รายงานพิเศษ "คนหายในไฟใต้" ตอนที่ 3
โดย ทีมข่าวพิเศษ ผู้จัดการรายวัน
"กรณีทนายสมชาย" นับเป็นคดีสะท้อนความอยุติธรรมที่ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต้องเผชิญ ท่ามกลางความหวาดระแวงว่ายังมีคนสูญหายอีกไม่น้อย บ้างก็ว่าเป็นร้อย บ้างก็ว่าเป็นพัน แต่ข้อมูลที่สามารถตรวจสอบและพิสูจน์อย่างเป็นทางการขณะนี้มีอยู่ 23 ราย เวลานี้ญาติของเหยื่ออุ้มหายหวังเพียงให้ฝ่ายรัฐรื้อคดีขึ้นมาใหม่เพื่อตามหา "ร่าง" ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม
อิบรอฮีม เซะ เป็นหนึ่งใน "คนหาย" ในจำนวน 23 ราย ที่คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (กยต.) ให้ความช่วยเหลือเยียวยาญาติของเขาในฐานะ "บุคคลสูญหาย" เขาหายตัวไปเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2547 หลังเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เพียง 20 กว่าวัน
ชายวัยในวัย 41 ปี มีอาชีพกรีดยางพาราและรับจ้างเป็นครูสอนศาสนาโรงเรียนตาดีกาในบ้านโต๊ะเปาะคะ ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เพิ่งแต่งงานอยู่กินกับภรรยาของเขาที่เป็นครูสอนศาสนาแห่งเดียวกันได้ไม่กี่ปี มีพยานรักเป็นลูกสาววัยช่างจดช่างจำเพียง 1 คน แต่ทว่าเขาถูกอุ้มหายไปต่อหน้าต่อตาเมียและลูก โดยชายฉกรรจ์ชุดดำสวมหมวกไหมพรมที่เดินทางมาพร้อมรถกระบะ 2 คัน
ทุกวันนี้ นูรีอา ดาแม ภรรยา และ มูอาวียะห์ เซะ ลูกสาววัย 5 ขวบ ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในบ้านหลังใหม่ที่เธอและอิบรอฮีมกู้เงินมาสร้างเพื่อวาดหวังว่าจะใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าบ้านเช่าซอมซ่อหลังเก่า หนี้สินเพิ่งปลดเปลื้องไปจากเงินเยียวยาในกรณี "บุคคลสูญหาย" ที่ทางการนำมามอบให้ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
จากคำบอกเล่าของ นูรีอา ผู้เป็นภรรยา ซึ่งกอดลูกน้อยไว้แน่นอกในวินาทีท้ายๆ ที่ได้เจอหน้าสามี ระบุว่า ในคืนดังกล่าว ชายในชุดดำที่ว่าเดินทางมาพร้อมรถกระบะ 2 คันและเข้าทำการล้อมบ้านไว้โดยรอบ ขณะเดียวกันก็บุกเข้ามาในบ้านพร้อมตะโกนเรียกชื่อ "เฮง" อันเป็นชื่อเรียกขานสามีของเธอ ด้วยสำเนียงภาษาไทยแจ่มชัด เมื่อเข้าคุมตัวสามีไว้ได้แล้ว หนึ่งในชายกลุ่มดังกล่าวได้ถามย้ำด้วยว่า "มีใครอยู่อีกบ้าง" ราวกับว่าบ้านเช่าหลังดังกล่าวเป็นแหล่งรวมเป้าหมายของพวกเขา
นั่นเป็นภาพสุดท้ายของสามีในห้วงคำนึงของเธอ แน่นอนทีเดียว ภาพเหล่านี้ของยังติดตา "มูอาวียะห์" ลูกสาวของอิบรอฮีมจนถึงปัจจุบัน
เธอยืนยันว่า สามีของเธอไม่เคยมีความขัดแย้งส่วนตัวกับใคร แต่เธอเชื่อว่า คนที่ "ทำ" กับสามีเธอคงไม่ชอบคนที่เคร่งครัดในศาสนามากนัก ยิ่งเฉพาะการสอนศาสนาให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน อาจทำให้หลายคนเข้าใจผิด
บทบาทที่โดดเด่นในหมู่บ้านของอิบรอฮีมเป็นประเด็นที่เธอบอกเล่าให้ฟังว่าน่าจะเป็นเหตุให้มีใครหลายคนตั้งข้อสงสัย กล่าวคือ ก่อนการถูกอุ้มหายไปไม่นาน เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทำ "ชารีกัต" หรือกองทุนในลักษณะที่คล้ายคลึงกับสหกรณ์ร่วมกับเด็กหนุ่มอีกหลายคนในหมู่บ้าน เพื่อเปิดเป็นร้านขายของชำ กำไรที่ได้นอกจากจะปันผลในหมู่ผู้ถือหุ้นแล้ว ยังตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือเด็กกำพร้าอีกด้วย
