พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
วันนี้วันที่ 4 พฤษภาคม 2556 ในไทย เราเรียกว่าวันหมาหอน ซึ่งเป็นวันที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนผู้สมัครในเวลากลางคืนจนทำให้หมานอนไม่เป็นสุข ต้องเห่าและหอนกันตลอดคืน ในคืนก่อนวันหย่อนบัตรลงคะแนนเสียง สำหรับประเทศมาเลเซียไม่มีการกล่าวกันว่าวันนี้เรียกว่าวันอะไรเป็นการเฉพาะ และหมาในบ้านเมืองนี้ก็แทบจะไม่มี เพื่อนๆ ชาวกลันตันที่พบกันในวันนี้หลายคนก็บอกว่าคืนนี้คืนวันก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งที่ 13 ในวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2556 เป็นวันที่น่าตื่นเต้นที่สุดวันหนึ่งในรอบ 50 ปี ของการเมืองประชาธิปไตยหลังจากที่มาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ
โชคดีที่อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ผู้เขียนจึงตัดสินใจนั่งรถชมวิวมาจากสงขลาเพื่อมาร่วมรับบรรยากาศประชาธิปไตยในรัฐกลันตันประเทศมาเลเซียในวันก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แต่สำหรับประเทศมาเลเซียแต่คงหมายถึงประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย บรรยากาศทั่วไปกล่าวได้ว่าน่าตื่นเต้นกว่าการติดตามข่าวจากเมืองไทยและข่าวทางอินเตอร์เนทซึ่งก็เรียกได้ว่าทำให้มาเลเซียเป็นเป้าของทุกสายตาขณะนี้
ความหวังและความตื่นเต้นมีอยู่มากท่ามกลางป้ายหาเสียงที่ดูเรียบง่ายด้วยการแขวนป้ายผ้าติดกันแขวนไว้ตามถนนเหมือนเราทำป้ายงานวัดหรืองานเทศกาลเช่น งานกาชาด เป็นต้น ป้ายพรรคเป็นเพียงแค่รูปที่เป็นสัญลักษณ์ของพรรค ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่การเลือกตั้งหลังได้รับเอกราช คือเมื่อมีประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งโดยตรงเกิดขึ้นและคงเป็นส่ิงใหม่ๆของประเทศในเอเชียชาวบ้านพืื้นถิ่นจะได้เลือกพรรคการเมืองที่ตนพอใจได้โดยง่ายเพียงจดจำสัญญลักษณ์แทนตัวหนังสือคือตัวเลขที่อาจจะยากสำหรับประชาชนในสมัยนั้น รูปผู้รับสมัครก็พบเห็นอยู่ทั่วไปแต่ไม่มากมายเท่ากับป้ายผ้ารูปสัญลักษณ์พรรค สัญลักษณ์พรรคอัมโนเป็นรูปตาชั่งสีขาวพื้นสีน้ำเงิน พรรค PAS เป็นรูปวงกลมสีขาวบนพื้นสีน้ำเงิน ส่วนป้ายพรรคอื่นๆในรัฐกลันตันหาดูได้ยากทีเดียวยกเว้นเราพบเห็นการติดป้ายผ้าพรรค PAS ร่วมกับพรรค PRK ของนายอันวาร อิบราฮิมอยู่ทั่วไป ถ้าไปพื้นที่อื่นเช่นปีนัง ก็คงเห็นป้ายพรรค DAP ของชาวจีนร่วมกับพรรคอาดิลันด้วยเช่นกัน
พรรคร่วมสามพรรคคือพรรคPKR พรรค PAS และพรรค DAP ได้รวมตัวกันประกาศเป็น Kalatan Government (พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล) แล้วด้วยวัตถุประสงค์เพื่อโค่นพรรคอัมโน UNMO
ในรัฐกลันตันเป็นรัฐของพรรค PAS ฝ่ายค้านที่มีอายุอ่อนกว่าพรรคอัมโนเพียงสามปีถือได้ว่าเก่าแก่พอกัน พรรคอัมโนเป็นรัฐบาลที่ปกครองประเทศมาเลเซียมากว่า 50 ปี พรรค PAS เป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนตลอดมาจากชาวกลันตันที่มีดินแดนติดกับภาคใต้ของไทย พรรค PAS ในปีนี้มีกำลังใจในการต่อสู้ทางการเมืองระดับชาติมากกว่าปีก่อนๆ เพราะได้ประกาศการสนับสนุนกันพรรค PKR ของนายอันวาร อิบราฮิม ถึงกับมีคำกล่าวจากผู้สนับสนุนพรรค PAS ท่่านหนึ่งที่เราพบปะวันนี้กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศมาเลเซียชื่อ อันวาร อิบราฮิม
