ข้อเสนอจากประชาชนและผู้นำศาสนาที่ขอให้ลดปฏิบัติการความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน ได้รับการสานต่อไปยังโต๊ะเจรจาสันติภาพระหว่างตัวแทนฝ่ายไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น ขณะเดียวกัน จุฬาราชมนตรีได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงเวลาดังกล่าว ภาคประชาชนและนักวิชาการในพื้นที่ก็มีข้อเสนอแนะเช่นกัน
ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์
เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับชาวบ้านให้มากในเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะวิถีปฏิบัติประจำวัน เช่น การละศีลอดช่วงเย็น ไม่ควรเชิญเขาไปร่วมกิจกรรมที่เจ้าหน้าที่จัดงานขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านต้องอยู่กับครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในหมู่พี่น้องเครือญาติ
การตั้งจุดตรวจก็ต้องระวัง เนื่องจากเป็นช่วงที่ชาวบ้านเดินทางมาก ความเข้มงวดในการตั้งจุดตรวจต้องลดลง รวมถึงการตรวจค้นด้วยเหมือนข้อเสนอของบีอาร์เอ็นที่เคยเสนอไว้
หากลดเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ลงได้ เชื่อว่าความรุนแรงในพื้นที่น่าจะลดลง โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการทหารที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวโจมตี ถ้าไม่มีกิจกรรมส่วนที่รัฐจัดขึ้นลงไปทำในพื้นที่โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดความท้าทายในพื้นที่ก็จะน้อยลง
ความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้น่าจะลดลงกว่าช่วงที่ผ่านมา แม้จะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นถี่ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณลดความรุนแรงลงของ 2 ฝ่าย
ข้อเสนอของจุฬาราชมนตรีที่ออกมา 13 ข้อ สอด คล้องกับความต้องการของคนชุมชน สามารถนำมาปฏิบัติได้เลย โดยเป็นข้อเสนอที่ศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถามไปยังประชาชน
ทั้ง 13 ข้อ หากนำไปดำเนินการจะเกิดผลดีตามมา และสถานการณ์ในพื้นที่ก็น่าจะเบาลง
อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง
ผอ.โครงการหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า
ข้อเสนอ 13 ข้อของจุฬาราชมนตรี เพื่อต้องการฟื้นฟูความรู้สึกที่ดีระหว่างชาวพุทธ มุสลิมและทหารในพื้นที่ ทำให้เห็นว่าเดือนรอมฎอน เป็นเดือนสิริมงคลของชาวมุสลิม จึงต้องการให้ชาวมุสลิมสามารถปฏิบัติศาสนกิจของตนได้จริง
เป็นการเอื้อประโยชน์ในการเดินทาง ไม่ว่าจะกลับบ้าน หรือไปศาสนสถาน โดยเฉพาะช่วงหัวค่ำ จะได้ไม่ต้องเจอด่านตั้งตรวจกันมากมาย
เป็นข้อเสนอที่ไม่น่ายากเท่าไรหากทหารเข้าใจ การปฏิบัติหน้าที่เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกันนั้นสามารถทำได้ อย่างการตั้งด่านก็เข้าใจเจ้าหน้าที่เช่นกันว่าจำเป็นต้องมีอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ลดจำนวน เวลาการตรวจค้นไม่ให้ถี่มากหรือกินเวลานาน
และถ้าหากทำตามที่จุฬาราชมนตรีเสนอว่าที่ด่านตรวจน่าจะมีอินทผาลัมและน้ำเปล่าให้ประชาชนที่ผ่านด่านตรวจก็จะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีระหว่างกันได้ เพราะที่ผ่านมาที่ได้ผลาญงบฯ กันไปเป็นแสนล้าน ไม่เคยมีที่จะนำมาทำอย่างนี้
ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ
ประธานสภาประชาสังคมจังหวัดชายแดนใต้
ประกาศของจุฬาราช มนตรีถ้าทุกฝ่ายไม่เหนือบ่ากว่าแรงจริงๆ ก็ควรปฏิบัติตาม โดยเฉพาะคนที่ไม่นำพาการปฏิบัติทางศาสนกิจจริงๆ ที่ผ่านมาอาจไม่สามารถทำได้
แต่สำหรับชาวมุสลิมเขาปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัดอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่อยู่เดิมก็มีความเข้าใจและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่แล้วเช่นกัน
ประกาศของจุฬาราชมนตรีแท้จริงแล้วเป็นข้อกำหนดที่ชาวมุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติมาตลอดอยู่แล้ว เปรียบเทียบก็เหมือนศีล 5 ที่ชาวพุทธยึดหลักปฏิบัติตามปกติ แต่ที่ปีนี้ ฮือฮากันอาจเป็นเพราะรัฐบาลกำลังพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นประเด็นต่อเนื่องอยู่
ที่จุฬาราชมนตรีออกมาพูดถึงข้อเสนอแนะต่างๆ คงต้องการให้ผู้ที่จะกระทำการใดในลักษณะหมิ่นเหม่ให้หยุดหรือหลีกเลี่ยง รวมถึงเป็นการเสนอแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ใหม่ ซึ่งมาจากพื้นที่อื่นจะได้เข้าใจว่าควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