เธอเล่าว่า อิบรอฮีมเริ่มต้นโครงการดังกล่าวด้วยการกู้เงินจากแม่ของเธอซึ่งทำงานอยู่ที่มาเลเซียมา 1 หมื่นบาทเป็นทุนในการทำปฏิทินอิสลามในเดือนรอมฎอนเพื่อขายในราคาแผ่นละ 10 บาท กำไรที่ได้ผนวกกับการลงขันของบรรดาสมาชิกเพื่อตั้งเป็นต้นทุนในการทำสหกรณ์
"แต่เปิดได้เพียง 3 - 4 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น คนที่เหลือก็ทำต่อมาไม่นาน สักเดือนหนึ่งสหกรณ์ก็ต้องเลิกไป" นูรีอาว่า
เธอเห็นว่า ด้วยความเป็นคนหนุ่มไฟแรง บทบาทในแง่นี้ของอิบรอฮิมจึงอาจสร้างความไม่พอใจให้กับบรรดาผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐบางกลุ่ม เนื่องจากสหกรณ์ในรูปแบบนี้ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ
"พวกเขาอาจเข้าใจผิดว่าอิบรอฮิมเอาเงินมาจากฝ่ายตรงกันข้ามเพื่อมาเปิดสหกรณ์" นูรีอาตั้งข้อสังเกต
การหายตัวไปของอิบรอฮีมเป็นหนึ่งในกรณีที่ทาง กยต.นำเข้าสู่โครงการเยียวยา นูรีอาได้รับเงินเยียวยาตามอัตรา 1 แสนบาท ส่วนหนึ่งเธอนำไปใช้หนี้สินที่เคยกู้มาสร้างบ้านหลังใหม่ อีกส่วนหนึ่งนำไปจ้างคนให้ทำฮัจย์แทนสามีของเธอ อันเป็นธรรมเนียมของคนมลายูส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่จะแจ้งข้อมูลให้กับคณะทำงานของ กยต. นูรีอา ระบุว่าเคยแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่แล้ว แม้จะลงเพียงบันทึกประจำวันแต่เธอก็คาดหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะให้ความจริงแก่เธอได้ แต่นถึงวันนี้ การดำเนินการสืบหาก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
สำหรับเธอแล้ว ความหวังที่จะพบอิบรอฮีมในสภาพที่ยังมีชีวิตมีอยู่น้อยมาก หากหวังเพียงการได้เจอเพียงร่างหรือสิ่งที่ยืนยันว่าเป็นร่างของอิบรอฮีมก็เพียงพอแล้ว กรณีการรื้อฟื้นคดีของ มชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมตามกระแสข่าวในรอบเดือนที่ผ่านมา ทำให้เธอเริ่มคาดหวังว่ากระบวนรื้อฟื้นในทำนองดังกล่าวจะมาเยียวยาเธอได้บ้าง
ทำบุญไม่ได้ - ทำใจไม่ลง
ในขณะที่ กรณีของ ซาตา ลาโบ๊ะ หนุ่มใหญ่วัย 41 ปี แห่งบ้านจืองา ต.บางปอ จ.นราธิวาส ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่อยู่ในบัญชีการเยียวยา "ผู้สูญหาย" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของทางการ
ซาตา ถูกอุ้มหายไปเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2547 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีนัยสำคัญคล้ายคลึงกับกรณีของอิบรอฮีม กล่าวคือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง ทว่าในกรณีของซาตาให้หลังวันดังกล่าวเพียงเพียง 5 วัน ทุกวันนี้แม่ผู้ชราของเขาก็ยังอยู่ที่บ้านหลังเดิม ในขณะที่ภรรยาของเขาและลูกวัยขวบเศษก็ย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านเดิมในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.ระแงะ
ซง เจ๊ะกาเด ผู้เป็นมารดา เล่าให้ฟังว่า ลูกชายของเธอหายตัวไประหว่างเดินทางเข้าตัวเมืองนราธิวาสเพื่อไปฝากของกับรถตู้ประจำทางไปให้กับหลานที่เรียนอยู่ที่ปัตตานี
ข้อมูลเบื้องต้นที่รวบรวมจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า ในเย็นวันที่ 9 ม.ค. 2547 ระหว่างที่ซาตาอยู่ที่คิวรถตู้ มีผู้พบเห็นว่าเขามีปากเสียงกับชายที่มีลักษณะคล้ายเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่พยายามเข้ามาตรวจค้นกล่องที่เขาจะฝากไปกับรถตู้ การชี้แจงของซาตาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวจึงบอกกล่าวแกมบังคับให้ไปคุยกันต่อที่โรงพัก
นั่นเป็นคำบอกเล่าที่ซงได้รับฟังมา เป็นฉากสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นลูกชายของเธอในที่สาธารณะ ในขณะที่ของฝากชิ้นดังกล่าวถูกส่งถึงปลายทางโดยไม่ได้มีการรื้อค้นแต่อย่างใด
ซาตา เคยเป็นทหารเกณฑ์สังกัดทัพเรือและประจำการอยู่ที่สัตหีบ จังหวัดชลบุรีอยู่ 2 ปี หลังจากจบจากจากปอเนาะ เขาเป็นผู้นำรายได้หลักเข้าบ้านด้วยอาชีพมากมายหลายอย่าง ทั้งเพาะชำกล้าลองกอง ทำผ้าบาติก เลี้ยงไกพันธุ์ ทำน้ำตาลปี๊บส่งตลาด รวมไปถึงธุรกิจนายหน้าค้าที่ดิน เรียกได้ว่าซาตาใช้ชีวิตวัยหนุ่มอันทรงพลังของเขาไปกับการงานอันหลากหลาย ชนิดที่โดดเด่นกว่าเพื่อนพ้องในรุ่นราวคราวเดียวกัน ส่วนในเวทีการเมืองท้องถิ่น ซาตาเคยลงรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิก อบต.บางปอ แม้จะสอบตกในครั้งนั้น แต่ญาติสนิทที่เขาสนับสนุนก็ได้รับเลือกตั้งในสมัยต่อมา
เมื่อถามผู้เป็นแม่ตรงๆ ว่าเธอเชื่อว่าซาตาหายตัวไปด้วยเหตุใด ซงบอกว่าน่าจะเป็นผลมาจากความเป็นคนหนุ่มที่ทำอะไรก็สำเร็จไปหมด เขามักถูกอิจฉาในความสำเร็จของเขา ส่วนความเชื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำเหมือนในหลายกรณี ซง หลีกเลี่ยงที่จะขยายประเด็นนี้อย่างตรงไปตรงมา
หลังจากเข้าแจ้งความกับ สภ.อ.เมืองนราธิวาสและติดตามคดีอยู่ระยะหนึ่ง แต่ในเมื่อได้รับคำตอบว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แทบทุกครั้ง ญาติพี่น้องของซาตาจึงยุติการเทียวไปเทียวมาระหว่างบ้านกับโรงพัก
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของคณะทำงานของ กยต. ที่เกี่ยวกับ "คนหาย" เพื่อซักถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการหายตัวไปของลูกชาย พร้อมทั้งการเข้ามาของเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุช่องปากของเธอเพื่อนำไปเปรียบเทียบกับศพนิรนามที่กระจายอยู่ในสุสานและกุโบร์ต่างๆ ทั่วจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เธอเริ่มเห็นความหวังในการไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการหายตัวไปของซาตาอีกครั้ง
"แต่เราก็ไม่รู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่หรือเปล่า" ซงระบุ และเน้นย้ำว่า การที่ไม่รู้ถึงข้อเท็จจริงนี้ทำให้ญาติพี่น้องอยู่ในความสับสน
"จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ได้ทำงานบุญ เพราะไม่แน่ใจ ถ้าจะทำบุญให้เขา ก็ไม่รู้ว่าเขาตายแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ตาย ก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ แต่ถ้าให้ทำบุญให้เขาจริงๆ ก็ไม่มีกำลังใจจะทำ" ซงบอก
เธอยังคงปลอบใจตัวเองด้วยคติพื้นฐานของชาวมุสลิมว่าเคราะห์กรรมเหล่านี้คือบททดสอบ ในฐานะมนุษย์จึงจำต้องอดทน เพราะเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ในขณะที่วัตรปฏิบัติอันจำเจของเธอคือการขอพรต่อพระเจ้า ลุกจากที่นอนในกลางดึกเพื่อละหมาดขอพรให้ลูกชายของเธอกลับมา
ร้องรัฐรื้อคดีใหม่
นอกจากกรณีของ อิบรอฮีม และ ซาตา แล้ว กรณีของ แวอีซอ มะเส็ง วัย 37 ปี ชาวบ้านบ้านโคกสุมุ ต.บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส ก็ล้วนมีส่วนสัมพันธ์กับสถานการณ์ความไม่สงบอย่างใกล้ชิด ในกรณีเดียวกันกับทั้ง 2 คน ที่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในการ "เชิญตัว" ดังกล่าวอย่างเปิดเผย
