Skip to main content

ฮือฮากันไม่เลิกในเวลานี้สำหรับประเด็นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเป็นตัวแปรของเรื่องการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น ก็คือเรื่องที่ว่า อาจมีการเปลี่ยนตัวเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติหรือสมช.จากพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร มาเป็นคนชื่อถวิล เปลี่ยนศรี

คุณถวิลนั้นเดิมทีก็เป็นเลขาสมช.อยู่แล้ว ทว่าถูกฝ่ายการเมืองคือรัฐบาลเพื่อไทยโยกตัวออกไปเพื่อให้คนที่ตัวเองเห็นว่าถนัดทางเข้ากับพรรคได้มากกว่ามาแทนที่ และหลังจากนั้นตำแหน่งนี้ก็ตกมาถึงพล.ท.ภราดร ที่ก็ได้รับการโยกย้ายเข้ามาท่ามกลางซีรี่ย์ของการโยกเข้าย้ายออกที่เกิดขึ้นอย่างเมามันและหลายตำแหน่งด้วยกันในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอำนาจระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย

เรื่องกลับมาเป็นเรื่องเมื่อศาลปกครองเห็นพ้องกับคุณถวิลว่า การโยกย้ายหนนั้นไม่เป็นธรรมและสั่งให้รัฐบาลคืนตำแหน่งให้คุณถวิล คำสั่งนี้ออกมาเมื่อปลายเดือนพค. ปัญหาตอนนี้อยู่ที่ว่า รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจะอุทธรณ์คำสั่งนี้หรือไม่  ถ้าอุทธรณ์ก็จะดึงเรื่องออกไปอีก แต่ถ้าไม่คุณถวิลก็คัมแบค กลับเข้าประจำตำแหน่งเดิม ซึ่งสำหรับข้าราชการประจำที่ถูกนักการเมืองในตำแหน่งโยกย้ายอย่างไม่ยินยอม นี่คือความฝัน เพราะมันคือการได้รับความเป็นธรรมสำหรับพวกเขา

แต่จะเกิดขึ้นหรือไม่อาจจะยังไมรู้ได้ เพราะจนถึงขณะนี้นายกรัฐมนตรีก็ยังบอกแค่ว่า ให้เจ้าหน้าที่ศึกษาคำสั่งศาลปกครองอยู่  ขณะที่คุณถวิลก็นั่งร้องเพลงรอ  รอว่าจะสู้ต่อ  - หรือไม่ก็รอกลับเข้าทำงาน หากนายกรัฐมนตรีอุทธรณ์คำสั่งศาลก็สู้กันต่อไป แต่ถ้าไม่อุทธรณ์ก็แน่นอนจะได้กลับไปรับตำแหน่งเดิม คุณถวิลบอกว่า ตำแหน่งอื่นใดคงไม่เหมาะกับคุณถวิลเพราะแต่ละที่แต่ละแห่งหนเขาก็มีคนเข้าคิวอยู่ ไปแทรกก็รังแต่จะทำให้คนอื่นเขาเสียโอกาส

เรื่องนี้ก็ทำให้หลายคนพยายามมองไปถึงฉากในอนาคตว่า ถ้าคุณถวิลกลับมารั้งบังเหียนสมช.จะเกิดอะไรขึ้นโดยเฉพาะกับเรื่องการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น เมื่อวานนี้คุณถวิลก็ได้ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสในรายการตอบโจทก์เอาไว้ค่อนข้างยาว  พอจะสกัดเนื้อหามาจากการสัมภาษณ์ได้ว่า

ประการแรก คุณถวิลไม่เห็นด้วยกับการเจรจาแบบเปิด เพราะเชื่อว่าในเรื่องที่มีได้และมีเสียแบบนี้นั้น บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้ การเจรจาแบบเปิดเจอปัญหามากเกินไป ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือควรจะให้มีทีมงานไปคุยกันแบบปิดลับให้ตกผลึกเสียก่อนแล้วหลังจากนั้นค่อยเปิดต่อสาธารณะก็ยังไม่สาย คุณถวิลบอกว่าถ้าได้กลับไปรั้งตำแหน่งนี้จริงก็คงจะ "เสนอแนะแนวทางแก่รัฐบาลว่าควรจะปรับปรุงเรื่องนี้อย่างไร” และ “คงไม่ใช่แบบทุกวันนี้"  หากนับเอาเรื่องว่าแบบไหนใครถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอย่างไรไว้ก่อน จะเห็นว่าลำพังคำพูดอันนี้ก็คงชัดว่าจะเกิดการเสียดสีแค่ไหนระหว่างคนเป็นเลขาธิการสมช.กับผู้นำรัฐบาลหากคุณถวิลเป็นเลขาธิการสมช.

ประการถัดมาคุณถวิลพูดว่า ในเรื่องของการเจรจานั้นอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเลขาสมช. ซึ่ง ”มีเรื่องร้อยแปดต้องทำ"  พร้อมตั้งคำถามในเชิงว่าที่เป็นอยู่เลขาคนปัจจุบันใช้เวลากับเรื่องนี้มากไปจนกระทบกับเรื่องอื่นหรือไม่

ในสองประการนี้ น่าสังเกตว่าประการหลังอาจจะฟังดู “ปรองดอง” มากกว่าเพราะมันแย้มพรายให้เห็นว่า อย่างน้อยคุณถวิลก็ยังคิดหาหนทางที่จะ “อยู่ร่วม” กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่บ้าง แต่ที่ไม่ชัดคือนี่เป็นคำตอบที่ผลุดขึ้นมาแบบปัจจุบัน หรือว่าเป็นสิ่งที่คิดไว้นานแล้ว เพราะสองอย่างนั้นต่างกันโขทีเดียว อีกอย่าง หากพิจารณาให้ดีจะพบว่า ระบบราชการนั้นมีธรรมเนียมนายนำ โดยเฉพาะในส่วนของหน่วยงานความมั่นคงเช่นสมช. หากเลขาฯไม่เอาด้วยหรือปล่อยให้จนท.คนอื่นไปสานต่อโดยที่ตนเองไม่สนับสนุนการทำงานด้านนั้นๆอย่างเต็มที่ เจ้าหน้าที่ที่เหลือจะยอมเล่นเพลงเดียวกันกับรัฐบาลหรือไม่ อันนี้คือคำถามสำคัญ

สิ่งที่แสดงว่าความสัมพันธ์ของคุณถวิลกับรัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้มีเค้าจะดีขึ้นมันปรากฏออกมาในเรื่องคำถามและคำตอบในเรื่องของการถูกย้าย เช่นเมื่อยกตัวอย่างประกอบการที่คุณถวิลไม่ยอมรับคำสั่งโยกย้ายของฝ่ายการเมืองในพรรคเพื่อไทยก็มีคำอธิบายว่า การโยกย้ายนั้นสำหรับข้าราชการประจำพวกเขาใช้ระบบ "คุณธรรม" ส่วนนักการเมืองใช้ระบบ "อุปถัมภ์" และ "ที่เราจะไปโต้แย้งไม่ได้ แต่ฝ่ายการเมืองจะใช้อำนาจก็ต้องมีคุณธรรม" ซึ่งก็แปลว่าคุณถวิลกำลังบอกว่าพรรคเพื่อไทยใช้อำนาจหนนี้แบบไม่มีคุณธรรม (แต่ปัญหาว่าข้าราชการใช้ระบบคุณธรรม นักการเมืองใช้ระบบอุปถัมภ์จริงหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง)

นอกจากนี้ในตอนเริ่มต้นของการให้สัมภาษณ์ คุณถวิลแจงเงื่อนไขของการทำงานกับนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยว่า หากรัฐบาลทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ คุณถวิลเองก็ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติเช่นกัน ดังนั้นสองฝ่ายก็ต้องไปด้วยกันได้ แต่จะให้ไปเอาอกเอาใจรัฐบาลอย่างเดียวนั้นทำไม่ได้  - จุดนี้ก็แสดงว่า อย่างน้อยที่สุดมีข้อจำกัดในการที่คุณถวิลจะทำตามนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ (ส่วนประเด็นว่าใครทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติมากกว่ากันอันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน)

คำตอบของคุณถวิลชี้ให้เห็นว่าอาการไม่ลงรอยกันนี้คงจะทำให้ยากไม่น้อยที่จะทำงานร่วมกันได้ เพราะทัศนะของคุณถวิลดูจะเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่มีเป้้าหมายอันเดียวกัน ดูจากคำตอบที่แฝงเสียงตำหนิติเตียนดังว่า

ส่วนคำถามสุดท้ายจากผู้สัมภาษณ์ที่ว่า ฝ่ายที่รุกรานคุณถวิลยังดำรงความมุ่งหมายจะรุกรานอีกไหม คำตอบจากคุณถวิลก็คือ นายกรัฐมตรีดูจะไม่ใช่คนเอาชนะคะคาน เชื่อว่าถ้ามีข้อมูลมากพอคงจะตัดสินใจได้ดี

สรุปแล้วคำตอบของคุณถวิลนั้น ตอบแบบผู้พร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาลทว่าไว้เชิง คือร่วมแบบมีข้อแม้ มันเป็นบทสัมภาษณ์ที่คุณถวิลมีโอกาสได้แสดง moral high ground หรือความเหนือชั้นกว่าในเชิงคุณธรรมต่อนักการเมืองแบบเนียนๆ ชนิดที่คนนอกฟังแล้วรู้สึกดีมีคุณธรรมและสุภาพ แต่นักการเมืองพรรคเพื่อไทยฟังแล้วคงแสลงหูพิลึก

หนังตัวอย่างแค่นี้ก็คงจะทำให้พอเล็งเห็นเค้าลางกันบ้างแล้วกระมังว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร  คำถามที่ปรากฏในสาธารณะทั่วไปที่ว่า หากคุณถวิลหวนคืนสู่การเป็นเลขาฯสมช. จะทำงานเข้ากับรัฐบาลนี้ได้หรือไม่จึงกลายเป็นคำถามของจริงอย่างแน่แท้ ไม่ใช่แค่ถามเอามันเท่านั้น

ในขณะที่คนจำนวนมากโยนความผิดของการที่หน่วยงานรัฐแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้ให้กับสาเหตุว่ารัฐบาลไร้ทิศทางหรือนโยบายที่ชัดเจนในการทำงานในเรื่องนี้ แต่ข้อเท็จจริงอันหนึ่งก็คือ รัฐบาลมักมีปัญหาในการดูแลให้หน่วยงานราชการต่างๆทำงานให้เป็นเอกภาพและช่วยผลักดันงานภายใต้ทิศทางนโยบายของรัฐบาลอย่างแข็งขันไม่ว่าพวกเขาจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ซึ่งนี่นับว่าเป็นปัญหาใหญ่มาทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งในสมัยของพรรคเพื่อไทย ไม่พักต้องพูดเรื่ององคาพยพของทหารในพื้นที่ที่ดูจะเป็นส่วนที่งอกเงยออกไปเป็นพิเศษและแตะต้องได้ยาก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นๆในปัจจุบันก็คือการที่มีคนในฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ออกมาแสดงอาการให้ท้ายปฏิบัติการล่าแม่มดในหมู่นักทำงานภาคประชาสังคมชนิดที่ดูแล้วไม่สอดคล้องกับบรรยากาศของสันติภาพแม้แต่น้อย เรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นอาการของปัญหาการคุมกันไม่ติด และปัญหาในลักษณะนี้นี่เองที่ทำให้ความขัดแย้งในภาคใต้กลายเป็นวัวกินหางอยู่ทุกวันนี้

ความเป็นธรรมที่ข้าราชการประจำอย่างคุณถวิลเรียกหา นับเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ประเด็นเรื่องของการทำงานที่ข้าราชการเป็นกลไกในการผลักดันนโยบายรัฐอย่างเป็นหนึ่งเดียวก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกัน มิเช่นนั้นการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีประโยชน์อันใด 

สรุปว่าหากคุณถวิลคืนสู่ตำแหน่งเลขาสมช. อย่างน้อยที่สุด เราท่านก็คงจะได้กรณีศึกษาเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งกรณีสำหรับตัวแทนปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองในรัฐบาลกับข้าราชการประจำ ซึ่งเป็นเงื่อนไขอีกอย่างหนึ่งในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป้นเงื่อนไขที่คนไม่ใคร่จะมองกันมากนัก  

เว้นเสียแต่ว่าจะมีการประนีประนอมอย่างสำคัญเกิดขึ้นได้ในระหว่างนี้