Skip to main content
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW)

ในห้วงแห่งการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งสำคัญในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย สิ่งที่เรียกว่า "สื่อภาคประชาชน" และแนวคิดเกี่ยวกับ "สิทธิในการสื่อสาร" เติบโตขยายตัวขึ้นได้อย่างไร สื่อเหล่านี้มีพลังในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองของพวกเขาอย่างไร ประสบการณ์ของการเคลื่อนไหวของสื่อประชาชนดังกล่าวจะเป็นบทเรียนให้กับผู้คนในพื้นที่ความขัดแย้งในชายแดนใต้ได้หรือไม่ คำถามเหล่านี้คือที่มาของการจัดบรรยายสาธารณะในวันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ซึ่งจัดโดยโรงเรียนวิชาการเมือง ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (College of Deep South Watch) ร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้หัวข้อ “สื่อภาคประชาชนและสิทธิการสื่อสาร: บทเรียนจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์” โดยมี รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นผู้บรรยายหลัก เธอเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูปสื่อ อีกทั้งยังเป็นเสาหลักของการเรียกร้องในการพิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเสมอมา

อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ขณะกล่าวบรรยาย (ภาพโดย อนุมัติ รัตนพันธ์ นักถ่ายภาพอิสระ)

            การบรรยายสาธารณะครั้งนี้เกี่ยวโยงกับหนึ่งในงานวิจัยของเธอในหัวข้อ “สื่อและสิทธิการสื่อสารของประชาชนฟิลิปปินส์” ซึ่งเป็นการสังเคราะห์บทบาทของสื่อประชาชนในห้วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศฟิลิปปินส์ รายละเอียดข้างล่างนี้คือการเก็บประเด็นจากการนำเสนอในวันดังกล่าว

จุดเริ่มต้นของการศึกษา

          หัวข้อที่จะคุยในวันนี้ เป็นเรื่องของสื่อประชาชน แล้วก็อยากจะพาไปดูตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน คืออินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เพราะตอนที่ไปทำวิจัยก็รู้สึกว่า เราสังกัดอยู่สาขานิเทศศาสตร์ แต่เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านไม่ค่อยเยอะ ไม่ค่อยแลกได้เปลี่ยนระหว่างนักวิชาการสาขานิเทศศาสตร์ระหว่างกัน หรืออาจจะเรียกได้ว่าน้อยมาก โครงการปัญญาชนสาธารณะ (API : Asian Public Intellectuals) ของมูลนิธินิปปอน (Nippon Foundation Fellowships) เขาให้ทุนไปวิจัยที่สามารถเลือกได้ว่าจะไปทำวิจัยในประเทศกลุ่มอาเซียนคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น ซึ่งเราก็ตัดสินใจว่า 2 ประเทศนี้ คือ อินโดนีเซีย กับฟิลิปปินส์ ซึ่งก็ไม่มีเวลามากพอที่จะพูดเรื่องนี้ ในตอนนั้นมีเวลาเพียงแค่ 11 เดือน ซึ่งก็รู้ข้อจำกัดของตัวเองดีว่าไม่รู้ภาษาบาฮาซาอินโดนีเซียและ ไม่รู้ภาษาตากาล็อก  

          ดังนั้นก็มีส่วนทำให้การวิจัย จึงเป็นการอ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษ หรือคุยกับผู้ที่เราไปทำการศึกษาวิจัยที่รู้ภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษที่เราไปศึกษาเขาก็ต้องอาศัยล่ามไปด้วย ซึ่งเราคิดว่าโอกาสต่อไปถ้าได้วิจัยโดยรู้ภาษาของประเทศเจ้าบ้านก็จะเป็นประโยชน์มากที่สุดเพราะการที่เราขาดการรู้เรื่องภาษาทำให้เราเข้าใจอะไรที่อาจจะยังลึกซึ้งไม่มากขึ้นพอ

ไฟล์นำเสนอ (download)

สื่อภาคประชาชนคืออะไร

          ประเด็นการบรรยายวันนี้ จะพูดถึง “สื่อของประชาชน” ซึ่งขณะนี้มีชื่อที่เรียกเยอะมาก ในประเทศไทยอาจจะไม่คุ้นเคย เพราะก่อนหน้านั้นประเทศไทยจะเรียกว่า สื่อมวลชนแบบรวมๆ  ต่อมาเราได้ค้นคว้าทบทวนวรรณกรรมก็พบว่า สื่อมีหลากหลายประเภท มีหลายกลุ่ม มีหลายบริบท หลายสถานการณ์  แต่ละฝ่ายจะมีเป้าหมายในการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่างๆ  ดังนั้น จึงมีชื่อเรียกหลายชื่ออย่างเช่น  สื่อประชาชน - สื่อทางเลือก (People’s media – Alternative media)  ที่พูดถึงการพัฒนาแบบทางเลือกต่างๆ  จนกระทั่งมาในตอนหลังนี้จะคิดแบบแนวทางเลือก เริ่มคำที่มีการใช้อย่างกว้างขว้างขึ้น ในสื่อมวลชนก็เช่นเดียวกันก็จะบอกว่า เป็นสื่อที่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก ไม่ใช่สื่อขนาดใหญ่ ก็จะเรียกว่า “สื่อทางเลือก - สื่อพลเมือง” (Alternative – Citizen’s media) ตอนนี้ก็เป็นที่คุ้นเคยเหมือนกัน เพราะว่าบางสถานีอย่าง Thai PBS จะมีการรายงานข่าว ‘สื่อพลเมือง’ สื่อที่มีความคิดเห็น หรือต้องการนำเสนอที่มีความแตกต่างแบบถอนรากถอนโคน (Radical) ไม่เหมือนคนอื่น พูดจา ความคิดแบบเดิมๆ เสนอแนะภาษาและความคิดที่แตกต่างไม่เหมือนสื่อกระแสหลัก

            มองในอีกแง่หนึ่งอาจจะหมายถึง สื่อที่ใช้ในการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ (Media libres) จากอะไรก็ตามที่พันธนาการอยู่ จะเป็นเจ้าอาณานิคม หรือจะเป็นประเด็นอื่นๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของสังคมนั้นๆ

            อีกคำหนึ่งที่สังคมไทยคุ้นเคยคือ ‘สื่อที่ต้องการให้มีส่วนร่วม’ (Participatory media) ซึ่งมาจากประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมก็จะต้องประยุกต์และปรับวิธีคิดมาเป็นสื่อแบบที่มีส่วนร่วมเช่นเดียวกัน พอเรามีสื่อขนาดใหญ่เยอะๆ ที่เป็นสื่อในระดับชาติ สื่อของประชาชนจะเป็นสื่ออีกแบบหนึ่ง คือ สื่อชุมชน (Community media)  มีขนาดเนื้อเรื่อง มีเนื้อหาที่เกี่ยวโยง เกี่ยวเนื่องกับชุมชน บริหารจัดการเองได้  อาจจะมีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กก็แล้วแต่ที่จะออกแบบ  แต่ว่าใกล้ชิดเกี่ยวโยงกับชุมชน ถัดมาจะมีการใช้คำว่า Grassroots Media  ก็จะเป็นลักษณะที่เป็นกลุ่มรากหญ้า ถ้าเราดูรายชื่อเหล่านี้จะเห็นว่าประเทศไทยของเรามีอยู่มากหรือมีหลายประเภทที่เดียว จากเดิมมีแค่สื่อกระแสหลัก ซึ่งคำว่า สื่อกระแสหลัก (Mainstream media) ก็มาใช้ในช่วงหลัง เพราะแต่ก่อนเราจะจัดประเภทสื่อของรัฐ  สื่อของเอกชน  ตอนนี้สื่อของรัฐจะมีคู่แข่งเยอะขึ้น  ณ เวลานี้ก็มีคู่แข่งขันกว่าครึ่งโหล ก็จะเจอคู่แข่งเล็กๆ เกิดขึ้นสุ้มเสียงก็จะต่างกันไป  ทุกคนก็จะบอกว่าเราอยู่ในจุดที่มีสิทธิแล้ว สิทธิที่จะสื่อสารออกไปโดยมีรูปแบบวิธีการ ภาษา ลักษณะสื่อที่มีความแตกต่างกัน

‘สื่อประชาชน’ vs. ‘สื่อพลเมือง’

            อาจต้องเริ่มต้นที่จะมองเห็นความหลากหลายของสื่อที่เป็นอยู่ สื่อที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “สื่อประชาชน” บุคลิกภาพเป็นอย่างไร โดยส่วนใหญ่จะมีขนาดค่อนข้างเล็ก (small) ที่สำคัญต้องมีอิสระ (independent) และจะต้องไม่ดำเนินงานแบบธุรกิจ (Non - Commercial) และไม่ได้ดำเนินการแสวงหากำไร (non - profit) ซึ่งไม่ได้หมายความว่า สื่อที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีรายได้ แต่หมายความว่าต้องมีรายรับ รายจ่าย ต้องมีเงินทุนที่บริหาร อย่างเช่น ถ้าเป็นงานสิ่งพิมพ์ ก็จะต้องค่ากระดาษ ค่าหมึก ค่าตีพิมพ์ แต่ไม่ใช่การดำเนินการเหมือนธุรกิจ ตั้งองค์กรสื่อ แต่ไม่ทำเพื่อแสวงหากำไร ซึ่งแม้ว่าไม่ได้ทำธุรกิจแต่ก็จะต้องมีวิธีการ หารายได้ วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ไม่ใช่แบบการทำธุรกิจเหมือนสื่อกระแสหลัก

            กิจกรรมเหล่านี้มีอะไรบ้าง เช่น ลักษณะการทำงานที่ค่อนข้างเกาะติดแล้วก็ใช้สื่อเป็นตัวที่เป็นการสร้างกระแส ทั้งในด้านการตระหนักรู้ หรือการสร้างข้อเรียกร้องต่างๆ ออกไป บางกลุ่มก็จะต้องทำงานเคลื่อนไหวแบบบนดินด้วย  เมื่อวิเคราะห์แล้วจะมีเป็นการสื่อสารที่มีความต่างจากสื่อกระแสหลัก  สมมุติว่าสื่อของรัฐ เขาเสนอเรื่องใด เรื่องหนึ่ง เสนอเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ อีกแบบเรื่องหนึ่ง สื่อทางเลือกหรือสื่อประชาชน ก็จะเสนอมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเสนอมุมมองของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เสนอมุมมองของครอบครัวของฝ่ายผู้ก่อการที่ได้รับผลกระทบ  เสนอกระแสเสียงของฝ่ายผู้ก่อการซึ่งเราจะพบว่าสื่อของเราทำงานในประเด็นที่สื่อกระแสหลักไม่เสนอ สื่อกระแสเสียงจากฝ่ายผู้ก่อการ เป็นการตั้งข้อสังเกตว่าสื่อกระแสหลักมีการเสนอให้กับผู้ก่อการอย่างตรงไปตรงมามีหรือไม่ สื่อไทยสามารถทำได้หรือไม่ หรือเพราะสื่อไทยยังไม่มีโอกาสที่สามารถเข้าถึงแหล่งบุคคล แหล่งข่าวที่อาจจะมีการพูด แต่เขายังไม่มีโอกาสพูด ซึ่งสื่อเล็กๆ สื่ออิสระเหล่านี้ เมื่อเราลงไปศึกษาจะพบว่า เขามีโอกาสที่จะไปนำ 'ตัวตน' คู่ขัดแย้ง นำเจตนารมณ์ นำการแสดงออก ข้อกังวลของพวกเขาออกมาเผยแพร่ให้คนได้ยิน  ย

            ถามว่าการนำเสนอลักษณะดังกล่าวจะดีกว่ากัน ย่อมดีกว่าการส่งเสียงเป็นลูกกระสุน เพราะฉะนั้นสื่อเล็กๆ เหล่านี้ จะมีพันธกิจของตัวเองและสามารถทำงานที่มีคุณค่าไม่ว่าสื่อจะเล็กขนาดไหน

            แง่นี้แล้ว 'People’s Media' หรือ “สื่อประชาชน” อาจจะอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นปากเสียงให้ผู้ถูกกดดันถูกปิดกั้นมากกว่า ขณะคำว่า 'Citizen’s Media' หรือ “สื่อพลเมือง” มีฐานะที่แตกต่างออกไป คือเสียงจากสื่อเหล่านี้ เป็นสื่อที่ถือทุกคนว่าเป็นสื่อของพลเมือง หมายความว่า เขาเป็นที่ยอมรับในสังคมนั้น ว่ามีสิทธิมีฐานะในพลเมืองของประเทศนั้นๆ เพราะฉะนั้นสิทธิที่ได้รับการรับรองชัดเจน ที่ตัวเขารับทราบ สังคมรับทราบ กลุ่มอำนาจรับทราบ  สถานภาพอาจจะดีกว่า พวกที่จะเรียกตัวเองว่า “สื่อประชาชน” ที่เขารู้สึกว่าตัวเองถูกปิดกั้น ถูกกดดัน ที่ไม่ควรพูด ไม่ควรสื่อสาร ขณะที่กลุ่ม Citizen’s Media จะสื่อสารกับกลุ่มคนและทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงกลุ่มพลเมืองที่ปกติ ที่ค่อนข้างจะ 'ตั้งรับต่อสถานการณ' (passive) ไม่ค่อยมีส่วนร่วมในทางการเมืองเท่าใด ให้ตื่นตัว ให้ทุกคนมีความสนใจ อยากที่จะมีส่วนร่วมในการกระบวนการทางการเมือง ในรูปแบบใดแบบหนึ่งของสังคมในระดับใดระดับที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา ให้กลายเป็น 'พลเมืองที่มีพลัง' (Active Citizen) ขึ้นมา

            ถ้าเรามองดูแล้วสื่อพลเมืองเป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดการเพิ่มอำนาจ (empower) หรือการสร้างพลังอำนาจให้แก่พลเมือง สร้างความสำนึกรู้แล้วก็ไปทำให้อำนาจแตกย่อยออกมา (fragment) ไม่ได้ไปรวมศูนย์ ไม่ได้เป็นรวมอำนาจที่มีการเบ็ดเสร็จที่รวมอยู่ในตัวเอง

            ประเด็นนี้เป็นการกล่างอ้างในหนังสือของ “คเลเมนเซีย โรดริเกซ” (C. Rodriquez) นักวิชาการสื่อสารชาวอเมริกัน ซึ่งเขียนเกี่ยวกับเรื่องของสื่อพลเมือง เธอสอนอยู่ในสหรัฐฯ แต่ทำวิจัยอยู่ในลาตินอเมริกาด้วยแล้วก็พูดภาษาสเปนได้ เชื้อสายสเปน สิ่งที่นำมากล่าวในที่นี้ เพราะรู้สึกว่าสนใจมาก สื่อพลเมืองสามารถทำให้ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก สามารถที่จะเข้าไปเป็นเจ้าของอีกครั้งหนึ่ง (Reclaim) เพราะสื่อเคยหลุดมือไป คนอื่นเอาไปใช้ ไปเป็นเจ้าของมากมาย แต่คนมีสิทธิไม่ได้ใช้ ต้องไปเวนคืนอำนาจสิทธิการสื่อสาร) กลับมา แล้วระหว่างที่เรามีสื่อเล็กๆ อยู่ในมืออยู่แล้วไม่ว่าเป็น สื่อวิทยุชุมชน สื่อออนไลน์ใหม่ๆ

            โรดริเกซ  กล่าวว่า ในระหว่างที่ เราสื่อสารนั้น สามารถจะใช้สื่อพลเมืองนั้นสร้างวัฒนธรรมขึ้นมาใหม่ผ่านภาษา สื่อพลเมืองมีความสามารถที่จะสร้างผ่านภาษาของการสื่อสาร แล้วก็เรียกสิ่งต่างๆ รอบตัวในภาษาที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เหมือนกับเราสร้างโลกขึ้นมาใหม่ได้ ผ่านการใช้  “สื่อพลเมือง” เหล่านี้  กระบวนการอย่างนี้จึงมีความลึกซึ้งมากกว่าที่เราคิด ในแต่ละวันๆ ที่เราสื่อสารผ่านสื่อขนาดเล็ก สื่ออิสระของภาคพลเมือง สิ่งที่เกิดซ้ำๆ เราสามารถอธิบายให้โลกได้ พูดสิ่งรอบๆ ตัวเราได้  ในมิติของเรา ที่เราจะสร้างถ้อยคำ สร้างภาษา  จิตนาการโลกใหม่ออกมาได้

            อีกประเด็นหนึ่งที่โรดริเกซ ถือว่าเป็นหน้าที่ที่เกิดในระหว่างนี้ สื่อนี้คนมีส่วนร่วมสามารถที่จะไป disrupt power relationship คือ ไปก่อกวน แทรกแซง  ไปทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีอยู่ ทำให้แลดู สั่นคลอนไม่เหมือนเดิม สมมติว่า การแขวนป้ายผ้าในภาคใต้ เวลามีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกคนกลับไปคิดว่าใครทำ สารหรือข้อความในป้ายผ้าจะบอกใคร บอกทำไม ทำให้เราสงสัยความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในสังคม และสงสัยในตัวเราเอง เราจะต้องมองในเรื่องนี้อย่างไร ทำให้คนที่สื่อสารมีโอกาสปฏิบัติการความเป็นมนุษย์ปุถุชนเป็นพลเมือง ที่เป็น Active Citizen ทำให้เขาสามารถแสดงตัวตนและความคิดเห็นของเขาได้  แล้วก็กลับไปสร้าง 'สื่อ' ขึ้นมาใหม่ เพราะตัวเก่าไม่เคยดีกับตัวเขา ทำให้เขามีโลกสัญญาณลักษณะใหม่ที่เกิดขึ้นในตัวเขาได้เรื่อยๆ และก็ได้สร้างขึ้นมาใหม่  สร้างได้ด้วยตนเอง สร้างโดยชีวิต ในปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งวัฒนธรรมด้วย  โดยรวมสิ่งที่โรดริเกซ ให้นิยาม ตีความตรงนี้มีความน่าสนใจ มีประโยชน์ มีความลึกซึ้ง มีมิติคุณค่าในการสื่อสารด้วย

            ในสถานการณ์ดังกล่าว มีคำถามว่า People’s Media กับ Citizen’s Media ไม่เหมือนกันอย่างไร ทั้งที่เป็นสื่อภาคประชาชนเช่นกัน มีรายละเอียดที่ว่าสื่อประชาชนใช้คำที่มีความหมายกว้าง แต่ Citizen’s Media จะเป็นรายบุคคลมันมีความหมายแคบ มีมิติรายบุคคล ได้รับการยอมรับว่า มีสถานะที่กฎหมายยอมรับสำหรับประเทศไทยต้องมีบัตรประชาชน แต่บางประเทศไม่ต้องมีก็ได้ แต่ถ้าประเทศไทยต้องมีถ้าไม่มีกลับเป็นเรื่องแปลก โดยถือว่าต้องมีมิติพลเมืองในทางกฎหมายกำกับด้วย

            ขณะที่ People’s Media คือบุคคลที่อยู่นอกกรอบนอกระบบ ไม่ได้ถูกสังคมรับรองว่าเป็นพลเมืองสังคมนั้นสื่อประชาชนจะเป็นปากเสียงของคนที่อยู่นอกระบบนอกกระแสที่คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ อาทิเช่น กบฏ ถึงพวกเขาอยากเป็นพลเมือง แต่คนไม่ยอมรับ ไม่เข้าเกณฑ์ พวกเขาไม่มีสิทธิลงคะแนน เป็นต้นว่าเมื่อถามเด็กอายุต่ำกว่า 18ปี ทำสื่อขึ้นมาสื่อสาร ถามว่าเป็นสื่อพลเมืองหรือไม่ ก็ต้องเอาเกณฑ์ตัวอื่นมาจับว่าสังคมไทยบอกว่าเราเป็นพลเมืองด้วยหลักอะไรบ้าง

            ความน่าสนใจอย่างสำคัญคือ “สื่อประชาชน” บอกว่าเราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้สิทธิที่จะพูด สมมติเราเป็นพลเมือง แล้วรัฐธรรมนูญรับรองว่ามีสิทธิจะพูด แต่กลุ่มคนที่ไม่ใช่พลเมืองจะไม่มีสิทธิพูดเลย และสื่อกระแสหลักก็ไม่สามารถแสดงความคิดคนเหล่านี้ออกมาได้ คำถามคือ สื่อพลเมืองเหล่านี้สามารถสื่อสารความคิดของคนกลุ่มนี้ได้หรือไม่ อาจจะต้องพยายาม อาจจะมีการต่อต้าน อาจจะต้องแสดงออกหรือต่อต้านการใช้ความรุนแรง อยากให้คนอื่นเข้าใจอาจจะมีการข่มขู่ โดยเฉพาะอยากให้รัฐที่ไม่รู้ปัญหาของเขา ซึ่งถ้าพิจารณาดูจะพบความแตกต่างในละเอียดพอสมควร

            ทั้งนี้ สิทธิการสื่อสารมีการกำหนดแนวให้เป็นเรื่องของสากล เริ่มต้นจากสหรัฐฯ จากนั้นกลายเป็นคำประกาศของประเทศฝรั่งเศส กระทั่งหลังสงครามโลก ครั้งที่สอง ก็ออกเป็นคำประกาศปฎิญญาสากล ประเด็นสิทธิการสื่อสารก็ไปปรากฎในข้อที่ 19 ของปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยก็รับรองสิทธิ์อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ เพื่อยืนยันสิทธินี้ โดยเฉพาะรัฐธรรมมนูญ 2 ฉบับหลัง ทั้งฉบับปี 2550 ก็ยืนยันรับรองเหมือนปี 2540 โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงสิทธิของสื่อสารของพลเมืองไทยแต่อย่างใด

            นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งก็พยายามเขียนรัฐธรรมนูญของเขาเป็น People Communication Charter ขึ้นมา ซึ่งคล้ายกับการรองรับเสรีภาพ ซึ่งข้อกฎหมายหรือบทบัญญัติสากลอื่นๆ ได้เขียนเอาไว้ ทีนี้เขาเขียนเอาไว้มีข้อแตกต่าง มีกลุ่มนักวิชาการได้เขียนในรัฐธรรมนูญของไทยซึ่งก็รองรับคล้ายกับเรื่องสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายหรือบทบัญญัติสากลอื่นๆ ได้เขียนอย่างไรบ้าง เขามีข้อที่บอกว่าการสื่อสารจะต้องมีการเพิ่มพูนพลังอำนาจของประชาชนแล้วไปเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ภูมิทัศน์ ให้ดีขึ้น โดยมองเห็นสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะมีคนที่ไม่มีโอกาสหลักการสื่อสารไม่ไปช่วยเพิ่มพลังอำนาจแต่เราสื่อสารบริโภคอย่างนี้ก็ไม่มีความหมาย

          ดังนั้นธรรมนูญนี้บอกว่าต้องให้โอกาสคือการเปลี่ยนแปลงความคิดให้การสื่อสารมีสารัตถะของการสื่อสารจริงๆ ที่นี่เราดูกรอบเหล่านี้แล้วก็ลงวิจัยใน 2 ประเทศคือ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในปี 2014-2015 ว่า โดยไปดูผู้คนและองค์กรเกี่ยวกับการทำงานด้านการสื่อสารที่พยายามทำให้เกิดการสื่อสารแบบประชาธิปไตย และคนเหล่านี้พยายามทำให้เกิดประชาธิปไตย พยายามผลักดันอำนาจที่ผูกขาด ให้เป็นโครงสร้างที่เปิด เป็นโครงสร้างวัฒนธรรมที่เป็นประชาธิปไตย

          วิธีการที่เราไปพบในสนามวิจัยมีบางองค์กรสื่อที่เรียกว่าเป็นสื่อประชาชน พยายามไปเปลี่ยนเนื้อหาเพิ่มปากเสียงที่ไม่มีโอกาสพูดหรือไปเปลี่ยนวิธีการทำงาน เช่น พอมีเหตุระเบิดก็ไปถามทหารเอง เขาจะไปสร้างธรรมเนียมใหม่ ไม่ใช่หาแหล่งข่าวเก่าเดิมๆ เราก็จะได้คำตอบแนวเดิมๆ ที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจใหม่หรือว่าไม่เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็นต้น ผู้ถูกศึกษาบอกว่า วิธีการสื่อเหล่านี้จะพยายามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในธรรมเนียมปฏิบัติแล้วก็จะมีการเรียกร้องรัฐบาลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ลักษณะไม่ต่างกับสถานการณ์ภาคใต้ที่พยายามผลักดันให้มีการพูดคุยสันติภาพ ผลักดันให้มีการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ จากเดิมที่เคยประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎอัยการศึก ก็อาจไม่มีใครใครกล้าพูดเพราะโครงสร้างเดิมกดเอาไว้

            นอกจากจะไปตรวจสอบ ติดตามทีละขั้นในกฎระเบียบของกฎหมายก็มาทำสื่อของตัวเองที่เป็นอิสระ มีลักษณะเปิดกว้าง ให้มีส่วนร่วมเปิดพื้นที่ให้คนอยู่ชายขอบได้ส่งเสียง เพราะคนกลุ่มดังกล่าวไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง อีกประการหนึ่ง คือไปเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนที่จัดเนื้อหากับคนฟัง คือไม่แยกออกจากกัน คนฟังรับมาเป็นส่วนหนึ่งของคนทำเนื้อหา ได้ให้คนพวกนี้กล้าแสดงความคิดเห็น  พูดความจริง กระบวนการแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาง่ายๆ ถ้าทำ อย่างนี้ก็พอมีตัวอย่าง จากที่ไปทำการศึกษาก็พบว่ามีบางคนถูกฟ้อง เรื่องยังอยู่ในกระบวนการมีอยู่รายล่าสุดท้ายที่ได้เจอก็พบว่าจำต้องหลบคดีจากฟิลิปปินส์มาอยู่ในประเทศไทย

ประสบการณ์จากอินโดนีเซีย

          สมัยหลังจากการปลดปล่อยจากการเป็นอาณานิคมของฮอลแลนด์ เข้าสู่ยุคของประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ ซึ่งยึดอำนาจมาจากการทำรัฐประหาร ที่เขาเรียกรัฐบาลใหม่ว่า ‘รัฐระเบียบใหม่’ (New Order; 1966 - 1998) ของเขาซึ่งอยู่ในอำนาจประมาณ 32 ปี สิ่งที่อยู่ในอำนาจช่วงนั้น สิ่งที่เคยเป็นสื่อที่แยกขั้วมีความเป็นการเมืองสูง มาให้เป็นสื่อกลางโดยไม่มีความเป็นการเมือง  (Neutralized and Depoliticized ) มาให้กลายเป็นสื่อของธุรกิจ คือพยายามสร้างวัฒนธรรมให้สื่อสนใจ ประกอบธุรกิจ แสวงหากำไร อย่ามาพูดจาเรื่องการเมือง อย่ามาวิพากษ์ วิจารณ์ รัฐบาล ถ้าทำอย่างนั้นจะถูกลงโทษ นานๆ ก็จะมีการข่มขู่ จับคุม ฟ้องร้อง ซึ่งสถานการณ์ด้านสื่อนั้นตรงข้ามกับประเทศไทยในปัจจุบัน คือของไทยจากที่เคยเป็น “สื่อพาณิชย์” (Commercial  media) เปลี่ยนเป็น “สื่อเชิงการเมือง” (Political media) มากขึ้น จึงได้ศึกษาเปรียบเทียบส่องกระจกตัวเราเองได้เหมือนกัน ในช่วงนั้น ซูฮาร์โต พยายามพัฒนาประเทศ คือ ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พยายามวางแผน พัฒนาในสิ่งเหล่านี้ กลายเป็นสถาบันสร้างฐานอำนาจลงสู่เกาะชวา แล้วก็ออกกฎหมายเฉพาะเจาะจงให้กับสื่อ สื่อต้องไปขอใบอนุญาตเพื่อประกอบการด้านสื่อ

          ในปี 1994 ก่อนซูฮาร์โต้จะถูกโค่นอำนาจ หนังสือพิมพ์ส่วนมากจะเป็นสมาชิกขององค์การที่เรียกว่า Surat Ijin Usaha Penerbitan Pers (SIUPP) ซึ่งเป็นสำนักงานประชาสัมพันธ์ของรัฐ คล้ายกับกรมประชาสัมพันธ์ ต่อมาปี 1994 ก่อนหนังสือพิมพ์ใจเด็ด หัวเห็ดกลุ่มหนึ่งบอกว่าไม่เอาแล้ว  ขอตั้งกลุ่มองค์กรขึ้นมาใหม่เป็นเครือข่ายนักหนังสือพิมพ์อิสระ (Alliance of Independent Journalists) แล้วก็ไปเดินขบวนอยู่หน้าสำนักงานประชาสัมพันธ์ของรัฐ เพื่อไปชวนพวกสื่อที่อยู่ในทะเบียนเก่า กระนั้นก็ยังไม่มีใครกล้าออกมาเป็นสมาชิกกลุ่มใหม่ จึงได้เปลี่ยนวิธีการ โดยชวนนักข่าวกันมาได้ทีละน้อยจนเดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีสมาชิกมากขึ้นแล้ว

          มีกลุ่มหนึ่งในระหว่างนั้นที่เตรียมตัวทำวิจัย Institute the Studies of Free flow of Information ก็ทำวิจัย เพื่อที่จะวิพากษ์วิจารณ์สื่อกระแสหลัก ทั้งเนื้อหา ทั้งโครงสร้าง จะเห็นว่า 4 ปี ตั้งแต่ปี 1994-1998  เครือข่ายสื่อดังกล่าวค่อยๆ เขย่าบัลลังก์ของซูฮาร์โต้ให้สั่นคลอนลง

          ระหว่างการวิจัยนี้ได้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อใต้ดินจำนวนหนึ่ง เช่น หนังสือพิมพ์ Suara (Independent) แล้วก็มี ‘เสียงอิสระ’ (XPOS) แล้วก็มี AJI NEWS ทำในอินเตอร์เน็ต แต่อย่าลืมว่าตอนนั้นอินเตอร์เน็ทยังเป็นขาวดำ เป็นตัวดอส (DOS) อยู่เลย ทั้งชักช้า ยืดยาด ทำงานได้น้อยมาก แต่เขาก็รู้สึกว่าต้องใช้สื่อใหม่ในการขับเคลื่อนสังคม มีข้อน่าสังเกตว่าทั้งอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ จะพบว่าสื่อที่ใหม่ล่าสุดในขณะนั้น ถูกนำมาใช้ทั้งสิ้น แล้วก็มีสื่อวิทยุ แล้วก็มีที่แปลกไป คือ มีกลุ่ม TNI Watch หรือ Army Watch ที่ติดตาม เปิดโปง เสาะหาข้อมูลเกี่ยวกับการทหาร แล้วก็มี Apakabar อันนี้ก็ค่อนข้างเป็นแม่ข่ายมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ที่สามารถนำข่าวออนไลน์ไปอัพโหลดขึ้นข่าวที่ต่างประเทศ แล้วเผยแพร่ไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นข่าวสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ออกไปสู่ชาวอินโดนีเซียที่อยู่ต่างประเทศก่อน แล้วก็ไม่ถูกปิดกั้น เพราะเซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ

          ในช่วง 4 ปีดังกล่าว ในที่สุดแล้ว กลุ่มต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของสื่อกลุ่มเล็กๆ ที่ทำงานให้ข้อมูลข่าวสาร จนในที่สุดเปลี่ยนผ่านสังคมฟิลิปปินส์ได้ ในปี 1998 มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มีการเลือกตั้งใหม่ ก็เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชนของอินโดนีเซียในเดือนพฤษภาคม 1998 (May tragedy) จะว่าไปแล้วตอนนี้พฤษภาคม เป็นเดือนที่เกิดเหตุการณ์ในประเทศไทย ในประเทศอินโดนีเซีย ในเกาหลีด้วย ก็เป็นเดือนของเหตุการณ์ปฏิวัติประชาชน อยู่ในหลายประเทศ หลังจากนั้นกลุ่มเหล่านี้ก็ไม่ได้ยุติได้ไปเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมาย พ.รบ.เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ รวมทั้งต่อสู้ให้ยกเลิกสำนักงานประชาสัมพันธ์ของรัฐที่ทำงานโฆษณาชวนเชื่อก็ยกเลิกไป

วิทยุประชาชนกับการสร้างสันติภาพ (Peace Building)

          ในช่วงที่ไปทำการศึกษาวิจัย พบว่าเครือข่ายวิทยุชุมชนมีพลังตื่นตัวสูงมาก แต่ก็ยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นสถานีที่ได้รับการรองรับทางกฎหมายเช่นเดียวกับประเทศไทย ได้ลงไปศึกษาการเคลื่อนไหวสื่อวิทยุชุมชน สื่อประชาชนที่ทิมมูฮาโจ ยอร์คจาร์กาต้า ทำให้พบวิทยุชุมชนชื่อ 'Angkringun' ที่เกิดจากนักกิจกรรมทางสังคมคนหนึ่งที่เพิ่งจบการศึกษา กลับไปบ้านตัวเองเพื่อก่อตั้งวิทยุชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ขึ้นมา จากนั้นก็ทำจดหมายข่าวกระจายจ่ายแจกอย่างกว้างขวาง โดยศูนย์ 'Angkringun' จะมีห้องส่งวิทยุ ที่เครือข่ายสามารถยืมใช้ได้ ตั้งอยู่ในซอกเล็กๆ ของ อบต.จะมีรูปรถเข็น เหมือนรถขายกาแฟบ้านเรา มีขนมแขวนอยู่ แล้วก็จะมีคนมานั่งเป็นลูกค้า และวิธีการสื่อสารของ 'Angkringun'จะมีการปรับตัวตลอดเวลา

          ช่วงที่ทำการวิจัย 'Angkringun' เขาบอกว่าจะทำรถโมบายยูนิตแบบรถ “โชเล่ห์” แบบปัตตานี (ชื่อเรียกขานรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างในชายแดนใต้) เพื่อทำเป็นสถานีวิทยุเคลื่อนที่เพื่อสามารถให้ข่าวสารสามารถเข้าถึงในจุดอับต่างๆ ได้ โดยจะทำกับมอเตอร์ไซค์เวสป้าเก่าๆ ระหว่างนั้นก็ขายเสื้อยืดรณรงค์ ความจริงใช้เงินแค่หมื่นกว่าบาท แต่เขาต้องหาเงินดุเดือดมาก กล่าวได้ว่า สถานีวิทยุของเขาแทนที่จะอยู่กับที่ก็กลายเป็นสถานีวิทยุเคลื่อนที่ ช่วยถ่ายทอดเสียงเวทีชุมชน ชุมชนใดมีการแสดงสด มีดนตรี เขาจะวิ่งไปถ่ายทอดเสียงให้ ระหว่างทางก็จะแวะพักเพื่อรับฟังบทสนทนาของชุมชนนั้นๆ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นแนวคิดการสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อนที่เปลี่ยนไป แตกต่างจากสื่อของรัฐที่อยู่กับที่ตั้ง

ผู้ควบคุมรายการของ Kusir Angkringan กำลังมอนิเตอร์อินเตอร์เน็ตระหว่างการคุมการออกอากาศสถานวิทยุ (ที่มา: Jakarta Post)

          งานหลักที่สถานีวิทยุแห่งนี้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่รู้จักคือการตรวจสอบการบริหารงานของ อบต.ของเขา แล้วเริ่มจากการถ่ายทอดการประชุมงบประมาณ ทีนี้ผู้บริหาร อบต.ก็เดือดร้อนเพราะชาวบ้านในพื้นที่นั้นฟังกันหมด ก็ปรากฏว่าผู้ใหญ่บ้านคนเก่าปิดงบประมาณไม่ได้ ไม่ผ่านแล้วเขาก็รู้ว่ามีคนฟังเยอะแยะ ต้องกลับไปทำใหม่ เป็นผลให้ผู้ใหญ่บ้านโกรธมาก เสียหน้า เพราะเสนอญัตติงบประมาณไม่ผ่าน นี่คือวิธีการตรวจสอบทางสาธารณะที่มีประสิทธิผล แต่ 'อังกรีงัน' ก็อธิบายให้ฟังว่า สิ่งที่ทำไม่ใช่เพื่อการไปฉีกหน้าใคร แต่ว่าเป็นงานที่จะทำให้การบริหารงานท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นคือสิ่งที่เขายืนยันในจุดยืนการทำงาน

          อีกเรื่องหนึ่งที่ 'อังกรีงัน' ทำคือ การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องการให้โฉนดที่ดิน เนื่องจากมีการร้องเรียนมาว่า ทำไมการขอโฉนดที่ดินกับอำเภอทำได้ช้ามาก พบว่าทางผู้บริหารอำเภอจะดองเรื่องนี้ไว้พิจารณาเป็นประเด็นท้ายสุด มีการดึงเรื่อง เตะถ่วงให้นาน ด้วยเหตุที่เขานำประเด็นเรื่องข้อร้องทุกข์เหล่านี้มาเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็ทำให้เกิดความเข้าใจในระบบมากขึ้น ส่งผลให้ทางอำเภอ เขตปกครองนั้นๆ ไม่สามารถที่จะทำตัวเรียกรับผลประโยชน์หรือทำให้เรื่องยืดเยื้อ จนประชาชนไม่สามารถที่จะต่อเติมบ้าน ขอเรื่องโฉนดที่ดินเพื่อทำธุรกรรมต่างๆ ได้ ผลงงานเหล่านี้ทำให้วิทยุของเขาเป็นที่รู้จัก เป็นที่เชื่อถือในพื้นที่อย่างมาก

           อีกตัวอย่างหนึ่งที่บันดุง ก็ไปเจออีกลักษณะหนึ่งที่ไม่เหมือนกันเป็นวิทยุชุมชนขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในบ้านของผู้นำหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านที่อยู่ชานเมือง มีเหตุการณ์หนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับนักลงทุนเขาก็จะเอาที่ไปสร้างศูนย์การค้าใหญ่มากติดกับหมู่บ้านห่างไม่ถึง 100 เมตร สุดท้ายก็เลยก่อตั้งวิทยุที่ชื่อว่า 'Radio Cibangkong' ขึ้นมา แล้วก็รวมกลุ่มกันในหมู่บ้านว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ถูกไล่รื้อไปทั้งหมด ทำอย่างไรจะอยู่ได้

          ช่วงแรกที่มีการสื่อสารต่อสู้เพื่อคัดค้านการสร้างศูนย์การค้าดังกล่าว เรียกว่าทั้งสองฝ่ายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน ทว่าการสื่อสารก็มีส่วนที่ทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องเชิญทั้งสองฝ่ายมาคุย แลกเปลี่ยนความเห็นจนสุดท้าย ฝ่ายที่มาลงทุนก็จะต้องรับฟังเสียงก็ต้องจัดการบริหารพื้นที่ของหมู่บ้านโดยมีข้อสรุปว่า 1.ต้องให้อยู่ร่วมกันให้ได้ ไม่ไล่รื้อไปหมด 2. ต้องทำให้สะอาด ให้สิ่งแวดล้อมดี ไม่ใช่เอาขยะมาทิ้งในชุมชน 3. ใครที่สมัครใจอยากไปสมัครงาน มีตำแหน่งใดที่รับได้ คนที่นี่ก็ไม่ได้ถูกปิดกั้นว่าเป็นคนละฝ่ายกันไม่ว่าใครจะไปทำงานกับกลุ่มนี้ก็ถือว่าเข้าข้างนายทุน เขาก็ไม่ถึงขนาดนั้น เขาก็ตกลงกันว่า ใครเต็มใจจะไปทำ แล้วผ่านคุณสมบัติคัดเลือกก็ไปทำ ก็ทำให้เกิดความร่วมมือกันในหมู่บ้าน แล้วก็ไม่ไป เกิดการเผชิญหน้ากัน ก็สร้างสรรค์วงคุยเป็นฟอรั่มเล็กๆ ชื่อว่า Citizen Solidarity อันนี้อีกอันที่สำคัญ คือแต่ก่อนหมู่บ้านสองสามแห่งแถวๆ นั้น วัยรุ่นเด็กแว้นท์ตีกัน เธอก็กลุ่มบ้านเธอ ฉันก็กลุ่มบ้านฉัน ปรากฏว่าในที่สุด ไปสร้างพื้นที่สาธารณะตรงกลาง มีเล่นกีฬา มีที่คุยกันในสถานีวิทยุ Peacebuilding คือกลายเป็นทำให้วัยรุ่นเยาวชนแถวนั้นเข้ามาสมัครสมานร่วมกัน ไม่ไปตีกัน แต่ก่อนตีกันบ่อยๆ ก็เปลี่ยนก็น่าสนใจว่า เขาก็บรรลุเป้าหมายอยู่เหมือนกัน

          แบบที่สามที่ไปศึกษาคือ “บาลัยพุทธยา” หรือ กลุ่มวัฒนธรรม (Balai Budaya Minomartani) กลุ่มสื่อนี้อยู่ในเมืองของยอร์กจาร์กาตาร์ ขณะที่ 'Angrikan' เขาอยู่นอกเมือง “บาลัยพุทธยา” อันนี้ก็อยู่ในเมืองอยู่ในซอยเล็กๆ ในหมู่บ้าน คือตัวอย่างเหล่านี้อยากนำเสนอที่สามจังหวัดภาคใต้ด้วย มีลักษณะที่บางทีเราเอามาประยุกต์ เอามาคิดใหม่ บางอย่าง โดยลักษณะของในคนยอร์กจาร์กาตาร์มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม แต่เจ้าของเขาเป็นชาวคริสต์เป็นเจ้าของ แต่ว่าเขาก็เปิดเลยเป็นรายการที่ว่าด้วยวัฒนธรรม ก็จะมีแนวเพลงหลากหลาย ผู้ดำเนินรายการทั้งหลายก็มาจากหมู่บ้าน ปรากฏว่าวันที่ไปสังเกตการอยู่ก็ไปสัมภาษณ์เขา ก็เจอว่าเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าไปทำรายการ ซึ่งมีจำนวนน้อยมากในก่อนหน้านั้นโอกาสของผู้หญิงมุสลิมที่จะไปทำรายการดนตรีก็มีมากขึ้น เหตุหนึ่งที่น่าสนใจว่า ความที่สถานีวิทยุอยู่ในชุมชน ไม่ไกลจากที่พักมากนัก ประมาณทุ่ม-สองทุ่ม ซึ่งมืดค่ำแล้วผู้จัดรายการสามารถเดินจากบ้านถึงสถานีง่ายต่อการเข้าถึง และเป็นส่วนหนึ่งของบ้านที่เขาก่อตั้ง แล้วหลังบ้านเขาก็จะมีห้องโถงใหญ่ๆ ไว้เก็บเครื่องดนตรี แล้วก็จะมีเล่นดนตรีปี่พาทย์วงของอินโดนีเซียบ่อยๆ อยู่ เพราะฉะนั้นการเข้าออกจะสะดวก แง่นี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาเป็นผู้ผลิตรายการได้ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำผังรายการอยู่ในช่วงบ่ายหรือเช้าเท่านั้น ก็สามารถกระจายเสียงในช่วงที่มีคนฟังมากในตอนเย็นๆ ค่ำๆ ได้ซึ่งเป็นการขยายโอกาสอย่างมากด้วย

          เพราะฉะนั้นก็มาสู่คำนิยามของเราก่อนหน้านี้ว่าจะเป็น Citizen’s Media หรือไม่ ก็ดูที่ความสามารถ ในการเสริมพลัง (Empower) ระหว่างประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น คือ สามารถที่จะสร้างพลัง อำนาจผ่านการสื่อสาร ผ่านการที่เขามาดำเนินรายการ แล้วเป้าหมายก็คือ ช่วยให้ประสานผู้คนที่อยู่ในชุมชนเดียวกัน ต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์อยู่ร่วมกัน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างวิทยุชุมชนสามตัวอย่างที่ไปศึกษาจากประเทศอินโดนีเซีย

