Skip to main content

 

ที่ พิเศษ/ 2552

วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2552

 

แถลงการณ์เนื่องในโอกาสวันผู้สูญหายสากล

 

          วันที่ 30- 31 สิงหาคม ของทุกปี  เป็นวันที่ทั่วโลกร่วมกันรำลึกถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหาย  และถือเป็นวันผู้สูญหายสากล (The International Day of the Disappearance) ซึ่งเป็นวันที่คนทั่วโลกมาร่วมกันเพื่อรำลึกถึงบุคคลที่สูญหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน  หรือจากภาวะสงคราม  หรือการปราบปรามการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นอยู่ในหลายประเทศ และส่งผลให้มีผู้สูญหายและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

 

          การบังคับให้บุคคลต้องสูญหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดของมนุษยชาติ ซึ่งเกิดขึ้นมายาวนานและส่งผลกระทบ อันใหญ่หลวงต่อเหยื่อ ครอบครัว ชุมชนและสังคม รวมทั้งระบบนิติรัฐของสังคมไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแม้จะมีการร้องเรียนเรื่องการบังคับสูญหายของผู้คนในสังคมไทย  แต่กระบวนการยุติธรรมไทยก็ดูเฉยเมยต่อการแสดงความจริงใจในการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ  อีกทั้งองค์ความรู้ทางกฎมายไทยก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่า หากไม่ปรากฏศพผู้เสียชีวิต กฎหมายไทยจะรับผิดชอบ  และเยียวยาครอบครัวผู้สูญหายของอย่างไร  โดยเฉพาะเมื่อผู้บังคับให้บุคคลต้องสูญหายคือเจ้าหน้าที่รัฐ  โดยสิ่งที่ครอบครัวผู้สูญหายต้องประสบมาโดยตลอดคือการปกปิดข้อมูล การทำลายพยานหลักฐาน และการข่มขู่คุกคามพยาน  เป็นผลให้ญาติพี่น้องผู้สูญหายเกิดความไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการร้องเรียนและการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมเรื่องการบังคับให้บุคคลต้องสูญหาย

 

          ในประเทศไทยนับแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ หรือกรณีผู้สูญหายของบุคคลในช่วงสงครามยาเสพติด หรือในกรณีอื่นๆที่เกิดขึ้นและไม่เป็นที่รับการรับรู้จากสังคมไทย เช่น การสูญหายของบุคคลในจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือบรรดาชนเผ่าที่อยู่ตามชายขอบของประเทศไทย คงมีเพียงกรณีการสูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร เพียงกรณีเดียวที่สามารถนำขึ้นสู่การ พิจรณาคดีของศาล และศาลได้ชี้ให้เห็นว่าผู้ทำให้นายสมชาย นีละไพจิตร ต้องสูญหาย ก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่  อย่างไรก็ดึคดีการสูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร ก็ถูกทำให้ล่าช้าและถูกแทรกแซงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นในขั้นตอนการสอบสวนของคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช) หรือแม้แต่ในกรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

          ในโอกาสวันผู้สูญหายสากล (The International Day of the Disappearance) คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงท่าทีชัดเจนในการต่อต้านการบังคับให้บุคคลสูญหายจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยต้องแสดงความจริงใจในการพยายามค้นหาผู้สูญหาย และให้ความสำคัญในการตรวจพิสูจน์ศพนินามที่พบในทั่วทุกภาคของประเทศพร้อมทั้งนำตัวผู้กระทำผิดที่ทำให้เกิดการสูญหายของบุคคลมาลงโทษตามกฎหมาย  เพื่อยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ (Culture of Impunity) ในประเทศไทย และขอให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญาฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติเรื่องการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย (The International Convention on the Protection of All Persons from Forced Disappearance ) เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย  สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเพื่อเป็นการวางรากฐานของระบบนิติรัฐให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง  เพราะ การสูญหายของบุคคล คือการสูญหายของความยุติธรรม

 

…………………..

 

หมายเหตุ : ความหมายของการบังคับให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาการป้องกันบุคคลจากการบังคับให้สูญหาย ขององค์การสหประชาชาติ  (The International Convention on the Protection of All Persons from Forced Disappearance- UN )  หมายถึงการทำให้บุคคลสูญเสียเสรีภาพไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดหรือด้วยเหตุผลใดซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือบุคคลหรือกลุ่มคนที่กระทำโดยการได้รับคำสั่งได้รับการสนับสนุนหรือการยินยอมจากรัฐ และรวมทั้งการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือการปฏิเสธในการรับรู้ถึงการสูญเสียเสรีภาพหรือการสูญหายของบุคคล หรือการปิดบังข้อมูลความจริงหรือสถานที่ของบุคคลผู้สูญหายภายใต้คำจำกัดความนี้บุคคลทั้งหมดนี้ได้กระทำการหรือสั่งให้มีการปิดบังหรือไม่เปิดเผยถิ่นพำนักของบุคคลที่หายตัวไป ก็จัดว่าเป็นการกระทำภายใต้การทำให้บุคคลสูญหายตามอนุสัญญาฯฉบับนี้ด้วย