Skip to main content

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

 

        เรื่องราวการเสียชีวิตของผู้คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลายเป็นความซ้ำซากจำเจของใครหลายๆ คนในสังคมไทย ข่าวการยิงปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานในพื้นที่กับกลุ่มผู้ ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมต่อรัฐเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งข่าวการลอบสังหารบุคคลต่างสาขาอาชีพและต่างกลุ่ม ทั้งครู ทหาร ตำรวจ ผู้หญิง นักการเมืองท้องถิ่น ผู้นำศาสนาต่างๆ หรือแม้แต่ชาวสวนยางที่สืบเสาะสอบสวนอย่างสุดความสามารถก็ไม่สามารถทราบ สาเหตุที่แท้จริงว่าพวกเขาถูกฆ่าเพราะอะไร ทำให้ดูเหมือนว่ากระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถแสวงหาความจริงในคดี อาชญากรรมในพื้นที่สามจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย

        และไม่มีใครมีคำตอบว่าใครกำหนดชะตากรรมของเขาเหล่านั้น...

        คงไม่ต่างจากการเสียชีวิตของ สิบโทสุรชัย ศิลานนท์ อายุ 29 ปี และ นายฮัมดี แวสะมะแอ อายุ 25 ปี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 ทั้งสองคนเสียชีวิตในบ้านหลังเดียวกัน โดยที่ทั้งสองคนก็มีเจ้าสาวที่กำลังรอเข้าสู่พิธีวิวาห์อยู่เหมือนกัน ต่างคนต่างไม่มีส่วนในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในวันนั้นได้เลย

        บ่าย ๆ วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม 2552 ตามคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ระบุว่าได้รับรายงานจากสายข่าวว่ามีการ เคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่บ้านคลองช้าง ตำบลนาเกตุ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ทำให้มีการสนธิกำลังเข้าไปปิดล้อมตรวจค้น ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติปกติเพื่อป้องกันเหตุร้าย

        สำหรับชาวบ้านที่บ้านคลองช้าง แม้ว่าจะชินชากับการสนธิกำลังเข้าตรวจค้นในหมู่บ้าน แต่ในบ่ายวันนั้น ความเคร่งเครียดจริงจังของเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจกว่า 100 นายที่ร่วมกันเข้าปิดล้อมตรวจค้นตามบ้านต่างๆ ในหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวั่นใจว่าเหตุการณ์ร้ายกำลังจะเกิดขึ้น

        วันนั้นเป็นวันที่ นายฮัมดี แวสะมะแอ อดีตทหารเกณฑ์ และอดีตผู้ต้องหาโปรยตะปูเรือใบขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเพิ่งพ้นโทษมาได้ไม่นาน กำลังขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามบ้านเพื่อนในหมู่บ้านเพื่อแจกการ์ดแต่งงานของเขา ซึ่งจะจัดขึ้นในอีก 10 วันข้างหน้า เมื่อเขาและเพื่อนอีก 2 คนเห็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจกำลังปิดล้อมตรวจค้นอยู่ จึงตกใจและหวาดกลัวว่าจะถูกจับกุม โดยเฉพาะหนึ่งในสามเป็นอดีตผู้ต้องหาที่เพิ่งพ้นโทษมา พวกเขาจึงตัดสินใจหลบเข้าไปอยู่ในบ้านหลังหนึ่งซึ่งใช้เป็นศูนย์สาธารณสุข มูลฐานของชุมชน

        และแล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตัดสินใจบุกเข้าจับกุมบุคคลทั้งสามในบ้านหลังนั้นทันที โดยอาจจะไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่าอีกฝ่ายจะมีอาวุธต่อสู้ ทันใดนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 2 นัด ส่งผลให้ร่างของ สิบโทสุรชัย ศิลานนท์ ล้มลง เพราะได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนปืนขนาด .38 เมื่อสิ้นเสียงปืนชุดแรก ก็มีเสียงปืนรัวต่อเนื่องนับสิบนัด เป็นเหตุให้ นายฮัมดี แวสะมะแอ เสียชีวิตคาที่ในห้องน้ำเล็กๆ ภายในบ้านหลังนั้นเอง

        ทั้งสองคน นายฮัมดี กับ สิบโทสุรชัย จบชีวิตลงเกือบจะพร้อมกันในบ่ายวันนี้เอง โดยที่ทั้งคู่อาจไม่รู้เลยว่าแต่ ละคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในอนาคตอันใกล้นี้ คืองานวิวาห์เพื่อจะใช้ชีวิตอย่างปกติสุขตามวิถีของปุถุชน แล้วใครกันมา กำหนดให้บุรุษทั้งสองต้องมาประหัตประหารกัน และยุติอนาคตอันหอมหวานของตนเองในบ่ายวันนั้น

        สิบโทสุรชัย ศิลานนท์ เป็นนายทหารที่ผู้บังคับบัญชาชื่นชมการทำงาน ทั้งยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวที่บ้านหัวตะพาน ตำบลเพี้ยราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เขาเป็นลูกชายคนโตที่มีภาระส่งเสียน้องสาว 2 คนในวัยเรียน คนหนึ่งเรียนพยาบาลที่จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย และอีกคนเรียนสายวิชาชีพระดับอนุปริญญา การสูญเสียเสาหลักของครอบครัวจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ยากจะทำใจยอมรับ การช่วยเหลือเยียวยาอย่างเต็มที่และทันท่วงทีจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งของครอบครัว และบรรเทาอุณหภูมิความโกรธแค้นชิงชังที่อาจเกิดขึ้นเป็นไฟสุมความรุนแรงอีก ชั้นหนึ่งของสังคมไทย

        ส่วน นายฮัมดี แวสะมะแอ ตามข่าวของฝ่ายความมั่นคงระบุว่าเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบที่แฝงตัว เข้าไปกบดานในท้องที่หมู่ 4 บ้านคลองช้าง จึงตัดสินใจบุกเข้าจับกุมจนเกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย แต่ข้อมูลที่รวบรวมได้จากชาวบ้านกลับพบว่า ในวันเกิดเหตุนายฮัมดีแวะไปเยี่ยมเยียนเพื่อนเพื่อแจ้งการ์ดแต่งงาน กำหนดวันวิวาห์คือ 6 สิงหาคม 2552

        เรื่องนี้คงยากที่จะพิสูจน์ว่าข้ออ้างของฝ่ายใดจริงหรือเท็จ ซึ่งก็คงคล้ายกับข้อกล่าวหาของญาติและชุมชนที่ว่า นายซับรี ฮะยี และนายซานูติ ดอเลาะ เพื่อนของนายฮัมดีที่หลบเข้าไปอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ถูกทำร้ายร่างกายขณะเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่มีการทำร้าย และภายหลังทั้งสองคนก็ถูกควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้

        ยังดีที่ พลโทกสิกร คีรีศรี ผู้บัญชาการกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร (ผบ.พตท.) ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้ความร่วมมือในการติดตามตรวจสอบร่วมกับหน่วยงาน ภาคประชาสังคมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีที่ญาติและชุมชนร้องเรียนเรื่องการทำร้ายร่างกาย นายซับรี ฮะยี และนายซานูติ ดอเลาะ ทำให้ญาติและชุมชนสามารถสะท้อนความรู้สึกและข้อมูลจากชุมชนต่อหน่วยงานของ รัฐได้ และรัฐน่าจะนำมาแสวงหาความจริงเพื่อประกอบการพิจารณาถึงปฏิบัติการซึ่งนำ ความสูญเสียมาสู่เจ้าหน้าที่ ประชาชน และชุมชน

        ปัญหาความไม่ไว้วางใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในชุมชนต้องเร่งแก้ไข อย่างเร่งด่วน เนื่องจากเหตุการณ์ปิดล้อมตรวจค้นในหลายๆ พื้นที่ ชาวบ้านส่วนหนึ่งรู้สึกว่าถูกกลั่นแกล้งจากสายข่าวที่ให้ข่าวกับเจ้าหน้าที่ รัฐ มีการใส่ร้ายป้ายสีให้ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านให้ตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อความไม่ สงบตลอดมา ดังนั้นเพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งกับชาวบ้านที่กล่าวหาชาวบ้านด้วยกันเอง และกลุ่มชาวบ้านที่ถูกกล่าวหา จึงควรมีการแก้ไขความขัดแย้งในชุมชนโดยสันติวิธีหรือไม่ ขณะที่รัฐก็ควรใช้ปฏิบัติการทางทหารอย่างละมุนละม่อมแทนการใช้ความรุนแรงตอบ โต้กัน ทั้งนี้เพื่อแยกกลุ่มชาวบ้านที่ถูกตั้งข้อสงสัยออกจากกลุ่มก่อความไม่สงบที่ อาจมีอยู่จริงในหมู่บ้าน และให้ชุมชนดำเนินการปลดเงื่อนไขความรุนแรงร่วมกันอย่างสันติ

        ในสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆ ของโลก อย่างเช่น อาเจะห์ หรือไอร์แลนด์เหนือ ความขัดแย้งกว่า 30 ปียุติลงเมื่อประชาชนผู้ต่อต้านรัฐ ภาคประชาสังคม และรัฐ ทนไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น และให้โอกาสกับแนวทางสันติวิธี (Give Peace a chance) อย่างจริงจัง กระทั่งเกิดข้อตกลงสันติภาพและประสบผลสำเร็จ

        แม้จะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความจริงแต่ละชุดในสถานการณ์ภาคใต้มีความแตกต่างและ หาข้อยุติได้ยากยิ่ง สร้างความลำบากในการแก้ไขสถานการณ์และการเยียวยาความสัมพันธ์ของแต่ละกลุ่ม แต่ละฝ่าย จนหลายคนพูดติดตลกว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเรื่องเล็กมักถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่ และเรื่องใหญ่ก็มักจะถูกทำให้เป็นเรื่องเล็กๆ ความจริงเป็นสิ่งที่หาได้ยากที่สุดในพื้นที่นี้ แต่นั่นก็ไม่ควรเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทุกฝ่ายท้อถอยที่จะให้โอกาสกับแนวทาง สันติวิธีมิใช่หรือ...

        เหตุการณ์ที่บ้านคลองช้างมีความจริงอยู่ชุดหนึ่งคือ ชายหนุ่มสัญชาติไทยสองคนที่มีอุดมการณ์ของความรักและการสร้างครอบครัวแบบ เดียวกัน แต่อาจต่างกันด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง บทบาท และทัศนะที่มีต่อสังคม ทำไมเขาทั้งสองคนต้องเข้าสู่สถานการณ์ที่ต้องประหัตประหารกัน และต้องตายตกตามกันโดยไม่รู้ว่าเพื่อใคร และเพื่ออะไร

        แล้วใครเล่าเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของพวกเขา?