Skip to main content

หมายเหตุ: รายงานพิเศษข้างล่างนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 8 พฤษภาคม 2556 หน้า 3 และในเว็บไซต์ของข่าวสด กรุณาคลิกดูต้นฉบับ ที่นี่

 
 
พลันที่ 5 ข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็นปรากฏในยูทูบ ก็ได้รับการปฏิเสธจากหลายฝ่าย รวมถึง เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน

ขณะที่ระดับนโยบาย รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเจรจาไม่ได้ตอบรับ หรือปฏิเสธอย่างชัดเจน 

ในความเห็นของนักวิชาการที่เกาะติดปัญหา "ไฟใต้" มองข้อเสนอนี้อย่างไร

 
ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี 
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ม.สงขลานครินทร์

ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นเสนอต่อรัฐไทย ที่เป็นไปได้มากที่ สุดคือเรื่องความยุติธรรม ที่ขอให้มีการปลดปล่อยกลุ่ม แนวร่วม 

เพราะรัฐไทย โดยศอ.บต. และสมช. มีการเตรียมการในเรื่องดังกล่าว มีข้อมูลตัวเลขผู้ถูกจับกุมคุมขัง และคนที่โดนหมายศาลว่ามีกี่คน 

ในทางกฎหมายก็มีแนวทางจัดการเรื่องดังกล่าว โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ หรือมีการนิรโทษกรรม 

ทั้งนี้ ฝ่ายขบวนการก็ต้องแสดงความจริงใจและยืนยันได้ว่าจะสามารถลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ได้ โดยไม่จำเป็นต้องลดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องแสดงให้เห็นว่าควบคุมสถานการณ์ได้ 

เช่นเดียวกับข้อเสนอของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ให้รัฐไทยพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นหลัก ทางบีอาร์เอ็นเองก็ต้องแสดงให้เห็นว่าตัวเองมีบทบาทหลักในพื้นที่ ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ได้ 

มองว่ารัฐไทยเองก็เชื่อว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการหลักในพื้นที่ งานศึกษาวิจัยและข่าวกรองของทหารก็ยืนยันในลักษณะนั้น

ส่วนข้อเรียกร้องที่เสนอให้รัฐบาลไทยยอมรับบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องพูดคุยกัน 

จากการพูดคุยครั้งที่ผ่านมา ไทยเองก็ขอให้บีอาร์เอ็นนิยามและชี้แจงความหมายของคำว่าปลดปล่อยให้ชัดว่าหมายถึงอะไร หากความหมายที่ทางกลุ่มจะชี้แจงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็มองว่ารัฐไทยไม่น่าจะมีปัญหา 

สำหรับข้อเสนอให้ยอมรับประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา ยังเป็นเรื่องของอนาคต เพราะกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐไทยและกลุ่มขบวนการยังไม่ถึงขั้นการเจรจา แต่อยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน 

หากกระบวนการพูดคุยดำเนินไปจนถึงขั้นการเจรจา ก็มีความเป็นไปได้ที่ประเทศมาเลเซียจะเข้ามาเป็นคนกลาง เพราะมาเลเซียเองก็อยู่ใกล้ มีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มขบวนการในภาคใต้ และเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ข้อเสนอที่ให้มีพยานจากอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือองค์กรเอกชนต่างๆ เข้ามาร่วมพูดคุย ในระยะนี้อาจยังไม่จำเป็นเพราะกระบวนการสันติภาพยังอยู่ระหว่างการพูดคุย ไม่ใช่การเจรจา 

หากให้มีฝ่ายอื่นหรือองค์กรต่างๆ เข้ามา อาจสร้างความสับสนให้มาเลเซียและกระทบกับกระบวนการ 

แต่หากยกระดับการพูดคุยไปจนขั้นเจรจาและมีการทำข้อตกลงระหว่างกัน จำเป็นต้องมีสักขีพยานและผู้สังเกตการณ์จากภายนอกเข้ามาร่วมด้วยตามหลักทั่วไป 

กระบวนการสันติภาพในระยะนี้จึงจำเป็นที่ต้องสร้างความไว้ใจกันก่อนระหว่างทั้งสองฝ่าย คือ รัฐไทยและกลุ่มขบวนการ เพื่อให้การพูดคุยเพื่อสันติภาพเดินหน้าต่อไปได้

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ 
รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 
ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

แถลงการณ์บีอาร์เอ็นที่ออก มา มี 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเป็นของ อัสซัน ตอยิบ พูดไว้หลายเรื่อง สิ่งสำคัญที่พูดไว้คือบอกว่าบีอาร์เอ็น เป็นอะไร ทำงานเพื่ออะไร อีกฉบับเป็นของ อับดุล การีม คอลิบ ที่พูดถึง 5 ข้อ 

คำแถลงทั้งสองฉบับสัมพันธ์ กันและที่ออกมาเมื่อวันที่ 28 เม.ย. เพราะครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ ยิ่งกว่านั้นเป็นการครบรอบเหตุ การณ์ลุกขึ้นสู้กรณีดุซงญอใน ปี 2491 

ดังนั้น ที่บอกว่าเป็นข้อเรียกร้องนั้นเขาไม่ได้แถลงต่อเรา แต่บีอาร์เอ็นพูดคุยกับคนของเขา เมื่อกำลังพูดคุยกับฝ่ายที่ยอมคุย เขาก็ต้องหาความชอบธรรมกับฝ่ายที่กำลังใช้กำลัง 

