Hadi Wijaya
วงเสวนาเพื่อแสวงหากลไกสร้างความปลอดภัยให้กับกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ สรุปต้องขยายการร้องเรียนไปยังวงพูดคุยระหว่างไทย-บีอาร์เอ็นหลังจากที่ร้องเรียนกลไกรัฐหลายครั้งแต่เหลว หลังจากที่สมาชิกตกเป็นเหยื่อห้าราย เครือข่ายอดีตจำเลยตัดสินใจเปิดตัวสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ
28 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “เครือข่ายพลังประชาชน ป้องกันภัยคุกคามต่อชีวิต ท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ ครั้งที่ ๒” โดยเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ เครือข่ายครูตาดีกาชายแดนใต้ เครือข่ายโต๊ะอีหม่ามชายแดนใต้ และเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา (หลังเดิม/หลังเก่า) โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 300 คน
ประเด็นที่น่าสนใจของการจัดเสวนาในครั้งนี้ คือการหารือเรื่องความปลอดภัยของสมาชิกเครือข่ายและประชาชนภายใต้สภาวะการพูดคุยเพื่อสันติภาพและข้อตกลงลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนระหว่าง “สภาความมั่นคงแห่งชาติของประเทศไทย (สมช.) และ แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี อีกทั้งยังเป็นการเปิดตัวเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพอย่างเป็นทางการ
เปิดตัวเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ
เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ มีชื่อย่อว่า JOP ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553 เป็นเครือข่ายการทำงานของผู้ที่เคยถูกจำคุกและถูกฟ้องในข้อหาคดีความมั่นคง และถูกปล่อยตัวเมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง แม้ว่าหลายรายยังอยู่ในระหว่างการต่อสู้ทางคดี
นายมะยากี สาและ ประธานเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า “เราทำงานโดยมีแนวคิดที่ว่าจะทำอย่างไร ที่จะสามารถช่วยเหลือเพื่อนๆที่ถูกดำเนินคดี และบางส่วนที่ยังอยู่ในเรือนจำ เป็นที่มาในการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือเพื่อนๆที่ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง” มะยากี กล่าว
เครือข่ายฯ มีแกนนำหกคนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งในตอนแรก แต่แกนนำหนึ่งคนคือ อับดุลเลาะ เจ๊ะตีแม ที่ถูกลอบสังหารเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 อย่างไรก็ตามปัจจุบันเครือข่ายฯ มีคณะทำงานเพิ่มขึ้นประมาณ 12 คน ภารกิจหลักมีอยู่สามประการคือ 1.ให้ความช่วยเหลือเพื่อนๆที่ถูกจับกุมตัว หรือ ถูกคุมขัง โดยทางเครือข่ายฯ จะทำงานร่วมกับ อาสาสมัครผู้ช่วยทนายความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (SPAN) เพื่อให้ความช่วยเหลือในขั้นพื้นฐานแก่ครอบครัว เช่นการประกันตัว หรือการเริ่มต้นชีวิตหลังจากได้รับการประกันตัว หรือถูกปล่อยตัว
2.เป็นตัวกลางประสานระหว่างทีมทนายความ ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่เวลาที่มีข้อพิพาทหรือคดีต่างๆ และ 3.ติดตามความคืบหน้าของคดีต่างๆ ที่กำลังพิจารณาอยู่ในชั้นศาล ซึ่งงานเสวนาหนนี้นับเป็นครั้งแรกที่เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพเปิดตัวองค์กรอย่างเป็นทางการในพื้นที่สาธารณะ มะยากี กล่าวเพิ่มเติม
ภาคเวทีเสวนา
เวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “เครือข่ายพลังประชาชน ป้องกันภัยคุกคามต่อชีวิต ท่ามกลางการพูดคุยสันติภาพ ครั้งที่ ๒” มีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้
1. ทนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม [MAC]
2. ตูแวดานียา ตูแวแมแง สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [LEMPAR]
3. นวลน้อย ธรรมเสถียร กลุ่มผู้ผลิตสารคดี FT Media
4. ธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ [JOP]
ดำเนินรายการโดย รอมซี ดอฆอ ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา [PUKIS]
2. ตูแวดานียา ตูแวแมแง สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [LEMPAR]
3. นวลน้อย ธรรมเสถียร กลุ่มผู้ผลิตสารคดี FT Media
4. ธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ [JOP]
ดำเนินรายการโดย รอมซี ดอฆอ ศูนย์วัฒนธรรมอิสลามเพื่อการพัฒนา [PUKIS]
สมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพตกเป็นเหยื่อ
เวทีเสวนาเริ่มต้นขึ้นเมื่อ นายธรรมรัตน์ อาลีลาเต๊ะ เลขานุการ เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ ได้เปิดเผยว่า “สมาชิกของเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพ เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารไปแล้ว 4 คน และสมาชิกรายที่ 5 ซึ่งเป็นรายล่าสุดถูกลอบสังหาร แต่ไม่เสียชีวิต”
ธรรมรัตน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “เพราะพวกเราเป็นเป้าหมายอ่อนแอและมีชนักติดหลังทำให้เป็นเป้าหมายได้โดยง่าย” ที่สำคัญเขาบอกเล่าถึงประสบการณ์ของการร้องเรียนขอให้มีการสอบสวนและคุ้มครองเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจากฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง แต่ผลที่ได้คือการถูกควบคุมตัว และรู้สึกว่าตัวเองถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น
สำหรับสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพที่ถูกลอบสังหารนำมาสู่การเสียชีวิตและบาดเจ็บมีดังนี้ 1. นายรอมลี เจ๊ะเลาะ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อปี 2553
2. นายมาซาวี มะสาและ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อปี 2554
3. นายอับดุลเลาะ เจ๊ะดีแม ถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อปี 2555
4. นายมะรอเซะ กายียุ ถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อปี 2556
5. นายตอเหล็บ สะแปอิง ถูกลอบสังหาร และได้รับบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา
ทำไมชาวบ้านระแวงเจ้าหน้าที่
ทนายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ตัวแทนจาก มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม [MAC] กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่หวาดระแวงต่อเจ้าหน้าที่รัฐนั้นว่า “เป็นเพราะผลกระทบจากการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่
ทนายอาดิลันชี้แจงเพิ่มเติมว่า “การที่เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมีกฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือในการทำงาน คือ กฎอัยการศึก ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นานถึง 7 วัน
มีกฎหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พรก.ฉุกเฉิน) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยนานถึง 30 วัน ในขณะที่การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับปฏิบัติการหลายครั้งมีความไม่ชอบมาพากล อีกทั้งยังสร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน ทำให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนอันเนื่องมาจากการใช้กฎหมายดังกล่าว
ทนายอาดิลันกล่าวด้วยว่า “มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านตลอดมาตั้งแต่ปี 2547 เช่นเรื่อง เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายโดยมิชอบ การข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ละเมิดสิทธิ์ต่างๆ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์และตรวจสอบในบางกรณีแล้วพบว่ามีเหตุการณ์ที่เกิดตามที่มีการร้องเรียนจริง ถึงแม้ว่ารัฐโดยเฉพาะในระดับนโยบายพยายามจะเปลี่ยนแนวทางการทำงานเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลไม่อาจควบคุมคนทำงานทั้งหมดได้”
นอกจากนี้ทนายอาดิลัน ยังชี้ด้วยว่า “รัฐต้องยอมรับว่า มีกลุ่มคนที่ติดตาม “เก็บ” คนบางกลุ่ม ด้วยวิธีการนอกกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบางคนมักจะบอกว่ารัฐไม่เคยใช้ความรุนแรงและไม่เคยใช้วิธีการนอกกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่ในระดับล่างบางกลุ่มจะทำอีกอย่างหนึ่ง
