ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
“เขตปกครองพิเศษ” ในฐานะที่เป็นทางออกของปัญหาความรุนแรงในชายแดนใต้ถูกนำเสนอในพื้นที่สาธารณะขึ้นมาอีกครั้งท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ต่างกับหลายครั้งที่ผ่านมา บริบทของการนำเสนอและปัจจัยแวดล้อมอาจจะแตกต่างกันออกไป เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำเสนอโดยพลเอกเชาวลิต ยงใจยุทธ นักการเมืองที่อยู่ระหว่างสมรภูมิการช่วงชิงความได้เปรียบอย่างในปัจจุบัน สิ่งที่เขาเสนอในรูปนครปัตตานีก็อาจจะเหมือนกับตอนที่เขาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ หรือแม้แต่การนำเสนอแหวกทางของเฉลิม อยู่บำรุง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลสมัครซึ่งเสนอเขตปกครองพิเศษเหมือนกัน แต่ได้รับการปฏิเสธ แม้จากคนในรัฐบาลเดียวกัน
แต่กระนั้น การพิจารณาถึงรายละเอียดของข้อเสนอเหล่านี้จะดูจะไม่เป็นที่สนใจมากนัก ทั้งๆ ที่ความซับซ้อนของปัญหาความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังนำพาตัวเลขผู้สูญเสียสะสมมากขึ้นทุกวัน จนถึงบัดนี้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมกันมากถึงหมื่นกว่าคนแล้ว สถานการณ์คับขันเช่นนี้กำลังต้องการแสวงหาทางเลือกในการจัดการปัญหาที่มีใจกลางเป็นปัญหาการเมืองให้ยุติความรุนแรงอย่างชะงัดและแก้ปัญหาให้ถูกจุด อะไรคือประเด็นใจกลาง อะไรเป็นส่วนหัวของความขัดแย้ง ความซับซ้อนเหล่านี้นี่เองที่นำไปสู่การพยายามจะแสวงหาองค์ความรู้ทั้งในแง่ของการทำความเข้าใจปัญหาและการพยายามแสวงหาทางเลือก-ทางออกตลอดเวลานับเป็นทศวรรษที่ผ่านมา
หากการแก้ปัญหาไม่เดินด้วยองค์ความรู้ที่ถอดสรุปมาจากประสบการณ์และบทเรียนทั้งของสังคมไทยเองและของสังคมการเมืองอื่นๆ แล้วไซร้ การถกเถียงถึงข้อเสนอทางการเมืองดังกล่าวคงไปไม่ไกลไปกว่า “ปัญหาการเมือง” ของ “พรรคการเมือง” “ผลประโยชน์ส่วนตัว” ความน่าเชื่อถือของ “ผู้พูด-ผู้เสนอ” และตีบตันอยู่กับกรอบคิดเดิมของสังคมไทยที่จำกัดการแสวงหาทางเลือกอื่นๆ ที่จะนำพาสังคมให้หลุดพ้นจากความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงห้ำหั่นกันอย่างในปัจจุบัน
ระหว่างที่ฝุ่นควันแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอทางการเมืองเพื่อดับไฟใต้ที่จะเรียกว่า “เขตปกครองพิเศษ” หรืออะไรก็ตามแต่ยังคงคลุ้งคว้างอยู่ในขณะนี้ ฉันทนา บรรพศิริโชค นักรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพยายามจะถอดประสบการณ์การคุ้มครองสิทธิของคนกลุ่มน้อยและรูปแบบการกระจายอำนาจในยุโรปใน “รายงานการคุ้มครองชนกลุ่มน้อย และการเมืองการปกครองบนความแตกต่างทางอัตลักษณ์ : ประสบการณ์จากยุโรป” เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าเงื่อนไขอะไรที่ทำให้ผู้คนที่มีความแตกต่างสามารถอยู่ร่วมกันได้ บนหลักการอะไร มีปัญหาและบทเรียนอย่างไร