แวอีซอ มะเส็ง ถูกควบคุมตัวโดยชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งพร้อมกับ มุสตาซีดีน มะมิง เด็กหนุ่มวัย 27 ปี เจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือแห่งหนึ่งในเทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ ในช่วงเย็นของวันที่ 11 ก.พ.2547 เหตุเกิดที่ร้านดังกล่าวท่ามกลายสายตาของผู้ที่สัญจรไปมา ความเข้าใจของผู้พบเห็นในเบื้องต้นคงหนีไม่ไกลกว่าพวกเขาถูก "เชิญตัว" จากเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อนำตัวไปสอบสวนขยายผลต่อกรณีเหตุพยายามลอบวางระเบิดในเขตเทศบาลเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน
ข้อสังเกตในมุมนี้ ได้รับการขยายความโดย อาแว มะเส็ง ผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งระบุว่าแวอีซอ น้องชายของเขาซึ่งเป็นลูกจ้างในร้านโทรศัพท์มือถือดังกล่าวถูกอุ้มไปน่าจะเนื่องมาจากการขยายผลในการสืบสวนกรณีการพยายามวางระเบิด 2 จุด ในเขตเทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ คือ ที่หน้าป้อมตำรวจ 191 และหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น เนื่องจากลักษณะเป็นระเบิดแสวงเครื่องจุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือ
ในวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถเก็บกู้ไว้ได้ทันและสามารถตรวจสอบข้อมูลจากโทรศัพท์ที่ติดกับระเบิดที่ยังไม่ทำงาน ทำให้น้องชายของเขากับมุสตาซิดีน บัณฑิตใหม่จาก ม.รามคำแหงอาจตกเป็นผู้ต้องสงสัยได้
"มันจึงดูเหมือนว่าเป็นการต้องการจะปิดปากเหมือนเรื่องของทนายสมชาย" อาแวตั้งข้อสังเกต แต่ก็ไม่ได้ขยายความต่อเพิ่มเติม
ผู้เป็นพี่ชายของแวอีซอ บอกว่า หลังจากแน่ใจแล้วว่าน้องชาย "ถูกอุ้ม" หายไป ก็คิดว่าน่าจะไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทหาร โดยคิดว่าหากเป็นการสอบธรรมดาก็จะขอร้องเรียนให้มีการปล่อยตัวเมื่อเสร็จภารกิจ สองวันแรกจึงเดินทางไปติดต่อสอบถามยังค่ายทหารต่างๆ ที่พอจะนึกชื่อออก ไม่ว่าจะเป็นค่ายจุฬาภรณ์ในนราธิวาส ค่ายอิงคยุทธบริหารที่ปัตตานี หรือไกลถึงค่ายเสณาณรงค์ที่หาดใหญ่ แต่ก็ไร้วี่แววของน้องชาย
หลังจากเดินสายติดตามน้องชายเป็นเวลากว่า 3 เดือน อาแว ซึ่งเป็นสารวัตรกำนันประจำหมู่บ้านก็มุ่งหน้าเข้าแจ้งความที่ สภ.อ.ระแงะ และ สภ.อ.เมืองนราธิวาส แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
เมื่อค้นหาคำตอบจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เครือญาติและเพื่อนบ้านจึงนัดละหมาดฮายัตเพื่อขอให้อัลลอฮ์ดลบันดาลให้แวอีซอปลอดภัยและกลับมาที่บ้านให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังหวังพึ่ง "บาบอบิโล๊ะ" ซึ่งเป็นโต๊ะครูผู้ทรงภูมิรู้ในศาสตร์ลี้ลับเพื่อติดตามการหายตัวไปของน้องชาย
กระทั่งบัดนี้ แวอีซอก็ยังไม่กลับบ้าน แม้ว่าตลอดเวลาของการหายตัวไปของเขาจะมีข่าวลือที่กระจายถึงบรรดาญาติๆ ว่าเขากำลังจะกลับมา แต่ข่าวเหล่านี้ก็เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น
พี่ชายบอกด้วยว่า แวอีซอเป็นคนที่มีไหวพริบดี แม้จะเรียนประถมฯ แค่ระดับ ป.1 แต่เขาก็สำเร็จหลักสูตรการฝึกอบรมในแขนงอาชีพต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่สาเหตุที่เขาต้องสงสัย น่าจะมาจากความเป็นคนช่างพูดช่างคุยกับเพื่อนฝูง โดยเฉพาะการสังสรรค์ตามร้านน้ำชา แต่ก็ใช่ว่าทุกอย่างที่แวอีซอพูดถึงจะเป็นความจริงเสียทั้งหมด
"ร้านน้ำชาเหล่านี้อาจมีเจ้าหน้าที่แฝงตัวอยู่ด้วย พวกเขาอาจเข้าใจอะไรผิดไป"
อาแวประเมินว่าโอกาสที่เขาจะได้พบเจอน้องชายลดน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก เนื่องจากทิ้งช่วงเวลายาวนานเกือบ 3 ปีแล้ว จะยังมีความหวังอยู่บ้างก็จากมีการเข้ามาเยี่ยมเยียนของคณะทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจคนสูญหายฯ หรือการเข้ามาตรวจดีเอ็นเอของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่พอหวังว่าอาจจะได้ร่างของแวอีซอมาประกอบพิธีทางศาสนา
"ก่อนเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาญาติพี่น้องก็จัดเลี้ยงทำบุญให้กับแวอีซอ แต่ถ้าทำได้ ก็อยากจะให้ทำเหมือนเรื่องทนายสมชายที่มีการสอบสวนกันใหม่เพื่อค้นหาว่าเขาตายหรือยัง"
อาแว บอกว่า ได้ติดตามการรื้อฟื้นคดีของทนายสมชายในช่วงรัฐบาลใหม่อย่างใกล้ชิด และอยากให้กระบวนการเหล่านี้เกิดกับกรณีของน้องชาวเขาบ้าง อย่างน้อยก็ให้มีความพยายามก็ยังดี สืบได้ไม่ได้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
"ถ้ารู้ได้ก็ดี แต่ถ้ามันยากนัก เราก็ไม่อยากรู้หรอกว่าใครเป็นคนทำ ถ้ามันยากนัก ไม่รู้ก็ได้ เขาก็มีชีวิตอยู่แค่นั้น มันเป็นกำหนดของอัลลอฮ์แล้ว เราคิดอย่างนี้ แต่ขอกระดูกสักชิ้นก็ยังดี ให้มันชัดเจนว่าเป็นกระดูกของเขา เราจะได้ทำการฝังให้ถูกต้อง"
ครอบครัวของแวอีซอได้รับการเยียวยาตามกรอบของ กยต. ในฐานะของคนสูญหาย โดยได้รับเงินเยียวยาจำนวน 1 แสนบาท อาแว บอกว่า เขาจัดสรรให้กับภรรยาของแวอีซอที่ไปทำงานมาเลเซีย 2 หมื่นบาท แบ่งให้กับผู้เป็นย่าสำหรับดูแลลูกของแวอีซอทั้งสองคนอีก 2 หมื่นบาท ส่วนที่เหลือเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับการรับจำนองที่ดินของชาวบ้าน แต่ทั้งหมดก็ดูจะเป็นการชดเชยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
เขาบอกด้วยว่า การเรียกไปสอบของเจ้าหน้าที่น่าจะทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เชิญตัวไปแล้วก็หายไปเลย เขายกตัวอย่างกรณีการเชิญตัวผู้นำหมู่บ้านหลายคนตามหมาย พ.ร.ก.ไปที่ค่ายทหารว่าเป็นสิ่งที่พอรับได้ เนื่องจากทหารเดินทางมาที่บ้านอย่างเป็นทางการ ญาติก็รู้ด้วยว่าถูกนำตัวไปที่ไหน สุดท้ายเมื่อไม่มีอะไรก็ปล่อยตัวออกมา
"หากพวกเขาผิดจริงก็ว่ากันไปตามขั้นตอน อย่าทำอย่างนี้" สารวัตรกำนันจากบ้านโคกกุมุระบุในตอนท้าย
อาจกล่าวได้ว่า กรณีของมุสตาซีดีนและแวอีซอเป็น "ปฏิบัติการอุ้ม" ที่ท้าทายกฎหมายและสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยากที่จะอธิบายได้ ทั้งที่เป็นชาวบ้านซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวหรือได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ แน่นอนที่สุด ไม่ว่าชายฉกรรจ์กลุ่มนี้จะเป็นใคร ทว่าผลสะเทือนด้านลบหันมาตีกลับที่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทำหมันศูนย์ติดตามคนหายฯ "ศูนย์ติดตามคนหายและพิสูจน์ร่างนิรนาม" เป็นหนึ่งในโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่เริ่มคิดกันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพื่อมุ่งหวังที่จะคลี่คลายปัญหาคนหายซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศ โดยใช้กระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการหลัก กล่าวอย่างง่าย เมื่อเป็นการยากหรือถึงขั้นไม่สามารถที่จะสืบค้นหรือค้นหาได้ว่าผู้สูญหายที่รับแจ้งไว้ หายไปไหน ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อชีวิตที่เหลืออยู่ของญาติที่ยังรอคอยการกลับมา กระทั่งถึงกระบวนการยุติธรรมใน "ระบบกล่าวหา" ของประเทศนี้ ที่จำต้องมี "หลักฐานสำคัญ" เพียงพอที่จะแจ้งข้อหา "ฆ่าคนตาย" เพื่อนำมาสู่การพิจารณาโทษในชั้นศาล เป็นการติดตามคนหายจากร่างของคนที่ตายไปแล้วนั่นเอง ตามแนวคิดเดิม ศูนย์ติดตามคนหายฯ จะเริ่มงานตั้งแต่การเปิดรับแจ้งคนหาย ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกลักษณ์ของ "ศพนิรนาม" หรือ "ศพไร้ญาติ" ตามสุสานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นลายนิ้วมือ(ถ้าทำได้) ฟัน และดีเอ็นเอ เพื่อเทียบกับญาติพี่น้องของบุคคลที่ถูกแจ้งว่าสูญหาย เมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าศพนิรนามที่ว่าเป็นใคร ก็จะนำเข้าสู่กระบวนสืบสวนสอบสวนในเชิงคดีต่อไป อย่างไรก็ตาม จนถึงวันนี้ศูนย์ติดตามคนหายฯ ก็ยังไม่ได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะมีการหยิบยกกรณีศพนิรนามที่ปัตตานีขึ้นมาอีกครั้งเมื่อช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รมว.ยุติธรรมขณะนั้นแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส เป็นประธาน ก็ไม่ได้สร้างความกระจ่างในกรณีนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ รักษาการ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ระบุว่า แม้การจัดตั้งศูนย์ติดตามคนหายฯ จะเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้ว ทว่าจนถึงที่สุดรูปธรรมของโครงการดังกล่าวก็ยังไม่เกิดขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ไม่อนุมัติเงินงบประมาณจัดสรรให้ ในขณะเดียวกัน การประชุมหารือก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เธอเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่ได้งบประมาณกลาง ทางเลือกอีกทางคือการจัดสรรงบฯจากดอกเบี้ยของกระทรวงยุติธรรมซึ่งสามารถจัดสรรได้ประมาณ 3 ล้านบาท เพื่อทำโครงการนำร่องไปก่อน ซึ่งตามแผนเดิมจะเข้าตรวจสอบศพนิรนามที่สุสานจีนของมูลนิธิท่งเต็กเซี่ยงตึ่ง อ.เมืองปัตตานี ซึ่งมีอยู่กว่า 400 ราย และกุโบร์หรือสุสานมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่คาดว่ามีอยู่ประมาณ 20 - 30 ราย โดยสถาบันฯ จะนำร่างเหล่านี้ไปตรวจสอบที่สุสานบ้านพรุ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และบางส่วนจะนำขึ้นมาตรวจสอบที่มูลนิธิสว่างอารยะ จ.นครนายก อย่างไรก็ตาม เธอระบุว่า นายภานุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีปฏิเสธที่จะให้มีการเคลื่อนย้ายศพดังกล่าวออกนอกพื้นที่ ทั้งๆ ที่มีหมายศาลที่ กสม.ร้องขอเพื่ออายัดศพเหล่านี้และนำไปตรวจสอบโดยมอบหมายให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานดังกล่าว "สรุปว่าไม่มีใครอยากให้ทำ มันมีแรงต้านมากในเรื่องนี้ ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรี ตำรวจ และในพื้นที่"พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว และย้ำว่า แม้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการให้มีการตรวจสอบเพื่อให้มีความชัดเจนในเรื่องของคนหายหรือแม้แต่เรื่องของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแย่งอาชีพคนท้องถิ่น แต่คนที่คัดค้านกลับเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามไม่ให้เรื่องราวเหล่านี้ถูกขยายความออกไป ส่วน วสันต์ พานิช หนึ่งใน กสม. ระบุว่า ในกรณีนี้ซึ่งเชื่อว่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น กสม.ได้ร้องขอหมายศาลเพื่อเข้าไปตรวจสอบศพนิรนามที่ปัตตานี โดยสุสานท่งเต็กเซี่ยงตึ่งที่ปัตตานี มีศพนิรนามที่รอการพิสูจน์อยู่ทั้งหมด 419 ราย โดยแยกเป็นหลุมเดี่ยว 389 ราย และหลุมรวม 30 ราย ซึ่งใช้อำนาจศาลอายัดไว้ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายและล้างป่าช้าก่อนการเข้าตรวจสอบ ส่วนในกรณีของกุโบร์หรือสุสานมุสลิม แม้จะมีมติของคณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ห้ามขุดศพ แต่เมื่อ กสม.ทำหนังสือสอบถามไปที่สำนักจุฬาราชมนตรี ก็ได้รับคำตอบว่าหากมีความจำเป็นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อความเป็นธรรมก็สามารถจะกระทำได้ ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของ 3 ฝ่าย คือ ผู้ปกครองของศพ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดในท้องที่นั้นๆ และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา กสม.ได้จัดคณะเพื่อไปศึกษาแนวทางปฏิบัติของประเทศมาเลเซีย โดยความร่วมมือของสำนักนายกรัฐมนตรีและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของมาเลเซีย ก็ได้รับคำตอบที่คล้ายคลึงกันว่าสามารถจะขุดศพขึ้นมาพิสูจน์ได้หากมีเหตุจำเป็นในด้านความยุติธรรม วสันต์ ระบุว่า ในทางปฏิบัติ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อจำเป็นต่างๆ ไม่ยากที่จะทำได้ เพียงแต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการเดินหน้าในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ได้ทำการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของญาติผู้สูญหายที่อยู่ในบัญชีของ กยต.ครบทั้ง 23 รายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อรอการตรวจสอบซ้ำกับตัวอย่างที่เจอในสุสานปริศนาต่างๆ เพื่อเป็นคำตอบว่าญาติของพวกเขายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ จนกระทั่งถึงวันผลัดอำนาจ รัฐบาลชุดใหม่ก็ยังไม่มีท่าทีเกี่ยวกับศูนย์ติดตามคนหายฯ ที่ชัดเจน น่าผิดหวังที่หน่วยงานอย่าง ศอ.บต.ที่เพิ่งเพิ่มเนื้องานด้านกระบวนการยุติธรรมเข้าไป ทว่ายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับศูนย์ติดตามคนหายฯ หรือแม้แต่นโยบายเฉพาะเกี่ยวกับการคลี่คลายปมคนหายแต่อย่างใด
|
"โปรกรี อภิบาลแม" เหยื่ออุ้มหายรายล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพซึ่งมีนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นประธาน ทำหนังสือถึง พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรักษาการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เพื่อขอทราบแนวทางในการปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการแก้ไขปัญหากรณีคนหายใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกันนี้ได้ทำสำเนาถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในหนังสือฉบับเดียวกันยังได้แนบข้อมูลบุคคลสูญหายและรายละเอียดของ "คนหาย" ที่มีการเปิดเผยล่าสุดโดยการรายงานข่าวของศูนย์ข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา รายงานข่าวชิ้นดังกล่าวมีชื่อว่า "อุ้มหายที่ป่าหวัง วันนี้...เขายังเชื่อมั่นในรัฐ" โดยระบุถึงการหายตัวไปของนายโปรกรี อภิบาลแม เด็กหนุ่มวัย 21 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 11 บ้านป่าหวัง ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 27 ต.ค. หรือก่อนหน้านั้น 1 เดือน โดยขึ้นต้นรายงานด้วยคำบอกเล่าของนายดอเราะแม อภิบาลแม ผู้เป็นบิดา คำบอกเล่าของชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า นายโปรกรีถูกทหารกลุ่มหนึ่งเข้าตรวจค้นระหว่างนำรถจักรยานยนต์เติมน้ำมันอยู่ที่ปั๊มแห่งหนึ่งกลางตลาดบันนังสตา หลังจากนั้นได้หายตัวไป โดยทิ้งรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไว้ใกล้ๆ ปั๊ม รายงานระบุว่า นายดอเราะแมพยายามจะติดตามค้นหาลูกชายทั้งวัน รวมทั้งได้ติดต่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รู้จักเพื่อให้ช่วยตามหาแต่ไม่เป็นผล ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังแนะว่าไม่ควรจะแจ้งความ เนื่องจากน่าจะรอดูไปก่อนเผื่อนายโปรกรีจะกลับมา รายงานชิ้นเดียวกัน ยังให้รายละเอียดด้วยว่าสองพ่อลูกเป็นสมาชิกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.ของบ้านป่าหวัง ในขณะที่ตัวโปรกรีเองก็เคยทำงานในโครงการจ้างงานเร่งด่วนของ กอ.สสส.จชต. หรือโครงการสี่พันห้า โดยมีหน้าที่ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้เป็นพ่อตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ที่การทำหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ต้องเข้าไปคลุกคลีหาข่าวเกี่ยวกับคนที่มีหมายจับของทางการ เพื่อหาข้อมูลให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงถูกเจ้าหน้าที่ทหารเพ่งเล็งและคิดว่าเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในทางกลับกัน เขาก็คาดหวังด้วยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเองก็น่าจะให้คำตอบได้ แต่สิ่งที่สะท้อนกลับมาเพียงแค่ระบุว่ากำลังติดตามให้อยู่ พื้นที่บ้านป่าหวังอยู่ในพื้นที่สีแดงที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ต่างกับอีกหลายพื้นที่ในเขต อ.บันนังสตา โดยเฉพาะในรอบเดือนที่ผ่านมาเขต อ.บันนังสตา และ อ.ยะหา ตกเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวที่ร้อนแรงที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นดังกล่าวยังให้รายละเอียดว่าผู้เป็นพ่อยังเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถคลี่คลายข้อสงสัยในประเด็นนี้ได้ แม้ว่าจะมีความพยายามของสมาชิกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาชักชวนให้มีส่วนร่วมในการก่อเหตุหลายครั้ง แต่เขายืนยันที่จะไม่ให้ความร่วมมือ ด้าน อังคณา ระบุว่า หลังจากยื่นหนังสือสอบถามไปดังกล่าว ทางคณะทำงานของ พล.ต.ท.อดุลย์ ก็พยายามติดต่อเพื่อขอข้อมูลในรายละเอียดเพิ่มเติม จนถึงวันนี้ยังไม่มีการชี้แจงกลับมา ซึ่งเข้าใจว่ากำลังอยู่ในช่วงรวบรวมข้อมูล ในขณะที่ พ.ต.อ.อนุรุธ อิ่มอาบ ผู้กำกับการ สภ.อ.บันนังสตา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ "โปรกรี อภิบาลแม" ว่า เป็นเพียงความเข้าใจผิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง และปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประเด็นที่กระทบต่อความมั่นคงและแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่
|