Skip to main content

 อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์

สถานการณ์การเมืองในมาเลเซียกำลังร้อนจากพรรคฝ่ายค้านซึ่งนำโดย อันวาร์ อิบราฮิม ก่อม็อบประท้วงผลการเลือกตั้ง แม้กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ หรือ Barisan Nasional ซึ่งมีพรรคอัมโนและพรรคพันธมิตรจะได้รับชัยชนะก่อตั้งรัฐบาล และ นาจิบ ราซัก หัวหน้าพรรคอัมโน ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งแล้วก็ตาม แต่หากสถานการณ์ลุกลามก็อาจส่งผลสะเทือนต่อเก้าอี้ของนาจิบได้

สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ หากเมืองมาเลเซียเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ของไทย กับกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับกระบวนการพูดคุยหรือไม่
ขณะที่ในประเทศไทยเองก็มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ (ศปก.กปต.) แจกเอกสารวิเคราะห์ 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่แถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ยูทูบแก่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมหน่วยงานความมั่นคงที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ร.ต.อ.เฉลิม ระบุว่า จะเสนอการวิเคราะห์นี้ต่อที่ประชุม ศปก.กปต. ในวันที่ 10 พ.ค.นี้ โดยมีข้อพิจารณา 10 ข้อ ประกอบด้วย
1.การเสนอผ่านสื่อสาธารณะ บีอาร์เอ็นน่าจะมองว่าหากต้องการให้ข้อเสนอถูกนำมาพูดคุยกัน ต้องเสนอผ่านทางช่องทางอื่น ไม่ใช่ในที่พูดคุย และมีข่าวว่าบีอาร์เอ็นต้องการให้เปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวก เพราะเห็นว่าดาโต๊ะซัมซามินเข้าข้างไทย
2.การที่ ฮัสซัน ตอยิบ กับ อับดุลการิม คาลิบ เป็นผู้ประกาศข้อเสนอ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้นำรุ่นเก่ากับแกนนำรุ่นใหม่มีท่าทีและแนวทางเป็นเอกภาพ
3.เนื้อหาของข้อเสนอ บีอาร์เอ็นแสดงจุดยืนชัดเจนว่ายึดอุดมการณ์เอกราช การโจมตีด้วยอาวุธจะดำเนินต่อไป
4.บีอาร์เอ็นยังตั้งใจยกฐานะของขบวนการ โดยให้รัฐไทยรับรองสถานะเป็นขบวนการทางการเมือง พร้อมกับยกระดับการพูดคุยให้สูงขึ้นด้วยการเสนอให้ดึงอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอเป็นผู้สังเกตการณ์
5.ทุกประเด็นในข้อเสนอมีความละเอียดอ่อนสำหรับฝ่ายไทย รัฐไทยจะได้รับผลกระทบต่างๆ มากกว่า
6.ไทยต้องใช้อำนาจต่อรองที่เหนือกว่ายื่นข้อเสนอที่บีอาร์เอ็นต้องตั้งรับหรือแก้เกมบ้าง เช่น ให้ผู้โดนหมายจับสำคัญแสดงตน ลำพังเรื่องลดความรุนแรงไม่เพียงพอกดดันขบวนการ
7.ไทยไม่ควรผ่อนปรนยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็นเพราะกลัวเรื่องความรุนแรง เพราะถึงโอนอ่อนผ่อนตาม ฝ่ายขบวนการก็จะก่อเหตุต่อไป
8.ควรปรับวิธีการพูดคุย ใช้คณะทำงานย่อยพูดคุยทางลับ ซึ่งสามารถเลือกกลยุทธ์หลายรูปแบบในการชิงความได้เปรียบ
9.ข้อเสนอนี้ (ของบีอาร์เอ็น) อาจนำไปสู่ความเห็นต่าง การวิพากษ์วิจารณ์ทางลบต่อแนวทางของรัฐบาล ควรรับทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายการเมือง และสังคม
10.รัฐบาลอาจถูกถามเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบแนวทางการรับมือกับข้อเสนอ ซึ่งน่าจะตอบได้ว่าเป็นเรื่องปกติของการพูดคุยที่ต้องมีข้อเสนอ ข้อต่อรอง แต่รัฐบาลยืนยันว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ข้อเสนอของบีอาร์เอ็นไม่ใช่หนทางไปสู่สันติสุข แต่เป็นความแข็งกร้าว รัฐบาลเป็นฝ่ายยื่นไมตรีไปแล้ว ถ้าขบวนการไม่สนองตอบ ประชาชนในพื้นที่จะตัดสินใจได้เองว่า ใครที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ใครที่ต้องการให้สันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่ และใครเป็นอุปสรรค
อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นการวิเคราะห์ของหน่วยงานใด ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้ ร.ต.อ.เฉลิม ใช้เป็นข้ออ้างได้ว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อทั้งมาเลเซียและบีอาร์เอ็นมากนัก
ความคลุมเครือไม่ชัดเจนว่าเอกสารวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นข้อเสนอจากหน่วยงานความมั่นคง หรือของ ร.ต.อ.เฉลิม เอง จึงเป็นผลในเชิงบวกต่อรัฐบาลเปิดเผยให้สาธารณชนได้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้อ่อนข้อให้กับขบวนการก่อความไม่สงบ ซึ่งหลังจากเริ่มกระบวนการพูดคุย ความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระบวนการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลกำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากทุกฝ่ายว่าล้มเหลว
อย่างไรก็ตาม จังหวะของการเปิดเผยเอกสารในช่วงที่การเมืองภายในประเทศมาเลเซียยังไม่นิ่ง ก็อาจมองได้ว่า ร.ต.อ.เฉลิม ฉวยใช้โอกาสนี้เพื่อสร้างภาพเชิงบวก เพราะแม้จะส่อเค้าความไม่สงบขึ้นในมาเลเซียจากการประท้วงผลการเลือกตั้ง ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
สำหรับผู้ติดตามการเมืองมาเลเซียอย่างใกล้ชิดหลายคน ก็ยังเชื่อมั่นว่ารัฐบาลพรรคอัมโนซึ่งครองอำนาจมาถึง 56 ปี มีอิทธิพลต่อสังคมมาเลเซียอย่างเหนียวแน่น และถึงแม้ตำรวจมาเลเซียจะดำเนินคดีกับผู้ประท้วงฐานปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจการปกครอง แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณว่ารัฐบาลมาเลเซียจะใช้วิธีการรุนแรงกับผู้ประท้วง ดังนั้นจึงไม่น่ากังวลกับสถานการณ์การเมืองภายในมาเลเซียมากนัก
อย่างน้อยที่สุด นาจิบ ราซัก ก็น่าจะครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป แม้ว่าสมาชิกพรรคอัมโนจะไม่พอใจผลการเลือกตั้งที่พรรคได้คะแนนเสียงและจำนวน สส.น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรค แต่หากจะเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคในการประชุมพรรคอัมโนช่วงปลายปีนี้ ก็ยังมองไม่เห็นว่าใครจะโดดเด่นพอที่จะขึ้นมาแทนที่ นาจิบ ราซัก ได้
สถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ซึ่งแนวปะทะทางการเมืองในเวทีพูดคุยสันติภาพร้อนแรงไม่แพ้แนวปะทะทางการทหาร จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ จึงไม่น่าจะได้รับผลจากการเมืองในมาเลเซียมากนัก
แต่จากนี้ไปการโต้ตอบแก้เกมระหว่างไทยและบีอาร์เอ็น คงตามมาอีกหลายระลอก
 
หมาเหตุ: บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบ้บวันที่ 10 พฤษภาคม 2556 หรือคลิกดูเวอร์ชั่นออนไลน์ได้ ที่นี่