          ถัดมาจะเป็นลักษณะสื่อทางเลือกขนาดใหญ่ขึ้น ชื่อสถานีจึงเป็นชื่อบ้านเลขที่ 68H Radio” ทีแรกก็ถามเขาทำไมตั้งชื่อนี้ เขาก็บอกว่าไม่รู้จะตั้งชื่ออะไรดีเรียกไม่ถูก เพราะว่าองค์กรสื่อเกิดใหม่เกิดจากการล้มซูฮาร์โตไปแล้วก็กระตือรือร้นอยากทำงานขับเคลื่อนสังคมหลากหลายอย่าง แล้วก็ไปมีสถานที่อยู่ในอาคารที่กลุ่มเราเคลื่อนไหวด้านสื่อแรกๆ ที่เป็นพวกใต้ดินเขาก็เลย เอาชื่อเป็นบ้านเลขที่ก็แล้วกันแล้วก็คิดฝันว่าจะเป็นสำนักข่าว ด้วย เหตุที่ประเทศอินโดนีเซียมีเกาะอยู่ประมาณ 2,000 กว่าเกาะ “68H” จึงไปตั้งสถานีลูกข่ายจำนวนมากกว่า 400 สถานี ในแต่ละเมือง แต่ละชุมชนเขาอาสาเข้ามาว่าเขาอยากจะอยู่ในเครือข่าย แล้วก็มีปรัชญาว่าจะต้องเป็น “อิสระ” (independent) แล้วก็เป็นที่น่าเชื่อถือ (Trust worthy) เพราะฉะนั้น “68H” ก็ทำขึ้นมา ปีที่ไปทำวิจัยก็ต้น 2,000 กว่าแล้ว การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ การตัดต่อเสียงด้วยการใช้คอมพิวเตอร์มีมากขึ้น แล้วก็ปรากฏว่าเขามีนักข่าวกับคนทำงานที่อยู่ในฝ่ายข่าวเป็นผู้หญิงจำนวนมาก ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของเขาเช่นเดียวกัน “68H” คิดว่าความสามารถของผู้หญิงไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชาย เพราะฉะนั้น เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่แตกต่างจากหนังสือพิมพ์กระแสหลักในประเทศอินโดนีเซียอย่างยิ่ง

นักจัดรายการวิทยุจาก 68H (ขวา) พูดกับนักวิชาการระหว่างการสนทนาทางวิทยุเมื่อสิงหาคม 2007 (ที่มา: Jakarta Post)

          ก่อนจบเรื่องของอินโดนีเซีย เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ด้านการสื่อสารของประเทศไทย ตัวอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นอาจไม่ใช่แปลก น่าตื่นเต้น ขอย้ำว่าที่ได้ไปศึกษาการขับเคลื่อนสังคมผ่านสื่อนั้นเป็นช่วงปี 2003 - 2005 ในช่วงนั้น ไวร์เลส อินเตอร์เน็ต ไว-ไฟ (Wi-Fi) ทั้งหลายยังไม่มี ในสถานการณ์ขณะนั้น อาจารย์คนหนึ่ง ทว่าทำงาน เป็น NGO จบจากสถาบันเทคโนโลยีบันดุง ซึ่งสถาบันเทียบเท่ากับสถาบัน MIT สหรัฐฯ เป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์มือหนึ่ง ก็พยายามไปเรียกร้องกระทรวงไอซีทีของอินโดนีเซียว่า จะต้องทำเรื่องอินเตอร์เน็ท ให้บริการชุมชน หมู่บ้านที่อยู่รอบนอก เพื่อการศึกษาเขาเน้นอย่างนี้ ปรากฏว่านโยบายเหล่านี้ไม่เป็นที่ตอบรับ บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ก็ไม่สนใจ เขาก็เลยร้อนวิชา มีความรู้ เขาบอกว่าไม่ยาก ไปตั้งจานเล็กๆ สามารถส่งในรัศมี หมู่บ้านขนาดเล็กได้เลย ประมาณสัก 5-10 ตารางกิโลเมตร แล้วก็เดินสาย ถ้าสายข้ามถนนไป ก็ต้องวิ่งเอาอะไรไปพัน ไม่ให้รถวิ่งไปแล้วกระแทก ไม่ให้ท่อใยแก้วเขาเสียไป ปรากฏว่าก็ทำได้ผล ไปติดตั้งไวร์เลสอินเตอร์เน็ทได้ คิดค่าสมาชิกสัก 30 เหรียญ ก็ประมาณ 1,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าแพง ซึ่งก็ไปได้กับหมู่บ้านชนชั้นกลางหน่อย ก็ทำได้ดีพอสมควร เขาก็อยากทดลอง อยากให้รัฐบาลเห็นว่าทำได้และเป็นบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ แต่พอหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการบริการอินเตอร์เน็ทในประเทศอย่างกว้างขวางโดยธุรกิจคมนาคม เขาก็เลิกเพาระไม่สามารถแข่งขันได้ แต่เขาก็สามารถทำให้คนเห็นเหมือนกับการสำรวจตลาดให้บริษัทขนาดใหญ่ด้วยซ้ำไป แท้ที่จริงแล้วประชาชนท้องถิ่นมีความต้องการ แล้วก็บ้านที่มีลูกๆ เรียนหนังสือ แทบทุกๆ บ้านเลยอยากจะใช้ เพราะรู้ว่ามันเป็นประโยชน์ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของอินโดนีเซียที่ได้ไปลองศึกษามา

กรณีศึกษาฟิลิปปินส์

          ประเทศฟิลิปปินส์ตกอยู่ในอาณานิคมของสเปน 400 กว่าปีนานมาก จากนั้นก็มาตกอยู่ภายในของสหรัฐฯ อีกหลังสงครามโลก เขามีชื่อเล่นว่า “ไข่มุกแห่งตะวันออก” คือเป็นที่ต้องการแก่นักเดินเรือ พ่อค้า บริษัทการค้า เพราะภูมิศาสตร์เป็นจุดยุทธศาสตร์ แล้วก็มีความอุดมสมบูรณ์ คือทั้งอินโดนีเซีย ทั้งฟิลิปปินส์ ล้วนแล้วแต่เป็นหมู่เกาะขนาดใหญ่ทีเดียว ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่มาใกล้ทางชายฝั่ง ในด้านของประเทศฟิลิปปินส์ ถ้าเวลาพูดถึงสื่อของเขาจะภูมิใจมากๆ เพราะสื่อเขามีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการปลดปล่อยประเทศออกจากความเป็นอาณานิคม ผู้ที่ถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งเอกราชคือ “โฮเซ่ ริซัล”(Jose Rizal) เป็นคุณหมอมาจากครอบครัวมีฐานะดี มีความร่ำรวย แต่ว่ามีแรงบันดาลใจที่จะต่อสู้ โดยหนังสือสองเล่มของเขาชื่อ Noli Me Tangere หรือ “อันล่วงละเมิดมิได้” ใครสนใจหาอ่าน 400-500 หน้า เล่มหนาแต่ก็สนุกมาก และอีกเล่มคือ El Filibasterismo

ปกหนังสือ "อันล่วงละเมิดไม่ได้" ฉบับแปลไทย

          สื่อหนังสือพิมพ์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศ ปลดปล่อยให้มีอิสระ เขาเรียกว่า 'โพรพากานดามูฟเมนท์' (The Propaganda Movement) คือขายความคิดว่าประเทศต้องมีอิสระแล้ว แล้วต้องมีความสมานฉันท์ ร่วมมือร่วมใจ Solidarity ในการที่จะรื้อถอนอำนาจเก่า ถึงเขาจะอยู่มานานเราก็ทำได้ ก็มีความเชื่อมั่น ตอน “โฮเซ่ ริซัล” เขียนหนังสือขณะเรียนอยู่ต่างประเทศด้วย เขียนไปทิ้งต้นฉบับไปก็มีแต่ว่าสุดท้ายเอากลับมาแอบตีพิมพ์ ที่จริงก็เป็นหนังสือต้องห้ามด้วย เป็นหนังสือต้องห้ามสองเล่มแรกของประเทศเขาเลย ต้องแอบอ่าน ต้องขโมย แล้วก็ถูกจับได้เอาไปเผาทิ้ง ต้องขโมยเข้าประเทศ ไปพิมพ์ในต่างประเทศ คืออ่านแล้วมีความยากลำบากมีสูงมาก แถมยังถูกถากถางว่า เขียนหนังสือเขียนนิยาย มันจะไปปลดปล่อยประเทศให้เป็นเอกราชได้อย่างไร

          แต่เขาไม่รู้ว่าต่อมามันเป็นระเบิดทางความคิด พูดง่ายๆ ทำให้คนเริ่มกล้าคิดวิจารณ์ศาสนจักร เพราะคนที่ปฏิบัติการในฟิลิปปินส์ คือ บรรดาบาทหลวง ซึ่งร่ำรวยที่ดิน ทรัพย์สินต่างๆ แล้วเขาวิจารณ์ว่า พวกเหล่านี้ คือพวกที่มาครอบงำความคิด กดขี่ประชาชนของเขา ในช่วงแรกเป็นแบบนั้น ทีนี้ตัดมาสู่ช่วงสมัยประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ประธานาธิบดีเฟอดินาน มากอส หลังจากได้รับเลือกตั้งมา ก็ได้รับความนิยมมาก็จะแก้ธรรมนูญ ถูกคัดค้านก็เลยยึดอำนาจประกาศกฎอัยการศึก ปี 1972 ช่วงนั้นมีการปิดกั้นสื่อสูงมาก แล้วก็ประมาณปี 1986 แต่การคัดค้านเริ่มประมาณ 1983 ในช่วงที่ผู้นำฝ่ายค้านถูกยิงเสียชีวิต ตอนเดินทางกลับประเทศ ในช่วง 10 กว่าปี ของประธานาธิบดีมากอสเป็นช่วงที่ปิดกั้นสื่ออย่างสูง

          สิ่งหนึ่งที่พวกเราอาจจะเรียนรู้ เป็นยุคที่กอสซิบ (Gossip) การซุ่มนินทาทางการเมือง นิทานตลกทางการเมืองเกิดขึ้นเยอะมาก คือตลอดเวลาไปเรียนหนังสือต่างประเทศจะมีเพื่อนฟิลิปปินส์ ซึ่งจะพกเอาโจ๊ก เรื่องขำขันทางการเมืองมาเล่าเยอะแยะ แล้วทุกวันนี้เราก็เอามาดัดแปลง เช่น ถ้าบอกว่าให้อยู่บนเรือบิน จะโยนนักการเมือง 3 คนไปจากเรือบินลำนี้จะเลือกใครก่อน โจ๊กนี้ก็มาจากฟิลิปปินส์ ส่วนอีกเรื่องที่ตกนรกแล้วทำไม “มากอส” ไม่จมข้างใต้สุด ก็เพราะว่าไปยืนอยู่บนไหล่ของเมีย ประเทศเขาจะร่ำรวยการล้อเลียนมากเลย คือไม่รู้จะแสดงความรู้สึกที่จะประท้วง คัดค้าน การใช้อำนาจแบบเผด็จการ ของประธานาธิบดีมากอสอย่างไร ก็ใช้วิธีการพูดอย่างขำขันการเมือง ภาพวาดการ์ตูนการเมืองพวกนี้เต็มไปหมด แต่สมมติว่าพูดเสียงดังอยู่ อย่างเดินกันสวนกันในที่สาธารณะเดินกันเสียงดัง พูดเรื่องนี้ก็จะเดินเบาๆ เขาจะกลัวมาก ขนาดพูดในต่างประเทศ เพราะฉะนั้นบรรยากาศในช่วงอย่างนี้ ในแต่ละประเทศที่ผ่านมา การเข้มงวด เซนเซอร์ (Censorship) การแสดงความคิดเห็นมีสูง

