Skip to main content
สมัชชา นิลปัทม์
อาจารย์คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 

 

            หากเมื่อศตวรรษที่ผ่านมา ชาวปักษ์ใต้เคยได้ลิ้มชิมกุสุมรสจากลำนำโคลงกลอนอันเปี่ยมด้วยไหวพริบและปฏิภาณอันเฉียบแหลมจากศิลปิน “เพลงบอก” อย่าง “ปานบอด” (ปาน ชีช้าง) ผู้พิการทางสายตาแต่ธรรมชาติได้ประทานความสามารถด้านบทกลอนแก่เขา จนชื่อเสียงได้ถูกจดจารไว้ในสารุกรมวัฒนธรรมในฐานะศิลปินพื้นบ้านผู้เปี่ยมด้วยอัจฉริยะ

            ศตวรรษถัดมา มีศิลปินรุ่นใหม่ที่ถูกกล่าวขวัญถึง คือ “หนังน้องเดียว” หรือ นาย บัญญัติ สุวรรณแว่นทองเด็กหนุ่มจาก อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตาทั้งสองของเขาบอดสนิททั้งสองข้าง โดดเด่นด้วยการ การร้องเพลงและเลียน เสียงนักร้องดังๆ อย่าง สายัณห์ สัญญา ไมค์ ภิรมย์พร และเอกชัย ศรีวิชัย ได้อย่างไม่มีที่ติ อาจกล่าวได้ว่า “หนังน้องเดียว” นายหนังตะลุงจากเมืองคอนคนนี้ได้ปลุกจิตวิญาณของงานศิลปะพื้นบ้านให้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

            “สื่อสันนิวาส” ฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักผลงานเพลงของน้องเดียว ในเพลง “ลมหายใจปลายด้ามขวาน” บทเพลงไพเราะที่สะท้อนให้คนไทยชายแดนใต้ยุติความรุนแรงและหันกลับมารักใคร่กลมเกลียวกันดังเดิม เป็นเพลงที่ครองสถิติแชมป์อันดับ 1 ในชาร์ตเพลงฮิตของช่องไทยไชโย (ลูกทุ่งไทยไม่ลืมกัน) นานถึง 3 สัปดาห์ติดต่อกัน เราจะมาร่วมกัน “อ่าน” ตัวบทของน้องเดียวกันว่า”ตาใน” หรือ “ญาณทัศนะ” ของน้องเดียวมีจินตนาการต่อ “สถานการณ์ชายแดนภาคใต้” อย่างไร

 

“น้องเดียว” นายหนัง “บอด” อัจฉริยะ

นาทีนี้ในปักษ์ใต้ คงไม่มีใครปฏิเสธ หนัง "น้องเดียว" หรือ บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง นั้นดังเหมือนพลุแตก เขาเป็นเนรมิตของเงาให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยได้สัมผัสกับความสุข หลายคนติดอกติดใจกับความสามารถของนายหนังตะลุงหนุ่มคนนี้เป็นอย่างมาก        

น้องเดียว เป็นนายหนังตะลุงชื่อดังในวัยเพียงยี่สิบต้นๆ ตาบอดสนิทมาตั้งแต่อายุเพียง 2 ขวบ เคยเล่าเรื่องของตัวเองผ่านรายการสารคดี Docu-Drama อย่าง “คนค้นคน”ว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาชอบหนังตะลุงเริ่มมาจากการที่เขาได้ฟังม้วนเทปหนังตะลุงของคุณยายซึ่งมีอยู่แค่ม้วนเดียว แต่ฟังไปฟังมาหลายสิบรอบ จนหลงเสน่ห์ในศาสตร์และศิลป์ของการพากย์เสียงหนังตะลุงไปโดยไม่รู้ตัว

         จากนั้น น้องเดียว ก็ได้เริ่มฝึกหัดร้องเพลงตอนอายุ 10 ขวบ มีโอกาสได้ร้องตามงานบ้าง ส่วนหนังตะลุงมาเริ่มจับจริง ๆ ตอนอายุ 15 ปี ซึ่งครั้งแรกที่ได้จับหนังตะลุง น้องเดียวบอกว่า รู้สึกชอบมาก แม้จะมองไม่เห็นความงดงามของหนังตะลุงที่ได้รับมาก็ตาม และโชคดีอย่างมากที่มีหลายคนมาช่วยสอนให้เขาหัดเชิดหนังตะลุงจนสามารถเชิดเป็น จึงได้ฝึกฝนตัวเองเรื่อยมา 

