Skip to main content

 

             เพื่อที่จะให้เข้าถึงบทสนทนาภายในหนังสือเล่มนี้ให้ง่ายขึ้น มีเรื่องที่ควรทำความเข้าใจเสียแต่เริ่มแรกอยู่สองประการ ดังนี้

           
            ประการแรก ที่มาของบทสนทนาเหล่านี้มาจากการถอดถ้อยคำและเรียบเรียงจากเวทีสนทนานาชาติว่าด้วย “กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน [PPP: Pa(t)tani Peace Process in ASEAN Context] ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 7 กันยายน 2555 ณ หอประชุมใหญ่นานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จัดโดยองค์กรทางวิชาการและองค์กรประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเป็นสวนหนึ่งของการประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสันติศึกษาในบริบทอาเซียนว่าด้วย “ประชาสังคม, การเมือง และการพัฒนาประเทศในประเทศสมาชิกอาเซียน” ซึ่งทำให้วงคุยมีลักษณะที่สอดประสานกันทั้งในแง่ของงานประชุมทางวิชาการและการขับเคลื่อนทางสังคม อันเป็นกลยุทธ์สำคัญในการหยิบยกบางประเด็นที่อ่อนไหว ท้าทาย และสลับซับซ้อนขึ้นมาอภิปรายและถกเถียงในพื้นที่สาธารณะได้อย่างปลอดภัยเพียงพอ
 
            ถ้อยความที่บรรจุอยู่ในหนังสือเล่มนี้บางส่วนได้รับการเผยแพร่ไปบ้างแล้ว ในขณะที่จำนวนหนึ่งได้รับการต่อเติมจากผู้สนทนาบางท่านที่ต้องการขยายความเนื้อหาที่ตนเองได้พูดเอาไว้ รวมไปถึงการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลหรือแนวคิดบางประการเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการค้นคว้าของผู้ที่สนใจต่อไปจากนี้ การเรียบเรียงบางส่วน โดยเฉพาะในช่วงแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามเป็นการเก็บความจากบทสนทนาและแยกแยะเป็นหัวข้อต่างๆ ที่สอดคล้องกัน
 
            ประการที่สอง คือ การทำความเข้าใจในเบื้องต้นต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘พีพีพี’ หรือ Pa(t)tani Peace Process อันเป็นชุดคำที่ใช้เป็นชื่องานสนทนาครั้งนั้น ในเบื้องแรก ‘พีพีพี’ หาได้เป็นชื่อโครงการหรือแผนงานใดๆ ไม่ใช่ชื่อองค์กร ไม่ใช่ตัวแบบหรือโมเดล ไม่ใช่แม้กระทั่งข้อเรียกร้องใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่เป็นชุดคำรณรงค์ที่ประกอบสร้างขึ้นมาจากพื้นฐานทางความคิดสามประการที่อยู่ใน ‘พี’ แต่ละตัว
 
            P ตัวแรก: Pa(t)tani (ชายแดนใต้/ปาตานี)
 
            การมีวงเล็บที่ t ตัวหนึ่งนั้นสะดุดตา แต่สะท้อนกรอบการมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองได้เป็นอย่างดี การมีวงเล็บตรงนั้นบ่งว่าเรากำลังเผชิญปัญหาของความปรารถนาทางการเมืองสองชุดที่ไม่ลงรอยกัน ด้านแรกคือการพยายามคงไว้ซึ่งความเป็น Pattani ที่หมายถึงจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทย อยู่ภายใต้โครงสร้างการปกครองที่แบ่งออกเป็นจังหวัดต่างๆ (ซึ่งแน่นอนว่ารวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ความขัดแย้งด้วย) โดยมีนัยถึงความปรารถนาถึงการคงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมที่อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐไทยยังคงมีไว้อย่างสมบูรณ์
 
ในขณะที่อีกด้านคือการพยายามนำตัว t ดังกล่าวออกไปให้กลายเป็น Patani ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของดินแดนและผู้คนซึ่งมีความต่อเนื่องไม่ขาดสายมาตั้งแต่ราชอาณาจักรในยุคจารีตจนถึงปัจจุบัน การเคลื่อนไหวเพื่อการกอบกู้เอกราชในแง่หนึ่งหรือการก่อกบฏแบ่งแยกดินแดนในอีกมุมมองหนึ่งจึงเป็นความขับเคลื่อนความต้องการทางการเมืองอีกแบบที่ปะทะกับอีกชุดความคิดหนึ่ง
 