สร้างความชอบธรรมในการพูดคุยกับฝ่ายรัฐไทย หาวิธีที่จะแสดงว่าเขาไม่ได้ทรยศต่ออุดมการณ์ปัตตานี แล้วจะให้เขาพูดว่าอะไร 

ข้อถกเถียงต่างๆ จึงต้องดูว่าเขาพูดอยู่กับใคร เขารู้ว่าข้อเรียกร้องนับไม่ถ้วนรัฐไทยจะรับได้อย่างไร รัฐไทยเองก็รู้ เหมือนนายกฯ เวลาพูดเรื่องใดเรื่องหนึ่งต่อสาธารณะกับการพูดในพรรคก็เป็นอีกอย่าง 

ที่จริง 5 ข้อ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เขาพยายามพูดมาก่อนแล้วแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวเท่าไหร่ 

ส่วนข้อเสนอให้มีผู้แทนชาติอาเซียน โอไอซี เอ็นจีโอร่วมเป็นพยานนั้น ในบทความที่ผมเขียน "ความตายของเด็กน้อยกับคำสัญญาแห่งสันติสนทนา" มีข้อมูลการพูดคุยสันติภาพในประเทศต่างๆ

พบข้อเท็จจริงในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่ใช้กำลัง สู้กันกว่าร้อยละ 80 จบด้วย ข้อตกลงสันติภาพ 

ร้อยละ 60 มีคนอื่น หรือคน กลางเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวน การเจรจา แปลว่าการมีคนกลางเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ที่จะนำไปสู่ข้อยุติ แต่ไม่ได้หมายความว่ากรณีนี้ ควรจะมี 

การจะมีหรือไม่มี ในจังหวะไหน อย่างไร ตอนนี้ อาจต้องคุยกันโดยมีมาเลย์เป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือเป็นผู้ไกล่เกลี่ยก็แล้วแต่ แต่อาจไม่ถึงเวลาที่จะให้โอไอซี หรือตัวแทนจากต่างชาติเข้ามา 

โดยเฉพาะที่ทางการไทยกังวลมากคือ ไม่อยากให้กลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ 

ขณะที่มองจากมุมนี้ หากมีโอไอซีเข้ามา บีอาร์เอ็น ก็มีความชอบธรรมในการเจรจามากขึ้น

อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง 
ผอ.หลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
สถาบันพระปกเกล้า

ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อของกลุ่ม บีอาร์เอ็น ไม่ได้แปลกอะไรที่ เขาอ้างว่าเขาเป็นตัวแทนของชาวมลายูปัตตานี ในการพูดคุยปกป้องสิทธิ พวกเขาก็อ้างอย่างนี้มาตลอด จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ 

ส่วนตัวเห็นว่าข้อเสนอทั้ง 5 ข้อ ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร ทุกเรื่องสามารถนำมาพูดคุย ร่วมกันเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ ทุกข้อ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐไทยจะมอง และเลือกใช้วิธีการแบบไหนในแต่ละข้อมากกว่า 

เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ต้องการให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจา เพราะคนไทยที่ไปอยู่ในมาเลเซียมีประมาณ 1.5 แสนคน ยังไม่รวมคนที่หนีไปอยู่ที่นั่น ทำให้มีความรู้สึกว่ามาเลเซียสามารถเป็นคนกลางการพูดคุยได้ 

และมาเลเซียมีทุนเดิมในการเอื้อประโยชน์อยู่แล้ว และเป็นการแสดงออกของเขาเอง เพราะถ้าบ้านเราวุ่นวายเขาก็จะเดือดร้อนไปด้วย ดังนั้นรัฐไทยต้องคุยกับรัฐบาลมาเลเซียด้วยเพื่อช่วยอำนวยการให้การพูดคุยระหว่างกลุ่มบีอาร์เอ็นกับรัฐไทยในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ

ส่วนที่เสนอให้การพูดคุยต้องมีเอ็นจีโอ โอไอซี และผู้สังเกตการณ์ ร่วมรับฟังด้วยนั้น ก็เห็นด้วยอีก 

เพราะเป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและรัฐไทย เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงของทั้งสองฝ่ายเอง เหตุผลของเขาคงเพียงต้องการมีสักขีพยานที่สนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่านั้น 

ส่วนการปลดปล่อยนักโทษ ที่ถูกคุมขัง เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายพิจารณาร่วมกันได้ เพราะเป็นข้อเสนอในการปกป้องประชาชน พวกเขาไม่ใช่โจร ไม่ใช่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ดังนั้น การพูดคุยกันเป็นการแก้ปัญหาด้วยการเมืองน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง 

ส่วนที่เสนอว่ารัฐไทยต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนนั้น ข้อนี้อาจฟังดูยาก แต่ในความเป็นจริงแล้วข้อนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ขึ้นอยู่กับรัฐไทยจะใช้มาตรฐานไหนมอง 

หากใช้นักวิชาการที่เข้าใจด้านประวัติศาสตร์มาร่วมพูดคุยข้อนี้ก็รับได้ไม่ยาก แค่ทำความเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการรักษาอัตลักษณ์ และความเป็นชาติพันธุ์ แต่หากเอาคนที่มีความเป็นชาตินิยมสูงก็จะคุยไม่รู้เรื่อง 

โดยสรุปทั้ง 5 ข้อเสนอไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่รัฐไทยจะยอมรับมาพิจารณาเป็นข้อๆ ไป