Skip to main content

 

"วาทกรรม" แปลมาจากคำว่า discourse แนวคิดเรื่องวาทกรรมที่นักวิชาการไทยนำมาเผยแพร่ราว พ.ศ. 2524-2525 นี้เป็นของมิเชล ฟูโก้ (Michel Foucault) ซึ่งพยายามเชื่อมโยงเรื่องสำคัญ 3 เรื่องเข้าด้วยกันนั่นคือ ความรู้ อำนาจและความจริง กล่าวโดยรวมๆ ได้ว่าวาทกรรมเป็นการสร้างความรู้ การผลิตความรู้หรือการนิยามความรู้บางอย่างขึ้นมาเพื่อให้มีอำนาจในการกำหนดความจริง (จากบล็อก OK Nation http://www.oknation.net/blog/print.php?id=281466 )

ในเว็บไซต์ Wikipedia อธิบายว่าวาทกรรมแต่ละเรื่องมีระบบความคิด และเหตุผลของตน ในการอธิบายหรือมอง "ความจริง" ซึ่งวาทกรรมเรื่องเดียวกัน แต่ต่างระบบความคิดและเหตุผลก็จะมีความแตกต่างกันออกไป ในการให้อรรถาธิบายต่อเรื่องนั้น ๆ ดังนั้นในเรื่องเดียวกันจึงมีวาทกรรมหลายชุดที่เกี่ยวข้องและวาทกรรมแต่ละชุดก็มีความขัดแย้ง หรือปฏิเสธ "ความจริง" ของวาทกรรมอีกชุดหนึ่งได้

ในที่นี้ผู้เขียนใคร่เสนอว่า “จังหวัดชายแดนภาคใต้” เป็นวาทกรรมหนึ่งที่โลดแล่นแผลงฤทธิ์อยู่ในบริบทสังคมการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาณาบริเวณที่เป็นภูมิภาคจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ “พื้นที่” และ “ความสำพันธ์เชิงอำนาจ” เคลื่อนขยับและปรับเปลี่ยนตามฤทธานุภาพของ “วาทกรรม” อยู่ตลอดเวลา “ความจริง” ชุดแล้วชุดเล่าถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับและให้ความชอบธรรมกับวาทกรรม ดังนั้นการนิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” จึงจำเป็นต้องเข้าใจปฏิบัติการการผลิตความรู้ การกำหนดความจริง และพลังอำนาจของ “วาทกรรม” เหล่านี้

วาทกรรม “สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้”

วาทกรรม “สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ดูเหมือนถูกผลิตขึ้นพร้อมๆ กับนโยบายการผสมกลมกลืนทางเชื้อชาติอันเป็นแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์ภาคใต้ที่สำคัญของรัฐบาลจอมพล. ป พิบูลสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มาในรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่สำหรับชุมชนมาเลย์มุสลิมในภาคใต้แล้ว วาทกรรม “สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้” มีภาคปฏิบัติสำคัญด้านนโยบายการศึกษา

ด้วย “วาทกรรม” ดังกล่าว จังหวัดชายแดนภาคใต้ 4 จังหวัดถูกรวมเข้าด้วยกันในการบริหารการศึกษาเป็น “เขตการศึกษา 2” ที่มีสำนักงานอยู่ที่ยะลา และเริ่มเดินหน้านโยบาย “คุมกำเนิดปอเนาะ” ด้วยนโยบายการจดทะเบียนปอเนาะที่เริ่มขึ้นในปี 2504 จนเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งและความรุนแรงที่หยั่งรากลึกจนถึงปัจจุบัน

“ความจริงที่ถูกสร้าง” ด้วยอำนาจของวาทกรรมในช่วงเวลานั้นก็คือ แม้ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีสถาบันการศึกษา “ปอเนาะ” จำนวนมากก็ตามแต่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของรัฐเพราะเป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้ผ่านการ socialization อย่างที่รัฐต้องการ จึงพบว่าในปี 2524 มีเจ้าของปอเนาะเพียง 3  คนเท่านั้นจาก 252 คนที่ปลอดจากสถานภาพ “เถื่อน” เนื่องจากมีประกาศนียบัตร ม.ศ.3 (อ้างจากสุรินทร์ พิศสุวรรณ.2527)

ในแง่ “พื้นที่” วาทกรรม “สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้” คืออาณาบริเวณจังหวัดที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงไม่รวมจังหวัดสงขลา แต่เป็นพื้นที่จังหวัดสตูลที่อยู่ในเงื่อนไขการนิยามของ “วาทกรรม” แม้พื้นที่จะไม่มีเขตแดนที่ติดต่อกัน ชุมชนมุสลิมในจังหวัดสงขลาจึงปลอดจากการครอบงำของวาทกรรมนี้

