Skip to main content

 เผยแพร่วันที่ 17พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

 
 
ข้อเสนอต่อฝ่ายตุลาการ
ต่อกระบวนการยุติธรรมในคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
          นับแต่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามฉบับ คือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551[1] ในพื้นที่อำเภอจะนะ นาทวี เทพา และสะบ้าย้อย ของจังหวัดสงขลา ดังนั้น คดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์[2]ที่พยานหลักฐานจะมีจุดเริ่มต้นของการได้มาจากการจับกุมคุมขังบุคคลภายใต้กฎหมายพิเศษและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งกฎหมายพิเศษนั้นไม่ได้ให้สิทธิแก่ผู้ถูกควบคุมที่ถูกควบคุมตัวไว้เพื่อซักถามและต่อมาได้ตกเป็นผู้ต้องหาตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักการดำเนินคดีที่เป็นธรรม เช่น การซักถามโดยที่ไม่มีบุคคลที่ตนไว้วางใจหรือทนายความเข้าร่วมฟังการซักถาม ดังนั้น พยานใดๆที่ได้มาจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยวิธีการที่ไม่โปร่งใส และไม่อาจรับฟังได้ในการพิจารณาคดี เนื่องจากองค์กรตุลาการนับว่าเป็นองค์กรเดียวที่จะเป็นองค์กรที่จะสามารถตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจได้ ข้อเสนอต่อไปนี้ จึงเป็นข้อเสนอประเด็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ และ ศาลควรวางบทบาทอย่างไร เพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของประชาชน
 
พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457
 
          อำนาจในการกักตัวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ตามมาตรา 15 ทวินั้น มีเจตนารมณ์เพื่อการสอบถามและตามความจำเป็นของราชการทหาร แต่มีข้อเท็จจริงที่พบว่า การกักตัวตามกฎหมายนี้ได้นำไปสู่การใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คือ การซ้อมทรมานผู้ถูกกักตัวเพื่อให้รับสารภาพ ให้การซัดทอด หรือให้บอกแหล่งที่มาของอาวุธปืนที่ใช้ในการก่อเหตุ
 
ข้อเสนอ
 
         เมื่อมีการยื่นคำร้องโดยทนายความเพื่อให้ศาลไต่สวนกรณีที่มีการควบคุมตัวโดยมิชอบ (Habeas Corpus Writ) ศาลควรมีบทบาทอย่างเต็มที่ในการใช้อำนาจในการไต่สวน โดยเรียกพยานหลักฐานเข้ามาสู่ศาลเพื่อไต่สวน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการเยียวยาหากพบว่ามีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัวจริง ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2550 มาตรา 32 รับรองไว้
 
 
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
 
          มีการบัญญัติให้ศาลมีอำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลได้ ตามมาตรา 11(1) มาตรา 12 ซึ่งกำหนดให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับวิธีการของออกหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาบังคับใช้โดยอนุโลม รวมถึงระเบียบกอ.รมน.ฯ[3] ในขั้นตอนการออกหมายจับและการอนุญาตให้มีการขยายระยะเวลาการควบคุมตัว
 
ข้อเสนอ
 
1. กรณีการออกหมายจับตามพรก.ฉุกเฉินฯ
1.1        พยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ได้เสนอให้มีการออกหมายจับนั้น ศาลควรเรียกมาไต่สวนให้ทราบสาเหตุของการขออำนาจการจับกุมนั้น มาจากพยานหลักฐานของการซัดทอด หรือมาจากแหล่งข่าวว่า บุคคลใดมีส่วนในการกระทำความผิด เนื่องจากมีหลายคดีที่พบว่าเมื่อพนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลแล้ว ก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่ตรงกับเหตุที่อ้างในการขอออกหมายจับตามพรก.ฉุกเฉินฯ
1.2        ควรกำหนดมาตรการในการให้ผู้ควบคุมตัวทำรายงานแสดงสถานะปัจจุบันของผู้ถูกควบคุมตัวต่อศาล เพื่อให้มีการจัดตั้งสารบบในการแจ้งสถานะอันนำไปสู่การป้องกันมิให้มีการออกหมายจับซ้ำ และขั้นตอนในการปลดหมาย
 
2. การขยายระยะเวลาการควบคุมตัว
2.1 การขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ควรนำขั้นตอนของข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณท์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๔๘   มาบังคับใช้ โดยกำหนดให้มีการนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาลเพื่อทำการไต่สวนว่าผู้ถูกควบคุมตัวนั้นจะคัดค้านการขยายระยะเวลาการควบคุมตัวหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันนี้ศาลยังยึดเอาแนวทางของระเบียบกอ.รมน.ฯข้อที่ ๓.๗ วรรคสอง ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาขึ้นศาล
2.2 การทำรายงานของเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาลนั้น ควรพิจารณารายงานการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และความเข้าใจ ต่อผู้ถูกควบคุมตัวอย่างเคร่งครัด เนื่องจากพบว่าเจ้าหน้าที่ผู้ทำรายงานมักจะหยิบยกเอาข้อความในข้อ 3.7 ของระเบียบกอ.รมนฯ มารายงานโดยที่มิได้ขยายรายละเอียด[4]
2.3 ศาลควรกำหนดให้มีการไต่สวนเรื่องการปลดหมายจับพรก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ผู้ขอออกหมาย ไม่ยอมลบข้อมูลการออกหมายจับบุคคลภายหลังจากที่มีการปล่อยตัวหรือเมื่อผู้ถูกควบคุมตัวได้ผ่านกระบวนการควบคุมตัวตามพรก.ฉุกเฉินเสร็จสิ้นแล้ว ทำให้ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวมักจะถูกกักตัวตามด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ การไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ รวมถึงการถูกนำตัวไปเข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐเพื่อแลกกับการปลดหมายจับ
 
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
1.         การยื่นคำร้องเพื่อขอขยายระยะเวลาการควบคุมตัวเพื่อสอบสวน ศาลควรมีบทบาทอย่างเคร่งครัดตามข้อบังคับประธานศาลฎีการ ข้อ 47, 48 กรณีการยื่นคำร้องเพื่อนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมตัวยังสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ซึ่งต้องมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการจัดให้มีการไต่สวน ในคดีความมั่นคงพบว่าพนักงานสอบสวนมักจะยื่นคำร้องเพื่อนำตัวผู้ต้องหาไปสอบสวนยังศูนย์ซักถาม พบว่าผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงทนายความที่ตนไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังการสอบสวน
2.         การยกเลิกระบบวีดีโอ คอนเฟอร์เรนซ์ กรณีที่มีการขยายระยะเวลาการสอบสวน ศาลควรกำหนดให้มีการนำตัวผู้ต้องหามาศาลเพื่อซักถาม และเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาแถลงต่อหน้าศาลว่าจะคัดค้านการควบคุมตัวหรือไม่
3.         ศาลควรมีความเคร่งครัดในการรับฟังพยานหลักฐาน เนื่องจากพยานในคดีความมั่นคงมีจุดเริ่มต้นของรวบรวมมาจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ดังนั้น พยานหลักฐานที่มีการนำเสนอในชั้นสืบพยาน มักจะเป็นพยานบอกเล่า หรือพยานที่ได้จากการซัดทอดในชั้นการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ รวมถึงมีขั้นตอนการจัดให้มีการชี้ตัวชี้ภาพที่ไม่โปร่งใส
4.         ศาลไม่ควรอนุญาตให้มีการส่งประเด็นไปสืบ   ทั้งนี้เพราะเจตนารมณ์ในการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๓๐ มีจุดมุ่งหมายเพื่อ ไม่ต้องการให้มีการส่งประเด็นไปสืบพยานที่ศาลอื่น นอกจามีความ จำเป็นเท่านั้น (ความเห็นของ อ.จรัญ ภักดีธนากล จำเป็น คือ พยานเจ็บป่วยหรือพิการ เท่านั้น ) ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามรัฐธรรมนูญ ที่ว่า ศาลจะพิพากษาคดีต้องเป็นศาลที่นั่งสืบพยาน จึงมีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๕๖ ให้ศาลจ่ายค่าพาหนะ ค่าาป่วยการ และค่าเช่าที่พักที่จำเป็นและสมควรแก่พยานที่มาศาล
5.         ศาลควรให้ความสำคัญต่อขั้นตอนของการตรวจพยานหลักฐาน เนื่องจากในขั้นตอนนี้ศาลจะสามารถพบว่าพยานของโจทก์มีอะไร พยานบุคคลเป็นใคร ในคดีความมั่นคงส่วนใหญ่จะพบว่าพยานบุคคลจะไม่มีประจักษ์พยาน มีแต่เพียงพยานบอกเล่า เช่นนี้ ศาลควรจะมานำมาเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณาการอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยเข้ามาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
6.         การยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลไต่สวนคำร้องต่างๆ เช่น กรณีการควบคุมตัวโดยมิชอบ การคัดค้านการขยายระยะเวลาการควบคุมตัว การไต่สวนมูลฟ้องของพนักงานอัยการ และการไต่สวนวิสามัญฆาตกรรม ศาลต้องมีบทบาทหรือใช้อำนาจในการไต่สวนอย่างเต็มที่ เช่นเรียกพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสาร เข้าสู่สำนวนศาล เพื่อเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงให้มากที่สุด อันจะนำมาซึ่งการมีคำสั่งของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรมและตรงตามข้อเท็จจริงมากที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีทนายความในคดี
 
พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551
 
          ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 21[5] ศาลต้องกำหนดบทบาทในการไต่สวนสำนวนการสอบสวนผู้ต้องหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรานี้ คือ พนักงานสอบสวน ผอ.กอ.รมน. และพนักงานอัยการ และเปิดโอกาสให้มีทนายความเข้าไปมีส่วนร่วมในการซักถามเพื่อเป็นการกลั่นกรองก่อนศาลมีคำวินิจฉัยได้ เนื่องจากตามบทบัญญัตินี้ ไม่มีองค์กรภาคประชาชนหรือทนายความเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจว่าเป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ 
 
ข้อเสนอแนะทั่วไป
 
·      ควรเพิ่มจำนวนผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ในการพิจารณาคดีความมั่นคง และให้มีจำนวนผู้พิพากษาที่เพียงพอต่อปริมาณคดี ปัจจุบันมีคดีทั้งสิ้น กว่า 545 คดี จำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ 548 คนไม่ได้สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคมพ.ศ. 2552
·      ขอให้ศาลมีขั้นตอนการศึกษาทำความเข้าใจในพื้นฐานแห่งปัญหาภาคใต้และสถานการณ์จริงจากมุมมองของภาคประชาสังคม และจากประชาชน เพิ่มเติมจากมุมมองของรัฐและจากหน่วยงานความมั่นคง
·      ขอให้ขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมปราศจากซึ่งการเลือกปฏิบัติต่อคดีความมั่นคง เช่น กรณีอัยการต้องเคร่งครัดสำหรับการใช้กฎหมายระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน เช่นการมาเป็นพยานศาลของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งปรากฎว่ามีหลายคดีที่เจ้าหน้าที่ขอเลื่อนหรือปฏิเสธไม่มาศาลอ้างว่าติดราชการ
·   การนัดความในชั้นพิจารณาควรอนุโลมให้มีการนัดแบบต่อเนื่องที่ไม่เคร่งครัด ให้มีระยะห่างของเวลาในวันนัด  แม้ว่าจะมีนโยบายการพิจารณาต่อเนื่องตามนโยบายของศาล แต่เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาเมื่อถึงกำหนดนัดพยานโจทก์ไม่มาเบิกความเป็นพยานโดยอ้างเหตุย้ายไปรับราชการต่างจังหวัดหรือย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมเป็นต้น ทำให้ต้องมีการเลื่อนคดี การฝากประเด็นไปพิจารณาในศาลอื่นที่พยานมีภูมิลำเนา    ซึ่งหลายครั้งทำให้เกิดการยกเลิกนัดที่นัดล่วงหน้ามาแล้วเป็นเวลาปีเศษ และต้องกำหนดนัดใหม่ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงส่วนใหญ่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ถูกควบคุมตัวเป็นเวลานานระหว่างการรอการพิจารณาคดี และวันนัดหมายต้องมาเลื่อน
·   บทบาทของอัยการ มีบทบาทในการกลั่นกรองคดีและการสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง   ควรมีความกล้าหาญที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีในข้อหาที่เห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง โดยพิจารณาจากสถิติการยกฟ้องของศาล โดยเฉพาะข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร หรือก่อการร้าย ซึ่งมีอัตราที่ศาลยกฟ้องสูง จนเป็นที่สงสัยในการใช้ดุลยพินิจในการสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ว่ามีความโน้มเอียงไปในทางยึดหลักการควบคุมตัวเพื่อป้องกันผู้ต้องหาไม่ให้ไปก่อเหตุ (Preventive Detention) มากกว่าหลักที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์
·      เพิ่มจำนวนอัยการ เนื่องจากยังมีไม่เพียงพอกับปริมาณคดีเมื่อมีคดีซ้อนจึงต้องเลื่อนคดี ทำให้กระบวนการการพิจารณาคดีมีความล่าช้า  
 
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ทนายความ สมชาย หอมลออ ประธานมูลนธิผสานวัฒนธรรม 081-8995476
ทนายความ สิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการศูนย์ทนายความมุสลิม   089-8731626


[1] คณะรัฐมนตรีเห็นด้วยในหลักการในการประกาศใช้พรบ.ความมั่นคง 2551 ตั้งแต่ต้นปลายเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นต้นไป
[2] สัมภาษณ์นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ เลขาธิการ ศูนย์ทนายความมุสลิม
[3] ระเบียบกอ.รมน.ฯ ย่อจาก ระเบียบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค ๔ ว่าด้วย วิธีปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ­๒๕๔๘
[4] ข้อ 3.7 วรรคสอง กำหนดว่า “ การร้องขอขยายระยะเวลาการควบคุม ไม่ต้องนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาล แต่ต้องแสดงให้ศาลเห็น ถึงเหตุจำเป็นที่ต้องขอขยายเวลาควบคุม เพื่อประโยชน์แห่งการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน....”
[5] มาตรา 21 บัญญัติว่า “...หากปรากฎว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลมีกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวน ได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว ปรากฎว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการและการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัว จะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ
ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการ เพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการ เพื่อเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกิน ๖ เดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้....”