กองบรรณาธิการสำนักสื่อ Wartani
กรรมการสิทธิฯเอาจริงเดินหน้าตรวจสอบข้อมูลวิสามัญบ้านน้ำดำ ข้อมูลจากคนอาบน้ำศพชี้ ไม่มีคำขอจากญาติไม่ให้อาบน้ำ เชื่อไม่ใช่แนวร่วมอย่างแน่นอน เผยสภาพศพยับเยินมีบาดแผลจากกระสุนพร้อมรอยเย็บทั่วหน้า หัวและลำตัว
คลิปวีดีโอสัมภาษณ์ : นางอมรา พงศาพิชญ์ (ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ตัวแทนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับกรณีการเสียชีวิตของนายอับดุลอาซิ สาและ อายุ 26 ปี ซึ่งถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่จากเหตุการณ์ที่เป็นรายงานข่าวในสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ว่าเป็นการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ความมั่นคงกับกลุ่มแนวร่วมที่บ้านน้ำดำ ปัตตานี เมื่อวันที่ 2556 แต่ครอบครัวของนายอับดุลอาซิสได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมเพราะไม่เชื่อว่า นายอับดุลอาซิเสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ดังที่เป็นข่าว โดยระบุว่าก่อนที่จะกลายเป็นศพนายอับดุลอาซิสได้ถูกจับกุมตัวแล้ว
ขอบคุณภาพจาก มูลนิธฺขกู้ภัยกองเหญี่ยว
ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า ในการรับฟังข้อเท็จจริงหนนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสซักถามข้อมูลจากอิหม่ามผู้ทำหน้าที่อาบน้ำศพ ซึ่งตัวแทนในที่ประชุมซึ่งมีทั้งนักกฎหมาย นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ต่างได้ไต่ถามถึงรายละเอียดของสภาพศพ ลักษณะบาดแผล และวิธีการจัดการกับศพ รวมทั้งได้มีการนำเอาภาพถ่ายของศพไปดูร่วมกันด้วย ผู้อาบน้ำศพได้แจ้งกับตัวแทนคณะกรรมการว่า ตนได้อาบน้ำและทำความสะอาดศพของนายอับดุลอาซิตามปกติ ไม่ได้มีการละเว้นแต่อย่างใด เนื่องจากครอบครัวของผู้ตายไม่ได้สั่งให้งดเว้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามความเชื่อที่ว่า หากผู้ตายเป็นนักสู้จะไม่มีการอาบน้ำศพ ก็ทำให้เชื่อได้ว่านายอับดุลอาซิสไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มขบวนการหรือเป็นแนวร่วมแต่อย่างใด
จากการซักถามของตัวแทนคณะกรรมการในที่ประชุมพบว่า สภาพศพของนายอับดุลอาซิสนั้นเต็มไปด้วยบาดแผล ทั้งที่หน้าและที่ท้อง มีทั้งที่เป็นรูและที่ได้รับการเย็บไว้แล้วมีหลายขนาดเป็นจำนวนมากทั้งที่หน้า หัว ตัว ที่บริเวณท้ายทอยนั้นมีสภาพนิ่ม เหมือนโดนตีด้วยของแข็ง อย่างไรก็ตาม ผู้ทำหน้าที่อาบน้ำศพยอมรับว่า ไม่ได้ตรวจสอบถี่ถ้วนมากเพราะคาดไม่ถึงว่าจะมีผู้มาสอบถาม เพียงแต่สามารถจำได้ว่าสภาพศพนั้นแทบจดจำไม่ได้หากไม่ใช่เพราะผู้ตายเป็นลูกบ้านของตน “มีแผลเยอะ ยับเยิน ถ้าเขาอยู่ก็ไม่รอด” นอกจากนี้ยังระบุว่า ศพของนายอับดุลอาซิสไม่มีเลือดไหลต่างไปจากศพปกติทั่วไปที่เมื่อเจอสภาพเช่นนี้จะมีอาการเลือดออกไม่หยุด ที่ประชุมได้นำภาพถ่ายศพของนายอับดุลอาซิสไปดูประกอบด้วย
นอกจากนั้นได้มีการซักถามญาติผู้เสียชีวิตซึ่งยืนยันด้วยว่า นายอับดุลอาซิซึ่งเรียนอยู่รร.ปอเนาะ ไม่ได้กลับบ้านบ่อยมากนัก ปกติก็มักจะกลับเพียงเดือนละครั้ง คือตามกำลังทรัพย์ที่มี ก่อนเกิดเหตุเพิ่งกลับถึงบ้านก่อนวันรายอเพียงหนึ่งวัน ครอบครัวยืนยันว่าไม่เคยเห็นนายอับดุลอาซิสใช้อาวุธปืนจึงทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากในเรื่องที่มีข่าวระบุว่า มีการพบเขม่าปืนที่มือผู้ตาย อีกด้านหนึ่งทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิมได้ให้ข้อมูลในที่ประชุมด้วยว่า ขณะนี้คาดว่าเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสรุปสำนวนคดีของนายอับดุลอาซิส และการสอบสวนคดีนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการ
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้สัมภาษณ์ภายหลังการรับฟังข้อเท็จจริงว่า การประชุมหนนี้ทางคณะกรรมการพยายามเชิญผู้เกี่ยวข้องสี่ฝ่ายด้วยกันไปให้ข้อมูล คือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อัยการและแพทย์ แต่ในวันนี้มีเพียงเจ้าหน้าที่ตร.และปลัดอำเภอเท่านั้นที่ไปให้ข้อมูล อัยการและแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพไม่ได้ไปให้ข้อมูลแต่อย่างใด ซึ่งคณะกรรมการก็จะหาข้อมูลจากฝ่ายต่างๆเหล่านั้นต่อไป“กรณีนี้เป็นตัวอย่างของการที่มีความรุนแรงและชาวบ้านรู้สึกว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม เลยนำมาส่งต่อให้กรรมการสิทธิฯ ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิที่สามารถจะตรวจสอบข้อมูล เชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลได้ สำหรับผู้ที่มีความไม่มั่นใจในสิ่งที่เกิดขึ้นก็สามารถจะนำเรื่องมาร้องเรียนกรรมการสิทธิฯได้” นางอมรากล่าวการจัดรับฟังข้อมูลหนนี้นับเป็นครั้งที่สองของคณะกรรมการ หลังจากที่ครั้งแรกครอบครัวของนายอับดุลอาซิได้เป็นผู้ให้ข้อมูลไปแล้ว โดยการเปิดรับฟังข้อมูลทั้งสองครั้งมีนางอมรา ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมด้วยตนเอง
สำหรับกรณีวิสามัญบ้านน้ำดำนี้ ครอบครัวของนายอัลดุลอาซิได้เข้าร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งร้องเรียนต่อศอ.บต.อีกหน่วยงานหนึ่งด้วย และก่อนหน้านี้ศอ.บต.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บข้อมูลจากครอบครัวและชาวบ้านในพื้นที่แล้ว