ฉันทนา ได้เตือนไว้ในตอนต้นของรายงานว่าการพิจารณาบทเรียนดังกล่าวไม่ได้เพื่อลอกเลียนรูปแบบและวิธีการในการแก้ปัญหาของต่างประเทศ ทว่าในขณะเดียวกันก็อาจทำให้สังคมไทยได้เรียนลัดโดยไม่ต้องผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดและความสูญเสียมากไปกว่านี้ อย่างไรก็ตามก็เป็นดังที่เธอได้ย้ำว่าการพยายามหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลคนกลุ่มน้อยในระดับต่างๆ นั้นจะช่วยให้เกิดความกระจ่างเกี่ยวกับเงื่อนไขในการบูรณาการสังคมบนความแตกต่างได้ ความรู้และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลนี่เองที่เธอเห็นว่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยลดความหวาดระแวงของฝ่ายต่างๆ
รายงานฉบับดังกล่าวเลือกกรณีศึกษาไว้ 5 กรณี เพื่อเปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ได้แก่ กรณีชุมชนผู้ใช้ภาษาเยอรมันในเบลเยี่ยม กรณีการแบ่งอำนาจกับการกระจายอำนาจการปกครองในบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาและมาเซโดเนีย กรณีชุมชนปกครองตนเองในสเปนในแบบสหพันธรัฐที่ไม่เสมอภาค) เขตปกครองตนเองเซ้าท์ไทโรล์ ประเทศอิตาลี และเขตปกครองพิเศษโอแลนด์ (Aland) ประเทศฟินแลนด์
ในตอนท้ายของรายงาน ฉันทนาได้วางโจทย์สำคัญในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้บนฐานคิดที่มองว่า รูปแบบการปกครองตนเองนั้นถือเป็นแนวทางของการประนีประนอมเพื่อหลีกเลี่ยงการแยกตัวเป็นอิสระ (Secession) ของคนกลุ่มน้อยและยังเป็นทางเลือกที่รัฐบาลกลางยอมจำกัดอำนาจอธิบไตยเหนือพื้นที่เฉพาะของคนกลุ่มน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็ยึดโยงกันเอาไว้ด้วยหลักการที่ว่าเขตพิเศษใช้อำนาจตามที่ได้รับมาจากส่วนกลางอันเป็นข้อตกลงร่วมกัน ในแบบทฤษฎีสัญญาประชาคม วิธีการทางรัฐศาสตร์ดังกล่าวมิได้ทำให้รัฐเสียความเป็นหนึ่งเดียว เสียอำนาจอธิปไตย หรือแยกดินแดน แต่เป็น “รัฐเดี่ยวในแบบใหม่” ที่คนในรัฐเดี่ยวอื่นๆ ควรจะต้องทำความเข้าใจ
นอกจากนี้กรณีศึกษาดังกล่าวนี้ยังนำไปสู่โจทย์ที่ควรขบคิดต่อคือเงื่อนไขเพื่อส่งเสริมในการอยู่ร่วมกันและเงื่อนไขที่เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางสังคมและการเมือง ซึ่งฉันทนาได้ไล่เรียงอยู่ในตอนท้ายของบทความ ซึ่งไม่ว่าการผลักดันของข้อเสนอทางการเมืองทำนองนี้จะนำพาเราไปสู่จุดใดในอนาคตที่ อีกทั้งจะมาจากนักการเมืองหรือฝ่ายใดก็ตาม ก็ไม่ควรละทิ้งความพยายามทบทวนบทเรียนและประสบการณ์ที่ต้องแลกกับความสูญเสียมหาศาลก่อนหน้านี้ไป
หมายเหตุ : นอกจากงานของฉันทนาที่กำลังจะตีพิมพ์เป็นหนังสือแล้ว งานศึกษาที่พยายามทำความเข้าใจทางออกในทำนองเดียวกันนี้สามารถพิจารณาได้จากรายงาน "การปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้" โดย ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรีและสุกรี หลังปูเต๊ะ (พิจารณารายงานข่าวฉบับย่อยได้ที่ ศูนย์ข่าวอิศรา) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่พยายามออกแบบการปกครองรูปแบบใหม่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบทความวิจัยขนาดยาวเรื่อง “การกระจายอำนาจและการจัดการปกครองเขตพื้นที่พิเศษ: ศึกษาประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศญี่ปุ่น” ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ซึ่งนำเสนอต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เมื่อต้นปี 2549 โดยวางเงื่อนไขของกรณีศึกษาไปที่การพิจารณารัฐเดี่ยวที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา และเป็นรัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข