Skip to main content

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้แปลและเรียบเรียงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ Govt must strive to build 'positive peace' in South” ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 29 เมษายน 2556 (หรือคลิกดูฉบับออนไลน์ได้ ที่นี่)

 
เขียนโดย
ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์
นักวิจัยอาวุโสประจำสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

แปลและเรียบเรียงโดย
ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์
ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
 
การริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติและขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บาริซาน เรโวลูซิ นาชันนัล - บีอาร์เอ็น) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้จะเต็มไปด้วยความละเอียดอ่อนซับซ้อนแต่ก็เป็นโอกาสไปสู่ข้อตกลงให้เกิดสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้
 
กระบวนการดังกล่าวสะท้อนว่ารัฐบาลไทยยอมรับปัจจัยพื้นฐานสามประการ นั่นคือ (1) ต้องการใช้มาตรการทางการเมืองเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง (2) ยอมรับว่าคู่เจรจา คือ ขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นตัวแสดงสำคัญในหมู่ขบวนการเคลื่อนไหวมลายู-มุสลิม และ (3) ยอมรับบทบาทของมาเลเซียในฐานะคนกลาง ขณะเดียวกัน ขบวนการบีอาร์เอ็นก็ยอมรับว่าข้อตกลงจากการพูดคุยจะต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย[1]
 
ต้องถือว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็ลงเดิมพันไว้สูงกับการริเริ่มพูดคุยครั้งนี้ ขณะที่รัฐบาลไทยเริ่มต้นกระบวนการทางการเมืองทั้งที่รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถจะลดความรุนแรงได้ในเร็ววันและอาจนำไปสู่การถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขบวนการบีอาร์เอ็นก็เดิมพันด้วยความเป็นไปได้ที่จะแตกแยกกันเองภายในองค์กรและกับขบวนการต่อสู้อื่นๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับความพร้อมของรัฐไทยที่จะยอมตกลงปรับโครงสร้างทางการเมืองในจังหวัดชายแดนใต้เสียใหม่
 
ท่ามกลางความสุ่มเสี่ยงทั้งหลาย การสำรวจความคิดเห็นในช่วงกลางเดือนที่ผ่านมาปรากฏผลออกมาในทิศทางเดียวกัน นั่นคือ สองในสามของผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ[2] ซึ่งย่อมถือเป็นเรื่องน่ายินดี หากเราก็ไม่ควรละเลยบทเรียนจากกระบวนการสันติภาพจากที่อื่นๆ ว่าการสนับสนุนจากสาธารณะอาจลดน้อยลงเมื่อกระบวนการสันติภาพต้องเผชิญกับวิกฤต
 
สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าก็คือความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพที่ขึ้นอยู่กับการยอมผ่อนปรนและประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย
 
การยอมผ่อนปรนอาจทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายต้องผิดหวัง เนื่องจากพวกเขาเฝ้ารอมาเป็นเวลานานและคาดหวังที่จะได้รับการชดเชยความทุกข์ที่เคยประสบมาในอดีต
 
ความยากลำบากเบื้องต้นของกระบวนการสันติภาพทั้งหลายคือการที่คู่กรณีต้องหาทางออกจากความขัดแย้ง ขณะที่ยังมีทัศนคติเชิงลบต่อกัน อันเป็นผลมาจากความหวาดระแวงและเป็นปฏิปักษ์ที่กินเวลายาวนานนับปี นับทศวรรษหรือกระทั่งบางกรณีอาจยาวนานเป็นศตวรรษด้วยซ้ำ
 
คำว่า “สันติภาพ” อาจมีความหมายที่แตกต่างกันสำหรับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย รัฐบาลและกลุ่มผู้สนับสนุนต้องการให้กลุ่มก่อความไม่สงบหยุดก่อรุนแรงในทันที หลังจากนั้นจึงค่อยมาพูดคุยกันเรื่องทางออกทางการเมือง
 
ขณะเดียวกัน ฝ่ายขบวนการและแนวร่วมเรียกร้องความยุติธรรม ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมที่จะปกครองในพื้นที่ “มาตุภูมิ” ของตน พวกเขาจะไม่ยอมลดระดับความรุนแรงจนกว่าจะเห็นความก้าวหน้าในเรื่องเหล่านี้
 
การรักษาสมดุลระหว่าง “สันติภาพเชิงลบ (negative peace)” (ไม่มีความรุนแรง) และ “สันติภาพเชิงบวก (positive peace)” (ความยุติธรรม ความเท่าเทียมและสิทธิในการปกครองตนเอง) ไม่สามารถกระทำได้โดย “ผู้สร้างสันติภาพ” ในการพูดคุยระดับทางการ (ซึ่งบางครั้งเรียกกันว่า “แทร็ค 1”) แต่เพียงลำพัง
 
หากยังต้องได้รับการสนับสนุนจากสาธารณะอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดสันติภาพทั้ง “เชิงบวก” และ “เชิงลบ”
 
คนในพื้นที่ องค์กรประชาสังคม และขบวนการประชาชนรากหญ้าล้วนทำงานเพื่อร่วมสร้างสันติภาพกันมาเป็นเวลานานนับปีแล้ว (คนกลุ่มนี้สามารถเรียกได้ว่า “แทร็ค 2” และ “แทร็ค 3”)
 
ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาเหล่านั้นจะต้องเชื่อมต่อกับแทร็ค 1 เพื่อหนุนเสริมความพยายามสร้างสันติภาพให้เข้มแข็งขึ้น
 
ความขัดแย้งรุนแรงทั้งหลายล้วนแตกต่างกัน กระบวนการสันติภาพก็เช่นกัน ย่อมมีความแตกต่างกันในแต่ละกรณี และต้องสอดคล้องกับความต้องการภายในประเทศ ประวัติศาสตร์ และผู้คนที่เกี่ยวข้อง
 
อย่างไรก็ตาม หากเรานำประสบการณ์ของกระบวนการสันติภาพกว่า 40 กรณีที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมามาเปรียบเทียบกันก็จะพบว่ากระบวนการสันติภาพเหล่านั้นมีความคล้ายคลึงกันอยู่ในหลายมิติ
 
บทเรียนห้าประการที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากกระบวนการสันติภาพเหล่านี้จากทั้งกรณีที่ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว และยังคงดำเนินการอยู่ มีดังนี้
 
ประการแรก คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการและความคิดเห็นของประชาชน การสนับสนุนจากสาธารณะที่ดีที่สุดย่อมวางอยู่บนการยอมรับฟังความต้องการและความกลัวของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในภูมิภาค
 
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีเวทีสาธารณะให้ผู้คนได้บอกความต้องการ ความกลัว และความคาดหวังของพวกเขา ประชาชนยังควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้จัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพท้องถิ่น เพื่อช่วยนำเสนอความคิดริเริ่มว่าจะทำให้ชุมชนที่เคยแตกแยกจากความขัดแย้งได้รับการเยียวยา และมีส่วนร่วมฟื้นฟูภูมิภาคพหุวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร ตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีนี้ ได้แก่ คณะกรรมการและสภาสันติภาพท้องถิ่นในอาฟริกาใต้ เคนยา นิการากัว อาเจะห์และพื้นที่อื่นๆ
 
คนทำงานในองค์กรประชาสังคมจำนวนหนึ่งเคยเสนอตัวขอมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพระดับทางการในฐานะผู้สังเกตการณ์ ข้อเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้บรรดาผู้นำต้องรับฟังเสียงของประชาชน หากอาจเป็นการดีกว่าที่จะนำเสนอข้อเรียกร้องนี้ต่อสาธารณะ เพื่อจะได้ไม่ต้องประนีประนอมจุดยืนของพวกเขาในกระบวนการพูดคุย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นแบบลับๆ เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อกันและหาจุดร่วมอย่างระมัดระวัง
 
ประการที่สอง ได้แก่ การสร้างสันติภาพเชิงบวกและสันติภาพเชิงลบทีละเล็กละน้อยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ สำหรับชุมชนไทย-พุทธ ความสำเร็จของการพูดคุยสันติภาพย่อมขึ้นอยู่กับการลดความรุนแรง ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับ “เป้าหมายที่อ่อนแอ” (soft target) เท่านั้น แต่ต้องรวมถึง “เป้าหมายทางการทหาร” (hard target) ด้วย ทว่า สำหรับขบวนการมลายู-มุสลิมและกลุ่มแนวร่วม ความรุนแรงถือเป็นการแสดงถึง “อำนาจ” ในพื้นที่เพียงประการเดียว พวกเขาเกรงว่าหากไม่ใช้ความรุนแรง อำนาจต่อรองของพวกตนก็จะลดน้อยลงไป
 
ขั้นตอนที่จะก่อให้เกิดความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และนำไปสู่การปกครองแบบมีส่วนร่วมถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยลดระดับความรุนแรง ข้อตกลงสันติภาพบังซาโมโรในมินดาเนานับเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจว่าขั้นตอนปลีกย่อยเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร และคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะสามารถมีส่วนร่วมในพัฒนาการดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง (คลิกดุรายละเอียด ที่นี่)
 
ประการที่สาม เป็นการมุ่งสร้าง “เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” (safety net) ในหมู่ประชาสังคม การพูดคุยสันติภาพระดับทางการย่อมจะต้องหยิบยกประเด็นที่มีความขัดแย้งกันสูงมาหารือในไม่ช้า ทั้งข้อตกลงหยุดยิงและการติดตาม ประเมินความเปลี่ยนแปลงในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย ตลอดจนประเด็นสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปการปกครองและการบริหาร การศึกษา วัฒนธรรม รวมถึงประเด็นความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการพัฒนา คู่กรณีมักจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหารือกันในประเด็นเหล่านี้ ตลอดจนร่วมกันจัดทำข้อเสนอ หารือประนีประนอม กระทั่งหาทางออกที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย
 
