Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

 

           นับเป็นจังหวะก้าวสำคัญของแวดวงวิชาการที่เกี่ยวกับความขัดแย้งชายแดนภาคใต้ในกับการพยายามถกเถียงผ่านเวทีเสวนา “ทำความเข้าใจผู้ก่อการชายแดนใต้ : การแปรความขัดแย้งที่รุนแรง” เมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยย้อนกลับสู่โจทย์ที่ว่าผู้ก่อความไม่สงบที่ชายแดนใต้เป็นใคร? ต้องการอะไร? และมีแรงขับเคลื่อนอย่างไร? ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคำถามใหญ่โตสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในพื้นที่ตลอดมา

           จริงอยู่ การพยายามตอบคำถามดังกล่าวดำเนินเคียงคู่มานับตั้งแต่คลื่นความรุนแรงรอบใหม่ปะทุขึ้นเมื่อต้นปี 2547 ทว่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ผู้ก่อความไม่สงบ” ที่ผ่านมา หากไม่ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนบางสำนักด้วยมุมมองและข้อมูลจากแหล่งข่าวความมั่นคงและการนำเสนอเรื่องราวของบางส่วนของ “ผู้ก่อความไม่สงบ” ภายใต้การคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ก็เป็นงานวิชาการที่ถูกผลิตโดยนักวิชาการที่เชี่ยวชำนาญด้านความมั่นคงเป็นหลัก

           มีไม่มากนักที่คำตอบจะฉายภาพให้เราเห็นตัวตนของพวกเขาทั้งที่มาภูมิหลัง แรงขับเคลื่อนและฐานความคิดรองรับการกระทำ กระทั่งเป้าหมายในการ “ต่อสู้” ทั้งในฐานะองค์กรที่ปรับตัวตามบริบทของยุคสมัย หรือในฐานะปัจเจกชน “คนธรรมดา” ที่ต้องการโต้ตอบกับสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นความไม่เป็นธรรมด้วยหนทางที่ใช้ความรุนแรงที่ยืดเยื้อและยับเยินเช่นนี้

           แน่นอนว่าเป็นการพยายามหาคำตอบที่ยากเย็น ในสถานการณ์ที่ผู้ก่อการ หรือ “ญูแว” เลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวเองและยังไม่ประกาศเจตนารมณ์เพื่อการต่อรองเรียกร้องกับรัฐบาลไทยเหมือนธรรมเนียมความขัดแย้งในลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

           แต่กระนั้น มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นจากยะลา หนึ่งในผู้อภิปรายให้ความเห็นว่า การไม่สามารถทำความรู้จักกับพวกเขาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาต้องการเปิดตัวหรือไม่ หากแต่ต้องถือเป็นความอ่อนด้อยของนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนเองที่ไม่สามารถกระเทาะโจทย์เหล่านี้ได้

           ความเข้าใจต่อ “ผู้ที่เชื่อมั่นในความรุนแรง” จะเป็นก้าวสำคัญในการหาข้อต่อรองที่ลงตัวระหว่างผู้คนที่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของสังคมชายแดนภาคใต้ การทำความรู้จักกับตัวแสดงของพวกเขานอกเหนือจากความเป็นโจรและผู้ต้องหา จึงสำคัญไม่น้อยกว่าความเข้าใจปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สะท้อนความอ่อนแอและอ่อนด้อยของรัฐไทยเอง

           สำคัญกว่านั้น การรู้จักและเข้าใจพวกเขาอาจนำไปสู่ร่องรอยที่จะหาหนทางในการคลี่คลายปมความขัดแย้งด้วยวิธีการที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงก็เป็นได้

๐ ความชอบธรรมของการก่อการ

           อาจกล่าวได้ว่าบทความ “A Tale of Two Insurgents” ของมาร์ค แอสคิว นักมานุษยวิทยาชาวออสเตรเลียที่ตีพิมพ์ในบางกอกโพสต์เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา น่าจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้ก่อเกิดวงเสวนาที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดกับเครือข่ายจุฬาโกลบอลเน็ตเวิร์ค จากการได้สัมภาษณ์แบบเจาะลึกของเขา มาร์คถ่ายทอดชีวิตและความคาดหวังของชายหนุ่ม 2 คนที่อยู่ใน “องค์กร” ฉายภาพให้เห็นภูมิหลังและภารกิจที่แตกต่างกัน แต่ก็อยู่ในกระบวนการจัดตั้งทางความคิดและบริบทแวดล้อมที่หล่อพวกเขาขึ้นในบรรยาการของการถูกกระทำและคำอธิบายที่ผูกโยงกับหลักการศาสนา