          จากตัวหนังตะลุงที่มีเพียง  7 ตัว เขามันเอามาเชิดเล่นบนเพิงขายขนมจีนหน้าบ้านเป็นปฐมฤกษ์ ชาวบ้านรอบข้างมาร่วมมุงดูให้กำลังใจ เพราะเห็นแววว่าเด็กหนุ่มคนนี้ พากย์เสียงหนังตะลุงของน้องเดียวที่สามารถพากย์ได้หลายเสียง ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง คนแก่ แถมยังหยอดมุกตลกอยู่เสมอ ก็ทำให้เขาสามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมจำนวนมาก จนผู้ชมเหล่านี้ติดใจในฝีไม้ลายมือของน้องเดียวและบอกกันปากต่อปาก ว่ากันว่าเมื่อ "คณะน้องเดียว ลูกทุ่งวัฒนธรรม" ไปเปิดการแสดงที่ไหน จะได้เห็นภาพของผู้คนทุกเพศทุกวัย หอบลูกจูงหลานมาจับจองที่นั่งหน้าเวทีกันตั้งแต่หัววัน เพื่อจะได้นั่งชมการแสดงหนังตะลุงของน้องเดียวชัดๆ

เมื่อการแสดงสิ้นสุดลง บรรดาพ่อยก-แม่ยก จะเดินตามไปส่งและรุมล้อมต่อคิวขอถ่ายรูปน้องเดียวเป็นจำนวนมากไม่แพ้ซูเปอร์สตาร์ดังๆ ถึงตอนนี้คิวการแสดงหนังตะลุงของเขาเต็มไปถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2557 แล้ว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้วงการหนังตะลุงที่ซบเซาไปนานได้กลับมา “บูม” อีกครั้ง

‘ดวงตา’ ของ ‘น้องเดียว’

            เพลง “ลมหายใจปลายด้ามขวาน”ถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้ม น้องเดียว สุวรรณแว่นทอง ชุดที่ 3 กำลังใจให้คนสู้ โดย เพลงนี้อยู่ในแทรกที่  7 ของอัลบั้ม โดยมีเพลงดังต่อไปนี้ 01.ไข่อยากข้าว02. ผิงไฟใต้ฟ้าหนาว03. วอนดาว04. คนซื้อเบอร์หุ้น05. ลมพัดวันนัดพบ06. หยบแลน้อง (สามช่า)07. ลมหายใจปลายด้ามขวาน08. อย่าลืมอ้าย09. วอนแฟนเพลง10. พ่อแห่งสายลม

            เพลง เพลงส่วนใหญ่ที่น้องเดียวนำมาขับร้องนั้น เป็นผลงานการแต่งเพลงของ "ฉลอง ตี้กุล" หรือชื่อที่ใช้ในวงการเพลงก็คือ “อ.หมี เหนือคลอง” ซึ่งสร้างเพลงดังๆ ให้กับน้องเดียว มาแล้ว  5 ชุด เพลงดังๆ เช่น คนเชิดหนัง, รักแท้แพ้เปรว (ป่าช้า), รักน้องต้องคลำ และลมหายใจปลายด้ามขวาน
 
         อาจารย์หมี นั้นบ้านอยู่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่  อดีตผู้รับเหมาวัย 46 ปี ที่นอนป่วยเป็นอัมพาตย่างปีที่ 20 จากอุบัติเหตุขับขี่จักรยานยนต์ ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่งไม่ยอมแพ้ เขาใช้ปากคาบปากกาแต่งเพลงผ่านสมาร์ทโฟนทีละคำจนสะสมเพลงไว้ร่วม 200 เพลง กระทั่งได้เจอกับน้องเดียวและมอบให้เขาเอาไปร้อง ซึ่งเขาไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ อ.หมี ก็ตั้งใจแต่งเพลงให้น้องเดียวโดยเฉพาะ เพราะชื่นชมน้องเดียวที่แม้จะตาบอด แต่ก็ยังมีความสามารถเชิดหนังตะลุงได้ดีเยี่ยม
            อ.หมี  เล่าว่าเขาได้ชมการแสดงของน้องเดียวในซีดี แล้วรู้สึกประทับใจมาก จึงอยากแต่งเพลงให้ โดยโทรไปตามเบอร์ที่เขียนอยู่บนปกซีดีหนังตะลุงและร้องเพลงที่เขาแต่งให้น้องเดียวฟัง ปรากฏว่า น้องเดียวชอบเพลงของเขามาก จึงได้เข้ามาคุยนำไปขับร้องจนออกเป็นอัลบั้มขายดิบขายดี ซึ่งความสำเร็จนี้ต่างเสริมแรงเป็นกำลังใจให้กับผู้พิการที่มากความสามารถทั้งสองคน

นี่อาจเป็นความอัศจรรย์ของการมีชีวิตอยู่ก็ว่าได้ ดังนั้นจึงอย่างแปลกใจว่าเขาทั้งสองได้กลายเป็นคู่บุญของกันและกัน เราสามารถเข้าใจได้ว่า ทำไมเขาจึงแต่ง - รักน้องต้องคลำ กับ ดวงดาวไม่มีแสง ให้กับน้องเดียวผู้อยู่ในโลกอันมืดมิด

บทเพลงที่น้องเดียวได้ขับร้องส่วนหนึ่งนั้นมาจากฝีมือการประพันธ์ของ อ.หมี เรื่องราวของบทเพลงจึงถูกถอดมาจากประสบการณ์ที่ห่อหุ้มตัวเขาที่ทำได้แค่นอนอยู่บนเตียงและแต่งเพลงทีละอักษรลงในโทรศัพท์ ซึ่งข่าวสารหลักๆ ที่รับรู้ได้ก็คือเรื่องราวจากพื้นที่สื่อสารมวลชน แน่นอนว่า “ประสบการณ์” กึ่งหนึ่งของการรับรู้เรื่องราวของโลกและสังคม อ.หมี จึงเป็น “ประสบการณ์ผ่านสื่อ”

อ.หมี หรือ พี่หลอง จึงกลายมาเป็นเหมือนกับ “ดวงตา” ในการมองโลกผ่าน “บทเพลง” ให้กับน้องเดียวโดยแท้

‘บทเพลง’ บันทึกความทรงจำร่วมสมัย

สำหรับนักอ่าน “ตัวบท”แล้ว บทเพลงคือเครื่องมือจดจารความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีสถานการณ์ขณะนั้นได้อย่างดีที่สุด เพราะมันได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องนำพา ความคิด ความอ่าน มุมมอง อุดมการณ์ทางการเมือง เอาไว้อย่างเสร็จสรรพ ยิ่งกรณีของ “น้องเดียว” ด้วยแล้ว ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปใหญ่ อันเนื่องจากสายตาของน้องเดียวนั้นบอดสนิทมาตั้งแต่อายุ 2 ขวบ การแสดงออกของ น้องเดียวผ่านบทเพลงนั้น เป็นการแสดงผ่าน “ญาณทัศนะ”  อันเฉียบแหลม ผ่าน “ตาใน” ที่ไม่เคยได้เห็นจาก “ตาเนื้อ” บทเพลงเป็นเครื่องมือสะท้อนที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจ “รูปการณ์สำนึก” ของผู้คนเป็นอย่างยิ่ง

บทเพลงนี้ของน้องเดียว เป็นเพลงลูกทุ่งทำนองง่ายๆ พื้นๆ ฟังดูก็กลมกลืนดีด้วยเสียงลูกเอื้อน ลูกคอ ตามสไตล์ของเขา ขณะที่เนื้อเพลงนั้นเป็นอย่างไร เราลองมาดูกันครับ ท่อนแรก เริ่มต้นด้วยการร้องว่า

“ความคิดขัดแย้ง พื้นที่สีแดงชายแดนด้ามขวาน

พี่น้องเราเดือดร้อนมานาน ด้วยอุดมการณ์แยกดินแบ่งฟ้า”

            ท่อนนี้เป็นการพรรณนาถึงความขัดแย้งที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อุปมาว่าด้วยการใช้คำว่า “ด้ามขวาน” และ “พื้นที่สีแดง” อันหมายถึงพื้นที่ๆ ถูกรัฐตัวกำหนดลักษณะความรุนแรงของพื้นที่ผ่าน “สี” เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความหมายว่า รัฐไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งส่งผลให้ “พี่น้องเราเดือดร้อนมานาน” ทั้งยังระบุชัดเจนว่ามาจากปัญหาเรื่อง “อุดมการณ์แยกดินแบ่งฟ้า” ซึ่งหมายถึงการนิยามว่าเป็นปัญหาของ “อุดมการณ์แบ่งแยกแยกดินแดน”

