ปรับกระบวนการจัดการคดีความมั่นคงทั้งยวง เพิ่มจำนวนผู้พิพากษาอาวุโส ตั้งสำนักงานอัยการรับมือคดีความมั่นคง ให้อัยการทำงานกับตร.แต่ต้นมือเพื่อเตรียมและกรองสำนวนก่อนสั่งฟ้อง เดินหน้ายกเลิกหมายจับดึกดำบรรพ์ ด้านจนท.ทหารแถลงปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 รายที่สาม เผยเรียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่ไม่ให้ร้ายรัฐ
นายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือศอ.บต.กล่าวในการไปร่วมงานเสวนาพร้อมชมสารคดีของเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2556 ที่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานีว่า ขณะนี้ทางการกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาหลายอย่างในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งแก้ไขในเรื่องของความล่าช้าและการดำเนินการกลั่นกรองเฉพาะคดีที่มีพยานหลักฐานมากพอก่อนดำเนินการฟ้องร้องทั้งนี้เพื่อลดภาระของผู้ที่จะต้องเข้าไปถูกดำเนินการในกระบวนการคดีโดยไม่จำเป็น
นายกิตติระบุว่าในด้านของการพิจารณาคดีความมั่นคงนั้น ขณะนี้ศาลชั้นต้นได้พิจารณาตัดสินคดีต่างๆที่เป็นคดีที่ฟ้องภายในปี 2555 รวม 61 คดีเสร็จแล้ว เชื่อว่าขั้นตอนของการดำเนินคดีความมั่นคงโดยภาพรวมในระยะต่อไปจะรวดเร็วขึ้นตามลำดับ
ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ก็พยายามจะปรับทิศทางการทำงานให้รัดกุมมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าคดีที่สั่งฟ้องนั้นเป็นกรณีที่มีพยานหลักฐานแน่นหนามีโอกาสที่จะลงโทษได้ กระบวนการกลั่นกรองจะทำในหลายระดับ ในแง่ของกระบวนการพิจารณาคดีมีการดึงเอาผู้พิพากษาระดับอาวุโสเข้ามาร่วมในองคาพยพมากขึ้นถึงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษา นอกจากนั้นในส่วนของพนักงานอัยการจะมีการตั้งแผนกคดีความมั่นคงโดยมีทีมงานเฉพาะที่จะรับมือกับคดีความมั่นคงโดยตรง ทั้งจะให้พนักงานอัยการเข้าไปมีส่วนร่วมในกับกระบวนการการสอบสวนและเตรียมสำนวนคดีตั้งแต่ต้นมือเพื่อให้รอบด้านมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพและลดโอกาสในอันที่จะสร้างผลกระทบให้น้อยลง
“สมัยหนึ่งเราเคยจับร้อย ฟ้องยี่สิบ ตอนนี้เราจะต้องปรับใหม่ จับยี่สิบฟ้องยี่สิบ คือไม่เหวี่ยงวงกว้างมากเหมือนเดิม แต่ต้องมั่นใจว่าในยี่สิบนั้นหลักฐานชัดเจนแน่นอนเอาผิดได้ นี่คือกระบวนการยุติธรรมที่เปลี่ยนไป” นายกิตติกล่าว
ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต.ระบุว่า สิ่งที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการในเวลานี้อีกด้าน คือพยายามปลดหรือยกเลิกหมายจับให้กับบุคคลที่มีหมายจับติดตัวและกำลังหลบหนีหากทำได้ รวมทั้งกลุ่มที่เชื่อว่าตนเองติดบัญชีดำและไม่กล้าอยู่บ้าน ในกลุ่มนี้เจ้าหน้าที่พร้อมที่จะพูดคุยและหาทางช่วยเหลือเพื่อสร้างความมั่นใจให้ได้กลับบ้าน “คำว่าแบลคลิสต์ก็ไม่รู้ว่าใครขึ้นเอาไว้ มันไม่มี แต่ก็คือไม่สบายใจ เราพร้อมที่จะหาทางช่วยเหลือ” ส่วนกลุ่มที่มีหมายจับพรก.หรือหมายจับที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมีประมาณกว่า 900 ราย บวกหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือที่เรียกกันสั้นๆว่าป.วิอาญาอีกกว่า 1,400 ราย ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการหลบหนีนั้น เจ้าหน้าที่ได้แยกแยะกลุ่มคนที่มีหมายจับติดตัวทั้งหมดนี้ออกเป็นกลุ่มๆ หนึ่งในนั้นเป็นกลุ่มที่มีหมายจับที่ออกมานานมากแล้วจนแทบไม่มีความหมาย กลุ่มนี้จะมีการยกเลิกหมายจับ สำหรับคนที่ติดหมายจับในส่วนที่เหลือก็จะเปิดโอกาสให้สามารถเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการช่วยเหลือปลดหมายให้ได้มากที่สุด และนายกิตติชี้ว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ หมายจับที่ออกตามพรก.ฉุกเฉินฯนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีการยกเลิกการใช้พรก.ฉุกเฉินฯ หมายจับเหล่านั้นก็จะหมดอายุตามไปด้วย
ส่วนผู้ที่ติดหมายจับตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือป.วิอาญาซึ่งมีอยู่กว่า 1,400 รายนั้น นายกิตติกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้แบ่งกลุ่มเช่นกัน สิ่งที่จนท.ในกระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินการในเวลานี้คือในกลุ่ม 1 ที่มีการยกฟ้องหรือพนักงานสั่งไม่ฟ้องไปแล้วแต่หมายยังอยู่ ก็จะยกเลิกหมายจับ
ส่วนคนในกลุ่มที่ถูกจับแล้วนั้น กลุ่มนี้ทางการจะพยายามดูแลให้ครบถ้วนไม่ว่าผู้ที่ถูกจับเองหรือครอบครัว รวมทั้งผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวแล้วจนท.ก็จะช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
อีกด้านหนึ่งในวันนี้ ที่ศาลนาทวี สงขลา ได้มีการสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง นายสุรียา หมะนุ๊ อันเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เลือกเข้ารับการอบรมแทนถูกฟ้อง โดยการเข้ารับการอบรมจากเจ้าหน้าที่นั้นกินเวลาสี่เดือนคือตั้งแต่ 8 พค.จนถึง 4 กย.ที่ผ่านมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ศาลนาทวีได้อ่านคำสั่งปล่อยตัว และได้ให้นายสุรียายืนยันว่าเมื่อผ่านการฝึกอบรมมาแล้วจะไม่กลับไปประพฤติผิดอีก โดยในระหว่างนั้นศาลได้ถามนายสุรียาถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมในโครงการอบรม ซึ่งนายสุรียาตอบว่าได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่แตกต่างไปจากที่เคยได้รับการบอกเล่ามาซึ่งเป็นการบิดเบือน นอกจากนั้นยังได้ไปดะวะห์ รวมทั้งเข้ารับการอบรมเรื่องการฝึกอาชีพ หลังจากนี้ตนจะตั้งใจทำงานและไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของการก่อความไม่สงบอีก นอกจากนั้นศาลระบุในคำสั่งว่า หลังจากได้รับการปล่อยตัวแล้ว บรรดาความผิดต่างๆที่เป็นฐานที่ทำให้นายสุรียาเข้าสู่กระบวนการของการใช้มาตรา 21 นั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิที่จะไปฟ้องร้องนายสุรียาอีก
สำหรับข้อหาที่นายสุรียาถูกกล่าวหา เป็นข้อหาร่วมกันพยายามวางเพลิงเผาโรงเรียนและที่อยู่อาศัย เมื่อ 24 ตค. 2550 และเมื่อ 18 สค.2550 เป็นความพยายามวางเพลิงที่พักของปลัดอำเภอระโนดสงขลา สำหรับกระบวนการในออกคำสั่งปล่อยตัวในชั้นศาลใช้เวลาไม่ถึงยี่สิบนาที
หลังจากที่ศาลอ่านคำสั่งปล่อยตัวแล้ว พ.อ.ชัชพล สว่างโชติ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมกอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้าได้นำทีมเจ้าหน้าที่ นายสุรียาพร้อมญาติพี่น้องและครอบครัวเกือบสิบคนแถลงต่อผู้สื่อข่าว โดยพ.อ.ชัชพลเปิดเผยว่าการเข้ารับการอบรมดังกล่าวนั้นนายสุรียาสมัครใจเข้าร่วมเอง การอบรมกินเวลาสี่เดือนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 มีอบรมวิชาต่างๆห้าวิชาประกอบไปด้วยวิชาศาสนา วิชาสังคม วิชาการเมืองการปกครอง วิชาทัศนคติและสุขภาพ พ.อ.ชัชพลหรือ “ผู้พันแพะ”ชี้ว่านายสุรียาประสงค์จะเข้ารับการฝึกอาชีพเป็นช่างประกอบโครงอลูมิเนียม พอ.ชัชพลแสดงความชื่นชมว่าในการอบรมนายสุรียาผ่านการทดสอบหลังการอบรมด้วยลำดับคะแนนที่สูงถึง 91.5 % หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้มอบอุปกรณ์ในการเชื่อมต่ออลูมิเนียมให้นายสุรียา
หลังจากนั้นจนท.อีกรายคือพล.ต.กิตติ อินทสร รองผอ.กอ.รมน.ภาคสี่ส่วนหน้ากล่าวแสดงความยินดีว่านายสุรียาได้ชีวิตใหม่ ได้กลับสู่สังคมและครอบครัว พร้อมกับเชิญชวนให้ผู้ที่ติดหมายจับรายอื่นๆเข้าร่วมโครงการรับการอบรมเพื่อกลับบ้าน เพื่อที่จะได้กลับไปใช้ชีวิต ตามปกติสุข พร้อมทั้งยืนยันว่า โครงการนำคนกลับบ้านนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยใช้สันติวิธี
ด้านนายสุรียากล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องราวด้านประวัติศาสตร์ที่เคยรับรู้มานั้นขณะนี้ยอมรับว่าเป็นการรับรู้เพียงด้านเดียว คือด้านเสีย มีความพยายามที่จะบอกกับผู้คนตลอดมาว่ารัฐทำร้ายประชาชน แต่ในการอบรมที่ได้ผ่านมาพบว่าเรื่องราวต่างๆมีทั้งสองด้านและไม่มีอะไรถูกทั้งหมด ทั้งการก่อเหตุก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา เพราะตามหลักศาสนาไม่อนุญาตให้มีการทำร้ายคน นอกจากนั้นยังเล่าด้วยว่าที่ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ก็เพราะว่า หลังจากที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบตั้งแต่ปี 2550 แล้วได้ถูกออกหมายจับทำให้ต้องหลบหนี มีชีวิตอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆและอย่างลำบากเป็นเวลาร่วมห้าปี หลังจากนั้นตนได้คิดเรื่องนี้หลายปีและได้ปรึกษากับพ่อแม่และภรรยาจนคิดว่าจะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ซึ่งเชื่อว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ชีวิตดีขึ้น