Skip to main content
ปาตานีอิสลาม: การปฏิรูปจากภายใน (ตอน 1)
(Patani Islam: A Reform From Within)
 
มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง
color:#222222">คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ความเกี่ยวเนื่องของอดีต

รากฐานของปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมมุสลิมปาตานีคืออะไรและควรจะได้รับการแก้ไขอย่างไรเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงในหมู่มุสลิมโดยเฉพาะบรรดาผู้รู้ทางศาสนา (Ulama) และปัญญาชนมุสลิม (Muslim Intellectual) มานานนับศตวรรษแล้ว ปาตานีซึ่งเคยปกครองโดยมุสลิมและถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ได้รับการสถาปนาโดยโลกมุสลิม (Pax Islamica) อันมีจักรวรรดิอุษมานียะฮหรือออตโตมัน (ตุรกีในปัจจุบัน) ครองอำนาจนำ (Hegemony) เมื่อออตโตมันเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยทางอำนาจในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา (Ferguson, 2011:71) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางกับการผงาดขึ้นมาของยุโรปอันเป็นผลจากการปฏิรูปทางความคิดและการปฏิวัตอุตสาหกรรมในศตวรรษต่อจากนั้น ออตโตมันและชุมชนทางการเมืองมุสลิมในทุกภูมิภาคของโลก รวมทั้งปาตานี โดยเราอาจเรียกดินแดนในโลกมุสลิมในขณะนั้นโดยใช้ศัพย์ทางเทววิทยาอิสลามว่า ดารุสสลาม (Dar-al-Salam) ล้วนตกอยู่ภายใต้อุ้งเท้าของนักล่าอาณานิคมชาวยุโรปไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม (ยกเว้นดินแดนตอนกลางของคาบสมุทรอาหรับหรือประเทศซาอุดิอารเบียในปัจจุบันเนื่องจากเป็นพื้นที่ทะเลทรายยากแก่การเข้าถึง) กล่าวเฉพาะปาตานีซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการศึกษาอิสลามและได้ผลิตนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ระดับโลกอย่างเชคดาวุด อัลฟาฏอนี (1770-1847) และเชคอะหมัด อัลฟาฏอนี (1856-1908) และอีกหลายๆ ท่านนั้น "ถูกขายไปเหมือนกับขายลูกวัว" (หมายถึงการแลกเปลี่ยนดินแดนระหว่างสยามและอังกฤษในปี พ.ศ.2451 ซึ่งเป็นคำพูดของสุลต่านไทรบุรีที่ปรารภกับเอเธอร์ ซี. อดัมส์ ที่ปรึกษาทางการคลัง ประจำรัฐไทรบุรี)

อิสลามเริ่มถูกเผยแพร่ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 6 ในตอนกลางคาบสมุทรอารเบียอันแห้งแล้ง แต่ภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งร้อยปีหลังศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล) เสียชีวิต อาณาจักรอิสลามได้แผ่ขยายดินแดนออกไปอย่างรวดเร็วพิชิตดินแดนที่เคยเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่มาก่อนอย่างเปอร์เชียและโรมัน และได้สถาปนาอารธรรมอันยิ่งใหญ่ซึ่งวางรากฐานอยู่บนความรู้ที่มีวิวรณ์ (คัมภีร์อัลกรุอ่านและซุนนะฮหรือแบบฉบับของศาสดามูฮัมหมัด) ซึ่งเป็นแหล่งที่มา (sources) และกรอบอ้างอิง (frame of reference) ของความรู้ดังกล่าว เราอาจกล่าวได้ว่าอิสลามก่อให้เกิดการ "ปฏิวัติความรู้" ไป สู่กระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) ต่อจากกรีก (Greco-Hellenic) กระบวนทัศน์ดังกล่าวนี้ผลิตไม่เฉพาะสำนักคิดต่างๆ ทั้งพวกเหตุผลนิยมซึ่งให้กำเนิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (renaissance) ในยุโรปและพวกต่อต้านเหตุผลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเทววิทยา ปรัชญา ศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ จึงไม่แปลกที่อารยธรรมอิสลามจะมีระบบการศึกษาที่มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของโลกอย่าง อัล อัซฮัร (Al-Azhar University) เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีถึงความเป็นผู้นำของโลกมุสลิมในยุคนั้น