            แต่ในเนื้อเพลงกลับไม่ได้ระบุแต่อย่างใดว่าใครที่เป็น “คู่ขัดแย้ง” หลัก ซึ่งอาจมองว่าไม่รู้ว่าสาเหตุหลักๆ นั้นมาจากไหน ดังที่จะพบในเพลงท่อนนี้ว่า “ใครๆ เขาไม่อยากมา ลูกหลานถามว่าฆ่ากันทำไม”และ “ระเบิดปืนกลของคนฝ่ายไหน อีกกี่ชีวิตต้องปลิดสังเวยเฉลยได้ไหม” นี่อาจเป็นเสียงสะท้อนของคนนอกพื้นที่ ซึ่งทำได้แค่รับทราบความจริงผ่านสื่อเท่านั้น  

            ท่อนฮุก ของเพลงนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นระบบความคิดต่อความมีเอกภาพและบูรณภาพของชาติอย่างยิ่ง จากอุปมาในจินตนาการของประเทศว่าเป็นเสมือน “ขวานทอง” และภาคใต้นั้นก็เป็นดั่ง “ด้ามขวาน” ซึ่งหลายๆ เพลงมักจะใช้เนื้อหาและท่าทีเช่นนี้ในหลายเพลง เช่น เพลงขวานไทยใจหนึ่งเดียว ภายใต้ความคิดที่ว่า “ขวานที่ไม่มีด้าม นำไปใช้ย่อมไร้พลัง” ซึ่งเพลงของน้องเดียวก็ใช้ท่าทีดังกล่าวเช่นกันคือ “สายเลือดไทยหัวใจสยาม ขวานไทยถ้าไม่มีด้าม คงหมดความงามไม่มีพลัง” ซึ่งเป็นรูปการสำนึกของจินตนาการภายใต้ “รัฐเดี่ยว” ภายใต้ราชอาณาจักรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น

            ในท่อนที่พูดถึง “สายเลือดไทยหัวใจสยาม” น่าชวนกันอภิปรายกันอย่างยิ่งว่า ความเข้าใจของคนนอกพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น แทบไม่มีชุดคำที่อธิบายเรื่องความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์แม้แต่นิดเดียว โดยสังเกตได้จากเชื่อว่า แผ่นดินไทยต้องมี “สายเลือดไทย” และ “หัวใจสยาม” เท่านั้น

            จินตนาการเรื่องการสูญเสียแผ่นดินนั้น ดูจะเป็นจุดที่ถูกให้ความสำคัญมาก ซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากเนื้อเพลงท่อนที่ว่า “แล้วจะร้องเพลงปักษ์ใต้บ้านเราให้ใครเขาฟัง” นั้นเป็น ‘สัมพันธบท’ (Intertextuality) จากบทกวีคำขวัญซึ่งเคยได้เผยแพร่ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งหนึ่ง ในช่วงปี  2510 ซึ่งท่อนจบนั้นคมคายด้วยแนวคิดชาตินิยมว่า “แล้วจะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง”

            ท่อนสุดท้ายของเพลง ถูกวางไว้ราวกับเป็นท่อนสรุปของเพลงโดยร้องว่า “พื้นที่สีแดง ภาพความขัดแย้งระแวงสายตา แล้วทำไมไม่หันหน้ามา พูดคุยปรึกษาปัญหาแก้ไข” ถือเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมากเนื่องจากเป็นการแนะนำให้มีการ “เจรจา-พูดคุย” (Dialogue) ซึ่งถือเป็นการเรียกร้องไปยังฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรง โดยมองว่าการ “ปรองดอง” กันได้นั้น มีจุดเชื่อมของการอยู่ภายใต้ “ใต้ร่มฉัตรงาม” ของ “พ่อสยามเราสายเลือดไทย” ซึ่งเชื่อจะเป็นจุดเชื่อมประสานของรอยร้าวความขัดแย้งในครั้งนี้ไว้ได้

            แต่กระนั้นท่าทีของเพลงนี้ยังไม่ค่อยมีความมั่นใจมากนักว่า ปัญหานี้จะสามารถแก้ไขให้ยุติลงได้ในเร็ววันดังคำร้องว่า  “อยากถามว่านานแค่ไหน คืนลมหายใจให้ปลายด้ามขวาน” ซึ่งหวังไว้ลึกๆ ว่าปลายด้ามขวานนั้นจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกครั้ง โดยมุมมองของผู้คนที่เคยได้สัมผัสความสงบงามของดินแดนของดินแดนแห่งนี้ คงอดที่จะเกิดภาวะ “โหยหาอดีต” (Nostalgia) ขึ้นมาในจิตใจไม่ได้ ซึ่งลึกๆ ภายในใจนั้นมักไม่แน่ใจว่าคืนวันเก่าๆ จะสามารถกลับมีมาได้เหมือนเดิมหรือไม่

