Skip to main content
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล
คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
(หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เป็นบทเสวนาในการเสวนาโต๊ะกลม “บทบาทสื่อในพื้นที่อ่อนไหวต่อความมั่นคง” เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2556 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพมหานคร)
 
เมื่อกล่าวถึงบทบาทสื่อเพื่อสันติภาพ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ Peace journalism หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการเป็นสื่อเพื่อสันติภาพนั้นต้องนำเสนอแต่เรื่องในเชิงบวกและเรื่องที่ดี ๆ เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง เพราะสื่อเพื่อสันติภาพไม่ได้หมายถึงการละเลยเพิกเฉยไม่นำเสนอเหตุการณ์ความรุนแรง แต่เน้นว่าเราควรจะนำเสนออย่างไร และเน้นให้มีการนำเสนอแง่มุมต่าง ๆ จากหลากหลายมุมมอง และพยายามให้มีข้อมูลที่รอบด้านให้มากที่สุด เพื่อสร้างให้เกิดเป็นกลไกสนับสนุนการมองหา “ทางออก” จากความขัดแย้งรุนแรง ทั้งนี้ โดยหลักการแล้ว Peace journalism หรือความเป็นสื่อเพื่อสันติภาพนั้นถูกเสนอขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางใหม่ในการทำงานของวิชาชีพข่าวทั้งในลักษณะของสื่อมวลชน และรวมไปถึงการสื่อสารในรูปแบบอื่นๆ อีกด้วย อาจสรุปได้ว่าแนวทางของสื่อเพื่อสันติภาพนั้นมีเป้าหมายเพื่อการปฏิรูปหลักๆ 5 ส่วนด้วยกันคือ
 
1. การปฏิรูปแนวคิดเกี่ยวกับคุณค่าข่าว ที่ไม่จำต้องยึดติดกับคุณค่าข่าวตามทฤษฎีแบบดั้งเดิม ที่ใช้วัดคุณค่าจากความรุนแรงของเหตุการณ์ ความกว้างขวางของผลกระทบ หรือความตื่นเต้นเร้าใจจากความรุนแรงเท่านั้น แต่หลักการของสื่อเพื่อสันติภาพเน้นว่าเหตุการณ์ที่มีเป็นเชิงบวก สร้างสรรค์ หรือสันติภาพก็มีคุณค่าในเชิงข่าวที่ต้องนำเสนอเช่นกัน
 
2. การปฏิรูปการออกแบบวิธีการรวบรวมข้อมูลข่าว ที่ไม่ต้องยึดติดกับแหล่งข่าวที่มีอำนาจชื่อเสียงระดับสูง แต่ต้องมีการกระจายแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารไปสู่กลุ่มคนต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับความสำคัญมาก่อน
 
3. การปฏิรูปการใช้ภาษาในการนำเสนอข่าว ที่ไม่ต้องเน้นความเร้าอารมณ์ หรือสอดแทรกไปด้วยความคิดส่วนตัวและความเชื่อเบื้องหลังของผู้สื่อสาร
 
4. การปฏิรูปเป้าหมายการนำเสนอข่าว ไม่เน้นเพียงการนำเสนอเพราะมันเป็น “ข่าว” แต่จะนำเสนอเพราะข้อมูลนี้จะนำไปสู่การสร้างสันติภาพได้
 
5. การปฏิรูปองค์ความรู้ของผู้ปฏิบัติงานข่าว ที่ไม่เพียงแต่มีความรู้ในเชิงเทคนิคการสื่อสาร แต่ต้องมีความรู้เกี่ยวกับแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับสันติภาพและความขัดแย้งด้วย
 
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ สิ่งหนึ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่เสมอ ๆ ก็คือบทบาทของสื่อมวลชนและบทบาทของการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ที่มีบทบาททั้งในแง่ลบและแง่บวกต่อเหตุการณ์ในพื้นที่ ก่อนที่จะกล่าวลึกลงไปว่า ณ ขณะนี้บทบาทของการสื่อสารเพื่อสันติภาพเป็นอย่างไร ขอนำเสนอให้เห็นถึงสภาพการณ์ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาว่าได้เกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่แห่งนี้ และมีความเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตอะไรบ้างเกิดขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ข้อเสนอต่อสื่อที่จะกล่าวถึงในวันนี้ โดยขอแยกพลวัตที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
 
1. พลวัตของเหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรง ซึ่งนอกจากจะมีความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ของรูปแบบและระดับของความรุนแรงแล้ว ในขณะเดียวกัน เราก็ยังเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการจัดการปัญหาโดยภาครัฐที่มีความพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านจากการจัดการในทางการทหารมาสู่การจัดการในทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งอันนี้มีหลักฐานก็คือกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่เริ่มต้นกำลังดำเนินอยู่
 
2. พลวัตของกลุ่มประชาชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ในหลายพื้นที่เราเห็นการก้าวข้ามจากความเป็น “เหยื่อ” สู่ความเป็น “พลเมือง” ที่สร้างบทบาทและอำนาจของตัวเองในการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่มากขึ้น โดยใช้แนวทางการใช้สื่อและสร้างรูปแบบการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมพลังอำนาจความเป็นพลเมืองของตนเอง
 
3. พลวัตของสื่อมวลชนและการสื่อสาร ภาพชัดที่เราไม่อาจปฏิเสธได้ในแง่มุมนี้ก็คือ เราเห็นการถอยห่างจากพื้นที่ของสื่อมวลชนกระแสหลักมากขึ้น ด้วยเพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากมาหลายปี มันสร้างตื่นเต้นให้กับสื่อไม่ได้อีกต่อไปแล้ว อีกทั้งรูปแบบความรุนแรงที่เปลี่ยนแปลงมากระทำกับพลเรือนมากขึ้นในปัจจุบันก็ทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักที่ส่วนใหญ่ปักหลักอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่กล้าหาญพอที่เสี่ยงชีวิตลงมาทำงานข่าวดังกล่าว ในจุดอ่อนของการสื่อสารตรงนั้น ก็กลับกลายเป็นโอกาสใหม่ของการเกิดขึ้นของสื่อเล็กสื่อน้อยจากหลากหลายกลุ่มองค์กรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในลักษณะของการใช้สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือการมุ่งเน้นศักยภาพเฉพาะจุดของสื่อเทคโนโลยีดั้งเดิมที่เคยมีอยู่ เช่น วิทยุชุมชน เป็นต้น สื่อเหล่านี้กลายเป็นสื่อทางเลือกของกลุ่มภาคประชาสังคมในพื้นที่ ที่ทวีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ สิ่งที่เป็นเป็นประจักษ์ประการหนึ่งก็คือ สื่อทางเลือกเหล่านี้กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญของสื่อมวลชนกระแสหลักในเมืองหลวง หรืออย่างน้อยก็เป็นแหล่งจุดประเด็นหรือข้อมูลเบื้องต้นที่สื่อมวลชนกระแสหลักใช้เพื่อตามประเด็นต่อ
 
จากการศึกษาวิจัยหลายๆ ครั้งที่เกี่ยวข้องบทบาทของสื่อมวลชนกระแสหลักต่อการคลี่คลายความขัดแย้งหรือการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่ที่ใดๆ ในโลก เราก็พบกับผลการศึกษาที่เป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อกระแสหลักที่ขัดต่อหลักการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น และเมื่อศึกษาลึกลงไปก็พบปัจจัยต่างๆ มากมายที่เป็นอุปสรรคในเชิงโครงสร้างการดำเนินการ เศรษฐกิจ และความเป็นเจ้าของของสื่อเหล่านี้ ที่เป็นข้อจำกัดในการทำงานเพื่อสันติภาพ แม้ว่าเมื่อมองในแง่ดีความหวังของให้สื่อมวลชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมการสร้างสันติภาพนั้นมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาตามลำดับ แต่ในความจริงนั้นเราอาจต้องใช้เวลายาวนานในการปรับเปลี่ยนบทบาทของสื่อมวลชนกระแสหลัก ที่ต้องผ่านกระบวนการรื้อสร้างระบบในหลายๆ ระดับขององค์กรสื่อมวลชน รวมทั้งระบบคุณค่าของนักข่าวเอง
 
ดังนั้น พลวัตในด้านดีที่เกิดขึ้นกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม พลวัตของการสื่อสารของกลุ่มพลเมืองกลุ่มใหม่ๆ ในพื้นที่ความขัดแย้งจึงน่าจะกลายเป็นทางออกหนึ่ง ที่จะเข้ามาช่วยอุดช่องว่างและข้อจำกัดที่เราพบจากการทำงานของสื่อมวลชนกระแสหลักได้ สำหรับการสื่อสารในลักษณะนี้ถือเป็นปีกหนึ่งของการสื่อสารเพื่อสันติภาพที่เรียกว่า “Peace-oriented communication” ที่เป็นความพยายามของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาสังคมในการใช้สื่อและการสื่อสารประเภทต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงในเชิงบวกให้กับกระบวนการสร้างสันติภาพ
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับบทสรุปข้อเสนอแนะของบทบาทการสื่อสารในพื้นที่อ่อนไหวนั้น ก็คือไม่ว่าการสื่อสารเพื่อสันติภาพจะเกิดขึ้นในลักษณะของสื่อมวลชนกระแสหลัก หรือสื่อทางเลือกในภาคประชาสังคมและกลุ่มสื่อขนาดเล็กต่างๆ ก็ล้วนแต่ต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญของการสื่อสารเพื่อสันติภาพ โดยยึดหลักสำคัญในลักษณะ 3 ไม่ ดังนี้
 
1. ไม่เน้นเน้นย้ำไปที่ตัวของเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งมากเกินไป แต่นำเสนอให้เห็นกระบวนการ ที่มาที่ไป และบริบทของเหตุการณ์ด้วย
 
2. ไม่ยึดติดกับคุณค่าของข่าวแบบดั้งเดิม ที่เน้นความรุนแรง เร้าใจ และผลกระทบเชิงลบ
 
3. ไม่เป็นอุปสรรคในการสร้างสันติภาพเสียเอง เนื่องจากการก้าวไปสู่สันติภาพนั้น บางขณะจำเป็นต้องมีกระบวนการในทางลับหรือควรจะต้องดำเนินไปโดยไม่มีปัจจัยภายนอกเข้ามาแทรกแซง ทำให้การทำหน้าที่ของสื่อและการสื่อสารในบางครั้งกลายเป็นตัวทำลายความก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อสันติภาพ