อะไรเป็นสาเหตุให้โลกมุสลิมหรือสังคมมุสลิม ซึ่งเคยดำรงอยู่ในฐานะมหาอำนาจตลอดระยะเวลาส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาต้องพบกับจุดพลิกผันอันนำไปสู่ภาวะของความเสื่อมถอยอันน่าตกใจนี้? เกิดอะไรขึ้นกับอิสลามที่มุสลิมมีความศรัทธาว่าพระเจ้าของพวกเขาจะอยู่เคียงข้างอันจะนำไปสู่ชัยชนะดังที่คัมภึร์อัลกรุอ่านได้สัญญาไว้ (อัลกรุอ่าน 23:1)

เราอาจกล่าวได้ว่า การค้นหาคำตอบต่อปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวกำหนดรูปแบบและเนื้อหาของสภาพสังคมการเมืองในโลกมุสลิมทั่วทุกภูมิภาคมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว บุคลดังเช่น ซัยยิดอะห์หมัด ข่าน (1817-1898) มูฮัมหมัด อิกบาล (1877-1938) อบู อะลา มาวดูดี้ (1903-1979) เป็นหัวหอกของการแสวงหาคำตอบในเอเชียใต้ ขณะที่ อุสมาน อัลฟูดุอุ (1856-1903) มูฮัมหมัด อะห์หมัด (มะฮดี) (1844-1885)  อิหม่ามมูฮัมหมัด อิบนิ อาลี อัลซานุซี (1787–1859) เป็นตัวแทนของการหาทางออกให้กับสังคมมุสลิมในแอฟริกา ญามาลุดดีน อัฟฆอนี (1838-1897) เชคมูฮัมหมัดอับดุ (1849-1905) เชครอชีด ริดอ (1865-1935) และอีกหลายๆ ท่านเป็นตัวแทนของการค้นหาคำตอบในภูมิภาคตะวันออกกลาง

มุสลิมในโลกมลายูเข้าร่วมการถกเถียงนี้ไม่ด้อยไปกว่าโลกอาหรับ ในฐานะที่เคยเป็นอาณาจักรมุสลิมอันรุ่งเรืองแต่ต้องมาตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของผู้ปฏิเสธศรัทธา (Kafir) ชาวยุโรป โลกมลายูจึงมีประสบการณ์อันขมขื่นร่วมกันกับพี่น้องมุสลิมในโลกอาหรับ นอกจากนั้นความเป็นอุมมะฮ (Ummah) หรือความเป็นประชาชาติอิสลามอันเดียวกันของมุสลิมท่ัวโลก ยิ่งเป็นตัวหนุนเสริมให้การถกเถียงในเรื่องปัญหาและทางออกของสังคมมุสลิมในโลกมลายูมีความเข้มข้นมากขึ้นอีกด้วย  การถกเถียงและการเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันของโลกมุสลิมเกิดขึ้น ณ เมืองสองเมืองสำคัญในอิสลาม นั่นคือเมืองมักกะฮ และเมืองมะดีนะฮ (ในประเทศซาอุดิอารเบียปัจจุบัน) อันเป็นสถานที่ซึ่งมุสลิมที่มีความสามารถจะต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์ เมืองมักกะฮยังเป็นเมืองสำคัญที่มุสลิมทุกคนทั่วทุกมุมโลกต้องผินหน้าไปสู่ขณะที่พวกเขาประกอบพิธีละหมาดวันละอย่างน้อยห้าครั้ง สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งสองแห่งนี้นอกจากจะมีความสำคัญในแง่พิธีกรรมทางศาสนาแล้วยังเป็นศูนย์กลางของการศึกษาของโลกมุสลิมอีกด้วย

การก่อตัวขึ้นของข้อถกเถียง


"โปรดทราบเถิด (ท่านทั้งหลาย) ว่าประชาชนในประเทศมหาอำนาจใหญ่ๆ (ของโลก) ผู้ซึ่งแตกต่างจากพวกเรา (ชาวมลายูในภูมิภาคนี้) พวกเขาให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับความรู้ (sha'in ilmu) และได้ทุ่มเทอย่างแข็งขันในการสอนเด็กๆ รวมทั้งเด็กผู้หญิง พวกเขาใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อค้นหาวิธีการต่างๆ อันหลากหลายในการทำให้การศึกษาหาความรู้มีความง่ายดายสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหามัน (พวกเขาทุ่มเทให้กับการนี้มากจนกระทั่ง) พวกเขาคิดค้นและประดิษฐ์ (เทคโนโลยี) ของการพิมพ์หนังสือที่สามารถผลิตหนังสือได้หลายพันเล่มในช่วงระยะเวลาอันสั้นในขณะที่หากเราใช้ระยะเวลาเดียวกัน (กับการพิมพ์หนังสือของพวกเขา) ผลิตหนังสือตามแบบของเราด้วยการคัดลอกด้วยมือ เรามิอาจผลิตหนังสือได้แม้แต่เพียงเล่มเดียว พวกเขายุ่งอยู่กับการสร้างโรงเรียนและวิทยาลัย (beberapa banyak madrasah) อันเป็นสถานที่ที่ใช้ในการเรียนการสอน (สาขาวิชาต่างๆ) ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา (bagai-bagai hikmah) และทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในโลกนี้และโลกหน้า...

...(ด้วยเหตุนี้) ภายในจิตใจของข้าพเจ้าจึงเต็มไปด้วยความเศร้าสลดต่อความไม่เอาใจใส่และขาดความมุ่งมั่น (ต่อการศึกษาและพัฒนาความรู้) ในหมู่พวกเราชาวมลายูในคาบสมุทรแห่งนี้ (bangsa kita ahli Tanah Melayu) รวมถึงบรรดาผู้คนในภูมิภาคนี้ (ahli segala tanah yang di bawah angin) การขาดความจริงจังในการศึกษาและพัฒนาความรู้นั้นเกิดขึ้นในหมู่ผู้ปกครองชาวมุสลิมรวมทั้งบรรดาผู้มีอันจะกินตลอดจนผู้ที่มีความสามารถในการศึกษาค้นคว้า (แต่พวกเขากลับละเลย) ทั้งในอดีต และปัจจุบัน ผลของการละทิ้งในด้านการศึกษาค้นคว้า ทำให้สถานการณ์ของเรา (สังคมมุสลิมมลายู) เปลี่ยนจากสภาพที่เคยสูงส่งและมีเกียรติไปสู่สภาพอันต่ำต้อยอย่างที่สุดในทุกๆ ด้านเมื่อเปรียบเทียบกับชาติอื่นๆ (จนท้ายที่สุด) นำมาซึ่งการสูญเสียถิ่นที่อยู่ (ถูกครอบครองโดยจักวรรดินิยม) และความมีเกียรติ"
 
(เชค อะหมัด อัลฟาฏอนี, ฮาดิกอตุ้ล-อัซฮัร, หน้า 17)
color:#222222">

เชค อะหมัด อัลฟาฏอนี คือ ผู้รู้ (อุลามาอ์) คนแรกๆ ที่ได้ทำการวิเคราะห์และสร้างข้อถกเถียงถึงรากเหง้าของปัญหาและทางออกของสังคมมลายูมุสลิมที่กำลังเผชิญกับภาวะความเป็นสมัยใหม่ (อันแสดงออกมาในรูปของการตกเป็นส่วนหนึ่งของสยามและอังกฤษ) เชค อะหมัด เป็นทั้งนักวิชาการศาสนา นายแพทย์ นักเขียน (หนังสือที่ชื่อ Faridatul Fara'id ของท่านเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและยังใช้ในการเรียนการสอนอยู่ในโลกมลายูจนกระทั่งปัจจุบัน) บรรณาธิการหนังสือ เชค อะหมัด ศึกษาวิชาการแพทย์ในอียิปต์และย้ายไปศึกษาวิชาการศาสนาในเมืองมักกะฮ และได้ทำการสอนหนังสือในเมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จนมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ชื่อเสียงของเชค อะหมัดในทางวิชาการได้รับการยอมรับจากอาณาจักรออตโตมันผู้ปกครองเมืองมักกะฮในขณะนั้น จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลการจัดพิมพ์หนังสือทั้งหมด (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือวิชาการทางทางศาสนา) เนื่องจากมีผู้เขียนชีวประวัติของเชค อะหมัด ไว้เป็นจำนวนมากแล้ว บทความชิ้นนี้จึงจะไม่ขอกล่าวในรายละเอียดอีก[1]

ในหนังสือที่ชื่อ ฮาดิกอตุ้ล อัซฮัร[2] เชค อะหมัด ได้บรรยายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก และชี้ได้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาซึ่งเป็นรากฐานที่ทำให้สังคมตะวันตกมีความก้าวหน้าในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่ขึ้นในสังคมมลายูมุสลิม เชค อะหมัดได้เปรียบเทียบให้เห็นว่ารากฐานของความเสื่อมถอยและอ่อนแอของสังคมมุสลิมมลายูปาตานี จนกระทั่งถูกยึดครองโดยนักล่าอาณานิคมในที่สุดนั้นเกิดจากการละเลยหรือไม่ให้ความสำคัญกับความรู้ (ilmu) และผู้นำไม่ได้เอาใจใส่กับการศึกษาของคนในปกครองของตน ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อผู้นำศาสนาซึ่งเป็นผู้ที่ถูกยกย่องว่าเป็นผู้รู้ หรือ อูลามาอ์ พูดถึง "ความรู้ (ilmu)" พวกเขาหมายถึงความรู้ในทางศาสนาเท่านั้น ดังที่ท่าน เชค ได้กล่าวไว้ว่า:

"ความเสื่อมถอยอันเกิดจากการละเลยต่อความรู้ (สมัยใหม่) เกิดขึ้นเนื่องจากทัศนคติของเราที่เห็นว่า ความรู้ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความก้าวหน้าทางการเรียนรู้และการพัฒนาทักษะทั้งหลายนั้นไม่ใช่กิจของศาสนา ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ใส่ใจกับมัน อย่างไรก็ตาม ถ้าเราใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง (tilik halus-halus) เราจะพบว่า สิ่งเหล่านั้น (ความรู้และการศึกษาสมัยใหม่) คือกิจการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อศาสนาของเรา ทั้งนี้เพราะด้วยกับการศึกษาและปฎิบัติสิ่งที่ได้จากความรู้ดังกล่าว มันจะทำให้เรามีความแข็งแกร่งและสามารถเอาชนะศัตรูของชาติเราได้ เราจะมีอำนาจ (ทางการทหาร) ที่จะทำให้สามารถปกป้องและเชิดชูเกียรติศาสนาเราเอาไว้ได้ ทำให้ศัตรูไม่กล้าแม้แต่จะคิดโจมตีเรา ข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นว่า (ความรู้และการศึกษาสมัยใหม่) เกี่ยวข้องโดยตรงกับศาสนาอย่างใกล้ชิดก็คือ อิสลามมิอาจสมบูรณ์ได้ถ้าหากเรายังไม่เอาใจใส่และให้ได้มาซึ่งความรู้และความสามารถดังกล่าว ดังที่พระองค์อัลลอฮได้กล่าวไว้ในอัลกรุอ่านให้ผู้ศรัทธาทุกคนแสวงหาความรู้และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ ความว่า "และพวกเจ้าจงตระเตรียมไว้ให้พร้อม (อย่างสุดความสามารถ) จากความแข็งแกร่ง(ในทุกๆด้านๆ) ด้วยกับม้าศึกเพื่อการรบ ด้วยการนี้จะได้สร้างความหวั่นเกรงให้ศัตรูของอัลลอฮและศัตรูของพวกเจ้า" (อัลกรุอ่าน 8:60)

 
(ฮาดิกอตุ้ล-อัซฮัร, หน้า 18)
color:#222222">

เชค อะหมัดนอกจากจะเป็นนักวิชาการผู้รอบรู้ในหลากหลายสาขาวิชา (polymath)แล้ว ยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้ก่อตั้ง องค์กรที่ชื่อ อัลญามีอะฮ อัลฟาฏอนียะฮ (สมาคมปาตานี) ในเมืองมักกะฮ ในปี 1873 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่จักรวรรดิ์นิยมตะวันตกออกไปจากดินแดนมลายู แม้อัลญามีอะฮจะเป็นองค์กรที่เป็นหัวหอกในการเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเมืองแก่มลายูมุสลิมปาตานีและมุสลิมจามในกัมพูชาซึ่งกำลังถูกยึดครองอยู่ในขณะนั้น แต่เนื่องจากท่านเชคเห็นว่ารากฐานของปัญหาปาตานีคือปัญหาในด้านความรู้ อัลญามีอะฮ อัลฟาฏอนียะฮ จึงเน้นเรื่องการตีพิมพ์หนังสือ ตลอดจนเป็นสถานที่ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้แก่ชาวมลายูมุสลิมที่อยู่ในเมืองมักกะฮและมะดีนะฮเป็นหลัก

การปฏิรูปสังคมมลายูมุสลิมปาตานีเพื่อให้รอดพ้นจากสภาพสังคมที่อ่อนแอ (ซึ่งแสดงออกมาในรูปของการถูกยึดครอง) นั้น เชค อะหมัด อัลฟาฏอนี ปราชญ์ชาวปาตานีเห็นว่าต้องปฏิรูปด้านความรู้ อำนาจของชาวมลายูมุสลิมจึงจะฟื้นคืนกลับมา ดังงานเขียนของท่านที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น ความคิดของท่านเชคสอดคล้องกับความคิดเรื่อง ความรู้/อำนาจของนักปรัชญาฝรั่งเศษผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 นาม มิเชล ฟูโก้ (Michel Foucault, 1926-1984) ที่เห็นว่า อำนาจสัมพันธ์กับความรู้้ โดยที่ทั้งสองมโนทัศน์คือสองด้านของเหรียญเดียวกัน อำนาจที่ยั่งยืนกว่าคืออำนาจในการสร้างความหมาย สร้างวาทกรรมเพื่อยึดครองการตระหนักรู้ของผู้คน อำนาจมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความกลัว (จากทุกฝ่าย) ดังที่เกิดขึ้นในสังคมปาตานีปัจจุบัน



[1] ในภาษาไทย เช่น งานของ อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์, บทบาทด้านการศึกษาและการเมืองของ ชัยควันอะหมัด อัล-ฟะฎอนีย์ (พ.ศ.2399-2451), วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2551.
ภาษายาวี ดู Wan Mohd. Shaghir Abdullah (1992); (1998a)
ภาษอังกฤษ ดู Virginia Matheson and M.B. Hooker, "Jawi Literature in Patani: The maintenance of an Islamic Tradition," JAMBRAS, Vol. 61, 1-86.
 
[2] ชื่อเต็มของหนังสือคือ 'Hadiqatul-Azhar wa'r-Riyahin fi Manaqib al-Akhyar wa Akhbar al-Salihin พิมพ์ครั้งแรกโดย al-Matba'ah al-Miriyyah ณ เมือง มักกะฮ ไม่ระบุปีที่พิมพ์ แต่ท่านเชค บอกไว้ในหนังสือว่า เขียนขึ้นในเดือน Sha'ban 1307 A.H