           ทว่าในวงเสวนา มาร์คเริ่มต้นตั้งคำถามในภาพรวมถึงความชอบธรรมในการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธใต้ดินที่กำลังต่อกรกับรัฐ เมื่อพิจารณาผ่านความหลากหลายในทัศนะของชาวบ้านที่เคยสนับสนุนการก่อเหตุเริ่มเอาใจออกห่างกลุ่มขบวนการ ในขณะที่วิธีการในการควบคุมชาวบ้านที่ทำให้ชาวบ้านที่ไม่ให้ความร่วมมืออาจตกเป็นเป้าโจมตีก็กดดันชาวบ้านอยู่ไม่น้อย

           เขาตั้งคำถามว่ากลุ่มที่กำลังก่อการอยู่ในขณะนี้อาจไม่สามารถอ้างความเป็นตัวแทนของประชาชนชาวปาตานีได้ทั้งหมด และแม้นว่าจะมีบางส่วนที่เห็นร่วมกับพวกเขาก็ตาม

           กระนั้น การพยายามทำความเข้าใจพวกเขาเป็นสิ่งที่อาจไม่ลำบากเกินไปนัก เนื่องจากในทัศนะของนักมานุษยวิทยาผู้นี้ การไม่มีสรรพสำเนียงอย่างเป็นทางการเปิดเผยออกมาไม่ได้เป็นการปิดกั้นการทำความรู้จักพวกเขา เนื่องจากร่องรอยของเอกสารปลุกระดม ซีดี หรือแม้แต่การสร้างสัญลักษณ์จำนวนไม่น้อยในพื้นที่ก็พอจะให้มองเห็นเค้าลางของพวกเขา

๐ ขับเคลื่อนด้วยมลายู อิสลาม ปาตานี

           ในขณะที่มุมมองจากนักข่าวในสนามอย่างมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ซึ่งเตือนเราว่า การบ่งชี้ตัวตนของ “ขบวนการ” กระทั่งเรียกร้องให้พวกเขาเผยข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการออกมานั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับการพยายามค้นหาสิ่งเหล่านั้นโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชน

           เขาวิจารณ์ต่อท่าทีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด “กลุ่มก่อการ” จึงไม่แสดงตัวและข้อเรียกร้องของฝ่ายตนว่า เป็นความคาดหวังต่อสูตรสำเร็จมากเกินไป เท่าที่ผ่านมา เขาเห็นว่าการพยายามเข้าใจปัญหาและการพยายามแสวงหาทางออกของความขัดแย้งที่ชายแดนภาคใต้แห่งนี้ ยากที่จะมีหนทางหรือรูปแบบที่สำเร็จรูป หากเรายังไม่สามารถจะ “รู้จัก” ผู้ที่กำลังใช้ความรุนแรงเพื่อเป้าหมายบางอย่างอยู่ในขณะนี้ เขาถือว่าเป็นความอับจนทางปัญญาและเป็นหน้าที่ของนักวิชาการและผู้มีวิชาชีพสื่อสารมวลชนเองต่างหาก

           อย่างไรก็ตาม เขาระบุว่าการพยายามจะทำความรู้จักกลุ่มที่กำลังก่อการอยู่ในขณะนี้ก็ต้องไม่ละเลยการทำความเข้าใจถึงความสำคัญของคำ 3 คำ ได้แก่ มลายู อิสลาม ปาตานี ซึ่งถือเป็นรากฐานทางความคิดของพวกเขา แม้จะไม่มีข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏทำให้เรารู้ว่าพวกเขาเป็นองค์กรที่มีการจัดตั้ง มียุทธศาสตร์ยุทธวิธีขององค์กรของพวกเขา

           กระนั้นก็ตาม สัญญาณต่างๆ นับตั้งแต่การปะทุเหตุรุนแรงในปี 2547 ล้วนบ่งชี้ถึง “การต่อสู้” ที่แตกต่างกันออกไปจากในอดีต มูฮำมัดอายุบ สะท้อนว่า เอกสารสำคัญเช่นเบอร์ญิฮาด ดิ ปาตานี (การต่อสู้ที่ปาตานี) ซึ่งเจ้าหน้าที่ยึดได้จากร่างของผู้ก่อการในระหว่างเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 เป็นหลักฐานสำคัญ ซึ่งที่จริงแล้วน่าจะมีการแปลความหมายอย่างตรงไปตรงมาเพื่อทำความเข้าใจแนวความคิดของพวกเขา

           สิ่งที่ตามมาคือทัศนะที่แตกต่างกันระหว่างคนต่างพื้นที่กับคนมลายูในพื้นที่ที่มองผู้ก่อการในสายตาที่แตกต่างกันไป ในขณะทีกลุ่มแรกมองว่าเป็นโจร คนกลุ่มหลังให้นิยามว่าพวกเขาเป็น “ญูแว” หรือ “นักต่อสู้” สิ่งที่เป็นข้อยืนยันนั้นพิจารณาได้ไม่ยาก เมื่อชาวบ้านจัดการศพของผู้ที่เสียชีวิตด้วยการไม่อาบน้ำศพ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำต่อร่างของนักรบเพื่อศาสนาด้วยแล้ว ยืนยันถึงทัศนะของชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

           พวกเขายังยกระดับความหมายของการต่อสู้ให้มีนัยทางศาสนา กล่าวคือให้การต่อสู้กับรัฐกลายเป็นภารกิจที่เป็น “ฟัรดูอีน” หรือเป็นภาระทางศาสนาที่บังคับเหนือทุกคน สิ่งเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ของขบวนการใต้ดินที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้

๐ ภารกิจของมุสลิม - นัยยะทางศาสนา

           ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเนื้อหาบางส่วนของงานวิจัยของเขาและเพื่อนนักวิชาการมานำเสนอต่อวงเสวนา เพื่อฉายภาพปะติดปะต่อถึงตัวตนของผู้ก่อการ ประเด็นแรกที่เขาหยิบยกคือการรับรู้สังกัด สิ่งที่เขาค้นพบจากการสัมภาษณ์สมาชิกของกลุ่มผู้ก่อการคือพวกเขาไม่รู้ว่าสังกัดอยู่ในกลุ่มใด ไม่แน่ใจว่าเป็นบีอาร์เอ็นตามที่มีการกล่าวขานกันหรือไม่ รู้เพียงอย่างเดียวว่าจะสู้เพื่อปาตานี ซึ่งในความเห็นของพวกเขา ถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุด

           ซากีย์ พบข้อสังเกตเดียวกับมาร์ค ตรงที่การจัดหาสมาชิกของกลุ่มก่อการนั้นมีหลายระลอกคลื่น โดยคลื่นแรกจะดำเนินการก่อนปี 2547 ในขณะที่คลื่นที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ตากใบและพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเนื้อดินอันอุดมสำหรับการดึงให้มีผู้เข้าร่วมแถวขบวนการต่อต้านรัฐเป็นจำนวนมาก

           การจัดตั้งจัดหาสมาชิกกระทำแฝงเร้นในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาหรือในหมู่บ้าน เครือข่ายของกลุ่มจะเล็กและเคลื่อนไหวง่ายที่สุด ในแต่ละกลุ่มย่อยมี 6 คน ซึ่งจะมีผู้นำเท่านั้นที่จะติดต่อกับกลุ่มย่อยอื่นๆ ระบบการแบ่งงานกันทำดีมาก การสั่งการจะกระทำผ่านโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องเจอตัวกัน นอกจากนี้ ในระดับหมู่บ้านยังได้รับการสนับสนุนจาก “อาเยาะ” หรือมวลชนในระดับหมู่บ้านในการก่อเหตุเปิดทาง

