Skip to main content

 


 

อันธิฌา แสงชัย

หลังจากข้อเขียน "เมื่อทหารเดินเข้าร้านหนังสือ" ของดาราณี ทองศิริ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการมาขอข้อมูลร้านหนังสือบูคูของเจ้าหน้าที่ทหารกลุ่มหนึ่ง ได้ถูกเผยแพร่ผ่านบล็อก Buku ในเว็บไซต์ Deepsouth Watch และเว็บไซต์ของสำนักข่าวประชาไทในคืนวันที่ 17 ตุลาคม 2556 [ดูที่มา: http://www.deepsouthwatch.org/node/4856]

ช่วงสายของวันที่ 18 ตุลาคม 2556 ทางร้านหนังสือบูคูได้รับการติดต่อสอบถามและชี้แจงทำความเข้าใจจากนายทหารระดับสูงท่านหนึ่งทางโทรศัพท์ ก่อนที่ในช่วงบ่าย ผู้หมวด (ที่มาขอข้อมูลของร้านฯ) จะได้นำหนังสือ "ชี้แจงกรณีเข้าไปสำรวจข้อมูลร้านหนังสือ" มามอบให้ที่ร้านด้วยตัวเองพร้อมกับแสดงความเสียใจ ข้อความในจดหมายยืนยันว่าเป็นการทำตามหน้าที่ และยอมรับว่ามีความผิดพลาดในขั้นตอนการทำงานซึ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดและไม่สบายใจ เช่น การถ่ายรูปโดยไม่ขออนุญาตก่อน การพกอาวุธปืนเข้ามาภายในบริเวณร้านหนังสือ เป็นต้น

การตอบสนองเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นทางการ แสดงถึงความใส่ใจ ไม่นิ่งดูดายต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนขอขอบคุณและขอแสดงความชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมา ณ โอกาสนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาอันเนื่องมาจากกรณีนี้มีความน่าสนใจหลายประการ เมื่อหนังสือชี้แจงดังกล่าวเดินทางมายังบูคูอย่างรวดเร็ว มีความเห็นของผู้ติดตามเหตุการณ์สะท้อนออกมาดังนี้

(ความเห็นที่ 1) "ดีใจด้วยๆ บูคูโชคดีมากครับที่ไม่เจอชะตากรรมเหมือนชาวบ้านธรรมดาๆอีกมากมายใน 3 จ. ตัวตนและสถานะของบูคูอาจเป็นส่วนหนึ่งของการได้รับหนังสือนี้ ทว่าชาวบ้าน ชาวมลายูธรรมดาๆ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ อ่านไม่ออก เขียนไม่เป็นในชนบท เขาไม่โชคดีแบบนี้ ดีใจปนเศร้าครับ" 

(ความเห็นที่ 2) "ผมคิดในใจนะครับ ถ้าหากเจ้าของร้านบูคู เป็นคนมลายู ตอนจบจะไม่ Happy Ending เเบบนี้เเน่นอน"

(ความเห็นที่ 3) "ฉันอ่านเรื่องนี้...รู้สึกเหมือนเราจะโดนอะไรที่เหมือนกัน หากแต่จะแตกต่างไปบ้าง...ก็เพียงแค่การที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอาวุธเข้ามา เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบภายในโรงเรียน(ตาดีกา) เข้ามาถามชื่อผู้สอนและจำนวนเด็กนักเรียน ใช้คำพูดในเชิงที่ไม่มีช่องว่างให้ได้ปฏิเสธ ฉันไม่เคยมีโอกาสที่จะถามอะไรต่อมิอะไร หากแต่เพื่อนครูที่มักโดนถามและให้ข้อมูลไป เพราะเพื่อนครูไม่ได้แข็งเหมือนฉัน (จึงไม่มีการปฏิเสธ) ไม่รู้ว่าที่เขามาเพื่ออะไร หากแต่ที่ต้องทำใจคือ...ชื่อฉัน เขาได้รับไปแล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เมื่อบ้านเมืองนี้...ความยุติธรรม ถูกเร่ขายเหมือนลูกกวาดหลากสี ((พระเจ้าของฉัน ปกป้องบ่าวของพระองค์เสมอ))"

จากเสียงสะท้อนข้างต้น เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคนในพื้นที่จำนวนหนึ่งยังรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติ โดยได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกัน บางท่านมองว่าการสื่อสารเป็นเรื่องจำเป็น ประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวมลายูจึงควรส่งเสียงสื่อสารออกไปในลักษณะเดียวกับที่ร้านหนังสือบูคูทำ

ดัง (ความเห็นที่ 4) "ขอให้การปฏิบัตินี้ไม่ใช่เป็นการเลือกปฏิบัติหากกระทำต่อชาวมลายู ขอเรียกร้องให้ชาวมลายูที่ถูกกระทำเช่นนี้ ใช้วิธีสื่อสารสาธารณะเช่นนี้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเจ้าหน้าที่ให้ดีขึ้น"

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาบนฐานของความเคารพซึ่งกันและกัน ย่อมไม่นำไปสู่ความคับข้องใจที่เป็นตัวการบ่มเพาะความรุนแรง ทว่าเราคงไม่อาจมองข้ามข้อจำกัดบางอย่างของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไปได้ อาทิ การเข้าไม่ถึงช่องทางการสื่อสาร สถานะทางสังคม อัตลักษณ์ เชื้อชาติ และข้อจำกัดทางการใช้ภาษา ชาวบ้านในหมู่บ้านหลายคนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทั้งยังมีความหวาดระแวงจากฝ่ายเจ้าหน้าที่บางนายซึ่งยังมองอย่างตัดสินว่าผู้ที่ตนกำลังตรวจสอบตรวจค้นเหล่านั้นเป็น “โจร”

เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเปล่งเสียงออกมาได้ยากยิ่ง ความคับข้องใจของพวกเขาถูกมองข้าม ปัญหาจึงเกิดขึ้นซ้ำซากและไม่ถูกตระหนักถึง เมื่อเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ เราจึงจำเป็นต้องยอมรับว่าไม่ใช่ชาวบ้านทุกคนที่จะสามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่และสังคมวงกว้างในแบบที่ร้านหนังสือบูคูกระทำได้

ในอีกแง่หนึ่ง ผู้เขียนพบว่ามีเสียงสะท้อนที่ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำถูกต้องแล้ว เช่น

(ความเห็น ก.) "รอไว้มี ระเบิดแถวร้านคุณ...คุณจะคิดถึง ทหาร"

(ความเห็น ข.) "คุณเปิดร้านอยู่ในพื้นที่แบบนี้ ก็ต้องเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ต้องทำงาน ไม่อย่างนั้นหากเกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา ก็ไม่พ้นโทษเจ้าหน้าที่ทำงานหละหลวมอีก"

(ความเห็น ค.) "ทหารเขาตรวจสอบพฤติกรรมมาก่อนแล้วแสดงว่าร้านนี้มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือน่าสงสัย เราต้องตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมทหารไม่ไปถ่ายรูปเหมือนที่อื่น เรื่องนี้พอจะบอกได้ว่าที่เล่ามาเป็นความจริงส่วนหนึ่ง"

น่าสังเกตว่าความคิดเห็นเหล่านี้ยังคงยืนยันถึงความถูกต้องชอบธรรมของการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ยอมรับถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และไม่เห็นว่าการปฏิบัติงานเช่นที่เป็นอยู่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร ซึ่งเป็นท่าทีปกป้องที่ไม่เป็นผลดี และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการทำงานเชิงสร้างสรรค์เพื่อ “เข้าถึง” ประชาชนของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐได้

ในโอกาสที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่หลายท่าน ผู้เขียนพบว่าเจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการต้องเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากต้นสังกัด หน้าที่ อุดมการณ์ ตัวตน และความรู้สึกของประชาชน การอยู่ในโครงสร้างเชิงองค์กร เสียง และความรู้สึกของพวกเขาเหล่านั้นก็ยากที่จะถูกสะท้อนออกมาอย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกัน  

การทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อาวุธสงครามและเครื่องแบบทหารกลายเป็นกำแพงขวางกั้นที่ทรงพลังในตัวของมันเอง ไม่แตกต่างอะไรจากความเป็นมลายูมุสลิม หมวกกะปิเยาะห์ ฮิญาบ อักษรญาวี หรือแม้แต่ข้อความ Merdeka บนปกหนังสือ

แต่พวกเขาเลือกได้มากน้อยแค่ไหนที่จะแสดงบทบาทใด จะจับอาวุธ หรือปลดมันไว้? 

เป็นธรรมดาอยู่เองที่ความคิดเห็นในมุมต่างย่อมยากแก่การยอมรับ การ “รับฟัง” เสียงจากทุกฝ่ายเป็นเรื่องยากยิ่งในพื้นที่ของความหวาดระแวง แต่เสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายล้วนมีความหมาย ทุกคนล้วนตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงและความหวาดระแวงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งที่ได้สะท้อนออกไปในข้อเขียน “เมื่อทหารเดินเข้าร้านหนังสือ” จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาวิธีการทำงานในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวสูง และช่วยให้ทุกฝ่ายได้ทบทวนการทำงานเพื่อลดบรรยากาศของความหวาดระแวงในพื้นที่ลงให้มากที่สุดโดยเร็วที่สุดต่อไป.