เขาเปิดเผยด้วยว่า ศูนย์ทนายความมุสลิมเคยร้องเรียนเพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างเช่น กรณีการเสียชีวิตของอีหม่ามอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา หรือกรณีการวิสามัญกลุ่มคนร้ายที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ทำให้มีเด็กถูกลูกหลงเสียชีวิตถึงสองคน เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความมุสลิมเคยขอเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อให้มีการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่หลังจากร้องเรียนเรื่องนี้ไปแล้ว ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆเกิดขึ้น” ทนายอาดิลัน กล่าว
ความตายที่เชื่อมโยงกับกระบวนการพูดคุย
นายตูแวดานียา ตูแวแมแง รักษาการผู้อำนวยการ สำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา [LEMPAR] ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจว่า “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ยังไม่ได้รับหลักประกันว่าคนในพื้นที่จะอยู่อย่างปลอดภัยได้ ทั้งนี้เพราะมีคนบางกลุ่มที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่”
เขาชี้ว่า การต่อสู้ในพื้นที่คือการต่อสู้ทางการเมือง และทางกลุ่มขบวนการก็ใช้วิธีการรบนอกรูปแบบในการขับเคลื่อนกำลังรบ และใช้โซเชี่ยลมีเดียในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ทางการเมือง การพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่เองก็ยังไม่อยากยอมรับการปรากฏตัวของ BRN
นายตูแวดานียา ตั้งข้อสังเกตว่า “โดยส่วนตัวแล้วยังไม่อยากเชื่อว่า BRN สมัครใจเข้าร่วมกระบวนการพูดคุย เพราะ BRN คือ กลุ่มขบวนการปฏิวัติ ความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการพูดคุย นำไปสู่ความไม่ชอบมาพากลของเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพูดคุย
เห็นได้ชัดว่าหลังจากที่มีการพูดคุยที่มาเลเซีย การถูกลอบสังหารของสมาชิกในเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติ หรือการลอบสังหารของบุคคลที่มีประวัติกับทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีถี่ขึ้นแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างสองเรื่องนี้” นายตูแวดานียา กล่าว
รัฐต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น
นวลน้อย ธรรมเสถียร ตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตสารคดี FT Media กล่าวว่า “เมื่อพูดถึงความตายของอดีตจำเลยทั้ง 4 ราย เป็นการพูดถึงความตายของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีข้อเท็จจริง หรือข้อมูลของเหตุการณ์ ข่าวที่นำเสนอในเรื่องนี้อาจชี้นิ้วไปที่ขบวนการว่าเป็นคนลงมือเพื่อรักษาความลับของฝ่ายตน แต่คนในพื้นที่อีกจำนวนหนึ่งฟันธงไปในทางตรงกันข้าม
และเหมือนกับเหตุการณ์ในพื้นที่อีกหลายเหตุการณ์ที่แต่ละฝ่ายก็จะตีความตามประสบการณ์ของตัวเอง คนไทยส่วนใหญ่จะเชื่อในสิ่งที่เจ้าหน้าที่พูด ส่วนชาวมลายูมุสลิมจะมีบทสรุปอยู่ในใจแล้วอันเนื่องมาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา”
นวลน้อย ชี้ว่า “ผลของความเชื่อเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่ แต่มันได้กลายเป็นโจทก์ให้กับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว และการออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ทำแค่นั้นอาจจะไม่พอ ปัญหาก็คือ หากจะรอให้มีการคลี่คลายคดีอาจจะรอไม่ไหว เพราะผู้คนฟันธงไปแล้วในใจ
นวลน้อย ชี้ถึงผลเสียของการปล่อยให้ความเชื่อเช่นนั้นดำรงอยู่ว่า มันเป็นบ่อนทำลายอำนาจของรัฐเอง โดยชี้ว่า รัฐไม่สามารถดำรงอยู่ได้เพราะอำนาจหรือกฎหมายที่มีอยู่ในมือเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนเป็นฐานด้วย
การที่รัฐมีเครือข่ายการทำงานที่ใหญ่และมีคนทำงานมากทำให้ยากต่อการควบคุมคนให้ทำงานอย่างมืออาชีพได้ ความผิดพลาดจากคนทำงานย่อมเกิดได้เป็นเรื่องปกติ แต่หากเกิดซ้ำซากและในทิศทางเดียวกันเรื่อยๆจนมองเห็นและกลายเป็นข้อสรุปของคนในพื้นที่ที่เป็นประชากรมลายูมุสลิมได้ว่าพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติ
ซึ่งจะเป็นสิ่งที่บั่นทอนความเชื่อมั่น กลายเป็นข้อสรุปว่ามีความผิดพลาดในเชิงโครงสร้างและทำให้เห็นว่า ระบบไม่เป็นจริงสำหรับพวกเขา ทั้งจะกลายเป็นที่มาของการมีธงในใจ และเมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุในลักษณะคล้ายคลึงกัน
เช่นในกรณีของสมาชิกเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพที่ถูกลอบสังหารเสียชีวิตไปแล้ว 4 คนและบาดเจ็บสาหัสอีก 1 คน ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เชื่อว่ารัฐเป็นคนทำ แต่สำหรับชาวบ้านส่วนหนึ่งในพื้นที่ ประสบการณ์ในอดีตดังกล่าวทำให้เกิดข้อสงสัยเพราะมีเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อีกทั้งเป็นที่รับรู้กันว่า เจ้าหน้าที่หลายคนหงุดหงิดเมื่อศาลตัดสินว่าจำเลยบางคนไม่ผิด ประสบการณ์ของสังคมที่เคยรับรู้เรื่องความเป็นได้ของการทำวิสามัญฆาตกรรม ทำให้เห็นได้ไม่ยากว่าเหตุใดชาวบ้านจำนวนหนึ่งจึงมีข้อสรุปในใจไปแล้ว” นวลน้อย กล่าว
สร้างพื้นที่ปลอดภัยภายใต้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ
นวลน้อย กล่าวอีกว่า “เหตุการณ์เช่นนี้เกิดในเวลาที่กำลังมีความพยายามสร้างสันติภาพ นับเป็นจังหวะที่มีผลกระทบสูง ในเมื่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่คือการมองหาวิธีการแก้ปัญหาโดยสันติร่วมกัน และในเมื่อเกมส์ของวันนี้หลังจากมีกระบวนการพูดคุยอย่างเป็นทางการแล้ว คือการแย่งชิงให้ได้ใจประชาชน รัฐ และ BRN จะต้องเร่งสร้างศรัทธาเพื่อแย่งชิงมวลชน
ถ้าหากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถคลี่คลายข้อคลางแคลงใจต่อเจ้าหน้าที่ได้ ผลคือจะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานยากมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นเรื่องที่บั่นทอนศรัทธาความเชื่อมั่นในภาพรวม
นวลน้อย ย้ำว่า ยังมีเจ้าหน้าที่ที่ตั้งใจและมุ่งมั่นทำงาน แต่พวกเขาจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พร้อมทั้งเสนอว่าควรมีการเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชนโดยเครือข่ายต่างๆและจะต้องทำอย่างกว้างขวาง โดยวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะประเด็นสำคัญของพื้นที่ในวันนี้คือ เรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเป็นประเด็นของทุกฝ่าย แต่ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องกลุ่มที่เสี่ยงจะโดนทำร้ายด้วย” นวลน้อย กล่าว
ด้านทนายอาดิลัน ให้ความเห็นว่า “สำหรับกลุ่มคนที่มีความเสี่ยง ซึ่งหลายคนอาจจะรู้สึกว่าต้องการหาทางออกด้วยการหลบออกจากพื้นที่นั้น ตนกลับเห็นว่าพวกเขาไม่ควรถอย “คนที่ทำผิดซิที่จะต้องถอยออกไปจากบ้านเรา ที่นี่บ้านเกิดเรา ทำไมเราต้องออกไป”
เขาชี้ว่าแนวทางแก้ปัญหา คือต้องร่วมมือกันเป็นเครือข่ายเพื่อร่วมกันสู้ “วันนี้เราต้องมีเครือข่าย ต้องร่วมกันสู้ สู้อย่างถูกต้อง แต่อย่าสู้คนเดียว” ทนายอาดิลัน กล่าว
ส่วนด้านนายตูแวดานียา เสนอให้เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพและประชาชนในพื้นที่ช่วยกันทำหน้าที่เฝ้าระวังและสร้างเครือข่ายสันติภาพ (Peace Net) เพื่อแสวงหาหลักประกันความปลอดภัยของตัวเองโดยไม่ต้องหวังพึ่งพิงเจ้าหน้าที่รัฐ หรือ แม้แต่ฝ่าย BRN
ในช่วงท้ายของวงเสวนา ได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมการสนทนานำเสนอแนวทางหรือมาตรการในการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ข้อสรุปที่ได้ประการหนึ่งก็คือ จะมีการทำงานร่วมกันเพื่อแสวงหาแนวทางเพิ่มเติมในอนาคต แต่ที่สำคัญก็คือมีผู้เสนอให้เครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพยื่นข้อเสนอต่อมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยระหว่างไทยและ BRN ให้รับทราบถึงปัญหาเพื่อผลักดันให้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยของคนในพื้นที่
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมเสวนาบางรายชี้ว่า ถึงเวลาที่ต้องนำเสนอปัญหาดังกล่าวนี้เข้าสู่วงพูดคุยของสองฝ่าย ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะมีความเชื่อมโยงกับการเจรจา และเพราะว่าที่ผ่านมา การร้องเรียนของเครือข่ายผดุงธรรมเพื่อสันติภาพซึ่งเป็นเครือข่ายของอดีตจำเลยในคดีความมั่นคงที่เสนอปัญหาต่อหน่วยงานรัฐ นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังมีบางครั้งที่นำไปสู่การข่มขู่คุกคามผู้ที่ไปร้องเรียนอีกด้วย