เจ้าหน้าที่ควรปฏิบัติตามข้อเสนอแนะดังกล่าว เพราะเป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานสำหรับช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งไม่มีอะไรยุ่งยาก และเป็นประโยชน์อย่างมาก
ช่วงเดือนรอมฎอนก็คล้ายกับเดือนบวชชาวมุสลิมทุกคนจะปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด ทุกคนมีความอดทน อดกลั้น เพื่อให้ได้บุญ จึงเชื่อว่าเหตุการณ์จะเบาบางลงได้
ข้อเสนอแนะของจุฬาราชมนตรี พ.ศ.2556 ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฎอน
"เดือนรอมฎอน" เป็นเดือนที่อัลลอฮฺทรงประทาน อัล-กุรอานและบัญญัติให้มุสลิมถือศีลอด รอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งการเพิ่มพูนคุณงามความดี การขัดเกลาจิตใจ การอภัยโทษ และการลบล้างความผิดพลาด ตลอดทั้งการหยิบยื่นความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (1) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 จุฬาราชมนตรีจึงจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติต่อรัฐบาลและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ และอย่างสันติสุขตลอดช่วงเดือนรอมฎอน โดยมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.ช่วงเตรียมการเข้าสู่เดือนรอมฎอน
1) จัดให้มีบริการด้านสุขภาพแก่มุสลิมเพื่อเตรียมความพร้อมทางร่างกายในการถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ เช่น การตรวจสุขภาพ การชี้แจงแนวปฏิบัติของผู้ป่วยในการถือศีลอด การชี้แจงแนวปฏิบัติด้านการดูแลสุขภาพในเดือนรอมฎอน เป็นต้น
2) ให้ความรู้ด้านคุณค่าของการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน เช่น บรรยายปฏิทินกิจกรรมรอมฎอน เอกสารประกอบการถือศีลอด ฯลฯ
3) อำนวยความสะดวกและจัดสรรปัจจัยที่จำเป็นสำหรับการถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอนแก่ผู้ด้อยโอกาส เด็กกำพร้า และผู้ต้องขังมุสลิมและครอบครัว
4) สนับสนุนอาหารในการละศีลอดและปัจจัยสำหรับการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น อินทผาลัม น้ำตาลทราย หรือชุดละหมาด แก่องค์กรศาสนาอิสลาม มัสยิดและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนอย่างทั่วถึง
2.ช่วงระหว่างเดือนรอมฎอน
1) ควรผ่อนปรนเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มุสลิม โดยมีช่วงเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่ 08.30-15.00 น. เพื่อให้มีเวลาเตรียมความพร้อมสำหรับการละศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างมีคุณภาพ
2) สนับสนุนให้ละศีลอดร่วมกัน ณ มัสยิดของแต่ละชุมชน โดยหน่วยงานราชการ ไม่ควรจัดกิจกรรมละศีลอดตามสถานที่ราชการ เพราะอาจกระทบกับความปลอดภัย และการปฏิบัติศาสนกิจของบุคคลในเดือน รอมฎอน
3) ควรงดเว้นการจัดกิจกรรมอบรม ประชุมสัมมนา สำหรับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชนมุสลิม ในช่วงเวลาสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน
4) ส่งเสริมและสนับสนุนการละหมาดตะรอเวียะห์และการ เอี๊ยะติกัฟในช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะเยาวชนในทุกชุมชน และอาจให้มีรางวัลเพื่อเป็นกำลังใจสำหรับ ผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
5) ควรใช้สื่อของรัฐทุกประเภทเพื่อส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจ เช่น การอ่านและศึกษาอัล-กุรอานตลอดเดือนรอมฎอน ถ่ายทอดการละหมาดตะรอเวียะห์จากมัสยิดหะรอม ณ นครมักกะฮ ประเทศซาอุดีอาระเบีย และให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตนตามบทบัญญัติศาสนาอิสลาม เป็นต้น
3.ช่วงหลังเดือนรอมฎอน (ประมาณ 8 วันหลังจากวัน อิฎิ้ลฟิตริ)
ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ องค์กรภาคเอกชน ร่วมกับองค์กรศาสนาอิสลามจัดงานเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจที่ดีต่อกันในสังคมพหุวัฒนธรรม
4.แนวทางปฏิบัติสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายและอำนวยความเป็นธรรม
1) กำกับและชี้แจงทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจทุกจุดให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เป็นปัญหา อุปสรรค และควรดำเนินการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนกับการปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนา หากมีเหตุต้องตรวจค้นสตรีต้องใช้เจ้าหน้าที่สตรีในการตรวจค้นเท่านั้น
2) สนับสนุนให้แจกจ่ายอาหารละศีลอดแก่ผู้สัญจรผ่านจุดตรวจ เช่น อินทผาลัมและน้ำ ตั้งแต่ช่วงเวลา 17.00 น. เป็นต้นไป
3) ให้จัดระเบียบและกวดขันแหล่งอบายมุขอย่างเข้มงวด เพื่อดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของเดือนรอมฎอน