Skip to main content

บทนำ วรรณกรรมต่อต้านของชาวปาเสลไตน์

โดย ฆอสสาน  กานาฟานี

(คัดลอกจากบทนำหนังสือ “เลือดไม่ใช่น้ำตา ลำนำจากปาเลสไตน์” แปลและรวบรวมโดย กิติมา อมรทัต จัดพิมพ์โดย สนพ.อัล-อีหม่าน)

การที่ปาเลสไตน์ตกไปอยู่ในกำมือของพวกไซออนิสต์ตั้งแต่ปี 1948 ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางร้ายต่อจำนวนและโครงสร้างทางสังคมของประชาการชาวอาหรับในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง เกือบสามในสี่ของชาวอาหรับจำนวนสองแสนคนผู้ซึ่งยังอยู่ในแผ่นดินบ้านเกิดของพวกเขาต่อไปนั้นเป็น ชาวไร่ชาวนา ส่วนในเมืองนั้นส่วนใหญ่ชาวเมืองได้ทิ้งเมืองไปในระหว่างสงคราม หรือหลังจากนั้นในไม่ช้าจึงนำไปสู่สภาพที่ทรุดโทรมอย่างน่าตกใจในสภาพของสังคมชาวอาหรับ เนื่องจากว่าในเมืองได้กลายเป็นศูนย์กาลางของการจลาจลทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรม

ในขณะที่พวกไซออนิสต์ผู้ยึดครองกระชับวงล้อมทางทหารเข้ามานั้น พวกเขาก็ได้เริ่มใช้มาตรการกดขี่ชาวปาเลสไตน์ บรรยากาศก็ช่วงสะดวกต่อพวกเขา ความมุ่งหมายสำคัญของพวกไซออนิสต์ก็คือลบล้างร่องรอยแห่งบุคลิกภาพทุกอย่างของชาวอาหรับออกเสียให้หมดและจะได้เพาะเมล็ดแห่งแนวโน้มอย่างใหม่ลงไปซึ่งจะได้งอกงามเจริญเติบโตและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชีวิตด้านการเมืองและวัฒนธรรมของพวกไซออนิสต์นั่นเอง

วรรณกรรมของปาเลสไตน์ก่อนหน้าที่จะถึงความตกต่ำที่น่าเศร้านี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระแสสำคัญแห่งขบวนการทางอักษรศาสตร์ของอาหรับมาอย่างเจริญเฟื่องฟูในระหว่างครึ่งแรกของศตวรรษที่แล้วมันมีแหล่งกำเนิดมาจากนครไคโรและได้รับอิทธิพลมาจากนักเขียนชาวอียิปต์ ซีเรียและเลบานอนซึ่งตอนนั้นเป็นผู้นำของขบวนการอักษรศาสตร์ แม้แต่นักเขียนปาเลสไตน์ที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ก็ยังเป็นหนี้ชื่อเสียงแก่เมืองใหญ่ของอาหรับ ซึ่งมักจะรับงานของพวกเขาไว้พิมพ์ อันที่จริงนั้นมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คุณค่าของวรรณกรรมปาเลสไตน์ลดลงไปในขณะที่ปาเลสไตน์กำลังมีสถานภาพเด่นอยู่ในเวทีการเมืองและในการต่อสู้เพื่อลัทธิชาตินิยมของอาหรับ

หลังปี 1948 วรรณกรรมปาเลสไตน์ได้รับความสำเร็จในการวางรากฐานของขบวนการอักษรศาสตร์ใหม่ ซึ่งน่าจะเรียกว่าวรรณกรรมของคนผลัดถิ่นมากกว่าที่จะเรียกว่าวรรณกรรมของชาวปาเลสไตน์หรือวรรณกรรมของผู้ลี้ภัย บทกวีอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของขบวนการนี้สามารถจะมีความก้าวหน้าไปได้อย่างน่าสังเกตทั้งในด้านคุณภาพและเทคนิคในระยะสั้นๆ แห่งความเงียบหลังสงครามปี 1948 กลับติดตามมาด้วยการตื่นขึ้นอย่างใหญ่หลวง แล้วบทกวีเกี่ยวกับชาติก็ไหลหลั่งออกมาสะท้อนถึงความรู้สึกของชาติ โดยมีปฏิสัมพันธ์กับแนวโน้มทางวรรณกรรมของอาหรับและต่างชาติ แล้วก็ค่อยๆ แหวกกฎเกณฑ์ของเทคนิคแบบเก่าๆ ปฏิเสธการโวยวายแบบมีอารมณ์ กลายเป็นมีความรู้สึกเศร้าอย่างลึกซึ้งซึ่งเข้ากับความเป็นจริงของสถานการณ์

อีกด้านหนึ่ง วรรณกรรมต่อต้านภายในเขตยึดครองก็ต้องเผชิญหน้ากับหลักการที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง กระดูกสันหลังของวรรณกรรมอาหรับในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองได้หายไปพร้อมกับการอพยพทิ้งถิ่นไปของนักเขียนและนักวัฒนธรรมทั้งรุ่น ผู้ที่มิได้อพยพไปกลายเป็นสังคมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทซึ่งตกอยู่ภายใต้การประหัตประหารทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรม ซึ่ไม่มีที่ไหนในโลกเทียบได้

ข้อความต่อไปนี้อาจทำให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงของชาวอาหรับภายในประเทศปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองได้บ้าง

1. เนื่องจากสภาพทางสังคมของพวกเขา ชาวปาเลสไตน์ที่ยังอยู่ที่นั่นส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐานทางวัฒนธรรมสูงจนจะทำให้เกิดนักเขียนและศิลปินรุ่นใหม่ขึ้นมาได้

2. เมืองต่างๆ ของอาหรับซึ่งเคยต้อนรับและสนับสนุนคนหนุ่มๆ ผู้มีความสามารถซึ่งมาจากถิ่นชนบทก็ได้กลายสภาพเป็นเมืองที่ถูกห้ามของศัตรูไปแล้ว

3. พลเมืองชาวอาหรับในปาเลสไตน์ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวจริงๆ ไม่ได้ติดต่อกับประเทศอาหรับอื่นๆ เลย 

4. กฎข้อบังคับทางทหารของพวกไซออนิสต์ได้ยัดเยียดข้อบังคับแบบเผด็จการรวมทั้งการเซ็นเซอร์งานทางวรรณกรรมด้วยแก่ราษฎรชาวอาหรับ 

5. การจัดพิมพ์และการจำหน่ายจ่ายแจกถูกจำกัดลง หรือมิฉะนั้นก็อยู่ภายใต้ข้อบังคับอย่างเข้มงวด 

6. ไม่มีโอกาสที่ชาวอาหรับในปาเลสไตน์จะได้เรียนภาษาต่างประเทศเอาเสียเลย มีน้อยคนเหลือเกินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าโรงเรียนมัธยมชั้นสูง ส่วนมหาวิทยาลัยนั้นแทบจะไม่มีใครได้เข้าเรียนเลย

ผู้อ่านควรจะจำไว้ในใจว่าในการที่จะผนึกกำลังกันได้หรือมีชีวิตอยู่หรือแสดงความรู้สึกของตนออกมานั้น ชาวอาหรับต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักหนาสาหัสอยู่ในค่ำคืนอันมืดสลัวที่เต็มไปด้วยการประหัตประหารและความทรมาน แต่ในที่สุดก็ยังประสบความสำเร็จในการได้แสดงความรู้สึกของพวกเขาออกมาเป็นวรรณกรรมชีวิตที่มีชีพจรเต้นตุบๆ อยู่จนได้

ภายใต้การล้อมกรอบอย่างหนักของชาวอาหรับนี้เป็นการง่ายที่จะเข้าใจได้ว่าเหตุใดบทกวีจึงเป็นผู้นำอันแรกที่นำเอาเสียงเรียกร้องให้ทำการต่อต้านให้กระจายออกไปได้

ทั้งนี้เพราะบทกวีกระจายไปจากปากสู่ปากโดยไม่ต้องอาศัยการจัดพิมพ์ก็ได้ และนี่จะอธิบายเหตุผลได้ด้วยว่าเหตุใดในตอนต้นๆ บทกวีจึงยึดติดอยู่กับรูปแบบเก่าๆ เพราะท่องจำได้ง่ายและเร้าความรู้สึกได้เร็วกว่า

บทกวีในระยะแรกๆ จะเป็นบทกวีรักบทสั้นๆ แต่ก็มีบทกวีแบเก่าที่เป็นภาษาพื้นเมืองซึ่งเป็นที่นิยมของผู้คนผลุดขึ้นมาเคียงข้าง กลายเป็นเมล็ดพืชเมล็ดแรกแห่งการแสดงต่อต้าน

อันที่จริงนั้นบทกวีชาวบ้านมีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์ของปาเลสไตน์มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 20 และมีชื่อเสียงไปทั่วโลกอาหรับ ชาวปาเลสไตน์เกือบทุกคนจะรู้จักและท่องจำบทกวีสั้นๆ อันเป็นที่นิยมซึ่งนักต่อสู้ชาวปาเลสไตน์

บทกวีของประชาชนรุ่งเรืองอยู่เกือบสิบปีหลังจากปี 1948 ก่อนที่จะมีวรรณกรรมที่พัฒนาดีปรากฏขึ้น มันเป็นสื่อที่ผู้คนที่พ่ายแพ้ใช้แสดงความรู้สึกของตนออกมา

มันเข้ามาครอบครองทุกแง่มุมในชีวิตของพวกเขา ทั้งงานแต่งงาน งานศพ การนั่งสนทนาพาทีในตอนเย็นและการชุมนุมกันแบบอื่นๆ ก็ถูกอิทธิพลของบทกวีเหล่านี้แปรรูปไปเป็นการสำแดงกำลังอย่างดุเดือดโดยไม่เอาใจใส่ต่อหน่วยมือปืน

กวีหลายคนถูกจับเข้าคุกหรือถูกกักขังไว้ภายใต้กฎเกณฑ์อันเคร่งครัด และขณะที่แนวโน้มของบทกวีชาวบ้านนี้เจริญและขยายออกไป กองกำลังที่ยึดครองก็ยิ่งขยายมาตรการทรราชของพวกมันออกไปมากขึ้นคือฆ่ากวีบางคนเสียและห้ามชาวอาหรับจับกลุ่มกัน

อย่างไรก็ดีมาตรการเช่นนี้ก็ไม่สามารถถอนรากถอนโคนแนวโน้มของการต่อต้านเช่นนี้ได้ แต่ก็ได้ทำให้มันหลับไหลไปเกือบห้าปีแล้วก็ระเบิดออกมาใหม่ด้วยพลังและความเข้มข้นที่มากขึ้นกว่าเดิม

ก็น่าแปลกอยู่เหมือนกันในตอนเริ่มต้นทศวรรษที่ 60 ได้มีคลื่นลูกใหม่ของวรรณกรรมปะทุขึ้น หลักการของวรรณกรรมครั้นคือเต็มไปด้วยจิตใจแห่งการท้าทายอย่างมาก ไม่เหมือนกับวรรณกรรมของกวีพลัดถิ่นในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เศร้าสร้อยและรุนแรง

ทศวรรษที่นำหน้าการปะทุออกมาใหม่ครั้งนี้น่าจะเรียกว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการรวมกันระหว่างบุคลิกลักษณะและการพิสูจน์ว่าบุคลิกของชาวอาหรับนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับหนทางแห่งการต่อสู้ของพวกเขาจะดีกว่า ผู้พ่ายแพ้และหมดหวังซึ่งหันมาอาศัยบทกวีรักในระหว่างสองสามปีหลังจากปี 1948 นั้นก็เริ่มกลายเป็นพลังการต่อต้านที่กล้าหาญปราศจากความครั่นคร้ามและเต็มไปด้วยความหวังขึ้นในทศวรรษที่ 60

บทกวีรักนั้นเป็นผลเกิดมาจากความรู้สึกขมขื่นเปล่าเปลี่ยวและขาดแคลนซึ่งมีอยู่อย่างท้วมท้นในหมู่ชาวอาหรับหลังปี 1948

แต่แล้วเมื่อกาลเวลาผ่านไปความรู้สึกที่ว่าพวกเขาคือชนกลุ่มน้อยที่พ่ายแพ้ก็ได้เริ่มกลายรูปเป็นความรู้สึกท้าทาย ครั้นแล้วพวกเขาก็สามารถเผชิญหน้ากับชีวิตอันยากลำเค็ญของตนได้ การต่อต้านนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันเป็นการต่อสู้ประจำวันกับศัตรูที่ดุร้าย ผู้ถือว่าเป็นเรื่องของความเป็นความตายทีเดียวละ ในขณะที่มาตรการการประหัตประหารยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้น การต่อต้านก็ยิ่งรวมตัวผนึกกำลังกันมากขึ้น

ตรงกันข้ามกับบทกวีผู้พลัดถิ่น บทกวีต่อต้านนั้นมีลักษณะปฏิวัติอย่างน่าอัศจรรย์ มันผลุดขึ้นมาแทนโดยไม่มีแนวโน้มของความเศร้าและน้ำตาเลย น่าแปลกที่มันสะท้อนก้องไปพร้อมๆ กับการจลาจลทางการเมืองของประเทศอาหรับต่างๆ ทั้งมวล

บทกวีต่อต้านมิได้เปลี่ยนไปในเรื่องความหมายและลักษณะทางบทกวีเท่านั้น แต่ได้เปลี่ยนไปในรูปลักษณ์และเทคนิคการเขียนด้วย คือได้ละทิ้งรูปแบบของบทกวีเก่าๆ เสีย และนำเอาเทคนิคสมัยใหม่มาใช้โดยมิได้สูญเสียพลังความเข้มแข็งไป สำหรับด้านความหมายนั้นบทกวีต่อต้านอาศัยสื่อสารการแสดงออกแบบต่างๆ คือ

1. ความรัก ความรักในตัวสตรีอันเป็นที่รักมารวมเข้ากับความรักบ้านเกิดเมืองนอนอย่างสมบูรณ์ สตรีและผืนแผ่นดินถูกดูดกลืนเข้าไปในอยู่ในความรักอันยิ่งใหญ่อันหนึ่งและแปรรูปเป็นความมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่ในการที่จะปลดปล่อยปาเลสไตน์จากมือของศัตรู 

2. การประชดประชัน ศัตรูและบริวารของมันถูกเยาะเย้ย การปราบปรามขาวปาเลสไตน์ก็แสดงออกมาอย่างแดกดันเจ็บแสบ แนวโน้มนี้แสดงถึงดวงวิญญาณที่มีชีวิตชีวาไม่สามารถเอาชนะได้ ซึ่งถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างเป็นเพียงปรากฏการณ์และเป็นที่จะผ่านไปในไม่ช้าก็เร็ว และจะต้องกลายเป็นปกติอีกในภายหลัง 

3. การท้าทาย ศัตรูถูกเปิดเผยออกมาให้มาเผชิญหน้ากับจิตใจอันเข้มแข็งไม่หวาดหวั่นของนักต่อสู้ เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าวรรณกรรมต่อต้านนั้นส่วนมากจะมีลักษณะเป็นฝ่ายซ้ายนี่เป็นผลจากสถานการณ์ที่ครอบครองชีวิตชาวปาเลสไตน์อยู่ ซึ่งอาจสรุปได้ว่ามีอยู่ดังนี้ :

     a. ชาวอาหรับส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทและมักจะเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติและการลุกฮือซึ่งเกิดขึ้นในปาเลสไตน์ที่กระทำต่อผู้ปกครองชาวอังกฤษก่อนปี 1948 และคนเหล่านี้เองที่ได้รับการทำร้ายหนักที่สุดในปี 1948 

     b. สภาพความเป็นอยู่ที่แย่มากของพวกเขาและการกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายกาจที่พวกเขาได้รับในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหาอาหารประจำวัน 

     c. ความจริงที่ว่าการที่มีพวกศัตรูของเขาอยู่นี้เป็นผลของแผนการฝ่ายนายทุนจักรวรรดินิยม และการที่มันอยู่ต่อมาได้นั้นก็เพราะได้รับการช่วยเหลือจากลัทธิทุนนิยมนั่นเอง

ยิ่งกว่านั้น บทกวีต่อต้านยังเป็นการท้าทายต่อความเชื่อทั้งมวลของพวกไซออนิสต์อีกด้วย บทกวีเหล่านั้นจัดการกับความเชื่อทั้งหมดเหล่านั้นและทิ้งมันไปทีละอย่างๆ มันเป็นวรรณกรรมที่อยู่บนหลักเหตุผล มิได้ใช้อารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว

เหนือสิ่งอื่นใดมันเป็นห่วงโซ่อันสำคัญในสายโซ่แห่งการปฏิวัติอันยั่งยืนของชาวอาหรับและคู่เคียงกันไปกับขบวนการก้าวหน้าของชาวอาหรับ ทั้งๆที่มีอุปสรรคและสิ่งขัดขวางต่างๆ นานา มันก็ยังสามารถเติบโตขึ้นจนเป็นวรรณกรรมที่แท้จริงได้ เพื่อแสดงออกซึ่งบุคลิกภาพของกวีผู้เป็นนักต่อสู้

..............

เชิงอรรถ

ฆอสซาน กานาฟานี เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียนและโฆษกของ PFLP (แนวหน้าประชาเพื่อปลดแอกปาเลสไตน์) เขาเป็นหน่วยกล้าตายที่ไม่เคยยิงปืน อาวุธของเขาคือปากกาลูกลื่นและหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์อันเป็นเวทีของเขา เขาเป็นนักสู้ผู้จริงใจคนหนึ่งในขบวนการต่อต้านของชาวปาเลสไตน์  เขาถูกฆ่าตายเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 1972 โดยลูกระเบิดที่ลอบวางไว้ที่รถยนต์ที่เขานั่งไปโดยหน่วยมอสสาดของอิสราเอล