ขอให้ทดสอบประสิทธิภาพและความแม่นยำของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด GT200
2 พฤศจิกายน 2552
ปัจจุบันเครื่องตรวจหาสารประกอบระเบิดหรือที่เรียกว่า GT200 กลายเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากสำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม GT200 ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือ หลังจากหลายครั้งได้ส่งผลทั้ง False-Positive (การแสดงผลบวกทั้งๆ ที่ไม่มีสารต้องสงสัย) และ False-Negative (การแสดงผลลบทั้งๆ ที่มีสารต้องสงสัย) ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตและอิสรภาพทั้งของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ
การส่งผลบวกทั้งๆ ที่ไม่มีสารต้องสงสัย (False-Positive) เกิดขึ้นในหลายครั้งกับชาวบ้านที่ถูกตรวจโดยเครื่องมือชนิดนี้ ชาวบ้านจากอำเภอตากใบ นราธิวาส คนหนึ่งกล่าวว่าเครื่อง GT200 ชี้ไปที่ต้นมะพร้าว และเมื่อทหารปืนขึ้นไปกลับพบกว่าเป็นถุงใส่น้ำมันพืชที่ลิงอาจคาบไปไว้บนต้นมะพร้าว ในอีกครั้งหนึ่งที่คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่คนหนึ่งถูกเครื่อง GT200 ชี้ ในขณะที่เขากำลังสูบบุหรี่ นอกจากนั้น ผู้ถูกเชิญตัวหลายคนในหลายเหตุการณ์ก็เนื่องมาจากเครื่องมือนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีอบรม 4 เดือน เมื่อปลายปี 2550 หรือกรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง
การส่งผลลบทั้งๆ ที่มีสารต้องสงสัย (False-Negative) ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียหายอันใหญ่หลวงกับชีวิตและทรัพย์สิน กระทั่งกับเจ้าหน้าที่เอง เหตุระเบิดสองครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ใกล้โรงแรมเมอร์ลิน อ.สุไหงโกลก วันที่ 6 ตุลาคม และระเบิดที่ตลาดพิมลชัย อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 19ตุลาคม ที่ผ่านมา หรืออีกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนต้องเสียชีวิต 3นาย ที่อ.ปะนาเระ จ. ปัตตานี ทั้งสามเหตุการณ์นี้ เครื่อง GT200 ถูกนำไปใช้ในการตรวจเบื้องต้น แต่ไม่สามารถจับสารต้องสงสัยได้ จนนำไปสู่การสูญเสียดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านความมั่นคงชี้แจงว่าการใช้งานของเครื่องขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญและสภาพความพร้อมทางร่างกายของผู้ใช้งาน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า อาจเป็นเพราะผู้ใช้งานมีภาวะเหนื่อยล้าทำให้ส่งผลกับตัวเครื่องมือ ในทางวิทยาศาสตร์มีความเห็นว่า ลักษณะการใช้งานที่ต้องอาศัยสภาพร่างกายของผู้ใช้นั้น ไม่เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือได้ และจากข้อมูลที่ค้นพบ ทราบว่าทางกองทัพเองยังไม่เคยใช้การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ประสิทธิภาพของเครื่องมือนี้ จะมีก็แต่เพียงการทดลองโดยผู้ผลิตหรือผู้ขายที่จำลองสถานการณ์ที่ไม่ได้อิงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ
นอกจากนั้น GT200 ยังกลายเป็นประเด็นถกเถียงทางวิชาการทั้งในชุมชนอินเตอร์เนตและชุมชนวิชาการ จากข้อมูลที่มีอยู่ พบว่า GT200 ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในหน่วยงานทางความมั่นคงของประเทศที่มีแสนยานุภาพ และประสิทธิภาพทางทหาร หน่วยงานของสหรัฐอเมริกาได้ทำการทดลองเครื่องรุ่น MOLE ซึ่งเชื่อว่าเป็นเครื่องชนิดเดียวกับ GT200 แต่ใช้ชื่อทางการค้าต่างกัน โดยใช้การทดลองแบบ double-blind testing พบว่ามีความถูกต้องเพียงแค่ 6ใน 20ครั้ง ของการทดลอง นั่นหมายถึงเพียงแค่ 30%ของความถูกต้อง เช่นเดียวกับ เครื่องมือที่คล้ายคลึงกันอีกชนิดคือ Sniffex ซึ่งมีข่าวว่า FBI ของสหรัฐอเมริกาได้ตรวจสอบและออกความเห็นว่าเป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพจริงตามการกล่าวอ้าง และขณะนี้ FBIกำลังดำเนินการฟ้องร้องบริษัทผู้ผลิต (ดูเหมือนว่าทางกองทัพไทยได้ใช้เครื่อง Sniffex ด้วย)
เครื่อง GT200ราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 900,000 บาท ซึ่งหากรวมราคา Cards ที่ใช้ร่วมกับเครื่องแล้วก็จะมีราคาประมาณเครื่องละ 1ล้าน 2 แสนบาท ขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันพบว่าทางกองทัพมีนโยบายที่จะให้มีการจัดซื้อเครื่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น นอกจากกองทัพทั้งสามเหล่าทัพแล้ว หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่มีเครื่องมือชนิดนี้ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เพราะ GT200 สามารถตรวจจับสารเสพติดได้ด้วย) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มีความกังวลต่อกรณีนี้เป็นอย่างยิ่ง และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ขอให้มีการทดสอบการใช้เครื่องมือนี้โดยอิงกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ (เช่นการทดลองโดยวิธี double-blind testing เป็นต้น) โดยหน่วยงานที่เป็นกลาง เป็นอิสระ และให้ภาคประชาชนและนักวิทยาศาสตร์มีส่วนร่วมสังเกตการณ์การทดลองนี้
2. ขอให้การเชิญตัวบุคคล การควบคุมตัว การจัดทำบัญชีรายชื่อ หรือการตั้งข้อหาประชาชน ไม่ขึ้นอยู่กับการแสดงผลของเครื่องมือนี้เพียงอย่างเดียว โดยต้องประกอบกับหลักฐานอื่นๆ และหากพิสูจน์ได้ว่าเครื่องมือนี้ไม่มีประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือเพียงพอ (เช่นแสดงผลชัดเจนได้น้อยกว่า 60-70%) ก็ควรยุติการนำผลการตรวจของเครื่องมือนี้มาใช้ประกอบในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น คือการจับกุม และควบคุมตัวประชาชน
3. ขอให้ทางกองทัพปฏิรูปนโยบายการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ โดยให้มีกระบวนการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลย์ โดยให้จัดซื้อด้วยวิธีปกติ และเผยแพร่ข้อมูลให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ พร้อมไปกับการคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ
4. หากการตรวจสอบจากหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นอิสระ พบว่าเครื่องมือชนิดนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ ขอให้กองทัพภาคที่ 4 ยุติการนำเครื่องมือชนิดนี้มาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในทันที เพื่อลดความระแวงระหว่างรัฐและประชาชน และเพื่อฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจ และความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนมา