ฟารีดา ปันจอร์
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในตอนใต้ของฟิลิปปินส์กับภาคใต้ของประเทศไทยมีความใกล้เคียงกันในหลายเรื่อง จนกระทั่งมีผู้นิยมศึกษาเปรียบเทียบทั้งสองกรณีนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะนอกจากลักษณะพื้นฐานของปัญหาแล้ว แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งผ่านกระบวนการสันติภาพก็มีความใกล้เคียง ประเด็นล่าสุดที่มีการหยิบยกเรื่อง “สิทธิความเป็นเจ้าของ” ขึ้นมาพูดถึงจากข้อเสนอของบีอาร์เอ็น ก็ยิ่งทำให้ภาพเปรียบเทียบกับกระบวนการสันติภาพที่ “บังซาโมโร” แจ่มชัดขึ้น
ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในมินดาเนา ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ที่ดำเนินมากว่า 4 ทศวรรษระหว่างกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front- MNLF) แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro Islamic Liberation Front- MILF ) และรัฐบาลฟิลิปปินส์นั้นมีประเด็นสำคัญที่เป็นข้อขัดแย้งอยู่ที่การที่ชาวมุสลิมทางตอนใต้ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มใหญ่ที่สุดต้องการอำนาจในการปกครองตนเอง (Political autonomy) แม้รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยอมรับให้มินดาเนามีฐานะเป็นเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (Autonomous Region in Muslim Mindanao-ARMM)ในช่วงทศวรรษที่ 1990 แต่สถานะการยอมรับในเชิงโครงสร้างของเขตปกครองตนเองดังกล่าวยังไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐบาลเข้าใจและเข้าถึงความหมายของการปกครองตนเองอย่างแท้จริง
ในขณะที่ความหมายของคำว่า Self – determination (การกำหนดชะตากรรมตนเอง) ยังมีช่องว่างต่อการให้ความหมายและนัยยะสำคัญทางการเมืองท่ามกลาง กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ทั้งในชาวมุสลิมโมโร ชนกลุ่มน้อยต่างๆ และรัฐบาลฟิลิปปินส์ ดังนั้นการทำความเข้าใจต่อที่มาที่ไปและสาระสำคัญในประเด็นของ Self- determination จึงมีความหมายต่อการทำความเข้าใจอนาคตของบังซาโมโร (Bangsamoro) ในฐานะที่เป็นหน่วยทางการปกครองทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ รัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF มีการเซ็นสัญญาข้อตกลงสันติภาพ (Framework Agreement on the Bangsamoro : FAB) ในช่วงตุลาคม เมื่อปี 2012 ที่ผ่านมา (ดูคำแปลของเอกสารดังกล่าว เปิดข้อตกลง ‘บังซาโมโร’ ฉบับแปลไทย)
การต่อสู้ของชาวโมโร
เมื่อกล่าวถึงการต่อสู้ของชาวโมโรซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่เมื่อห้าร้อยปีก่อนเพื่อต่อต้านอาณานิคมสเปนที่กำลังเข้าครอบครองดินแดนมินดาเนา ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แม้สเปนจะสามารถควบคุมดินแดนหลักของมินดาเนาได้ แต่ยังไม่สามารถเข้าครอบครองดินแดนหลักที่มีสุลต่านปกครอง เพราะมีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการต่อต้านการครอบงำของเจ้าอาณานิคม ในการดึงเอาชาวโมโรและชาวพื้นเมืองอื่นๆ เข้ามาร่วมมากขึ้น การต่อสู้ดังกล่าวก่อให้เกิดชนชั้นในโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากสเปน โดยลูกหลานของชาวฟิลิปปินส์ที่ถูกส่งให้ไปเล่าเรียนในต่างประเทศ ได้รับเอาแนวความคิดได้ความคิดแบบตะวันตกเข้ามาต่อสู้เข้าอาณานิคม ในเวลาเดียวกันก็เกิดนักต่อสู้ชาวโมโรทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์
ในปี 1898 ผลของสนธิสัญญาปารีส ทำให้สเปนขายดินแดนอเมริกาและรับช่วงต่อในการครอบครองฟิลิปปินส์ การต่อสู้ของชาวโมโรยังดำเนินต่อไปเคียงข้างกับฝ่ายที่ต่อต้านสหรัฐอเมริกา กล่าวคือสุลต่านของดินแดนมากินดาเนาและซูลู สนับสนุนพวก Katipunan ฝ่ายคอมมิวนิสต์และพรรคสังคมนิยมในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม พลวัตทางการเมืองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างอำนาจของสหรัฐอเมริกา เมื่อฟิลิปปินส์มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 1935 ตัวแทนของมินดาเนา และซูลู ก็เข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างอำนาจใหม่ของรัฐบาล
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ก็กำเนิดขึ้น สิ่งที่สหรัฐอเมริกาวางรากฐานไว้ก็เกิดผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ ในทางกลับกันสหรัฐอเมริกาก็ได้รับประโยชน์ในเรื่องของสินค้าส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการโยกย้ายประชากรทางตอนเหนือตอนกลาง ให้อพยพลงมาทางตอนใต้ของประเทศเพื่อที่จะจัดสรรที่ดินให้ นอกจากนี้การจัดการศึกษาและศาสนายิ่งทำให้ชาวโมโรและชาวพื้นเมืองอื่นๆ ถูกจำกัดอำนาจลงไปด้วย
ในปี 1968 เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน หรือ MIM (Mindanao Independence Movement) นำโดย Nur Misuari ซึ่งเป็นแกนนำรุ่นหนุ่มสาวในเวลานั้น และการลุกฮือของผู้นำทางการเมืองท้องถิ่น อย่าง Jose Maria แกนนำของพรรคคอมมิวนิสต์ เมื่อกล่าวถึงขบวนการของ Nur Misuari ในเบื้องต้นนั้น พวกเขามีสายสัมพันธ์และได้รับการสนับสนุนจากประเทศมุสลิม เช่น ลิเบีย หรือ ซาอุดิอาระเบีย แต่พอมาช่วงหลัง การสนับสนุนจากต่างประเทศน้อยลง การเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกชักนำโดยการเมืองกระแสหลักของรัฐบาลมากขึ้น เป็นผลให้ในเวลาต่อมาอำนาจของสุลต่านมากินดาเนาและซูลูก็อ่อนแอลง
เมื่อ ปี 1969 Nur Misuari ก่อตั้งขบวนการ MNLF ซึ่งเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่โดดเด่นขึ้นมา MNLF มีส่วนอย่างมากในการเคลื่อนไหวของชาวโมโร ในการต่อสู้กำหนดชะตากรรมของตัวเองต่อไป ซึ่งอยู่ภายนอกโครงสร้างของการเมืองแบบปกติ
ความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นในกลุ่ม MNLF ทำให้ MILF แยกตัวออกมา แต่เป้าหมายของ MILF ในช่วงนั้น คือ ยังคงต้องเป็นเอกราชจากฟิลิปปินส์ (political secession) ด้วยเหตุผลที่ว่าถูกยึดครอบโดยเจ้าอาณานิคมมะนิลา (manila colonialism) ในช่วงเวลานั้น MILF ได้รับการสนับสนุนจากชาติที่เป็นสมาชิกองค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of the Islamic Conference- OIC) ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนอาวุธ และการช่วยเหลือในรูปแบบที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1972 เมื่อประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มากอส ประกาศกฎอัยการศึกเพื่อที่จะกดดันกลุ่ม MILF และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฟิลิปปินส์ (The Communist Party of the Philippines - CPP) เพื่อที่จะต่อสู้กับรัฐบาลลางเหมือนกัน และแม้ในช่วงทศวรรษนี้จะมีการเจรจากันระหว่างรัฐบาลและ MNLF แต่มักจะประสบความล้มเหลว
MILF และชนพื้นเมืองในการต่อสู้เพื่อการกำหนดชะตากรรมตนเอง
ในแง่ของการให้ความหมายของการต้อสู้ในเชิงอุดมการณ์ของกลุ่ม MNLF พวกเขาเน้นในแง่ของแนวคิดอุดมการณ์อิสลาม ผสมแนวคิดแบบชาตินิยม และแนวคิดโลกย์วิสัย (Secularism) ซึ่งคล้ายแนวความคิดของเหล่าชาติมุสลิมที่เป็นสมาชิกขององค์กร OIC ส่วนในแวดวงของกลุ่ม MILF ได้เข้าเป็นสมาชิกและรับเอาแนวความคิดของกลุ่มภารดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ที่มีต้นกำเนิดในอียิปต์ ที่พวกเขามีความเชื่อมั่นอยู่ โดยเริ่มจากการที่พวกเขารวบรวมกลุ่มโมโรทั้ง 13 กลุ่มชาติพันธุ์
MILF นิยามถึงบังซาโมโรว่าเป็นการรวมเอากลุ่มผู้อาศัยดั้งเดิมตั้งแต่ช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมที่อาศัยอยู่ในดินแดนมินดาเนา รวมทั้งกลุ่มชนของหมู่เกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Palawan และ Sulu อีกทั้งลูกหลานของพวกเขาทั้งเลือดผสมและเชื้อสายแท้ แต่เป็นที่น่ากังวลว่าการรวมเอาความเป็นบังซาโมโรอย่างผิวเผินแสดงให้เห็นถึงแง่มุมในเชิงของกลไก มากกว่าการเผยให้เห็นถึงประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่อิงอยู่กับการบรรลุผลด้วยกระบวนการทางการเมือง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง MILF ยังไม่ได้พิจารณาจะรับกลุ่มหรือปัจเจกชนอื่นๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชาติหรือที่ร่วมต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยบังซาโมโร การอธิบายที่ดูผิวเผินดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า MILF ยังไม่ได้มีการยอมรับสิทธิของชนพื้นเมืองอื่นๆ ว่ามีอัตลักษณ์เฉพาะมีประวัติศาสตร์และมีบรรพบุรุษที่เป็นของตนเอง แต่ในมุมมองของ MILF ชนพื้นเมืองดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบังซาโมโรทั้งหมด
แต่หากพิจารณาตามบริบทของการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ กลุ่มชนส่วนใหญ่ของมินดาเนาประกอบไปด้วยชาวโมโร ชนกลุ่มน้อยหรือ Lumads ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวคริสต์ รวมทั้งกลุ่มชนที่อยู่บนหมู่เกาะใกล้เคียง ซึ่งต่างต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการปลดปล่อยตนเองทั้งจากความโลภของทุนนิยมโลกและคนในท้องถิ่นเพราะพวกเขาต่างทนทุกข์ต่อปัญหาเดียวกัน กระนั้น พวกเขาก็ไม่เคยเข้าถึงความเป็นเอกภาพหรือเป็นหนึ่งเดียวกันเลย ในความเป็นจริงแล้ว ความแตกต่างของพวกเขาถูกแบ่งแยกโดยตลาดทุนของโลกและหุ้นส่วนในระดับท้องถิ่น เสมือนว่าพวกเขาเป็นแรงขับสำคัญในตลาด ดังนั้นการต่อสู้ของกลุ่มชนเหล่านี้เอง ควรที่จะทำความเข้าใจในบริบทของประวัติศาสตร์ และบริบทที่เน้นถึงความเป็นจริง
แม้การที่รัฐบาลให้มินดาเนามีฐานะเป็นเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (ARMM) แต่การแก้ไขปัญหาจากกรอบของรัฐชาติดังกล่าว ยังนำมาสู่ความขัดแย้งแตกแยกมาเป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ด้วยแนวทางแบบประชาธิปไตยในการกำหนดชะตากรรมของตนเองหรือ Self determination ในรูปแบบที่เหมาะสม ยังคงจะต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป ทั้งจากฝ่าย MILF และชนพื้นเมือง
จาก ARMM สู่กรอบข้อตกลงบังซาโมโร
การก่อตั้ง ARMM ที่เป็นผลจากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MNLF สมัยรัฐบาลต่างๆ ในปี 1976 1989 และ1996 ยังมีความล้มเหลวในการนำเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา หรือ ARMM มาประยุกต์ใช้ ต่อมาเมื่อ MILF ร่วมกับ OIC เพื่อสานต่อในเรื่องของการแก้ไขโดยมีมาเลเซียเป็นตัวกลาง แต่ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในเชิงของรูปแบบ ยังไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงเนื้อหาและจุดยืนที่อิงอยู่กับฝ่ายรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเนื้อหาหมายความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ออกนอกกรอบซึ่งกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะส่งผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงกรอบข้อตกลงบังซาโมโร
ARMM ไม่ได้เกิดขึ้นมากจากการเจรจาสันติภาพ (peace negotiation) และยังถูกคว่ำบาตรจากกลุ่ม MILF มาโดยตลอด ซึ่งต่างจากกรอบข้อตกลงบังซาโมโรใหม่ที่ตั้งอยู่บนหลักการของการตัดสินใจ 24 ข้อ ที่เป็นรูปแบบของการปกครองในแบบของทบวง (ministerial form of government) ต่อมาในเดือนธันวาคม ปี 2006 ในสมัยประธานาธิบดี เบนนิกโน อากีโนที่สาม เมื่อรัฐบาลฟิลิปปินส์มีข้อเสนอให้กับ MILF เกี่ยวกับเรื่องของการกำหนดชะตากรรมตนเอง เพราะในอดีตรัฐบาลมักปฏิเสธการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวโมโรเพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนที่เป็นของบรรพบุรุษ กรอบข้อตกลงใหม่นี้เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและ MILF แม้ในรายละเอียดการกำหนดชะตะกรรมตนเอง ยังไม่ได้มีการแจกแจงรายละเอียด แต่ในโครงฉบับร่างมีการกำหนดตัวแบบแล้วเรียบร้อย เช่น ขยายดินแดน การปกครองตัวเอง การมีกฎบัตรของชาวโมโรและการสร้างพลังจากรายได้ทางภาษีให้มากยิ่งขึ้น
ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่บังซาโมโรนี้ ดินแดนบังซาโมโรขยาย จาก ARMM ซึ่งมีชาวโมโรเป็นคนส่วนใหญ่ได้แก่ จังหวัดของ ARMM เดิม คือ Basilan, Sulu, Tawi-tawi, Maguindanao, Lanao del Sur และเมืองหลวงของ Marawi กับ Lamitan; หกเมืองของจังหวัด Lanao del Norte ที่ได้รับการลงประชามติให้รวมอยู่ใน ARMM เมื่อปี 2001 คือ Baloi, Munai, Nunungan, Pantar, Tagoloan และTangkal;หมู่บ้านเขตปกครองท้องถิ่น Aleosan, Carmen, Kabacan, Midsayap, Pigcawayan and Pikit ใน North Cotabato ได้รับการลงประชามติให้รวมอยู่ใน ARMM เมื่อปี 2001; เมืองหลวงของ Cotabato and Isabelai ใน Basilan; และดินแดนใกล้เคียงต่างๆ ที่สามารถมีผู้เลือกตั้งได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ จะมีการรวมเข้ามาก่อนที่จะมีการให้สัตยาบันต่อกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ในการนี้ภาคีทั้งสองจะทำงานร่วมกันการสร้างความยอมรับของกฎหมายบังซาโมโรอย่างเป็นทางการที่ทำงานโดยคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน
ส่วนชนพื้นเมืองก็เข้ามามีส่วนร่วมทั้งกับรัฐบาลและ MILF ในกรอบข้อตกลงนี้ ซึ่งมีการระบุถึงสิทธิของชนพื้นเมืองไว้ในมาตราที่ 1 (5) มาตราที่ 3 (6) มาตราที่ 6 (3) ว่าพวกเขาจะมีอัตลักษณ์ร่วมในการเป็นคนบังซาโมโร ในฐานะที่เป็นชนพื้นเมืองหรือผู้พำนักอาศัยดั้งเดิมของมินดาเนาและหมู่เกาะซูลู รวมทั้งหมู่เกาะที่อยู่ใกล้เคียงกัน ทั้งลูกผสมหรือสายเลือด อีกทั้งเสรีภาพในการเลือกของชนพื้นเมืองอื่นๆ จะได้รับการเคารพ และจะถูกนำขึ้นมาในระบบยุติธรรมของบังซาโมโร ซึ่งเป็นการยอมรับในกระบวนการแบบชนพื้นเมือง เพื่อเป็นทางเลือกในการยุติข้อพิพาท
นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่จาก ARMM มาสู่บังซาโมโร ได้มีการเปลี่ยนแปลงในกลไกและโครงสร้างทางการเมืองใหม่ในมุมมองที่กว้างขึ้นในพื้นที่ที่ค่อนข้างมีความจำเพาะเจาะจง และเน้นไปที่ความสำคัญของเป็นพหุนิยม ชีวิตและอนาคตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่มุ่งแต่การรักษาสถานภาพทางการเมืองของกลุ่ม MILF ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเหมือนตอนที่ MNLF เซ็นสัญญาสันติภาพและมีการก่อตั้ง ARMM ผลที่เกิดขึ้นคือ MNLF มีความต้องการรักษาสถานะทางการเมืองของตนเองเอาไว้
ประเด็นหลักในการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและเนื้อหาจาก ARMM สู่บังซาโมโร เนื่องจากว่าเดิมพื้นที่แห่งนี้ไม่มีความเป็นอิสระทางด้านเศรษฐกิจ ดังนั้นเพื่อที่จะมีวาระทางเศรษฐกิจที่เป็นของตนเองและปลดปล่อยตัวเองจากเศรษฐกิจที่ยึดแต่เศรษฐกิจส่วนกลางของประเทศ กรอบทางด้านการจัดการทางเศรษฐกิจนี้เป็นตัวสำคัญในการกำหนดการกำหนดชะตากรรมตนเอง ซึ่งไม่ได้มีแง่มุมทางการเมืองอย่างเดียวแต่เป็นเรื่องของกระบวนการทางประชาธิปไตยด้วย
ประธานาธิบดีอากีโน เน้นย้ำว่าการที่จะสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในมินดาเนา จะนำมาเปลี่ยนแปลงความคิดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ รวมทั้ง MILF ไม่ต้องการที่จะทำการแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป จากที่มุ่งแต่จับปืนขึ้นต่อสู้มาสู่การที่พวกเขาใช้ได้ประโยชน์จากที่ดิน ค้าขายสินค้า และเปิดโอกาสต่างๆ ให้กับผู้คน อย่างไร อำนาจในการป้องกันประเทศและความมั่นคง การต่างประเทศ นโยบายทางการเงินและเงินตรา ความเป็นพลเมืองและการกลับคืนสู่ภาวะที่เป็นปกติยังคงอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลกลาง ส่วนกระบวนการทางรัฐธรรมนูญและทางกฎหมายจะต้องมีการดำเนินต่อไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่บังซาโมโร ข้อตกลงดังกล่าวนี้จะสร้างความมั่นใจให้กับชาวฟิลิปปินส์ได้ว่าท่ามกลางการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย ประเทศยังคงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชาวฟิลิปปินส์แห่งบังซาโมโรดังจะได้รับการรับประกันในเรื่องของความยุติธรรมและความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บภาษี รายได้ และดอกผลต่างๆ ที่มาจากดินแดนแห่งนี้
โดยสรุปแล้ว การสร้างและกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนกลุ่มชาวโมโร และ MILF เป็นพื้นฐานในเรื่องของการบรรลุถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองในการเคารพประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์ที่ถูกกดขี่อย่างเช่นชนกลุ่มน้อยต่างๆ การกำหนดชะตะกรรมของดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชาวโมโรจะต้องนำไปใช้โดยปราศจากการฆ่า การต่อสู้ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะในดินแดนแห่งนี้ มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา ส่วนในกระบวนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลและ MILF ก็จำเป็นต้องสนับสนุนเหล่าชนพื้นเมืองในการต่อสู้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงยุติความรุนแรงที่กระทำต่อกันเท่านั้น สันติภาพที่แท้ไม่อาจจะบรรลุถึงความสำเร็จ หากสิทธิทางการเมืองไม่ได้รับการเคารพและความไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่ในทางสังคม สิ่งเหล่านี้อาจเป็นบทเรียนให้กับเราในกรณีชายแดนใต้ก็เป็นได้
color:#222222">เอกสารอ้างอิง
Rizal G. Buendia, “Looking into the Future of Moro Self-Determination in the Philippines” in Philippine Political Science Journal, 29, (52), 2008.
Chandra Muzaffar, STRUGGLES FOR SELF DETERMINATION IN THE PHILIPPINES, http://www.just-international.org/index.php?option=com_content&view=article&id=585:struggles-for-self-determination-in-the-philippines&catid=145:nov&Itemid=60