Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง

นับตั้งแต่ได้มีการพูดคุยสันติภาพอย่างมีนัยแบบการต่อรองในขั้นของการเจรจาระหว่างรัฐไทยกับ BRN โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกซึ่งริเริ่มกระบวนการอย่างเป็นทางการและเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วโลกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556  ณ กรุงกัวลาลุมโปร์ จะเห็นได้ว่าภาคประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ ภาคนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนทุกแขนง ต่างเฝ้าติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวของคู่กรณีขัดแย้งหลักนั่นคือฝ่ายรัฐไทยและ BRN และความเคลื่อนไหวของประเทศมาเลเซียอย่างเกาะติดอย่างมีความคาดหวังในทางบวกว่าการขึ้นโต๊ะการพูดคุยสันติภาพของรัฐไทยและ BRN ในครั้งนี้จะนำมาซึ่งภาวะการณ์ของพื้นที่ปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่มีเสียงปืนเสียงระเบิดอีกต่อไป

ความคาดหวังดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นมาจากความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปที่ยังไม่ได้เป็นมวลชนปฏิวัติที่ผ่านการหล่อหลอมชุดความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีเป้าหมายชัดเจนในการต่อต้านความเป็นนักล่าอาณานิคมหรือความเป็นจักรวรรดินิยมสยามในความเป็นประเทศไทยปัจจุบัน ผสมผสานกับการสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่คล้อยตามการนำเสนอความเห็นของสื่อกระแสหลักที่เทน้ำหนักกับการสนับสนุนกระบวนการพูดคุยให้สามารถยุติการสู้รบได้อย่างหลับหูหลับตา ไม่สนใจว่ากระบวนการพูดคุยดังกล่าวอาจจะมาจากเจตนาที่ซ่อนรูปหรือลับลวงพรางของงานการข่าวความมั่นคงไทยกับวาระการผสานผลประโยชน์ของสองรัฐบาลโดยผ่านการบีบของตำรวจสันติบาลมาเลเซียต่อฮาซัน ตอยิบ ซึ่งทั้งรัฐไทยและมาเลเซียก็ยอมรับว่าเป็นสมาชิกระดับนำของBRNหรือไม่  

แม้ว่าความคาดหวังต่อภาวะการณ์ไม่มีเสียงปืนเสียงระเบิดของสาธารณชนจะมาจากเหตุปัจจัยใดก็ตาม แต่ที่ปรากฎชัดเจนมากที่สุดผ่านการพูดคุยครั้งนี้คือนิยามสันติภาพของรัฐไทยและ BRN ในฐานะเป็นคู่ขัดแย้งหลักนั้นเป็นเส้นขนานอย่างชัดเจน กล่าวคือสันติภาพในมุมของรัฐไทยคือภาวะที่ชาวปาตานียอมรับความเป็นพลเมืองไทยและยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อเอกราชเปลี่ยนมาเป็นการต่อสู้ทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญไทย แต่สันติภาพในมุมของBRNคือภาวะที่ชาวปาตานีมีความสุขอันเนื่องมาจากการมีหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้ความเป็นรัฐอิสระหลังจากประสบชัยชนะในการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานี

จนกระทั่งภาวะความสับสนและคลุมเครือในเจตนาของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ 28 กุมภาฯ ว่ามาจากความเต็มใจและสมัครใจของ BRN หรือไม่ ผ่านปฏิกิริยาการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ด้วยการตอบโต้ของหน่วยปฏิบัติการในสมรภูมิรบ ทั้งทางกองกำลังติดอาวุธที่ยกระดับการโจมตีไปยังเป้าแข็งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ผ่านข้อความแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุยบนป้ายผ้าทั่วพื้นที่ว่า “สันติภาพจะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่สิทธิความเป็นเจ้าของไม่เป็นที่ยอมรับ” และข้อความว่า “จอมหลอกลวง จอมทำลาย จอมกดขี่ จอมใส่ร้ายคือนักล่าอาณานิคมสยาม” และผ่านการสื่อสารทางโซเชียลมีเดียยูทูบและเฟสบุคเสนอข้อเรียกร้องที่เป็นเงื่อนไขซึ่ง BRN เรียกว่าการเจรจาซึ่งเป็นที่คุ้นหูของสาธารณชนว่า “ข้อเรียกร้อง 5 ข้อ”และเรียกร้องให้การเจรจาเป็นวาระแห่งชาติโดยการประกาศของนายกรัฐมนตรีและการลงมติของรัฐสภา จนเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ได้มียูทูบจากบุคคลสวมชุดเครื่องแบบกองกำลังติดอาวุธแถลงจุดยืนในนามสภาซูรอหรือสภาองค์กรนำว่า “ตราบใดที่นักล่าอาณานิคมสยามยังคงซึ่งความเป็นจอมหลอกลวง จอมทำลาย จอมกดขี่ และจอมใส่ร้าย การพูดคุยสันติภาพและสถานะของคณะพูดคุยจะเป็นโมฆะ”

ต่อมาไม่นานฮาซัน ตอยิบ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยของ BRN ก็ได้ยื่นเอกสารขยายความหมายของข้อเรียกร้อง5ข้อซึ่งเป็นที่คุ้นหูว่า “เอกสาร 38 หน้า” ไปยังคณะพูดคุยรัฐไทยผ่านทางประเทศมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งโดยรวมมีเนื้อหาซึ่งเป็นนัยสำคัญของสถานะการเจรจาคือ “BRN จะยอมยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธภายในปี2557 ถ้ารัฐไทยสามารถให้ออโตโนมีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย”

และล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556 ซึ่งประเทศไทยอยู่ในภาวะการณ์ที่ประสบกับวิกฤติการเมืองที่ส่อเค้าว่าจะเกิดสงครามกลางเมืองที่กรุงเทพฯ อันเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “เผด็จการเสียงข้างมาก” กับ ฝ่ายที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “เผด็จการเสียงข้างน้อยอิงอำนาจนอกระบบ” ฮาซัน ตอยิบ ก็ออกแถลงการณ์ผ่านยูทูบว่า

"BRN คือขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปาตานีจากพันธนาการของนักล่าอาณานิคมสยามในการที่จะสร้างความยุติธรรมและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนชาวปาตานีทั้งมวล ตามความหมายว่า “ปาตานีเอกราช” (PATANI MERDEKA) นี่คือสันติภาพที่แท้จริงไม่ใช่สันติภาพภายใต้ระบบโครงสร้างของนักล่าอาณานิคมสยาม เกี่ยวกับเรื่องการเจรจาต่อจากนี้ไป อาศัยมติที่ประชุมของสภาซูรอ/สภาเพื่อการปฏิวัติที่ได้แถลงเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2013" ดังนี้   

1. การเจรจาจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ข้อนั้น ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาไทย และได้ดำเนินการอย่างสมบูรณ์

2. กระบวนการเจรจาสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติและกล่าวประกาศโดยนายกรัฐมนตรีไทยเท่านั้น

และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2556 ได้มีแถลงการณ์เป็นเอกสารในนาม BRN เผยแพร่ตามสื่อโซเชียลมีเดียผ่านเฟสบุคที่ใช้ชื่อฮาซัน ตอยิบ เอง มีเนื้อหาโดยรวมขยายความแถลงการณ์ผ่านยูทูบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2556

เป็นที่น่าสังเกตว่าในแถลงการณ์ดังกล่าวฮาซัน ตอยิบ เรียกตัวเองว่า “อดีตคณะพูดคุยBRN” และอ้างถึงจุดยืนของสภาเพื่อการปฏิวัติที่ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 อีกทั้งยังชี้แจงว่า “กิจกรรมทางการเมืองใดๆ ที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับแถลงการณ์ของเราในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 และดำเนินการภายใต้ชื่อของ BRN ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการดำเนินการโดย BRN” ถือว่าแถลงการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่BRNและฮาซัน ตอยิบ นิยามสันติภาพปาตานีที่แท้จริงคือ ปาตานีเอกราช (PATANI MERDEKA) และยังย้ำในจุดยืนเดิมต่อการเจรจาสันติภาพจะดำเนินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนการเจรจาสันติภาพต้องเป็นวาระแห่งชาติโดยผ่านมติเห็นชอบของรัฐสภาไทยและการประกาศอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี

น่าสนใจว่าถ้าวิกฤติการเมืองกรุงเทพที่เต็มไปด้วยสัญญาณของสงครามกลางเมืองคือทางออกของวิกฤติและผู้เขียนเห็นว่ามีแนวโน้มสูงที่ฝ่ายที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “เผด็จการเสียงข้างน้อยอิงอำนาจนอกระบบ” ซึ่งปฏิเสธการยุบสภาของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเสนอโมเดล “สภาประชาชน”จะเป็นฝ่ายที่ประสบชัยชนะตามแผนยุทธศาสตร์ที่ได้วางไว้ คือ(พลังมวลชน+องค์กรอิสระ+กองทัพ+ความบกพร่องของรัฐบาลที่ควบคุมสถานการณ์ความขัดแย้งไม่ได้)=(ความไม่ชอบธรรมต่อไปที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะบริหารประเทศ) เพราะล่าสุดวันเดียวกันที่ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้ ทางส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทุกคนได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาชิกรัฐสภาโดยให้เหตุผลรัฐสภาขาดความชอบธรรมแล้ว

ถ้าท้ายที่สุดแล้วทางออกที่เป็นการยุติวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองกรุงเทพเป็นไปตามเป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ของฝ่ายที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า "เผด็จการเสียงข้างน้อยอิงอำนาจนอกระบบ" แสดงว่าโอกาสที่ข้อเรียกร้องของ BRN ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญต่อการมีอยู่ของกระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเพื่อสันติภาพระหว่างคู่ขัดแย้งหลักบนพื้นฐานของความสมัครใจ ที่ต้องการให้การเจรจาเป็นวาระแห่งชาติของประเทศไทยผ่านมติเห็นชอบของรัฐสภาก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเพราะรัฐสภาในความหมายที่สมาชิกเสียงข้างมากมาจากการเลือกตั้งจะถูกแทนที่โดย “สภาประชาชน”และนายกรัฐมนตรีคนเดิมก็จะถูกแทนที่ด้วยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งไม่แน่นอนว่าจะสนับสนุนการเจรจาตามที่ BRN เรียกร้องและได้เคยดำเนินมาแล้วในเบื้องต้นระดับหนึ่งจากรัฐบาลชุดเก่าหรือไม่

การออกมาอ่านแถลงการณ์ของฮาซัน ตอยิบ ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยของ BRN โดยได้นิยามสันติภาพที่แท้จริงคือปาตานีเอกราช (PATANI MERDEKA) ท่ามกลางภาวะการณ์วิกฤติทางการเมืองที่กรุงเทพมีสัญญาณชัดเจนว่ากำลังจะเข้าสู่ภาวะกลียุคอันเนื่องมาจากเกิดการจลาจลโกลาหลกลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างประชาชนกับประชาชนซึ่งเป็นมวลชนสนับสนุนของทั้งฝ่ายที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “เผด็จการเสียงข้างน้อยอิงอำนาจนอกระบบ” และฝ่ายที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเรียกว่า “เผด็จการเสียงข้างมาก”  เป็นการสะท้อนจาก BRN อย่างชัดเจนว่า ตราบใดที่โครงสร้างอำนาจส่วนกลางของประเทศไทยยังไม่มีเสถียรภาพ ยังอยู่ในสถานการณ์สงครามกลางเมืองและส่อว่าจะเกิดภาวะสูญญากาศทางการเมืองได้ทุกเมื่อ BRNก็จะไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยหรือเจรจาเพื่อสันติภาพที่มาจากรัฐไทย

สุดท้ายมาถึงตอนนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการที่โต๊ะการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของการไกล่เกลี่ยระหว่างคู่ขัดแย้งหลักอย่างสมัครใจโดยมีคนกลางคือประเทศมาเลเซียระหว่างรัฐไทยกับ BRN ก็ถึงวันที่ล่มลงโดยวิกฤติการณ์การเมืองไทยที่กรุงเทพเสียเอง