Skip to main content
ซาฮารี เจ๊ะหลง
ผู้ปฏิบัติงาน สำนักสื่อ Wartani
 

การขับเคลื่อนกิจกรรมของกลุ่มภาคประชาสังคมรุ่นใหม่และกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าในปาตานี  ได้มีประเด็นหนึ่งที่สั่นสะเทือนความมั่นคงภายในราชอาณาจักรไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  เป็นประเด็นที่แหลมคมเป็นอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเหล่านี้ นั่นคือ การเรียกร้อง ”การประชามติ” (Referendum)   

ภาพประกอบจาก สำนักสื่อ Wartani ถ่ายเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2555 ในงานเวทีเสวนา “สงครามและสันติภาพ ประชาชนปาตานีจะกำหนดชะตากรรมตนเองได้หรือไม่ ? อย่างไร ?” ณ หอประชุม สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานคริทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 
สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการขับเคลื่อนงานทางการเมืองอย่างสันติวิธีแล้ว “การประชามติ” นับเป็นวิธีการหนึ่งในทางเลือกอันหลากหลายของวิธีแก้ปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้ง หลายๆ ภาคส่วนยังคงอ้ำอึ้งๆ เมื่อมาพูดถึงการประชามติ
 
เพราะยังไม่มีความชัดเจนจากเจตจำนงทางการเมืองจากรัฐว่าจะเอาอย่างไรในเรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้  ในขณะเดียวกันเสียงเรียกร้องการประชามติที่ได้ยินอยู่มุมหนึ่งของพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้  ไม่ได้เป็นสิ่งที่เพ้อฝันเสียทีเดียว เมื่อหลักการของประชาคมโลกมีการรับรองและยอมรับในระดับหนึ่งว่า เป็นวิธีการที่ใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องดินแดนและชาติพันธุ์ ตลอดจนแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงได้ หลักการที่ว่านี้ คือ หลักการกำหนดชะตากรรมตนเอง (The Principle of  Rights to Self-Determination)
 
 
ภาพประกอบจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี ประจำกรุงเทพมหานคร (PERMAS-BANGKOK) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ถ่ายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555 ในงาน “รำลึก 8 ปี เดือนตุลา...ฉันเห็นวีรชนที่ตากใบ” หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย
 
หลักการกำหนดชะตากรรมตนเอง (The Principle of  Rights to Self-Determination) มีแนวคิดเบื้องต้นว่าประชาชนต้องมีอิสระในการตัดสินใจเลือกทิศทางการเมืองของตนเอง ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในศตวรรษที่ 18 จากกระแสชาตินิยมของชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มที่กระจายอยู่ในจักรวรรดิและราชอาณาจักรต่างๆ ในยุโรป ได้พัฒนาการเรื่องจิตสำนึกของความเป็นชาติที่จำเป็นต้องพูดถึงสิทธิทางการเมือง (Political Rights) เหนือดินแดนที่พวกเขาเรียกว่า บ้านเกิดเมืองนอน ของตนเองด้วย
 
สิทธิทางการเมืองนี้ถูกพัฒนามาตั้งแต่สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มีการพูดถึงสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของปัจเจกบุคคล (Individual Self-Determination) ปัจเจกแต่ละคนมีสิทธิแบบประชาธิปไตย (Democratic Rights) ที่จะเลือกได้ว่าอยากจะมีชีวิตอย่างไรในทางการเมือง
 
มีสิทธิในการเลือกผู้นำและการกำหนดรูปแบบและขอบเขตอำนาจของรัฐบาลและยกระดับพัฒนาการแปรสภาพจากการเป็นชุมชนทางวัฒนธรรมมาสู่ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเรียกร้อง ”สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง” (Rights to Self-Determination)
 
ตลอดรวมถึงความต้องการที่จะมี รัฐเอกราช สำหรับชุมชนทางการเมืองของตน เช่น ลักษณะข้อเรียกร้องของบรรดาขบวนการผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ และของบรรดารัฐประชาชาติแรกๆ ที่มุ่งไปที่กระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม (The Process of Decolonization) ในศตวรรษที่ 20
 
เมื่อประเทศในยุโรปวิวัฒน์ไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยและยึดหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Popular Sovereignty) มากขึ้นพร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของแนวคิดเรื่องชาติกับเรื่องการกำหนดชะตากรรมตนเองจึงถูกผนวกเข้าด้วยกัน กลายเป็นแนวคิดใหม่ว่าด้วยการกำหนดชะตากรรมของชาติ (National Self-Determination)
 
กล่าว คือ แต่ละชาติมีสิทธิทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่จะเลือกว่าพวกเขาปรารถนาจะใช้ชีวิตอย่างไร (สมมติฐานโดยนัย คือ ไม่มีชาติไหนเต็มใจที่จะเลือกอยู่ใต้อำนาจการปกครองของชาติอื่น) แต่ละชาติจึงต้องใช้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เพื่อสร้างรัฐที่เป็นอิสระและมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง นี่เป็นแนวคิดและทฤษฎีในทางปฏิบัติที่อาจจะยังไม่ชัดเจน
 
สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง นั้นเป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations - UN) แต่ปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมเมื่อมีการนำสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองไปกล่าวไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ ทำให้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองมีผลบังคับใช้แก่รัฐต่างๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การประสหประชาชาติ ไปด้วย หลังปี ค.ศ. 1945 เป็นต้นมา 
 
ขอบคุณภาพจาก WIKIPIDIA :  http://en.wikipedia.org/wiki/United_Nations_Security_Council
 
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติต้องมีมติต่างๆ เกี่ยวกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง เนื่องจากในตัวกฎบัตรไม่ได้ระบุถึงเนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองเอาไว้มากนัก และสหประชาชาติไม่ได้มองการกำหนดชะตากรรมของแต่ละชาติเป็นสิทธิทางกฎหมาย (Legal Rights) แต่เห็นเป็นเพียงหลักการทางการเมือง (Political Principle)
 
เนื้อหาสาระของสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองมีครั้งแรกในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 (XV) ลงวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ.1960  เรื่อง “การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม” (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514
 
กล่าวว่า “กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง โดยสิทธิดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง การพัฒนา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี” ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ บรรดาดินแดนที่อยู่ใต้อาณานิคม  ต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
 
นอกจากนี้สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองไม่ใช่แค่เพียงการให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมเท่านั้น สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง ยังถูกใช้ในการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อกำจัดการเหยียดสีผิวด้วย เช่น ในแอฟริกา (Africa) การเรียกร้องสิทธิของชนพื้นเมืองดั้งเดิม ปัญหาพื้นที่ที่ถูกยึดครอง เช่น ปาเลสไตน์และติมอร์ตะวันออก
 
ขอบคุณภาพจาก Info de Timor Leste : http://zefonsilves.blogspot.com/2010_10_01_archive.html และ http://etan.org/news/2006/11terr.htm
 
หากการขับเคลื่อนและนักกิจกรรมของกลุ่มภาคประชาสังคมรุ่นใหม่และกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้าในปาตานี  มีประเด็นเรียกร้องการประชามติ สิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนคู่ขนาน ไปกับการเรียกร้องในเรื่องนี้ คือ  แนวคิดในเรื่องของการกำหนดชะตากรรมตนเอง
 
เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่เรียนรู้ ไม่ได้ แนวคิดนี้นอกจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนในพื้นที่ปาตานีแล้ว ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับการรับรู้ของสังคมไทยและหน่วยงานความมั่นคงไทยด้วย
 
ฉะนั้น ถ้ารัฐมีความจริงใจในการแก้ปัญหา จะต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยึดมั่นในหลักการดังกล่าวด้วยการขับเคลื่อนกิจกรรมในรูปแบบสันติธรรม สันติวิธี
 
อาทิเช่น กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ อย่างแคมเปญ “Satu Patani คือ รวมปาตานีเป็นหนึ่ง” หรือแคมเปญ“We Are Patani 0.2 คือ ฉันคือคนปาตานี เวอร์ชั่น 2” หรือแคมเปญ“I Love PATANI แปลว่า ฉันรักปาตานี”
 
ของคุณภาพจากเฟสบุ๊ค เครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (INSouth)
 
หรือ กิจกรรมสัมพันธ์เครือข่าย อาทิเช่น งานอบรม, งานเพิ่มศักยภาพ, งานสัมมนา, งานสานเสวนา และกิจกรรมภาคเวทีประชาชน เช่น เวที “Bicara Patani คือ การพูดคุยในเรื่องของคนปาตานี” เพื่อสร้างบรรยากาศการสร้างสันติภาพและการยอมรับความคิดเห็นต่างทางการเมือง โดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธ 
 
ภาพประกอบจาก สำนักสื่อ Wartani ถ่ายเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2556 ในงานเวที Bicara Patani หรือ เสวนาปาตานี ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “28 กุมภา : สัญญษบวก หรือ ลบ ต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี” ณ หอประชุม สำนักอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   font-weight:normal">   
 
ไม่ว่าจะมีแนวคิดอะไรในพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้ ต่างก็ล้วนจะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาที่สั่งสมมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2329 แต่ถ้าจะนับแค่ปัญหาการก่อความไม่สงบ (ตามที่รัฐไทยเรียก) ที่เริ่มตั้งแต่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 ก็ไม่สมควรที่จะต้องมีการเรียกร้องประชามติและเพียงแค่เวทีเจรจาก็จบเรื่องความขัดแย้งที่ปาตานีได้แล้ว
 
 

ข้อมูลอ้างอิง:
- ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข, จุลสารความมั่นคงศึกษา. (มีนาคม 2556 ฉบับที่ 122)
- ณัฐกฤษตา เมฆา, ปัญหาและลู่ทางว่าด้วยสิทธิในการกำหนดใจตนเองของชน พื้นเมืองดั้งเดิม. กรุงเทพมหานคร : วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551
- Dr.Rajat Ganguly, Autonomy and Ethnic  Conflict in South and South-East Asia- London : Routledge (การปกครองตนเองและความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) , 2012
- ตูแวดานียา ตูแวแมแง, PATANI MERDEKA บนท้องถนน :  http://www.deepsouthwatch.org/b/nasib-patani