วาทกรรม “ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้”

เท่าที่จำได้ วาทกรรม “ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้” ถูกผลิตขึ้นมาพร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อเกิดนโยบายการพัฒนาภาคใต้ที่ต้องอิงฐานความเป็นภูมิภาคในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อย่างเช่นโครงการพัฒนาเซาท์เทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคภาคใต้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มิอาจจะแบ่งพื้นที่บนฐานเชื้อชาติของประชาชนได้อีกต่อไป แต่ต้องอยู่บนฐานของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์

ด้วย “วาทกรรม” ชุดดังกล่าว การนิยามการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในรูปของแผนพัฒนาอุตสาหกรรม การส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งเพื่อสู่เป้าหมาย “โชติช่วงชัชวาล” หรือการร่วมมือ “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ” หรือ “สะพานเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน” ล้วนจำเป็นที่จะต้องนิยาม “พื้นที่” ด้วยวาทกรรมชุดใหม่ทั้งสิ้น

สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมของภาคปฏิบัติของวาทกรรม “ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่จับต้องและลูบคลำได้คือ เอกสารงานวิจัยที่ผลิตขึ้นเพื่อตอบสนองวาทกรรมชุดนี้ นัยว่าเพื่อแสวงหาองค์ความรู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่จะตามมาด้วยฤทธานุภาพของวาทกรรมนี้ (discursive practices) กองเป็นภูเขา เรียงกันเป็นตับอยู่บนชั้นหนังสือในหอสมุด

วาทกรรมชุดนี้มีความจริงที่ถูกสร้างขึ้นเป็นชุดของความหวังและความฝันด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค แผนพัฒนาสารพัดรูปแบบถูกผลิตขึ้นบนแผ่นกระดาษและคลื่นการสื่อสาร ด้วยการครอบงำของอำนาจวาทกรรมที่ชักไยโดยกลุ่มการเมือง และการจัดสรรผลประโยชน์ที่ลงตัวทำให้วาทกรรมชุดนี้ไม่ต้องถูกตั้งคำถามและค่อยๆ เลือนหาย ทิ้งเพียงร่องรอยที่เห็นได้จากความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา ณ เมืองเสณาฐกิจชายแดนเท่านั้นเอง

วาทกรรม “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้”

ในแง่สังคมวัฒนธรรม สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นับเป็นอาณาบริเวณและ “พื้นที่” เฉพาะของชุมชนเชื้อสายมาเลย์มุสลิมหรือ “พวกมลายู” ถึงแม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดสตูลจะเป็นเชื้อสายมลายูและนับถือศาสนาอิสลาม แต่ในสภาพความเป็นจริงกลับมีความต่างอย่างสำคัญและผู้คนทั้งสองพื้นที่ต่างยอมรับได้ถึงความต่างที่เป็นอยู่

วาทกรรม “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” จึงเป็นผลผลิตของสำนึกร่วมของสังคมไทยที่ไม่ได้เกิดจากการจงใจผลิตโดยหน่วยทางสังคม เป็นวาทกรรมที่สมาชิกของชุมชนเองยอมรับในนิยามดังกล่าว ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ครอบงำการกำหนดความรู้ ความจริง ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ แต่กลับเคลื่อนขยับในเรื่อง “พื้นที่”

แม้ว่าในบริบทของความเข้าใจต่อวาทกรรมนี้จะเป็น “สามจังหวัด” แต่พื้นที่เชิงปฏิบัติการของวาทกรรมนี้กลับสัมพันธ์กับชุมชนที่มีประชากรเชื้อชาติมลายู นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งหมายรวมถึงพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา หรือกระทั่งในบางคำนามโดยวาทกรรมนี้อาจหมายรวมถึงประชากรมุสลิมในจังหวัดสตูล (กระทั่งนิยามนี้กินความไกลไปถึงชุมชน “เด็กนายู” ที่อยู่หน้ารามด้วยซ้ำไป)

เราจะเห็นอิทธิฤทธิ์ของวาทกรรม “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ในแง่มุมเชิงลบได้ดีกว่า เช่น การลงโทษข้าราชการด้วยการส่งมาอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในกลุ่มพื้นที่ที่ยากจนที่สุด สัมฤทธิผลด้านการศึกษาต่ำสุดของประเทศคือจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันหมายถึง “สามจังหวัด” นี้ และปัญหาแบ่งแยกดินแดนก็อยู่ในวาทกรรมนี้