การใส่วงเล็บจึงมีความหมายสำคัญตรงที่พยายามเน้นให้เห็นร่องรอยของความขัดแย้งหลักที่ดำรงอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ความรุนแรง อันที่จริงแล้ว ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการบ่งชี้ปัญหาและตัวแสดงต่างๆ ในความขัดแย้งที่ชายแดนใต้/ปาตานีนั้นเป็นปมที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นแตกต่างกันในเรื่องจุดเน้นและยุทธศาสตร์ในการเผชิญกับความขัดแย้ง กล่าวในอีกแง่หนึ่ง กรอบการมองปัญหาที่มีจุดเน้นต่างกันนำมาสู่การแสวงหาทางออกที่แตกต่างกันด้วย การมองไม่เห็นหรือไม่ให้น้ำหนักต่อนัยทางการเมืองดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะประสบกับข้อจำกัดในการแสวงหาข้อตกลงทางการเมืองระหว่างตัวแสดงในความขัดแย้งต่างๆ ในอนาคต
 
วงเล็บดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการท้าทายให้มองเห็นความขัดแย้งหลักเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งครั้งนี้ด้วยวิธีการต่อสู้/ต่อรองด้วยวิธีการอันหลากหลายด้วยเช่นกัน
 
P ตัวที่สอง: Peace (สันติภาพ)
 
ความขัดแย้งที่ชายแดนใต้/ปาตานีก็เป็นเหมือนกับอีกหลายแห่งในโลกที่ ‘สันติภาพ’ มีความหมายแตกต่างกันในมุมมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สันติภาพอาจมีความหมายอย่างน้อยที่สุดคือการไม่มีความรุนแรงทางกายภาพใดๆ เกิดขึ้นอีก และไม่มีการแข็งขืนต่อต้าน แต่สันติภาพก็อาจหมายรวมไปถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม การเคารพต่อหลักการความเชื่อและวัฒนธรรมจารีตของผู้คน หรือแม้แต่การมีสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง แต่ในฐานะที่เป็นเป้าหมายของผู้คนที่มีส่วนข้องเกี่ยวในความขัดแย้ง และมีแนวโน้มที่นิยามของ “สันติภาพ” จะแตกต่างกันหลากหลาย การต่อสู้ช่วงชิงความหมายเกี่ยวกับสันติภาพจึงเป็นเนื้อหาสำคัญของกระบวนการในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งนั่นเอง
 
แต่นอกจาก ‘เนื้อหา’ แล้ว สันติภาพอาจหมายรวมไปถึง ‘วิธีการ’ ที่ผู้คนจะต่อสู้/ต่อรองด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จะสัมพันธ์กับ P ตัวสุดท้าย
 
P ตัวที่สาม: Process (กระบวนการ)
 
การใช้ความรุนแรงเป็นวิธีการที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกใช้เผชิญกับความขัดแย้ง แต่ก็พบว่ามีไม่น้อยเช่นกันที่ความรุนแรงไม่ได้ก่อให้เกิดความยั่งยืนของผลลัพธ์ที่ตามมา การสร้างสันติภาพต้องการกระบวนการที่ไม่ใช้ความรุนแรงหล่อเลี้ยง เน้นไปที่การเปิดพื้นที่และการหลอมรวมเอาผู้คนที่แตกต่างให้เข้ามามีที่ยืนและมีส่วนในการสร้างข้อเสนอต่อทางออกจากความขัดแย้ง กล่าวในอีกแบบก็คือการให้ความสำคัญกับกระบวนการที่เปิดกว้างและยึดอยู่บนหลักการสันติวิธีนี่เองจะเป็นหลักประกันให้กับข้อตกลงใดๆ ก็ตามที่จะก่อตัวขึ้นในอนาคต
 
ด้วยเหตุนี้ การเข้าใจ P ตัวแรก จะนำไปสู่การต่อรองเพื่อให้ได้มาซึ่ง P ตัวที่สองที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง บนพื้นที่ฐานของการเน้นไปที่กระบวนการหรือ P ตัวที่สามที่มีฉันทามติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรองรับ ซึ่งในที่นี้ เราอาจมองเห็นว่าที่จริงแล้วมีหน่ออ่อนของกระบวนการสร้างสันติภาพในแนวทางดังกล่าวอยู่บ้างแล้ว แต่สิ่งที่แนวคิด ‘พีพีพี’ พยายามจะทำก็คือการทำให้สิ่งที่เข้าใจและจับต้องได้อย่างยากเย็นเหล่านี้ให้กลายเป็นก้อนความคิดที่ผู้คนจะสามารถอภิปรายถึงมันได้ในวงกว้าง แม้ว่าในตัวมันเองดูเหมือนจะเรียกร้องอยู่กลายๆ ว่าถึงเวลาแล้วที่จำต้องแสวงหาทางออกอื่นนอกเหนือจากการใช้กำลังเข้ากดบังคับ ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใดก็ตาม
 
หมายเหตุ: บทเกริ่นนำนี้อยู่ในหนังสือกระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน ซึ่งเขียนโดยบรรณาธิการ สำหรับผู้สนใจหนังสือเล่มดังกล่าว กรุณาติดต่อซื้อได้ที่ร้านบูคู ปัตตานี (คลิกที่นี่) และร้านหนังสือทั่วไป