นายอันวาร อิบราฮิมปัจจุบันเป็นฝ่ายค้านคนสำคัญ อดีตรองนายกรัฐมนตรีคนสนิทของมหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีคนสำคัญในประวัติศาสตร์มาเลเซีย นายอันวารถูกมรสุมการเมืองติดคุกกว่า 6 ปีในคดีการเมือง และกลับมาเล่นการเมืองสร้างความตื่นเต้นใหักับคนในมาเลเซียที่เริ่มต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเทศมาเลเซียต่างกับพรรคอัมโนซึ่งเป็นรัฐบาลพรรคเดียวมานานกว่า 50 ปี ซึ่งดูเหมือนเสียงด่าทอวิพากษ์วิจารณ์หลายเรื่องจะค่อยๆ ดังขึ้นและชัดเจนขึ้นภายหลังที่มหาธีร์ มูฮัมหมัดได้หมดอำนาจลง เช่น ในรัฐกลันตันชาวบ้านพูดถึงเรื่องส่วนแบ่งในเรื่องการจัดสรรประโยชน์จากทรัพยากรซึ่ง ถ้าพรรคอัมโนยังคงเป็นรัฐบาล ชาวกลันตันก็คงไม่มีโอกาสได้รับส่วนแบ่งใดใดจากน้ำมันหรือทรัพยากรอื่นๆ เพราะที่ผ่านมารายได้จากทรัพยากรน้ำมันนั้นจัดส่งเข้ารัฐบาลกลาง 100 % เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการออกกฎหมายกีดกันการแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันในรัฐฝ่ายค้านทั้งสี่รัฐซาบาร์ ซาราวัค ตรังกานูและกลันตัน อันเป็นนโยบายหลักที่ทั้ง 3 พรรคนี้หาเสียงว่าจะมีการกำหนดให้มีการแบ่งสันผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันให้รัฐต่างๆ โดยตรงถึง 20 %
จากการสังเกตการณ์อย่างในระยะเวลางสั้น ๆ พบเห็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการเลือกตั้งครั้งที่ 13 ในครั้งนี้สามประการ คือ เสียงของผู้ออกเสียงครั้งแรก เสียงจากพลังเงียบผู้เสพสื่อออนไลน์ และเสียงของชนกลุ่มน้อย น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญการเลือกตั้งที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้สำเร็จลงได้
เสียงคนที่ตัดสินน่าจะเป็นเสียงคนรุ่นใหม่ เพราะมีผู้ออกเสียงครั้งแรกคือเยาวชนอายุ 21 ปี จำนวน40% ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง อัตราการออกไปลงคะแนนเสียงของชาวมาเลเซียสูงถึง70% ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ทั้งนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสได้พูดคุยกับเยาวชนสองคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ National Union of Malaysian Muslim Students พบว่าพวกเขาติดสื่อทางอินเตอร์เนทเหมือนคนรุ่นใหม่ทั่วไปในโลกและก็เพื่อหาข้อมูลในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นครั้งแรกด้วย สื่อหนังสือพิมพ์และสื่อทีวีในมาเลเซียถูกควบคุมโดยรัฐบาลมานาน สื่อที่เยาวชนเหล่านี้เสพเป็นสื่อทางเลือกซึ่งในยุคก่อน ๆ ไม่มี และในยุคดิจิตอลนี้ก็ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาหลายมุมโลกแล้ว ในมาเลเซียที่นับว่ามีผู้ใช้อินเตอร์เนทมากในระดับต้นๆ ประชาชนมีความรู้อ่านออกเขียนได้ในอัตราที่สูง สื่อทางเลือกทางอินเตอร์เนทน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนได้ เสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็นเป็นที่หวนหาของคนรุ่นใหม่ในสังคมปัจจุบัน หนึ่งในข้อเสนอหนึ่งของพรรคร่วมสามพรรคคือการยกเลิกกฎหมายควบคุมสื่อและสิ่งพิมพ์ปีค.ศ. 1984 ซึ่งก็คงได้เสียงสนันสนุนจากประชาชนยุคดิจิตอลได้มากทีเดียว
ถึงแม้ว่าผู้ออกเสียงครั้งแรกจำนวนมากก็เป็นเยาวชนสตรีเสียด้วย แต่เท่าที่ถามไถ่ไม่มีนโยบายของแต่ละพรรคก็ไม่พบว่ามีนโยบายที่เน้นต่อผู้หญิงแต่อย่างไร มีผู้สมัครผู้หญิงบ้างก็เป็นเพียงส่วนน้อย ในรัฐกลันตันผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรรอัมโนในตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดคนหนึ่งก็เป็นผู้หญิง อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เสียงสนับสนุนพรรคอัมโนคงไม่มากไปกว่าเดิมอย่างแน่นอน
สิ่งที่สังเกตเห็นอีกเรื่องหนึ่งคือทั้ง PAS และพรรค UMNO ในการเลือกตั้งในรัฐกลันตันนั้นให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยในรัฐนี้อย่างมากเป็นลำดับต้น ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสียงสนับสนุนได้ ยกตัวอย่างเช่นสำหรับคนไทยพุทธ (ในมาเลเซียเขาเรียกว่า Siamist Buddisht) ซึ่งมีอยู่กว่า 40,000 คน โดยรับทราบเรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่งจากคำบอกเล่าของครูอาสาท่านหนึ่งในโรงเรียนสอนภาษาไทยในวันศุกร์เสาร์ของในวัดมัชฌิมาวิทยาทาน หรือที่ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่าวัดยุงเกา พี่นาถ ครูอาสา เล่าให้เราฟังว่าเด็กนักเรียนเหล่านี้ได้รับของเสื้อแจกฟรีจากทั้งสองพรรคคือ พรรค PAS และพรรค UMNO เราจึงจัดให้เด็กนักเรียนวันหนึ่งใส่เสื้อสีเขียวที่ได้รับแจกจากพรรค PAS และอีกวันก็ให้ใส่เสื้อสีฟ้าที่ได้รับแจกจากพรรคอัมโน หรือที่การหาเสียงของผู้สมัครท่านหนึ่งของพรรค PAS ที่เราได้บังเอิญพบปะในตลาดสดแห่งหนึ่งใน Tumpat (ตำบลหนึ่งในเขตโกตาบารู รัฐกลันตัน) ก็พบว่าผู้สมัครท่านนี้ได้ทักทายถามสาระทุกสุขดิบของคนสยามที่เป็นแม่ค้าในตลาดสดอย่างกันเอง และขอเสียงให้ลงคะแนนให้ด้วยในวันพรุ่งนี้ เช่นกันในปีนัง พรรค DAP นำโดยชนกลุ่มน้อยชาวจีน กับพรรคอัมโน ก็คงต้องเอาอกเอาใจชนกลุ่มน้อยชาวจีนไม่ต่างกับในรัฐกลันตัน แม้ว่าพรรค DAP คงจะได้เสียงสนับสนุนจากชาวจีนในปีนังขาดลอยก็ตาม
จากประสบการณ์การเดินทางมารัฐกลันตันและการสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างสั้น ๆในการเลือกตั้งของแห่งชาติของประเทศมาเลเซียในครั้งนี้ สิ่งที่ได้กลับไปคือบรรยากาศของความหวังในการเปลี่ยนแปลง ชีวิตทุกชีวิตอยู่ได้ด้วยความหวัง เราได้ยินวลีเด็ดสองสามวลีในวันนี้ เช่น “เรากระหายต่อการเปลี่ยนแปลง” Thirsty for Change หรือ วลีที่ว่า “แล้วพบกันที่ Putrajaya” ของผู้สมัครที่เราได้พบเจอ ซึ่งหมายความว่าเราจะไปครอบครองสำนักงานของรัฐบาลกลางของประเทศมาเลเซียที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ หรือ วลีที่ว่า “กลันตันจะเปลี่ยนมาเลเซีย” สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าชาวกลันตันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนมาเลเซียเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย เชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้ง เชื่อมั่นในเสียงของ Rakyat (ประชาชน) ซึ่งจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงตามระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง การเลือกตั้งแบบรูปนอกรอย เช่นการซื้อสิทธิขายเสียงก็ใช่ว่าจะไม่มี แต่อย่างน้อยการใช้ความรุนแรงต่อกันในระหว่างการเลือกตั้งก็เป็นส่ิงที่แทบจะไม่มีเลยในการเมืองมาเลเซีย ไม่เหมือนประเทศไทยที่ยังคงมีการยิงหัวคะแนนกันดาดเดื่อนก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้ง ดังนี้ประเทศไทยคงต้องเรียนรู้จากประเทศมาเลเซียในมุมนี้ว่าการให้การศึกษากับประชาชนในเรื่องระบบประชาธิปไตยหรือที่เรียกว่า Civil Education อาจจะเป็นทางออกของความขัดแย้งหลาย ๆ เรื่องของประเทศไทยก็เป็นไปได้ อะไรอะไรนอกระบบและเป็นการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนด้วยกันก็คงหมดไปด้วย เมื่อประชาชนยังมีความหวังในระบบประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งผู้แทนอย่าง Rakyat มาเลเซีย