วาทกรรม “สามจังหวัด สี่อำเภอ”

สถานการณ์ความรุนแรงรอบใหม่ที่เริ่มต้นจากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้ผลิตวาทกรรมชุดใหม่คือ “พื้นที่สามจังหวัดสี่อำเภอ” ที่ดูเหมือนจะเป็นวาทกรรมที่ “พื้นที่” มีสถานะคงที่มากที่สุด เพราะการนิยามพื้นที่โดยวาทกรรมนี้ยึดโยงกับพื้นที่ตามนิยามของหน่วยการปกครองของภาครัฐอย่างเข้มงวด ซึ่งหากลงรายละเอียดกันจริงๆ นั่นหมายถึงพื้นที่เขตสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรอำเภอ และหมายถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านนอกเขตอำเภอที่ถูกนิยาม แม้ห่างกัน 20 เมตร ก็ไม่นับเป็นการก่อความไม่สงบ

ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ ปฏิบัติการของวาทกรรม (discursive practices) ชุดนี้มีมูลค่ามหาศาลหากพิจารณาจากการใช้จ่ายงบประมาณเป็นแสนล้านในส่วนของการแก้ปัญหาภาคใต้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา วาทกรรมนี้ยังได้นิยาม “พื้นที่” ของสามจังหวัดสี่อำเภอเป็นพื้นที่พิเศษ ที่มีระเบียบราชการแบบพิเศษเฉพาะ มีเอกสิทธิ์พิเศษ มีช่องทางพิเศษ งบประมาณพิเศษที่เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอ พัฒนาการอำเภอในพื้นที่ 4 อำเภอของสงขลาทำได้ แต่หน่วยงานเดียวกันในอำเภอรัตภูมิ อำเภอสทิงพระไม่มีสิทธิแม้แต่คิดฝัน

วาทกรรม “สามจังหวัดสี่อำเภอ” ยังมีปฏิบัติการสำคัญอีกประการหนึ่งที่ไม่มีปรากฏในที่อื่นใดในประเทศไทยนอกจากที่นี่ที่เดียว อันเป็นผลของวาทกรรมชุดนี้ที่ได้สร้างโอกาส การให้คำนิยามและฐานรองรับอย่างมั่นคงแข็งแกร่ง นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “อุตสาหกรรมความมั่นคง” (แม้หลายฝ่ายไม่ยอมรับว่าสิ่งนี้มีอยู่จริง แต่ มิเชล ฟูโก้ ยืนยันว่ามี ถ้าไม่เชื่อก็ลองเถียงเขาดู)

การปะทะกันของวาทกรรม (discursive war)

ลักษณาการของวาทกรรม “สามจังหวัดสี่อำเภอ” ดูเหมือนได้กลับกลายเป็นวาทกรรมครอบงำ (dominant discourse) ที่มาบดบังพลังอำนาจของวาทกรรมอื่น เช่น การเรียกร้องให้ส่งข้าราชการที่มีความสามารถมาประจำการในพื้นที่ อันเป็นทัศนะที่ก่อเกิดจากวาทกรรมชุดนี้แทนที่ทัศนะจากการนิยามพื้นที่ของวาทกรรมชุดเดิม และแม้ว่าวาทกรรมนี้ได้เผยความจริงด้านความรุนแรงที่ยืดเยื้อในพื้นที่ แต่ก็ยังมีกำลังพลจำนวนมากพร้อมลงมาเพื่อประจำการด้วยเหตุผลด้านเบี้ยเลี้ยง

วาทกรรม “สามจังหวัดสี่อำเภอ” ได้แง้มบานประตูสู่การรับรู้การครอบงำความคิดหลายๆ ด้านที่วาทกรรมชุดเดิมลั่นดาลลงกลอนไว้ในหลายแง่มุม การลงโทษข้าราชการไม่ดีโดยส่งมาอยู่สามจังหวัดชายแดนใต้นอกจากไม้ได้เกิดการขัดเกลาให้ “เขา” เป็นคนดีแล้วยังกลับกลายเป็นหนูตกถังข้าวสาร ที่สามารถใช้พระเดชตักตวงประโยชน์จากสถานะใหม่ได้ด้วย

