abdulloh wanahmad
บันทึกจากอาเจะห์ “บอกกล่าวเล่าเรื่อง”
ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือนเมืองดินแดนแห่งฝันจนได้ ด้วยการช่วยเหลือของแหล่งทุนจากมูลนิธิซาซากาว่าจากญี่ปุ่น ในโครงการเรียนรู้เพื่อสันติภาพที่เมืองอาเจะห์ ซึ่งครั้งหนึ่งดินแดนแห่งนี้เคยเป็นรัฐอิสระ มีกษัตริย์เป็นผู้ครองนคร แต่ด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต ได้ทำให้ดินแดนแห่งนี้ ต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติการปกครองของรัฐบาลอินโดนีเซียจวบจนทุกวันนี้
สภาพแวดล้อมโดยรวมถือว่าดินแดนแห่งนี้ค่อนข้างที่จะมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก มีภูเขาเลากาตั้งสูงตระหง่านอย่างกระจัดกระจายมากเป็นพิเศษ กล่าวคือไม่ว่าเราจะยืนอยู่ ณ จุดใดของเมืองแห่งนี้ มีอันจะต้องได้เห็นทิวทัศน์และยอดเขาอย่างแน่นอน ผู้คนที่นี่มีบุคลิกภาพร่างกายมิได้แตกต่างกันมากนักกับสังคมปาตานีบ้านเรา ทั้งสีผิวรูปร่างหน้าตาแทบจะคล้ายคลึงกันจนแยกไม่ออก สภาพบ้านเรือนของคนที่นี่โดยเฉพาะในเขตเมืองส่วนใหญ่จะมีลักษณะใหญ่โตมากเฉกเช่นคฤหาสน์ บ้านแต่ละหลังจะมีเนื้อที่กว้างพอสมควร ซึ่งมีความพอดิบพอดีภายในตัว เช่นเดียวกันกับมัสยิดที่จะสร้างอย่างใหญ่โตและจะมีจำนวนมากเป็นพิเศษ
อาเจะห์เป็นดินแดนที่มากด้วยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับปาตานี ทั้งเหตุการณ์ในอดีตที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน จนกระทั่งถึงนาทีสุดท้ายที่ชาวอาเจะห์ได้พยายามลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีเหนือดินแดนของตนจากการรุกรานของข้าศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ในช่วงที่นักล่าอาณานิคมจากฮอลแลนด์ที่ได้มีความพยายามจะเข้าไปบริหารทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ที่ค่อนข้างจะมีความอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่อยู่บนเกาะชวาดังกล่าว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าบรรดานายทหารและประชาชนจะพยายามร่วมกันต่อต้านการเข้ามายึดครองของนักล่าอาณานิคมฮอลแลนด์จนสุดชีวิตแล้วก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น ได้ทำให้ดินแดนแห่งนี้กลับต้องอยู่ภายใต้การปกครองของอินโดนีเซียถึงปัจจุบันอย่างที่เราได้เห็น
จากวันนั้นถึงวันนี้ความคิดที่ต้องการอยากจะหลุดพ้นจากอาณัติของผู้ปกครองจากส่วนกลางแห่งจาการ์ต้าก็ยังคงมีอยู่ ถึงแม้เมืองอาเจะห์จะได้รับสิทธิในการปกครองตนเองแล้วก็ตาม แต่ด้วยความรู้สึกของความเป็นคนอาเจะห์สูงคนที่นี่ก็ยังคงมีอัปกิริยาการปฏิปักษ์อย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ การไม่ยอมติดธงชาติของรัฐบาลอินโดนีเซียเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น ยกเว้นหน่วยงานของรัฐบางแห่งและบางองค์กรเท่านั้น และแม้กระทั่งหน่วยงานองค์กรภาคประชาสังคมเองก็ยังไม่ค่อยที่จะให้เกียรติในการปักธงชาติอินโดนีเซียขึ้นสู่ยอดเสาอย่างที่ควรจะปฏิบัติ ส่วนมากจะพับเก็บไว้ในลิ้นชัก จะออกมาใช้อีกครั้งก็ต่อเมื่อมีผู้หลักผู้ใหญ่จากส่วนกลางเข้ามาเยี่ยมเยือนหน่วยงานในบางครั้งคราว หลังจากนั้นก็จะถูกพับเก็บไว้เช่นเดิม
ดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นๆ ของอินโดนีเซีย กล่าวคือทุกชนิดของทรัพยากรธรรมชาติล้วนมีอยู่ที่นี่ ทั้งในดินบนดินและใต้มหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นชนิดที่เป็นพลังงานแก๊ส ก๊าซและแร่ต่างๆ ที่นี่มีพร้อมทุกอย่าง จึงเป็นเรื่องธรรมดาและคงจะไม่เป็นที่แปลกใจนักที่จะมีองค์กรจากภายนอกที่พยายามจะเข้ามาหาผลประโยชน์ในส่วนนี้ผ่านกิจกรรมทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ทั้งโดยการอาศัยนโยบายเหตุผลเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ทั้งโดยการผูกมัดในการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์หรือกับกลุ่มที่เคยมีบทบาทในการเข้ามามีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา
ซึ่งสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือ มีเส้นทางสายหนึ่งที่ทอดยาวเป็นคู่ขนานตามชายหาดที่ถูกภัยพิบัติสึนามิทำลายเมื่อปี 2004 ที่ถูกก่อสร้างโดยองค์กรจากภายนอกที่มาจากประเทศมหาอำนาจองค์กรหนึ่ง ซึ่งองค์กรดังกล่าวกลับกลายเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ในการจัดการทรัพยากรมากเป็นพิเศษโดยการเข้ามาทำการขุดเจาะปิโตรเคมีจำพวกพลังงานแก๊สและน้ำมัน การเข้ามาขนถ่ายทรัพยากรดินที่มีแร่ธาตุ และอีกทั้งองค์กรดังกล่าวก็ยังคงมีการเพิ่มบทบาทของตัวเองในการพัฒนาพื้นที่มาโดยตลอด ล่าสุดในช่วงที่ผู้เขียนได้ใช้ชีวิตอยู่ในที่แห่งนี้ ได้มีโอกาสเหลือบสายตาเห็นข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งที่ชื่อว่าอาเจะห์โพส ได้ลงข่าวเกี่ยวกับการเข้ามาให้การสนับสนุนงบประมาณในด้านการศึกษา ในรูปแบบของการสร้างอาคารเรียนในพื้นที่ที่ยังขาดความเจริญทั้งหลักสูตรและบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยการพัฒนาดังกล่าวจะครอบคลุมไปทั่วเขตทุรกันดารที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง
สังคมที่นี่ยังเป็นสังคมที่มีกลิ่นอายของความเป็นมลายูมุสลิมเฉกเช่นสังคมปาตานีสูง และการใช้กฎหมายชารีอะฮ์(ศาสนา)ก็ยังคงถูกบังคับใช้จนทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าจะใช้ไม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ตาม โดยที่นี่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นฝ่ายปราบปรามอบายมุขเฉพาะกิจซึ่งเรียกกันว่าตำรวจชารีอะฮ์ ซึ่งจะแตกต่างกับตำรวจทั่วไปตรงที่ว่าพวกเขามีหน้าที่ในการปราบปรามจับกุมผู้ที่กระทำผิดทางศีลธรรมเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ดำเนินการอย่างครอบคลุมไม่ บางครั้งเรื่องบางเรื่องคดีบางรายก็ได้หายไปในความเงียบก็ไม่น้อยและยังเป็นจำนวนส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ
ความเจริญที่เข้ามาอย่างรวดเร็วได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของหนุ่มสาวต้องเปลี่ยนไปตามสภาพความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน ถึงแม้ว่าก่อนหน้านั้น สภาพสังคมที่นี่ค่อนข้างที่จะมีความเคร่งครัดในเรื่องศาสนาโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสุภาพสตรีที่ไม่ค่อยที่จะมีโอกาสใช้เครื่องแต่งกายตามสมัยสากลได้ แต่ปัจจุบันพวกเขามีสิทธิในการแต่งกายตามสไตล์เฟชั่นได้อย่างอิสระเสรีปราศจากขอบเขตอีกต่อไป จนบางครั้งได้ทำให้เรื่องราวที่ผิดศีลธรรมกลับได้รับการยอมรับโดยปริยาย โดยที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองนั้นแทบจะทำอะไรไม่ได้ เพราะมันได้ไหลไปตามกระแสของโลกาภิวัตน์ไปแล้ว ซึ่งโดยก่อนหน้านี้สุภาพสตรีที่แต่งกายแบบรัดรูปกางเกงยีนส์ จะต้องถูกเรียกทำบันทึกประวัติหรือไม่ก็สั่งปรับ แต่ ณ วันนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้เขียนเคยรับรู้จากสื่อมาก่อนหน้า เพราะมันกลายเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ไปแล้วจนเจ้าหน้าที่บ้านเมืองทำอะไรไม่ได้ จะจับมาดำเนินคดีก็มีจำนวนเยอะหากจะจับปรับทุกๆ วันก็คงจะเหนื่อยน่าดู จะปราบปรามอย่างจริงจังก็กระไรอยู่ เพราะมันได้กลายเป็นกระแสของสาวๆ ไปเสียแล้ว บางครั้งก็จะเอาความผิดอยากด้วยซ้ำกับหญิงสาวที่แต่งกายดังกล่าว
เมื่อหนุ่มสาวสมัยใหม่ได้ซึมซับกระแสความรู้แห่งสากล อนาคตข้างหน้าคงจะเดาไม่ยากว่าระเบียงเมกกะที่เคยแผ่ขยายอิทธิพลในอดีตจะยังคงรักษาความเป็นระเบียงเมกกะไปอีกไกลแค่ไหน คำตอบอยู่ที่ปัญญาชนปัจจุบันว่า พวกเขาจะสามารถต่อกรกับกระแสของโลกตะวันตกได้มากน้อยเพียงใด หรือว่าพวกเขาจะไหลไปตามกระแสแห่งวัตถุนิยมดั่งใบไม้แห้งที่ลอยไปตามสายน้ำที่เชี่ยวกรากโดยที่ไร้การเหนี่ยวรั้งเอาเสียเลย