มองอีกด้านหนึ่งเพลงลมหายใจปลายด้ามขวาน  ของ ‘น้องเดียว’ ซึ่งถูกมองผ่านสายตาของ ‘ครูหมี’ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นจุดยืนแบบชาตินิยม ซึ่งยากที่ใครหลายคนจะรอดพ้นจากชุดความคิดเหล่านี้ เพราะเราทุกคนต่างผ่านการหล่อหลอมมาจากสถาบันทางการศึกษาและระบบการสื่อสารมวลชน จนเป็นที่ยอมรับว่าคือชุดความคิดกระแสหลักของสังคม

ขณะเดียวกันการมองผ่านแว่นของ “ครูหมี” ครูเพลงชายพิการอัจฉริยะ ในเพลงนี้ไม่ได้มีมุมมองของคนในพื้นที่อยู่เลย ภายใต้ข้อจำกัดของการแสวงหาข้อมูลเพื่อพรรณนาในเพลงดังกล่าว เรายังอาจไม่เคยได้ตั้งคำถามกับการโด่งดังเป็น “พลุแตก” ของเพลงนี้เลยก็ได้ว่าจะเป็นที่ชื่นอกชื่นใจของพี่น้อง “ที่คิดเห็นต่าง” ในพื้นที่หรือไม่ พวกเขาปลาบปลื้มกับบทเพลงนี้มากน้อยแค่ไหน นี่อาจเป็นโจทย์สำคัญๆ ที่ว่า “เราอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายได้อย่างไร” คงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยกรอบการมองใหม่ๆ มาขบคิดกันในอนาคต

 

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารรูสะมิแล ปีที่ 34 ฉบับที่ 2 (2012) ในคอลัมน์ “สื่อสันนิวาส : มองชายแดนใต้ผ่านเพลง (3)” กรุณาคลิกดูต้นฉบับ ที่นี่

 

 

ลมหายใจปลายด้ามขวาน

 

นักร้อง น้องเดียว สุวรรณแว่นทอง

ประพันธ์ อ.หมี เหนือคลอง

ดนตรี อ.วรวิทย์ เครื่องนันตา

 

ความคิดขัดแย้งพื้นที่สีแดงชายแดนด้ามขวาน

พี่น้องเราเดือดร้อนมานาน

ด้วยอุดมการณ์แยกดินแบ่งฟ้า

 

ปักษ์ใต้บ้านเราบัดนี้เงียบเหงาไร้เสียงบินหลา

ใครๆ เขาไม่อยากมา ลูกหลานถามว่าฆ่ากันทำไม

ตำรวจ ทหาร ครูบาอาจารย์

ชาวบ้านผู้คนเสียงหวีดร้อง เลือดนองถนน

ระเบิดปืนกลของคนฝ่ายไหน

อีกกี่ชีวิตต้องปลิดสังเวยเฉลยได้ไหม

วันที่ท้องฟ้าสดใส ลูกหลานจะได้ยิ้มด้วยความหวัง

 

***สายเลือดไทยหัวใจสยาม ขวานไทยถ้าไม่มีด้าม

คงหมดความงามไม่มีพลัง

แล้วจะร้องเพลงปักษ์ใต้บ้านเราให้ใครเขาฟัง

บินหลาก็คงสิ้นหวัง เกาะต้นยางฟังเสียงปืนดังไกล

 

พื้นที่สีแดง ภาพความขัดแย้งระแวงสายตา

แล้วทำไมไม่หันหน้ามา พูดคุยปรึกษาปัญหาแก้ไข

ใต้ร่มฉัตรงาม ลูกพ่อสยามเราสายเลือดไทย

อยากถามว่านานแค่ไหน

คืนลมหายใจให้ปลายด้ามขวาน

 

ข้อมูลประกอบการเขียน

น้องเดียว นายหนังตะลุงตาบอด ผู้สร้างเงา ในโลกมืด http://hilight.kapook.com/view/71058

หนังน้องเดียว:มองผ่านเลนส์คม โดย จำลอง ฝั่งชลจิตร http://bit.ly/RuLqeU

ภาพจาก www.kapook.com และ www.thaimisc.pukpik.com