ภายใต้วาทกรรม “สามจังหวัดสี่อำเภอ” ยังได้ผลิตวาทกรรมย่อยที่เกื้อหนุนกันของอำนาจ การนิยามและปฏิบัติการของวาทกรรม เช่น วาทกรรมว่าด้วย “การเยี่ยมบ้าน” ที่ฝ่ายความมั่นคงชอบนักชอบหนาที่จะไปเยี่ยมบ้าน “ประชาชน” ทั้งๆ ที่ในทางกลับกันเจ้าของบ้านปรารถนาเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ต้องการถูกเยี่ยมโดยทหาร เพราะการนิยาม “การเยี่ยมบ้าน” ในนามของความมั่นคง จึงเป็นการเยี่ยมเยียนด้วยชุดฟอร์มเต็มยศในสภาพพร้อมรบ พกอาวุธหนักและผ้าพันคอประจำหน่วย ผู้ถูกเยี่ยมที่กำลังสุขสบายกลับหายใจขัดๆ ประสาทรับรสไม่ทำงาน กล้ามเนื้ออ่อนแรงโดยไม่ทรายสาเหตุ แต่ทุกอย่างจะกลับคืนเมื่อการเยี่ยมสิ้นสุด

ว่าไปแล้ววาทกรรมเป็นคำพูด หรือประโยคในภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน โดยชุดภาษานี้ได้ถูกเชื่อมโยงกับความรู้ อำนาจและความจริงชุดหนึ่งที่ถูกนิยามขึ้นเป็นการเฉพาะ วาทกรรม “สามจังหวัดสี่อำเภอ” เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับภูมิศาสตร์ทางชาติพันธุ์และอาณาเขตการปกครองท้องที่ของรัฐที่สอดรับกับการเรียกร้องของขบวนการต่อต้านรัฐไทยในการเรียกร้องแบ่งแยกดินแดน และอาจจะหมดความหมายได้หากมีวาทกรรมใหม่มาเบียดบัง

กำเนิดวาทกรรมใหม่ ??? (?)

แม้ว่าวาทกรรม “สามจังหวัดสี่อำเภอ” จะมีคำนิยามที่แจ่มชัดในบริบทความขัดแย้งและความรุนแรงในเวลานี้ และผลจากการปฏิบัติการของวาทกรรมนี้เป็นรูปธรรมอันจับต้องได้ทั้ง “อุตสาหกรรมความมั่นคง” และทัศนคติของสังคมไทยโดยรวมต่อชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ดูเหมือนวาทกรรมนี้ได้ถูกท้าทายเมื่อต้นเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา mso-bidi-language:AR-SA">

ทันทีที่ดาโต๊ะซัมซามิน ฮุสเซน ตัวแทนมาเลเซียในฐานะ facilitator ในกระบวนการเจรจาสันติภาพจบการแถลงข่าวกรณี BRN และรัฐไทยสามารถมีข้อตกลงยุติความรุนแรงชั่วคราวในเดือนรอมฎอน ปี 2556 ได้เกิดความตื่นตระหนกขึ้นอย่างกะทันหันทันทีทันใดต่อสังคมการเมืองไทยในวงกว้าง เนื่องจากคำแถลงบางประโยคของเขาที่พูดว่า ข้อเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงนี้ขอให้ปฏิบัติการในพื้นที่ “สามจังหวัด ห้าอำเภอ” โดยรวมอำเภอสะเดาของสงขลาเข้ามารวมในข้อเรียกร้องนี้

ไม่มีคำขยายความถึงข้อเสนอ(ใหม่)นี้จากทั้งฝ่ายมาเลเซียหรือจากฝ่าย BRN และไม่มีคำอธิบายว่าเป็นความพลาดพลั้งในการสื่อสารหรือไม่ประการใดในการแถลงข่าวครั้งดังกล่าว แต่คำพูด “สามจังหวัดห้าอำเภอ” ได้ส่งแรงกระเพื่อมราวกับเป็นอิทธิฤทธิ์แห่งวาทกรรมต่อสังคมการเมืองไทยตั้งแต่อาคารรัฐสภาจนถึงแป้นคีย์บอร์ดของแอกติวิสท์นักเลงเฟสบุ๊ก

หรือจะเกิดการปะทะกันระหว่างวาทกรรม “สามจังหวัดสี่อำเภอ” กับ “สามจังหวัดห้าอำเภอ” คงต้องเฝ้ารอด้วยใจระทึก

 

......

 

(ข้อเขียนนี้เกิดจากคันไม้คันมือเมื่อติดตามการวิวาทะว่าด้วยการเจรจาสันติภาพใน social media และต้องเจอะเจอกับคำว่า “วาทกรรม” อยู่เป็นอาจิน)