           ส่วนโจทย์ที่ว่าอะไรเป็นแรงขับเคลื่อนพวกเขาให้เข้าร่วมและใช้ความรุนแรงตามคำสั่งของกลุ่มได้ ซากีย์พบร่องรอยว่าศาสนาถูกนำมาใช้ในกระบวนการเหล่านี้ เขาเชื่อมโยงตัวอย่างจากการเนื้อหาในการจัดตั้งทางความคิด โดยการยก “ฮีโร่” ของชาวมลายูปาตานี ไม่ว่าจะเป็นฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา ฮัจยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ และฮัจยีสะมะแอ ท่าน้ำ ขึ้นมาตั้งคำถามว่าเหตุใดพวกเขาเหล่านี้จึงต้องต่อสู้เพื่อปัตตานี? เป็นเพราะภารกิจทางศาสนาหรือไม่? พร้อมกับตั้งคำถามว่า หากไม่ทำตามอย่างพวกเขาเช่นนี้ ยังจะเรียกตัวเองว่าเป็น “มุสลิม” อีกหรือไม่?

           นอกจากนี้ ในเนื้อหาดังกล่าวยังมีการเชื่อมโยงประสบการณ์ความเจ็บปวดของชาวปาตานีเทียบเคียงกับชุมชนมุสลิมต่างๆ ทั่วโลก การตอกย้ำว่าอิสลามกำลังอยู่ในสถานการณ์ตกต่ำ และนั่นเป็นความจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นต่อสู้

           ข้อสังเกตของซากีย์มุ่งไปที่ว่าการใช้เนื้อหาทางศาสนาเช่นนี้อาจสะท้อนให้เห็น การใช้อุดมการณ์ชาตินิยมดังเช่นอดีตนั้นไม่ได้ผลเสียแล้ว สิ่งที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ยังตอกย้ำด้วยว่าลักษณะของ “สมาชิก” ที่ถูกคัดเลือกเข้าขบวนการนั้น ล้วนมีลักษณะความเป็นผู้นำสูง มีความเคร่งครัดในศาสนา และเป็นคนเรียนเก่ง องค์ประกอบเหล่านี้มีผลในการดึงสมาชิกในหมู่บ้านและโรงเรียนให้เข้าร่วม อีกทั้งยังเป็นการสร้างการยอมรับของชาวบ้านที่เป็นมวลชนพื้นฐานอีกด้วย

๐ การก่อความไม่สงบแบบพอเพียง

           ในขณะที่ มาร์ค บอกกับเราว่า คงไม่สามารถอธิบายการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้ก่อการด้วยงบประมาณในการปฏิบัติการก้อนใหญ่คงไม่ได้ เพราะข้อมูลและปรากฎการณ์ได้สะท้อนว่าการก่อความรุนแรงของพวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนมากมาย เพราะอุปกรณ์และอาวุธล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ขโมยมาเป็นหลัก แม้กระทั่งระเบิดรถยนต์ก็นำรถยนต์ที่ขโมยมาก่อเหตุ ในขณะที่การพรางตัวในชุมชนและเมืองก็เรียกร้องเงินทุนอันน้อยนิด จนอาจเรียกได้ว่านี่คือรูปแบบของการก่อความไม่สงบแบบพอเพียง หรือ Sufficiency Insurgent

           ในแง่ของความคิดขับเคลื่อน นักมานุษยวิทยาชาวต่างชาติผู้นี้พบว่า คำอธิบายของพวกเขาเชื่อมโยงและตีความประวัติศาสตร์รัฐปาตานีว่าเป็นรัฐอิสลามที่บริสุทธิ์ ซึ่งสอดคล้องกับทัศนะของ “บะห์รูน” คอลัมนิสต์เลื่องชื่อแห่งเนชั่นสุดสัปดาห์ การตีความลักษณะเช่นนี้ยังสอดคล้องกับอุดมการณ์ใหม่ที่เพิ่งปรากฏขึ้น เพราะพวกเขาอาจได้ข้อสรุปแล้วว่าอุดมการณ์แบบชาตินิยมเช่นในอดีตเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถผลักดันการเคลื่อนไหวได้ แต่ต้องอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าศาสนาถูกคุกคามอย่างไร และหลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนคือกรณีความรุนแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้น อาทิเช่น เหตุการณ์ตากใบ ซึ่งผู้ทำหน้าที่จัดหาสมาชิก (recruiter) ใช้เป็นข้ออ้างหลักฐานที่ชี้ว่ารัฐไทยเกลียดคนมุสลิมจริงๆ