          อันนี้ก็หลังจากประธานาธิบดีมากอสขึ้นมาเถลิงอำนาจ เขาบอกว่าสื่อที่เป็นอิสระ มันก็ถูกเปลี่ยนไปเป็น Crony Press คือ ถูกซื้อไป ถูกเข้ามาถือหุ้น ให้เพื่อนๆ ที่เป็นบรรดานายทุนใหญ่ เป็น Crony Press คือเพื่อนๆ ทั้งนั้น หมายความว่า หนึ่ง ได้ธุรกิจ ไม่ต้องฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะไม่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่แล้ว สภาพก็เปลี่ยน เราจะเห็นว่าของซูฮาร์โตนั้น ก็จะเปลี่ยนจาก Political Press เป็น Commercial Press ค้าขายแสวงหากำไรไป พูดการเมืองน้อยๆ หน่อย คล้ายๆ กัน

            อันนี้ทางวรรณกรรมของเขาจะยกย่องอีกอันก็คือว่า Mosquito Press สื่อเล็กๆ ไปพวกเสียงนกเสียงกา ตัวใหญ่กว่าหน่อย ของไทยบอกพวกเสียงนกเสียงกาอย่าไปฟัง อันนี้เสียงวิ้งๆ ของยุง ก็ทำให้อำนาจถูกกัดกร่อนได้เหมือนกัน ในช่วงก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ ในปี 1983 บรรดาสื่อเล็กๆ ที่ถูกปิดกั้น ก็ไม่ไหวแล้ว ก็ใช้วิธีตอดเล็กตอดน้อย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นฉบับเล็ก หรือไม่ก็ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ จะเห็นว่าในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัยชื่อ Philippine Coolegian ก็มาจากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ UP (University of Philippine) ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ฉบับที่เป็นไครซิสเดย์ (Crisis day) ก็จะมีภาคธุรกิจเข้ามาร่วมด้วยโดยจะมีศักยภาพสูง

          ยังมี Radio Veritus สถานีวิทยุที่พูดความจริง ก็เป็นเสียงที่มาจากสังคมณฑล หลายท่านอาจจะได้ยินเสียง “พระคาร์ดินัลโนสิส” เป็นตัวนำ แล้วก็จะเป็นตัวที่ส่งเสียงออกไปบอกประชาชนว่า ทหารกำลังจะมาแล้ว ในวันที่เดินขบวนใหญ่ แล้วก็มีจุดเริ่มต้นของ Weekly Inquirer ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่หลังเปลี่ยนแปลง เขาจะเรียกของเขาว่า EDSA  มันเป็นถนนใหญ่ ใจกลางเมืองมะนิลา ก็เป็นที่ที่ถูกใช้เป็นศูนย์กลางการเดินขบวนประชาชน ก็เลยเขาเรียกย่อๆ ว่า  EDSA

EDSA revolution

            1986 เป็นการปฏิวัติประชาชนครั้งที่ 1 EDSA Revolution ตัวอย่างของเขาเราจะเห็น รอบแรกสื่อขนาดเล็กของเขาก็คือ เป็นวิทยุของพระ วิทยุทางศาสนา ก็จะบอกว่าขอให้ทุกคนเข้ามาต่อสู้กับประธานาธิบดีมากอส เพราะเขากำลังจะเอากองทหารออกมา เพราะถ้าไม่มีคนออกมามาก จะใช้อาวุธ แล้วก็จะยิงคนตาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคนออกมาจำนวนมาก แม่ชีคุกเข่าสวดมนต์อยู่หน้ารถถัง ก็ทำให้พลทหารที่ขับรถถัง แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า จะต้องเข้าผ่านซอยต่างๆ เข้าไป ประชาชนก็ล้อม รถถังก็ขยับไม่ได้ ก็เลยชะงักไป แล้วก็ด้วยความที่รัฐบาลมีสื่อของตัวเอง มีช่อง 4 ช่อง 9 บีทีวี แล้วก็มี Crony press ก็ใช้ช่อง 4 กับช่อง 9 สู้กันกับสถานีวิทยุของพระ เพื่อที่จะบอกว่าเขาไม่ได้ทำอะไรประชาชนอย่าออกจากบ้าน แต่ว่าในทางกลับกันสื่อทางเลือกที่เราพูดถึง ก็คือสื่อขนาดเล็ก สื่อที่เป็นอิสระก็เชิญชวนบอกกล่าวข้อมูล บอกว่าให้ประชาชนออกมา อันนี้ก็ถือว่าเป็น people power เขาก็จะมีการตั้งชื่อของเขา

            ทีนี้เรามาดูครั้งที่ 2 ในปี 2001 EDSA 2 ในช่วงของสมัยประธานาธิบดีเอสตราด้า สื่อใหม่ในช่วงนั้นคืออะไรบ้าง โทรศัพท์เริ่มเป็นที่นิยม แต่ก็ยังแพงอยู่เหมือนกันปรากฏว่าที่ประเทศนี้ SMS เขาราคาถูกมากๆ ไม่ถึงบาทนึง 50 สตางค์ก็มี กลายเป็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ SMS แพงที่สุด ไม่รู้ว่าที่สุดในโลกรึเปล่า แต่ที่สุดในภูมิภาค แล้วยิ่งไปส่งเข้าไปเชียร์ใครต่อใครในรายการต่างๆ ยิ่งแพงใหญ่เลย เขาจะส่งเสริมให้คน text (ส่งข้อความ) 50 เซนต์ แล้วเขาก็ใช้อินเตอร์เน็ท เขาใช้เป็นหลายชั้น ก็คือว่าใช้สื่อกระแสหลัก แล้วก็ใช้ ก็กระจายออกไป เหมือนมีร้านค้าปลีก ร้านค้าย่อย ไปจนถึงตัวเลย SMS ส่งถึงตัวเลยทุกคน เขาก็จะมีส่งว่าวันนี้เราต้องการคนมาอยู่ที่ EDSA กี่คน คนจะมา ซึ่งเราก็เห็นว่าประเทศไทยก็อาจจะเลียนแบบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การระดมคน เราก็เลียนแบบจากประเทศเพื่อนบ้าน ค่อนข้างจะเห็นได้ชัด เขาก็จะมีลักษณะสองอย่างด้วย ก็คือว่ามีการระดมกันให้แสดงเสียงการคัดค้านในอินเตอร์เน็ทด้วย ให้ลงชื่อขอถอดถอนประธานาธิบดีเอสตราด้าออกจากตำแหน่ง โดยขอรายชื่อหนึ่งล้านรายชื่อ คนฟิลิปปินส์ที่อยู่ต่างประเทศมีเยอะ เพราะฉะนั้นเขาขอหนึ่งล้านรายชื่อตอนนั้นค่อนข้างเร็ว แล้วก็จะขอให้มีคนไปเยอะๆ เขาจะหนึ่ง-ห้าล้านคน ผลัดเวียนกันไปที่ EDSA

SMS อาวุธโค่นรัฐบาลเอสตราดา

            ความที่ระบบโทรคมนาคมสามารถเก็บสถิติ เขาก็เลยรู้ว่า text massage ในช่วงนั้นมีจำนวนสูงมาก 1.16 พันล้านข้อความ เยอะมาก มีหนังสือที่ออกมาเกี่ยวกับ texting ที่จะทำให้เรารู้ว่าการใช้ข่าวสารเหล่านี้ มันระดมคนทำให้เกิด active citizen ขึ้นมาได้ อันนี้เปรียบเทียบกระบวนการสื่อสารของ EDSA 1 กับ EDSA 2 เวลาก็ห่างกันซักประมาณ 20 ปี ไม่ถึง 20 ปี ก็คงจะเหมือน 2535 ของเรา กับช่วง 2550 ห่างกัน 10 กว่าปี 20 ปีประมาณ ในรอบการเปลี่ยนแปลง ครั้งแรกลักษณะก็คือประชาชนเขามีความเชื่อ ก็คือพระมาบอกว่าประธานาธิบดีมากอสไม่ควรอยู่ต่อไปแล้ว แต่ว่ารอบที่ 2 มีลักษณะเปิดกว้างขึ้น มีองค์กรที่เป็น NGO องค์กรที่มีเครือข่ายในทางสาธารณะเข้ามาระดมคนมากขึ้น

            เพราะฉะนั้นถ้าเรามองในการสื่อสารมันบนลงล่าง (top down) ลงกว่าเดิม มีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ว่าเป็นชนชั้นกลาง ถ้ามองย้อนกลับไปเราจะพบว่า กลุ่มที่ดำเนินการเรื่อง EDSA 2 ค่อนข้างเป็นชนชั้นกลาง

          ในขณะที่กลุ่มที่เลือกประธานาธิบดีเอสตราด้าเข้ามา รักในความเป็นประชาชนของเอตรสาด้า เขาเป็นนักแสดง เป็นพระเอกหนังบู๊ที่มีผลงานเยอะ ประชาชนรัก กลุ่มคนจนจะรู้สึกว่าสูญเสีย เมื่อประธานาธิบดีเอสตราด้าถูกขับไล่ออกจากตำแหน่ง แล้วหลังจากนั้นถูกจับกุม แล้วก็พาขึ้นไปทำประวัติอาชญากรที่สถานีตำรวจ ข่าวมันก็ออก ถ้าเผื่อเราจะจำได้ก็คือว่าพาไปแล้ว เอาไปยืนถ่ายรูปตรงที่ยืนถ่ายรูปมันจะมีมาตรวัดเหมือนว่าส่วนสูง สูงเท่าไหร่ ภาพนั้นออกไป บรรดากลุ่มประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้กับประธานาธิบดีเอสตรารู้สึกว่าทำกับผู้นำที่เขาลงให้คะแนนให้เกินไปไหม

          ดังนั้น กลุ่มที่เลือกประธานาธิบดีเอสตราด้าไปก็รวมตัวกันเดินขบวนไปที่ทำเนียบ แล้วก็คัดค้านการจับกุม แล้วก็จะคุมขัง แต่สุดท้ายเขาเอาไปที่กักกันเฉพาะไม่ได้เอาเข้าไปในเรือนจำ แต่ตอนนั้นประธานาธิบดีผู้หญิงคนที่สอง คือ อาโรโย่ รู้สึกว่าจะใช้กำลังปราบรามที่หน้าทำเนียบ แต่ปรากฏว่าในบันทึก ในวรรณกรรมต่างๆ ไม่พูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซักเท่าไหร่นัก ถามใครใครก็ไม่อยากพูด

          ถามเขาว่าจะเรียกว่า EDSA 3 ได้ไหม เขาตอบว่าไม่ได้ ดังนั้นเราจะเห็นว่าประวัติของเขาก็จะไปถกเถียงกันใหม่ว่า ถ้าอย่างนั้นมันจะเป็นอย่างไร เพราะว่าพอเหตุการณ์ผ่านไปการเกิดรัฐประหารปี 2550 เกิดการขับไล่นายกฯ ที่เกิดจากการเลือกตั้งออกไป ขับไล่คุณทักษิณออกไป แล้วเกิดกลุ่มเสื้อแดง เราก็นึก เอ้า! มันคล้ายๆ นะ มันมีเหตุการณ์วัฏจักแบบนี้เกิดขึ้นเช่นเดียวกันว่า ความไม่ลงรอยของกลุ่มอำนาจชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง การใช้มติจากการเลือกตั้ง มันไม่ได้ทำให้เป็นการชี้ขาดทางการเมือง ในสังคมอุษาอาคเนย์ยังไม่ลงตัว 100 เปอร์เซ็นต์ หลักเกณฑ์นี้จะเป็นหลักเกณฑ์ แม้ว่าเขาจะทำให้ทหารกลับเข้ากรมกองได้แล้ว

          ในช่วงประธานาธิบดีโคราซอน อาคีโน เขาบอกว่าทหารออกมาจากกรมกองซัก 10 ครั้งได้ ปีเว้นปี ออกมาเรื่อยเลยพยายามมาก จนกระทั่งสุดท้าย ทหารรู้แล้วว่าทำไม่ได้ แต่ชนชั้นกลางก็ยังไม่ได้ผู้นำดังใจ ไปได้นักแสดงหนังบู๊มาเป็นประธานาธิบดีแล้วก็ไม่บริหารประเทศ ชอบเล่นไพ่ มีภรรยาหลายคน ไม่เข้าข่ายคนดี ดังนั้นการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด ดังนั้นก็โอเคเปลี่ยนประธานาธิบดีอาโรโยเธอก็โดนคดีเหมือนกัน

          การเมืองของฟิลิปปินส์กับไทยก็น่าเปรียบเทียบศึกษาเหมือนกันว่า อำนาจในการตัดสินในทางการเมืองของคนกลุ่มไหนในสังคมที่จะมีพลัง สามารถสืบทอดอำนาจทางการเมืองให้ครบไปถึงวาระแต่ละครั้งได้ จะเห็นว่าสื่อมีส่วนอย่างยิ่ง ดูสื่อนอกเรื่องไปยาวไกล สื่อที่ทำให้ EDSA 2 ประสบความสำเร็จ อันนี้ก็จะบอกว่า การใช้สื่อขนาดเล็ก อย่าง SMS อย่างอินเตอร์เน็ท ก็คือว่าเป็นเครือข่ายการสื่อสารในระดับส่วนบุคคล ทั้งโทรศัพท์เอย SMS เอย ที่เราติดต่อกับเพื่อนเฉพาะเครือข่าย เรื่องส่วนตัว มันถูกใช้เป็นพื้นที่ของการกระตุ้นความเป็นสำนึกพลเมืองความเป็นการเมืองออกมาสูง แล้วเขาก็จะมีกลุ่มลักษณะพันธมิตร KOMPIL กับ BAYAN คนละสี คือ BAYAN ค่อนข้างจะออกไปทางชาตินิยม แล้วก็ฝ่ายซ้ายหน่อย KOMPIL จะชนชั้นกลางหน่อย ก็จะเป็นตัวเครือข่ายกลางที่จะไประดมคนมา ตัวที่จะทำให้เกิดกระแสในการกดดันประธานาธิบดี เปิดโปงว่ามีการคอรัปชั่น มีการให้สินบน แล้วก็มีการรับสินบนสลาก หวยใต้ดิน ทุกเดือนจะมีการจับได้ แล้วก็เอาเงินสดไปให้ที่ทำเนียบเป็นกระเป๋าๆ แล้วก็พอถูกพิจารณาไปให้การในรัฐสภา ไม่ใช่ประธานาธิบดีนะ คนที่ไปให้เงิน ก็ไปรับสารภาพ เพราะฉะนั้นมันก็มีหลักฐาน

          สื่อที่ทำเรื่องนี้คือ PCIJ (Philippine Center for Investigative Journalism) เขาใช้ลักษณะที่เจาะข่าว วิธีทำของเขาก็คือไปใช้ pubic record ก็คือ ไปตรวจดู เช่น ไปตรวจดูทะเบียนบริษัท ไปตรวจดูผู้ถือหุ้น ดูว่าเครือญาติประธานาธิบดีไปถือหุ้นอยู่ในไหน ไปผูกกันกับผู้รับสัมปทานรายได้ ทำโครงการขนาดใหญ่ที่ไหน แล้วก็ไปถามเจาะลึกกับคนที่จริงใจที่จะให้ข้อมูล ไปถามชาวบ้าน เช่น บอกว่าจะสร้างบ้านใหม่ให้กับภรรยาน้อย ไปเอาทรายมาจากที่สวยที่สุด เพื่อที่จะทำคลื่นเหมือนกับหาดทรายที่มาจากชายทะเล เขาก็จะไปถามชาวบ้านแถวนั้นให้เขาเล่าให้ฟัง บางคนก็กล้าพูด บางคนก็ไม่กล้าพูด เขาก็ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เก็บ จนข้อมูลครบถ้วน เขาถึงจะเปิดเผยออกมาว่ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น

          ดังนั้น ข้อมูลของ PCIJ ถูกดึงไปใช้ในตอนที่กรรมาธิการรัฐสภาไปตรวจสอบประธานาธิบดี จะต้องคอยส่งแฟกซ์ข้อมูลเกือบจะตลอดเวลาตอนนั้น เพราะว่าข้อมูลเก็บอยู่ที่นี่ ในตอนนั้นเขาจะมีทั้งเว็บไซต์ ทั้งแมกกาซีน แล้วก็มี I-SITE คือมีตัวที่จะคอยตรวจสอบนักการเมืองและประธานาธิบดี แล้วก็ทำเนื้อหาออกไปสู่สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ หรือหนังสือพิมพ์กระแสหลัก ทำเป็น feature story ทำเป็นรายงานเจาะลึก ยาวๆ หน่อย เพราะฉะนั้นก็ทำให้สังคมเริ่มเรียนรู้ แล้วก็เริ่มอ่านรายงานชิ้นยาวๆ อ่านข้อมูลที่เสนอแบยากๆหน่อย เจาะลึกหน่อย

          สุดท้ายแล้ว คุณชีลา โคโลเนล (Sheila Coronel) ก็ได้รางวัลแม็กไซไซในปี 2003 เขาบอกว่ารายงานของเขาต้องเข้าไปเจาะลึกข้อมูล แล้วก็ทำให้รัฐบาลของเขาต้องมอบกฎหมายเหล่านี้กลับมา คือเหมือน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของเรา ตอนที่เขาทำงานเขาก็เล่าให้ฟังว่า มีนักศึกษาฝึกงาน แล้วก็ส่งไปที่สำนักงานที่เป็นกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นที่จดทะเบียนการค้าก็ส่งไปเข้าแถว ข้อบังคับของทางโน้นเข้มงวดหน่อยก็คือว่าคนหนึ่งขอได้ 3 เอกสาร เขาก็ต้องส่งคนไปยืนเรียงกันหลายคนทีเดียว กว่าจะได้เอกสารมาตามที่เขาอยากได้ เพราะว่าคนหนึ่งขอได้ 3 ชิ้นต่อวัน มันได้น้อยมาก เขาจะไปวิเคราะห์ สังเคราะห์อะไรไม่ค่อยได้ ก็ได้อาศัยว่ามีคนไปฝึกงานที่จะช่วยเขาได้ เขาก็บอกว่าวิธีการอย่างนี้ ก็ทำให้ผู้มีอำนาจต้องมาตอบคำถาม แล้วก็ทำให้เขารู้ว่า การเอาข้อมูลอย่างนี้มาออกอากาศไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาท ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่า สิ่งที่เผยแพร่เป็นลักษณะโคมลอย ดังนั้นก็ไปเอาสิ่งที่เป็นข้อมูลหลักฐานมา เจ้าหน้าที่ที่ทำข้อมูลฝ่ายของเขาเก่งมาก มีคนเดียว แต่ว่าก้มหน้าก้มตาทำทั้งวันเลย ออกแบบตารางเก่ง เอาข้อมูลมาสอบทานกัน

ในปี 2000 PCIJ เริ่มต้นทำข่าวสืบสวนสอบสวนเพื่อเปิดเผยการคอรัปชั่นขนานใหญ่ของโจเซฟ เอสตราด้า ประธานาธิบดีในขณะนั้น ชุดรายงานข่าวชุดนั้นถูกใช้ในการสอบสวนคดีถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งในปี 2001 

          ดังนั้นสิ่งที่ PCIJ ตั้งคำถามกับประธานาธิบดี แล้วทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามเรื่องนี้ด้วย ก็คือว่า ประธานาธิบดีเอสตราด้าร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างไร ดูแล้วคล้ายคุณทักษิณอยู่ไม่น้อย แล้วในวันที่มียื่นถอดถอนในสภา เขาถ่ายทอดสดตลอดเวลาของการไต่สวน เขาบอกว่าเรตติ้งของละครโทรทัศน์ตกหมดเลย ทุกคนกลับบ้านไปดูถ่ายทอดไต่สวนประธานาธิบดี เขาไต่สวนกันในรัฐสภา ไม่ใช่ในศาล ของเขาก็คือว่าสภาใช้อำนาจศาลในการไต่สวน แล้วก็ในการที่มีการประท้วงกดดัน เพราะว่าตอนแรกๆ 1. ไม่ค่อยมีใครกล้าลงชื่อ เพื่อยื่นถอดถอน 2. ในระหว่างที่มีการไต่สวนแล้วก็จริง ยังต้องสร้างแรงกดดันด้วย ทั้งการเสนอข่าว ทั้งมีการชุมนุมประท้วง มิเช่นนั้นแล้ว พวกเขาอาจจะรู้สึกว่ามีการยอมกัน รอมชอม ประนีประนอมกัน ไม่ยอมลงมติถอนถอดประธานาธิบดีเอสตราดร้า

          มีจุดตายของเขาอีกอันนึงก็คือว่า ไปพบว่ามีการเซ็นต์เช็คปลอมด้วย ก็สามารถเอาเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินไปยืนยัน เพราะฉะนั้นหลายอย่างถือว่าผิดกฎหมาย ถึงสามารถมีหลักฐานที่จะถอดถอนประธานาธิบดีได้ ทีนี้เรายกตัวอย่างเหล่านี้มา เพื่อจะดูว่ากระบวนการทำงานของเขาก็คือว่า พยายามที่จะทำให้เครือข่ายการสื่อสาร ลักษณะการสื่อสารมีการขยายออกไปในระนาบเดียวกัน ทุกคนเข้าถึง มีความเท่าเทียม เป็นกระบวนการสร้างประชาธิปไตย (Democratization) ของลักษณะของโครงสร้างสื่อ

          การใช้เทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ก็เอื้ออำนวยให้เกิดการสื่อสารที่สามารถที่จะคุยในระนาบเดียวกันได้มากขึ้น อีกวิธีหนึ่งที่จะทำได้ก็คือ ไปปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองภายใน ระบบการสื่อสารหรือระบบโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร แล้วก็วัฒนธรรมการสื่อสาร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะ แล้วก็เข้ามีไปลักษณะของการสร้างสำนึกตระหนักรู้ แล้วก็สร้างอำนาจให้กับประชาชนที่มีความเป็นพลเมืองที่ตื่นตัว (active citizen)

          แล้วก็มีสื่ออื่นด้วยนะ ดูมาที่ EDSA เป็นตัวหลัก สื่ออื่นของเขา สื่ออื่นของเขาก็จะเจอว่า หมู่เกาะปาลาวัน (Palawan) ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่ปะการังที่เป็นอันดับสองรองจากออสเตรเลีย ที่เขาอนุรักษ์ไว้ อันนั้นก็จะมีพวกที่ไปทำประโยชน์ผิดกฎหมายหลายอย่าง เขาก็จะมีหนังสื่อพิมพ์ท้องถิ่นที่จะไปเปิดโปงทั้งเรื่องการทำป่าไม้ การไปทำอะไรกับทรัพยากรทางทะเล รายนี้ก็ถูกฟ้อง แล้วก็ถูกฟ้องในลักษณะเดียวกับที่เราเคยได้ยินในประเทศไทยก็คือว่า อยู่ที่ปาลาวันมันไกลมาก ต้องบินเข้ามะนิลา ค่าเครื่องบินเที่ยวหนึ่งก็หลายพันบาท เขาจะไปฟ้องที่มะนิลา แล้วก็เรียกไปให้การที่มะนิลา สุดท้ายให้การไปให้การมา เธอคนนี้ก็เลยย้ายมาอยู่ประเทศไทย เพราะไม่สามารถที่จะไปให้การในศาลได้ตลอดเวลา หมดตัว เขาเรียกค่าเสียหายข้อหาว่าคุณลงหัวข้อหมิ่นประมาท เพราะฉะนั้นจะโดนเล่นงานค่อนข้างรุนแรง แต่ถ้าเป็นทางใต้จะถูกยิง นักวิทยุจะถูกยิงสูงสุดในฟิลิปปินส์

ความขัดแย้งที่มินดาเนา

          ทีนี้ในฟิลิปปินส์ขอแถมท้ายนิดนึงก็คือว่า ไปที่มินดาเนา แต่ไม่ได้เขียนขึ้นมา เพราะรู้สึกว่าแป๊บเดียว ยังไม่เข้าใจสถานการณ์ของนั้น ก็ได้อ่านวรรณกรรม ก็ได้พบผู้คนบ้าง แต่ว่าหนึ่งสัปดาห์เราไม่สามารถทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่มันสลับซับซ้อน สู้รบกันมานานมาก แล้วก็มันอยู่ในช่วงเคยมีการตกลง มีอำนาจการปกครองตนเอง (Autonomy) มาส่วนหนึ่ง มีการลงมติไปแล้วครั้งหนึ่งที่ว่ามี 6 จังหวัดที่จะขอปกครองตัวเองอีก 2 หรือ 3 จังหวัดไม่ร่วม ใช้วิธีการลงประชามติ (Referendum) แต่ว่าครั้งนั้นก็รู้สึกว่าดำเนินการไปไม่ได้เท่าไหร่ แล้วในช่วงประธานาธิบดีเอสตราดร้าก็มีการยุติกระบวนการสันติภาพ แล้วก็มีการทำสงครามกันใหม่กับอีกกลุ่มหนึ่ง

          ทีนี้สถานการณ์ตอนนั้นออกจะตึงเครียดอยู่ เพราะว่ารัฐบาลกลางส่งกำลังรบลงไปมาก ก็ไปคุยอยู่ 2 ส่วน ก็คือส่วนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เป็น NGO คือเขาเรียกว่าเป็นพวกที่ไปรับประกันสันติภาพ ก็คือว่าไปเรียกร้อง แล้วก็พยายามทำตัวเป็นคนกลาง คือถ้าเวลามีการรู้ข่าวมาว่าทหารกำลังจะไปปิดล้อมหมู่บ้าน กำลังจะส่งทหารเข้าไป แล้วเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีอะไร ไม่ได้อยู่ในโซนที่ MILF หรือ MNLF ก็จะส่งคนที่เป็นคนของ NGO กลุ่มนี้เข้าไป แล้วก็ไปช่วยอพยพคนออกมา หาที่ปลอดภัยให้อยู่ ในช่วงที่ไป คืนนั้นได้ข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะส่งกองกำลังเข้าไปปิดล้อม เขาก็กำลังชุนละมุน บอกว่างั้นไปแล้วนะ ปิดออฟฟิศว่าจะไปแล้ว ก็ถามเขาว่าขอไปด้วยได้ไหม เขาก็บอกว่าไม่ได้ รู้สึกว่าเขาเกรงว่าจะรักษาความปลอดภัยให้เราไม่ได้ เราไปเก้ๆ กังๆ เราดูอะไรไม่ออก ไม่รู้เรื่องรู้ราว แต่เขาเล่าให้เราฟังว่าเขาจะไปทำอะไรบ้าง จะต้องไปตอนดึกๆ ก็เข้าไปอย่างเงียบๆ ไปดู ไปเตรียมตัว ไปส่งข่าว แล้วก็ก่อนรุ่งสางก็ค่อยๆ พากันอพยพออกมา

           เขาบอกว่าปรากฏว่าที่ผ่านมา สำหรับพวกเขาแล้ว เขาเจอว่าชาวบ้านบางหมู่บ้านอพยพซ้ำหลายครั้งมาก กลับไปก็จะถูกปิดล้อมอีก ก็จะออกมาอีก แล้วเขาก็หาที่ปลอดภัยให้อยู่ไม่ค่อยได้ ก็กลายเป็นว่าความยากลำบากของคนที่อยู่ในโซนสงคราม คือไม่มีที่ที่จะอยู่อาศัย สมบัติต้องเตรียมพร้อมที่จะอพยพเดินทางได้ทันที อันนั้นก็คือเป็นการประกาศสงครามกันอย่างชัดเจน อยู่ในซีกทางตะวันตกของเกาะมินดาเนา ถ้าเราจะดู ก็คือทางตะวันออกจะเป็นพื้นที่ที่เป็นกลุ่มประชากรชาวคริสต์ จะค่อนข้างไม่มีเหตุพอฝั่งตะวันตกไป บางเมืองเขาจะรู้กันเลยว่าเขตแดน เข้าไม่ได้ ทหารก็จะเข้าไม่ได้ เพราะว่ากองกำลังอยู่ ป่าลึกๆ กองกำลังก็จะคุมอยู่

มินดานิวส์: สื่อในสถานการความขัดแย้งที่มินดาเนา

          ทีนี้มีเรื่องของการสื่อสาร ก็คือมินดานิวส์ (Mindanews) ก็คือองค์กรสื่อที่เกิดขึ้นเพราะว่าสื่อส่วนกลางไม่ตอบรับกับกระบวนการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ความเข้าใจคุณแคโรไลน์ (Carolyn O. Arguillas) แกอยู่กับหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่ คือ Philippine Inquirer มาก่อน แล้วก็ดูการทำงานข่าวภาคใต้ เป็นหัวหน้าใหญ่ของภาคใต้ เขามาจากมินดาเนา แล้วเขาก็รู้สึกว่า ทำไมเขาจะต้องรายงาน ผู้สูญเสีย บาดเจ็บ แล้วหัวหน้าที่มะนิลาก็จะบอกว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตมากกว่าคราวที่แล้วไหม ขอให้มากกว่าคราวที่แล้วเขาถึงจะรายงาน ไม่อย่างนั้นเขาไม่รายงาน เขาก็รู้สึกคับข้องใจตลอด เขาบอกทะเลาะกันมาก จนกระทั่งเขาลาออก และก็ไม่บอกเขาซักคำว่า ถ้าเขาลาออกช้ากว่านี้หนึ่งสัปดาห์เขาจะมีบำนาญหรือเข้าข่ายสวัสดิการ ไม่มีใครบอกเขาเลย คือทุกคนแอบดีใจว่าเขาไปได้ก็ดี ตัวปัญหา คือไม่ทำงานข่าวตามที่หัวหน้าสั่ง แล้วก็มาตั้งคำถามจุกจิกจู้จี้อะไรกับหัวหน้ากองบรรณาธิการ สุดท้ายเขาก็เลยงั้นลาออก กลับไปอยู่บ้านที่มินดาเนา แล้วก็ตั้งมินดานิวส์ (Mindanews) ของเขาขึ้นมาเอง ในช่วงที่โอเค การรายงานออนไลน์และเว็บก็ดูยังไม่ทันสมัยและทำง่ายเหมือนสมัยนี้ ได้นำพาเอานักข่าวที่เป็นกลุ่มอยู่ในเครือของเขามาด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ว่าไม่ได้อยู่ประจำเมืองเดียวกัน อยู่ในเมืองต่างๆ สองสามเมืองในเครือบริเวณเดียวกัน

หน้าเว็บของ mindanews.com

          เขาค่อนข้างที่จะเข้าถึง เขารายงานข่าวจากทุกฝ่าย แล้วเขาทำได้จริง คือเขาจะโทรศัพท์ไปที่ผู้ก่อการได้หมด ฝ่ายการเมืองก็ได้ ฝ่ายแม่ทัพก็ได้ ฝ่ายที่เป็นฝ่ายโฆษณาก็ได้ ฝ่ายที่เป็นฝ่ายทหารก็ได้ เพราะฉะนั้นเขาสามารถที่จะเอาข่าว เอาข้อมูลมาจากทุกฝ่าย มาขึ้นในเว็บของเขาได้ ดังนั้น ทุกคนฝ่ายข่าวกรองของรัฐบาลฟิลิปปินส์เอง ของทหาร ของรัฐบาลต่างประเทศที่ติดตามอยู่ โดยเฉพาะสถานกงสุลสหรัฐสนใจมาก แคโรไลน์เขาก็จะบอกว่า เขาจะเขียนข่าวจนถึงดึกๆ เลย จนถึงตีสามเขาจะเอาข่าวขึ้นพวกอยากรู้ข่าวนี่ก็รอไปเถอะรอไป อยากรู้ใช่ไหมรอไป พอเอาขึ้นปั๊บ ตัวเขาก็เข้านอน แล้วคนที่เอาข่าวไป ไปอ่าน แล้วก็ไปวิเคราะห์ ดูว่ามีวิธีที่จะไปแก้ปัญหา แล้วก็จะต้องรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอะไรต่างๆ อย่างไร อันนี้ก็เป็นวิธีทำงาน เพราะเขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำ ไม่มีสื่ออื่นที่จะทำได้ ไม่มีใครที่จะเข้าไปเจาะ แล้วสร้างความเข้าใจ แล้วเอาข้อมูลออกมาตีแพร่ ให้คนได้คิดเอาไปไตร่ตรอง ไม่ได้ชวนให้ใครต้องมารบกัน ไม่ได้ชวนให้ใครต้องมาเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ

           โมเดลของมินดานิวส์เริ่มเป็นที่สนใจว่า ในพื้นที่ความขัดแย้งจะทำอย่างไรให้มีสื่อที่เป็นคนกลาง ที่ทุกฝ่ายไว้ใจ สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูล พูดในภาษาที่สื่อเห็นว่าจะสามารถสื่อสารกับคนต่างๆได้เข้าใจ ไม่สร้างความเข้าใจผิด หรือไม่มีอคติ เขาก็ทำได้ดีทีเดียว มีการตอบรับที่ดีแล้ว  ก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าการศึกษาแบบนี้สะท้อนประสบการณ์ของเขามาสู่ประสบการณ์ของเราได้ว่า แล้วเราพอจะมีแบบนั้นได้หรือไม่ แล้วเราทำขึ้นมาได้ไหม อยู่ในบรรยากาศที่พร้อม หรือไม่พร้อมอย่างไรซึ่งจะเป็นบทเรียนที่สำคัญในอนาคต

 

 

File attachment
Attachment Size
ubonrat_-_peoples_media_and_communication_rights.ppt (346.5 KB) 346.5 KB