Skip to main content

 

ทำไมวิทยุชุมชนจึงมีความสำคัญกับการสร้างสันติภาพ การบรรยายของอาจารย์ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี เมื่อวันก่อนให้ภาพที่ชัดเจนมาก ผมขอเอามาลงในบล็อกอีกครั้งหนึ่ง ต้องขอบคุณฮัสซัน โตะดง จากโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ที่เก็บความได้ดีมากเช่นกันครับ

“ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี” บรรยาย ทำไมวิทยุชุมชนจึงสำคัญกับการสร้างสนามสันติภาพ ในการระดมสมองกับเครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ ชี้กระบวนการสันติภาพเป็นวาทกรรมที่มาจากการทำงานร่วมเพื่อสร้างพลังอำนาจทางการเมือง ที่ต้องการแก้ความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ชี้ความสำคัญของการสร้างสนามการพูดคุยและการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้ทุกคนโดดเข้ามาร่วม แม้จะคิดต่างกัน ศาสนาและชาติพันธ์ต่างกัน
ต่อไปนี้เป็นการถอดคำพูด ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) ในการประชุมระดมสมองเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์เครือข่ายวิทยุชุมชนชายแดนใต้ (Community Radio) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2557 ที่โรงแรมปาร์ควิว อ.เมือง จ.ยะลา มีตัวแทนสถานีวิทยุชุมชนในจังหวัดยะลาเข้าร่วมประมาณ 10 สถานี ซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจถึงบทบาทของสื่อวิทยุชุมชนในพื้นที่ สามารถมีบทบาทในการสร้างพื้นที่กลางในการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติได้อย่างไร
เป็นการบรรยายที่อยู่บนฐานของประสบการณ์และการทำงานร่วมระหว่างศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้กับเครือข่ายวิทยุชุมชนในพื้นที่มาระยะเวลาหนึ่งที่ผ่านมา มีเนื้อหาดังนี้
 
.......................
จากวาทกรรมความรุนแรง สู่วาทกรรมสันติภาพ
“....กระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องของการสร้างวาทกรรมทางการเมือง วาทกรรมในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ศิลปะ สำเนาโวหาร วาทศิลป์ หรือคำพูดเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของความคิดหรือพูดคุยอย่างเป็นระบบ หรือชุดของความคิดที่มีความเชื่อรองรับ ที่มาจากการทำงานหรือปฏิบัติร่วมกัน เป็นการทำงานที่มีอำนาจหรือมีพลังทางการเมือง”
ดังนั้น วาทกรรมไม่ใช่เป็นเพียงแค่ใครคนใดคนหนึ่งพูดขึ้นมาแล้วเป็นวาทกรรมได้ แต่เป็นการสร้างบทสนทนาหรือสร้างการพูดคุยกันอย่างมีความหมายและเป็นระบบ ผ่านการคิด สรุปบทเรียน หรือการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลหลายๆ คน จนกระทั่งทำให้เกิดชุดของความคิดขึ้นมา อย่างกระบวนการสร้างสันติภาพก็เป็นการสร้างบทสนทนาหรือความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จากเดิมใช้ความรุนแรง แต่หันมาใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหา
ดังนั้นการสร้างสันติภาพจะต้องมีวาทกรรมหรือการสร้างบทสนทนา ที่นำมาสู่การคิดและการพูดของคนในสังคม ในบทสนทนาของการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มีทั้งที่เป็นส่วนตัวและส่วนรวม แต่การสร้างบทสนทนาในการแก้ปัญหาด้วยสันติหรือสันติภาพ มีลักษณะพิเศษคือจะต้องสร้างกระบวนการหรือรูปธรรมของวาทกรรมขึ้นมาด้วย
เมื่อบทสนทนาถูกสร้างขึ้นจะถูกตั้งชื่อและให้ความหมาย ขยายความ วิเคราะห์ และเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่างร่วมกัน และในที่สุดแล้วทำให้เกิดการวินิจฉัยหรือตัดสินใจเลือกอะไรบางอย่างที่เป็นแนวทางเดียวกัน
วิทยุชุมชน คือผู้สร้างสนามการสนทนา
บทสนทนาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความสัมพันธ์กันในวงกว้าง สิ่งน่าที่สนใจคือวิทยุชุมชนเป็นสนามในการพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนบทสนทนาของคนในสังคมในระดับท้องถิ่นหรือชุมชนที่ลึกลงไป ซึ่งการสร้างบทสนทนาอย่างนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพ เพราะในรอบปีที่ผ่านมา บทสนทนาที่เป็นสันติภาพได้ที่เกิดขึ้นแล้ว ในลักษณะที่ทุกคนไม่อยากใช้ความรุนแรงหรือการฆ่ากัน เพราะทุกคนมีความต้องการความสงบ
สิ่งนี้เป็นลักษณะพิเศษของกระบวนการที่เกิดขึ้น ซึ่งการสร้างบทสนทนาต้องอาศัยเพื่อน พรรคพวก เครือข่ายที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมทั้งระหว่างองค์กรภาคประชาสังคมทั้งระดับทั่วไป ระดับกลาง และรากหญ้า เกิดความสัมพันธ์ในวงกว้างมากขึ้น
ในบทสนทนาอันนี้ ทำให้เกิดสนามการพูดคุยเรื่องสันติภาพหรือไม่ต้องการความรุนแรงขึ้นมาแล้ว คือสนามที่รัฐบาลได้ไปพูดคุยกับขบวนการ BRN หรือขบวนการอื่นๆ แม้จะมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำให้ความคิดเรื่องสนามอันนี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้สื่อระดับชาติก็นำเสนอเรื่องการพูดคุยสันติภาพ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ที่สำคัญสื่อในระดับท้องถิ่นที่มีการขยายตัวอย่างมากในการนำเสนอเรื่องการพูดคุยสันติภาพ
จากสนามการสนทนาสู่สนามสันติภาพ
การที่มีการพูดคุยสนทนาในเรื่องสันติภาพมากขึ้นในสังคม มีลักษณะเด่น คือ ทำให้เกิดความสัมพันธ์หรือเกิดการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เป็นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างการสร้างวาทกรรมกับบทสนทนา ในท้ายที่สุดเพื่อที่จะให้แปรเปลี่ยนความขัดแย้งที่มีอยู่หรือทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนความขัดแย้งภายในความคิดของคนด้วย เพราะความคิดของคนมีความแตกต่างกันต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น
คนมุสลิมและไทยพุทธเริ่มเดินในทิศทางเดียวกัน ในเรื่องที่จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดสันติภาพ ถึงแม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่มีจุดร่วมมากขึ้น เมื่อมีจุดร่วมการพูดการคิดการสนทนาในพื้นที่ใหม่ๆที่ก็เกิดขึ้น
ความสัมพันธ์ตรงนี้เหมือนกับสนามใหม่ในการเล่น คือสนามของการพูดคุยในการสร้างบทสนทนา เพื่อที่จะแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี เหมือนลูกฟุตบอลที่ถูกโยงลงไปในสนาม จะมีคนมาเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ วงก็จะใหญ่ไปเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ใหม่ๆจะเกิดขึ้น ตรงนี้เป็นการปฏิบัติการทางการสื่อสาร คนจำนวนมากเข้ามาร่วมในการสื่อสารตรงนี้ อย่างมีพลังและมีกลไกของการสื่อสาร
นอกจากนี้วิทยุชุมชน ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในการสร้างบทสนทนา สร้างการสื่อสาร หรือการสร้างสนามสำหรับกลุ่มพลังในสังคมภายในชุมชนหรือภายจังหวัด รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย ด้วยความที่มีการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ทำให้เกิดพื้นที่กลางหรือการสื่อสารร่วมกัน
ในกระบวนการทางวาทกรรมหรือกระบวนการสร้างบทสนทนา จะนำมาซึ่งสนามหรือพื้นที่ร่วมกัน เราจึงถือการมีอยู่ของความขัดแย้ง เราสามารถพูดถึงความรุนแรงว่าทำได้หรือไม่ ความขัดแย้งมีอยู่ได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่ใช้ความรุนแรงได้หรือไม่ ไม่ฆ่ากันได้หรือไม่ พูดกันธรรมดาๆได้หรือไม่ เจรจาหรือเสวนากัน อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นในภาพที่ผ่านมา
ความคิดที่หลากหลาย เครือข่ายที่มากขึ้น นำสู่สันติ
ในกระบวนการสร้างบทสนทนา ไม่เป็นจำเป็นที่จะต้องหาออกเพียงทางเดียวเท่านั้น อาจจะมีหลายทางก็ได้ แต่กระบวนการหรือวิธีการพูดคุยได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นการสร้างบทสนทนา การสร้างสนามหรือการสร้างวัตถุเพื่อการสนทนา เป็นกระบวนการแก้ปัญหาที่เน้นที่วิธีการหรือกระบวนการมากกว่าไปเน้นที่ผลสุดท้ายของการแก้ปัญหา
อันนี้เป็นจุดที่มีพลัง ทำให้เกิดโครงสร้างหรือกลไกอะไรบางอย่างในสังคมที่พยายามจะแก้ปัญหาในแนวทางสันติ ซึ่งโครงสร้างนี้จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้น คล้ายกับว่า พูดกันไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดการหนุนเสริมซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นโครงสร้างรองรับ เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างสันติ
พื้นที่สื่อสาร คือพื้นที่สาธารณะ
สุดท้ายแล้วทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะที่มีพลังมาก เป็นพื้นที่สาธารณะที่รวมคนหลากหลายความคิด หลายกลุ่มกลุ่ม ไม่ว่าชนชั้น ศาสนา ชาติพันธ์เข้ามาร่วมกันมาขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่สาธารณะอันนี้จะเป็นตัวสร้างสนามในการร่วมกันแก้ปัญหา โดยใช้ภาษา ใช้สัญลักษณ์ที่มีความหมายดี มีความสงบสันติหรือไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าคำพูดหรือการกระทำ ยอมรับความแตกต่าง ภาษาหรือสัญลักษณ์ที่สร้างขึ้นมามีความสำคัญอย่างมากและเป็นสื่อที่จะแก้ปัญหา
โครงสร้างที่จะมารองรับ คือบทบาทของการสื่อสาร ซึ่งมีวิทยุชุมชน สื่อท้องถิ่น จะนำไปสู่ความคิดใหม่ ความสัมพันธ์ใหม่ อารมณ์ใหม่ ภาษาใหม่ ที่ต้องการให้เกิดสันติ นอกจากนี้เป็นพื้นที่กลางที่มีความปลอดภัยด้วย หมายถึงบุคคลที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้แล้วจะไม่ถูกทำร้าย
มีความน่าใจที่ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา คนที่ทำกิจกรรมในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ หรือกลุ่มต่างๆ จะมีความปลอดภัย ไม่ถูกคุกคามจากทุกฝ่าย ไม่ถูกทำร้าย เป็นจุดที่ทำให้เรามีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า พื้นที่สาธารณะที่มีการสื่อสารอย่างสันตินั้น เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย และเราเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้กระบวนการนี้เดินต่อไปเป็นสนามใหม่หรือพื้นที่ใหม่สำหรับการแลกเปลี่ยนหรือปฏิสัมพันธ์ทางวาจาหรือภายในความคิด ภายในพื้นที่ที่มีความรุนแรง
ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า เพราะในพื้นที่มีความรุนแรงที่สูงสุดของประเทศในตอนนี้ มีการใช้ความรุนแรงมาแล้ว 10 ปี มีผู้ที่เสียชีวิตประมาณ 5,900 คน บาดเจ็บเป็นหมื่นคน และมีผลกระทบอื่นๆอีก
ในความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน หากสามารถสร้างพื้นที่สาธารณขึ้นมาได้ในสถานการณ์อย่างนี้ ถือเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์และมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง เราจึงอยากระดมความคิดและระดมสมอง เพื่อจะสร้างพื้นที่สาธารณขึ้นมา โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีความคิดที่เหมือนกัน แต่ถ้าช่วยสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาร่วมกันวิทยุชุมชนก็สามารถที่จะมีบทบาทในกระบวนการนี้ได้
ในโครงสร้างการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ใช้ความรุนแรงในสังคม มีอยู่ 3 ชั้น ชั้นบนสุด คือรัฐบาลหรือขบวนการบีอาร์เอ็นพูดคุยกัน ซึ่งจะเดินไปได้หรือไม่ก็ค่อยว่ากัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ซึ่งเป็นภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เป็นชั้นที่มีพลังมาก และการสร้างการสื่อสารสาธารณะขึ้นมาจะเป็นตาข่ายรองรับหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพในชั้นที่ 1 ด้วย
“เราจึงเชื่อว่าการที่มาระดมสมองกันของวิทยุชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาในกระบวนการสันติภาพ จึงอยากให้คุยกันต่อไป หลายท่านอาจมีองค์กรตัวเองอยู่แล้ว ลองมาคุยกัน เชื่อว่านี้คือส่วนหนึ่งในการสร้างสนาม หรือขยายสนามการพูดคุยกันเรื่องการแก้ปัญหาโดยสันติ”
 
(ต้นฉบับเดิมอยู่ที่ http://www.deepsouthwatch.org/dsj/5218)