           นอกจากนี้ ในทัศนะของพวกเขาแล้ว การก่อการไม่ได้เป็นไปเพื่อการ “แบ่งแยก” ดังทัศนะจากมุมมองของ “คนไทย” หากแต่พวกเขาอธิบายว่าเป็นการขับไล่รัฐไทยออกจากพื้นที่ของพวกเขา เป็นการปกป้องพื้นที่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย เพื่อให้ดินแดนแห่งนี้เป็นอิสลามบริสุทธิ์ ซึ่งมีความหมายกินความถึงความบริสุทธิ์ในแง่ของจำนวนคนด้วย

๐ สำรวจองค์กรใต้ดินในภูมิภาค

           ในงานวิจัยร่วมกับธนาคารโลกเกี่ยวกับการสำรวจเอกสารงานเขียนจำนวน 112 ชิ้น ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางชาติพันธ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในจำนวนนี้มี 21 ชิ้นที่ระบุถึงกรณีความขัดแย้งที่ชายแดนภาคใต้โดยตรง ชญานิษฐ์ พูลรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ค้นพบว่า มีการตั้งข้อสังเกตุว่าการก่อเหตุที่ชายแดนใต้เป็นฝีมือของกลุ่มปฏิบัติการกลุ่มใหม่ที่แตกต่างกับกลุ่มเก่าในอดีต และจากคำถามที่ว่าเหตุใดกลุ่มก่อการจึงสามารถยืนระยะการก่อเหตุได้เป็นเวลานานเช่นนี้ ข้อสังเกตที่ได้รับจากการสำรวจงานเขียนเหล่านี้ชี้ไปที่ความเป็นไปได้ที่กลุ่มเคลื่อนไหวในท้องถิ่นอาจมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นๆ ในระดับสากล

           แต่กระนั้น สิ่งที่ ชญานิษฐ์ ยกขึ้นมาเสริมประเด็นในการพูดคุย ได้แก่ การใช้มุมมองของทฤษฎีองค์การเข้ามาวิเคราะห์เพื่อทำความรู้จักกับกลุ่มก่อการที่ชายแดนภาคใต้ โดยเทียบเคียงกับปรากฎการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ และพบว่า ลักษณะของความเป็นองค์กรที่จะขาดเสียไม่ได้น่าจะต้องมีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ กล่าวคือ องค์กรต้องมีเป้าประสงค์ ต้องมีทรัพยากร ต้องมีโครงสร้าง และต้องมีกระบวนการดำเนินการ

           โดยส่วนใหญ่แล้ว กรณีศึกษาที่เธอพบล้วนมีเป้าประสงค์ที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ การต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้มีการแบ่งแยกดินแดนออกจากรัฐเดิม แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะมีเป้าหมายเดียวกันนี้ทุกกลุ่ม เนื่องจากในกรณีของกลุ่มพยัฆทมิฬอีแลม (LTTE) นั้นพวกเขาเรียกร้องความเป็น Self – Autonomy ที่ยังเชื่อมโยงอยู่ภายใต้รัฐศรีลังกาเดิม ในขณะที่กรณีความขัดแย้งที่แคชเมียร์กลับพบว่ากลุ่มติดอาวุธที่มีหลายกลุ่มก็มีข้อเรียกร้องที่แตกต่างกัน กระทั่งถึงขั้นขัดแย้งกัน กล่าวคือมีกลุ่มหนึ่งต้องการดินแดนจัมมูแคชเมียร์ทั้งที่อยู่ในส่วนของอินเดียและปากีสถานเพื่อประกาศตั้งรัฐใหม่ ในขณะที่อีกกลุ่มต้องการผนวกเข้ากับปากีสถาน

           แต่ที่น่าสนใจก็คือ สถานการณ์ที่ทางการรับมือกับการก่อความรุนแรงโดยที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุไม่ประกาศตัวและข้อเรียกร้องทางการเมือง ชญานิษฐ์ พบว่าในภูมิภาคแถบนี้ นอกเหนือจากจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังพบภาวะที่รัฐกำลัง “สู้กับผี” อีกที่หนึ่ง คือ ความขัดแย้งที่เขตบาโลคีสถาน ทางตะวันตกของประเทศปากีสถาน