กระบวนการนี้ถือเป็นขั้นตอนที่ยากลำบากที่สุดในการสร้างสันติภาพร่วมกัน บ่อยครั้งที่คู่กรณีอาจเผชิญกับวิกฤตและทางตัน กระทั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขู่จะหันหลังให้กับการพูดคุย ทั้งนี้เราอาจรับมือกับความสุ่มเสี่ยงดังกล่าวได้โดยการจัดตั้ง “เครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพ” ภายในกลุ่มประชาสังคม ประกอบด้วยคณะทำงานที่รับผิดชอบในประเด็นเฉพาะ ซึ่งสอดคล้องกับการพูดคุยสันติภาพในระดับทางการ คณะทำงานเหล่านี้ควรเปิดให้มี “พื้นที่กลาง” ให้กลุ่มต่างๆ สามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอ อีกทั้งอาศัยความรู้จากกรณีความขัดแย้งในที่อื่นๆ เพื่อหาจุดที่สามารถประนีประนอมและก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ ข้อดีของกระบวนการดังกล่าวอยู่ที่การทำให้ฝ่ายต่างๆ หรือบุคคลที่ไม่ต้องการมีส่วนร่วมในการพูดคุยระดับทางการสามารถหาทางออกร่วมกันได้ คู่ขัดแย้งในเลบานอนเคยรวบรวมประสบการณ์ในเรื่องการสร้างเครือข่ายหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพเอาไว้อย่างเป็นระบบ
 
ประการที่สี่ เป็นบทเรียนที่ว่าด้วยการขยายฐานการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ยิ่งกระบวนการสันติภาพเปราะบางเท่าไร กลุ่มและตัวแสดงสำคัญก็ยิ่งไม่ยอมเข้ามามีส่วนร่วมมากเท่านั้น นี่ถือเป็นความท้าทายสำคัญของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ทว่า แทนที่จะเอาแต่วิพากษ์วิจารณ์ความน่าเชื่อถือและอนาคตของกระบวนการสันติภาพ อาจเป็นการดีกว่าที่จะช่วยกันคิดว่าจะชักชวนให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพได้อย่างไรบ้าง
 
ในทำนองเดียวกัน แทนที่จะเอาแต่กล่าวโทษ “พวกตัวป่วน” (spoilers) ในกระบวนการสันติภาพ อาจเป็นการดีกว่าที่จะร่วมกันถกเถียงว่าจะชักชวนให้ “ตัวป่วน” เหล่านั้นหันมาให้ความสนใจ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร ซึ่งย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย กระทั่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพเหล่านี้อาจพยายามทำให้คู่กรณีสามารถบรรลุข้อตกลงได้ยากยิ่งขึ้น ทว่า กลุ่มที่ถูกทิ้งให้ตกขบวนในกระบวนการสันติภาพอาจก่อกวนให้ข้อตกลงระหว่างคู่กรณีไม่สามารถไม่ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ การพูดคุยระดับชาติในเยเมนซึ่งเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนก่อนอาจเป็นตัวอย่างที่ดีกว่าจะสามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้อย่างไร
 
ประการสุดท้าย ได้แก่ การสร้างแรงกระตุ้นให้สาธารณะร่วมกันแสดงออกว่าสนับสนุนสันติภาพ กระบวนการสันติภาพในไอร์แลนด์เหนือถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่บรรดาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในความขัดแย้งร่วมมือกับกลุ่มประชาสังคมและสื่อมวลชนสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะขึ้น ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปเป็นฐานการสนับสนุนสาธารณะเพื่อผลักดันให้เกิดข้อตกลงสันติภาพ
 
ตัวอย่างดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ หลังจากที่หลายชีวิตต้องสูญเสียไป พร้อมกับบาดแผลที่ยากจะเยียวยา ครอบครัวจำนวนมากที่เจ็บช้ำและสายสัมพันธ์ทางสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกแยก น่าจะถึงเวลาแล้วที่จะเรียกร้องสันติภาพและความยุติธรรมให้เป็นที่รับรู้ทั่วกันทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับโลก
 
 



[1] ดูรายละเอียดของข้อสังเกตเกี่ยวกับการพูดคุยดังกล่าวได้ที่ คณะทำงานพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน,  “ริเริ่มพูดคุย: บทประเมินกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีหลังการลงนามในฉันทามติทั่วไปฯ” http://www.deepsouthwatch.org/node/4014
 
[2] กรุณาดูผลสำรวจความคิดเห็นในบางสำนัก อาทิเช่น นิด้าโพล (ดูใน “รัฐบาลไทยกับการนั่งโต๊ะเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN),” http://nidapoll.nida.ac.th/main/index.php/en/2012-08-06-13-57-45/400-28-1-56) และสวนดุสิตโพล (ดูใน “ ‘การแก้ปัญหาภัยใต้’ ในสายตาประชาชน,” http://dusitpoll.dusit.ac.th/polldata/2556/25561363485254.pdf)