็น "คนเมือง" โดยเฉพาะร้านหน้าปากซอยของผมตั้งชื่อติดกล่องไฟอย่างโดดเด่นว่า "โรตีคนเมือง" ลูกค้าร้านนี้แน่นทุกคืน ผิดกับร้านฝั่งตรงข้ามซึ่งมีแต่รถเข็นแบบง่าย แม่ค้าคลุมฮิญาบ และมีป้ายโฆษณาแบบง่ายๆว่าโรตีมะตะบะ ร้านนี้เงียบเหงา บรรยายกาศซึมเซา แต่ในเรื่องรสชาตินั้นจัดว่าเยี่ยมสามารถสู้กับ "มะตะบะปูยุด" อันโด่งดังของนครรัฐปตานีได้ทีเดียว...
 
โรตีของร้านโรตีคนเมืองมีลักษณะคล้ายแผ่นแป้งทอดกรอบ โรยนมและน้ำตาล ซึ่งออกจะขัดจากการทำโรตีทั่วไปซึ่งต้องผ่านกระบวนการ "กึ่งหมัก" ให้แป้งพอฟูนุ่มเหนียวขึ้นมากได้ การใช้น้ำมันและทอดของโรตีคนเมืองนั้นก็ใส่น้ำมันจนเต็มกระทะ พอใส่แป้งที่ไม่ได้หมักลงไปมันจึงเหมือนแป้งทอด (ย้ำ แป้งทอด!) เท่าที่ผมเข้าใจ หากเป็นการทำโรตีแถบปากีสถาน และบางส่วนของอินเดียนั้นมักใส่น้ำมันน้อย แต่ในกรณีของทางตอนใต้ของพม่า บังคลาเทศนั้นมักนิยมใช้น้ำมันมากเหมือนกัน (ความต่างนี้น่าจะเขียนเป็นบทความสักบท เพราะในไทยมีหมดทุกแบบ)แต่กรณีของโรตีคนเมืองนั้น น้ำมันแทบจะท่วมกะทะ ทอดเสร็จเค้าก็เอามาเสียบไว้กับเหล็กข้างๆกระทะเพื่อสะเด็ดน้ำมัน ขั้นตอนสุดท้ายคือการกระหน่ำนม แยม ชีส ซอคโกแลต ฯลฯ ตามใจลูกค้า ผมถามพ่อค้าว่าหัดมาจากไหน เขามองหน้าผมแวบหนึ่งแล้วตอบว่า หัดเอง ดูจากยูทูป และไปลองกินของมุสลิม เค้าเล่าต่อว่า ไม่ชอบแป้งนุ่ม เค้าชอบแบบกรอบๆ ไม่เห็นต้องหมักแป้ง ทอดมันไปเลยกรอบดี ผมงงและถามเขาถึงนิยามของโรตี เขาบอกว่า โรตีก็คือโรตี โรตีไม่ใช่สมบัติของมุสลิม คนเมืองก็ทำได้ (ทำไม พี่เป็นมุสลิมเหรอ หวงเหรอ!- อ้าวผมซวยเลย)
 
ผมกลับมาที่บ้านนั่งเล่าเรื่องนี้ให้ภรรยาฟัง แม้พวกเรา รวมถึงลูกสาวตัวเล็กจะชอบโรตีแบบนุ่มๆ เหนียวๆ กรอบข้างนอก แบบที่เคยกินที่มาเลเซียและสามจังหวัดภาคใต้มากกว่า แต่เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงลาบเป็ดอิสลามในปตานีซะงั้น...
 
ผมเคยงงกับเพื่อนคนหนึ่งที่ปตานี เค้าเคยโทรมาหาผมแล้วพูดแต่คำว่า "เป็ด เป็ด เป็ด จุ้ย ไปกินลาบเป็ดกัน" พอผมเดินทางไปถึงพวกเราก็กินลาบเป็ดกันอย่างเอร็ดอร่อย ลาบเป็ดนี้ถือว่าเป็นอาหารฮาลาลแล้ว เนื่องจากแม่ค้าเป็นมุอัลลัฟหรือคนที่เพิ่งมาเข้าอิสลาม เธอเพิ่งแต่งงานกับมุสลิมในสามจังหวัดและมาเปิดร้านลาบเป็ดเป็นเพิงอยู่ข้างทาง ผมเคยกินร้านนี้หลายครั้ง รสชาติก็ลาบเป็ดอุดรแหละครับ สิ่งที่น่าสนใจคือคนปตานีจำนวนหนึ่งคงอยากกินอาหารอิสานบ้างแต่ติดที่ว่าหาร้านฮาลาลลำบาก กระทั่งมีมุอัลลัฟนี่แหละที่เข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการทางรสชาติอาหารใหม่ๆ ในโลกมลายู ก็อย่างที่หลายคนทราบ อาหารสามจังหวัดภาคใต้ไม่ได้เผ็ดและจัดแบบใต้ตอนบน ออกจะมีรสมันและหวานนำทางลิ้นเสียด้วยซ้ำ ครั้นเจออาหารสกุลลาบเข้าไปก็ปาดเหงื่อซี้ดซ้าด ห่อปาก ผมเคยไปกินคนเดียวครั้งหนึ่ง เห็นป๊ะ (คำเรียกนำหน้าชื่อมุสลิมชายกลางคนถึงสูงวัยหรือเรียกด้วยความเคารพ) คนหนึ่งกำลังสาละวนอยู่กับข้าวเหนียวที่ติดเต็มฝ่ามือ ใบหน้าเขาดูสนุกๆ อายๆ แต่ก็อยากกินลาบต่อ
 
ผมจึงนึกขึ้นได้ในบัดดลว่าลาบก็ไม่ใช่อาหารประจำถิ่นอิสานโดยถาวร แม้อาหารจะสามารถเป็นภาพแทนตนของชาติพันธุ์ อัตลักษณ์ถิ่น อัตลักษณ์ประจำชาติ ได้ฯลฯ แต่อาหารไม่มีเจ้าของทั้งยังสามารถ ลื่นไหลไม่มาภายใต้บริบทต่างๆได้ ในด้านหนึ่งลาบเป็ดอิสลามจึงไม่ต่างจากโรตีคนเมือง จะต่างกันตรงที่เงื่อนไขการเปลี่ยนผ่านจากลาบเป็ดมาสู่ลาบเป็ดอิสลามนั้น ผู้ทำต้องเป็นอิสลามเสียก่อน (ส่วนมุสลิมคนไหนอยากกินลาบเป็ดที่ไม่ฮาลาลนั้นก็เป็นเรื่องที่เจ้าตัวต้องสนทนากับพระเจ้าหรือกลไกของชุมชนกันเอง) ส่วนโรตีนั้นทำได้เลย (แต่กรณีโรตีคนเมืองเนี่ย ใครจะบอกว่าไม่ใช่โรตีมันก็เป็นสิทธิของเค้า)
 
โดยพื้นฐานที่สุด โรตีคนเมืองกับลาบเป็ดอิสลามเกิดขึ้นได้เพราะพวกเค้าซึ่งแตกต่างกันมีความสัมพันธ์กันในเชิงพหุสังคม (ไม่ใช่พหุวัฒนธรรม-เรื่องนี้ก็เป็นประเด็นใหญ่ซึ่งผมกำลังเขียนบทความเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมกับโลกมลายูอยู่)ซึ่งคนแต่ละกลุ่มมา "สมรม" "พัวพัน" หรือ "ป๊ะ" กันและพัฒนาต่อยอด หยิบยืม ดัดแปลง ความต่างมาอยู่ในวัฒนธรรมของตัวเอง เรื่องพวกนี้นับเป็นสิ่งธรรมดามากทั้งในเชิงปรากฏการณ์และพื้นฐานทางความคิด
 
ประเด็นหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง สู่สันติภาพในอุษาคเนย์ ซึ่งจัดเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ ประชาชนอยู่ตรงไหนในกระบวนสันติภาพ ? ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะสันติภาพซึ่งการจากการเจรจาโดยรัฐก็คือการภาพสะท้อนความทดถอยของประชาชน ไม่มีใครฟังสันติภาพจากมุมมองของเหยื่อ ผู้ก่อการ ประชาชนธรรมดาเลย คำถามของผมคือ ใครคือประชาชนในกระบวนการสันติภาพ ใครถูกกีดกันออกไป ใครถูกดึงเข้ามา ฯลฯ กรณีโรตีคนเมืองกับลาบเป็ดอิสลามนั้นบอกเราว่า ผู้คนไม่เคยแยกออกจากกันทั้งอิสลามและไม่ใช่อิสลาม สิ่งใดคือจินตนาการร่วมของพวกเค้า เหตุใด พวกเค้าถูกทำให้แยกออกจากกัน ความเกลียดชังและโกรธแค้นระหว่างกลุ่มในชีวิตประจำวันมีส่วนอย่างไรในการนิยามว่า "ใครคือประชาชน"
 
แน่นอน อาหารไม่ใช่เรื่องโรแมนติก เฉกเช่นกระบวนการสันติภาพ แต่หากกระบวนการสันติภาพนั้นเกิดขึ้นจากการมองไม่เห็นความสัมพันธุ์เชิงพหุสังคม และลบความทรงจำที่เคยสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่างๆ ด้วยการกีดกันคนอื่นออกไปจากกลุ่มตัวเอง กระบวนการสันติภาพนั้นก็คือวิถีใหม่ของความรุนแรง เพราะในภูมิภาคแห่งนี้ไม่ได้มีแค่ออแฆนายู และออแฆสิแยก็ไม่สามารถอ้างอิงกับความเป็นไทยแท้ได้อีกต่อไป
 
ในสถานการณ์ต่อสู้ทางการเมืองและทหาร สิ่งแรกที่ล้มหายตายจากก็คือความซับซ้อนทางอัตลักษณ์ มนุษย์เราจะสามารถฆ่ากันได้ก็เพราะอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์มักถูกทำให้ชัดเจนแข็งแกร่ง กระทั่งสามารถมองได้ว่า "คนอื่น" นั้นเป็นศัตรูเพราะไม่มีสิ่งใดที่เหมือนหรือมีร่วมกับตัวเรา
 
ในกระบวนการสันติภาพเล่า พวกเรามองตัวเอง คนอื่น และนิยามคำว่า "ประชาชนของเรา" "พ้องพ้องของเรา" กันอย่างไร...