           ความเป็นองค์กรยังต้องรองรับด้วยการมีทรัพยากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ผู้นี้แจงว่า การสำรวจพื้นที่ความขัดแย้งของเธอพบว่า จริงๆ แล้วกองกำลังใต้ดินเหล่านี้ไม่ได้มีจำนวนมากนัก เมื่อเทียบกับกองกำลังของทางการที่ถูกส่งเข้ารับมือในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ระดมกำลังจำนวนมากเข้าจัดการในสัดส่วนหลายเท่าตัว แต่คำถามก็คือเหตุใดจึงยังไม่ชนะ ในขณะที่ทรัพยากรด้านงบประมาณของกลุ่มติดอาวุธ ในงานศึกษาหลายชิ้นพบว่ามีแหล่งที่มาหลายด้าน บางกลุ่มได้งบประมาณมาจากสมาชิกของกลุ่มที่พลัดถิ่นในต่างประเทศ และก็มีบางกลุ่มที่มีรายได้จากธุรกิจผิดกฎหมาย

           งานศึกษาหลายชิ้นชี้ไปยังการจัดองค์กรที่เน้นการสร้างเครือข่ายและมีความสัมพันธ์ระหว่างกันจากประสบการณ์ร่วมของอดีตนักรบมูญาฮิดินที่อัฟกานิสถานเมื่อหลายปีก่อน ในขณะที่กระบวนการสำคัญขององค์กรได้แก่การหาสมาชิกใหม่ (recruitment) ซึ่งงานศึกษาหลายจำนวนหนึ่งระบุว่าหลายองค์กรเหล่านี้ใช้วิธีการเปิดโรงเรียนสอนศาสนาหรือแทรกแซงเข้าสู่โรงเรียน

           นอกจากนี้ ยังพบว่าการการหาสมาชิกใหม่ของขบวนการเหล่านี้ล้วนสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับนโยบายของภาครัฐในขณะนั้น กล่าวคือ ยิ่งมีการใช้มาตรการปราบปรามและกดขี่มากเท่าใด ยิ่งทำให้การหาสมาชิกของกลุ่มใต้ดินเหล่านี้ง่ายยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน หากภาครัฐยังปิดเสียงสะท้อนของประชาชนและไม่เปิดพื้นที่ทางการเมืองก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้มีการจับอาวุธสู้กับรัฐมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งข้อสรุปนี้ไม่ต่างกับสิ่งที่ซากีย์และมาร์คค้นพบที่ชายแดนภาคใต้เท่าใดนัก

           อย่างไรก็ตาม การสำรวจเอกสารเหล่านี้ ชญานิษฐ์ยังพบด้วยว่าที่ผ่านมายังไม่มีความพยายามจะศึกษา “ผู้ก่อการ” ในฐานะปัจเจก เพื่อจัดระเบียบความเข้าใจของเราต่อการใช้ความรุนแรงของพวกเขาเหล่านี้ ซึ่งเป็นโจทย์เดียวกับสิ่งที่ปัญหาชายแดนใต้กำลังเผชิญ

           ความลับดำมืดเกี่ยวกับตัวตนของผู้ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการความรุนแรงทั้งในระดับปัจเจกและระดับองค์กรที่มีการจัดโครงสร้างทางการเมือง การทหาร และความคิดที่แตกต่างกับในอดีตเช่นนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในอนาคต เมื่อเราค้นพบว่าการทำความเข้าใจปัญหาในแง่มุมเชิงโครงสร้างของความไม่เป็นธรรมอาจไม่เพียงพอต่อการถอนรากฐานของเหตุผลในการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม ในขณะเดียวกันกับที่การใช้กำลังเข้ากดทับเบียดขับผู้ต่อต้านก็หาได้เป็นคำตอบในการคลี่คลายปฏิกิริยาที่ตามมาไม่ ดังบทเรียนที่ประสบในพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆ

           ด้วยเหตุนี้ ความเข้าใจต่อ “พวกเขา” จะเป็นรากฐานในการทำความเข้าถึงเหตุผลในการลุกขึ้นต่อต้าน ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในกระบวนการสานเสวนาในอนาคตนั่นเอง