ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความพยายามบอกเล่าเรื่องราวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพยายามการนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมของ ‘คนใน’ เพื่อสร้างความเข้าใจและมีส่วนช่วยหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้
Wartani กลุ่มที่ก่อตั้งเพื่อผลิตสื่อจากชายแดนใต้ พยายามสื่อสารข้อมูลและเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากมุมคนใน คำว่า Wartani มาจากการประสานคำว่า Warta หมายถึง ข่าว และ Tani ก็คือ Patani ที่มีหมายถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาพวกเรารวมตัวกันผลิตเนื้อหาข่าวขั้นพื้นฐาน กระทั่งชวนคุยกันออกแบบและยกระดับการสื่อสารเป็น ‘หลักสูตรนักผลิตสื่อสันติภาพชายแดนใต้’
ฮารีดี เปาะซู ผู้ที่เข้ามากรอกใบสมัครเรียนหลักสูตรนักผลิตสื่อชายแดนใต้พูดถึงโอกาสในการเรียนรู้งานสื่อครั้งนี้ว่า "อันที่จริงผมมีพื้นฐานอยู่เเล้วมากน้อยในการนำเสนอมันยาก ในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผมได้เรียนรู้วิธีการนำไปใช้ จะนำเสนอให้คนอื่นได้รับรู้ ทั้งๆที่เหตุการณ์บ้านผมมันมีเกือบทุกวัน สิ่งเหล่านี้จะนำเสนอให้คนอื่นรับรู้มันไม่มี แต่ครั้งนี้ผมมีโอกาสเเล้วที่จะนำสิ่งเหล่านี้ให้คนอื่นได้รับรู้อย่างแท้จริง"
ซาอารี เจะหลง บ.ก.Wartani เผยถึงแนวคิดในการสร้างหลักสูตรผู้ผลิตสื่อสันติภาพบนพื้นที่ความขัดแย้งว่า "การที่เราออกเเบบหลักสูตรนักผลิตสื่อในสถานการณ์ความขัดเเย้ง เพราะว่าสักวันหนึ่งเราหวังว่าในพื้นที่เเห่งนี้ประชาชนจะลุกขึ้นมาสื่อสารให้คนนอกพื้นที่เข้าใจว่าในสภาวะที่เเท้จริงเเล้วในสถานการณ์ความรุนเเรงความขัดเเย้งในพื้นที่ที่มีการเข่นฆ่ากันสูญเสีย อยากให้คนในพื้นที่ออกมาสื่อสารเองซึ่งจะทำให้มุมองที่เราเคยดูเเต่สื่อกระเเสหลักที่มีเเต่คนนอกพื้นที่มาสื่อสารมันจะไม่เหมือนกับคนในสื่อสาร"
หลักสูตรเรียนรู้งานข่าวนี้ เป็นการถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาของสำนักสื่อ Wartani และมีการเติมทักษะต่างๆจากสื่อส่วนกลางจนถึงผู้มีความรู้ด้านการสื่อสารในพื้นที่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือได้รับความร่วมจากคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี มองประเด็นการนำเสนอข่าวสารจาก 'มุมคนใน' หรือสื่อทางเลือก ในบริบทของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าเป็นสิ่งสำคัญซึ่งคนในพื้นที่ต้องร่วมกันสื่อสาร
"เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้อย่างที่เราทราบกันมันมีความรุนเเรงเกิดขึ้นในพื้นที่3จังหวัด เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานมันทำให้ประเด็นปัญหาอะไรต่างๆมันก็ถูกสื่อสารจากสื่อกระเเสหลักลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเเล้ว สิ่งที่มันเกิดขึ้นตอนนี้ก็คือว่า ในพื้นที่เองก็มีกลุ่มภาคประชาสังคม กลุ่มภาคพลเมืองต่างๆหรือกลุ่มองค์กรต่างก็พยายามที่จะพัฒนาศักยภาพในการสื่อสารของตนเองขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะชดเชยเนื้อหาที่ไม่มีการนำเสนอของสื่อกระเเสหลักเป็นการพยายามที่จะส่งเสียงของคนในพื้นที่ออกไป"
ภาคประชาสังคมและเยาวชนในพื้นที่ ยังคงมีความหวังที่จะเห็นพื้นที่ชายแดนใต้ เกิดความสงบสุข ทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่หนุนเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อเติมเต็มเนื้อหาข่าวของสื่อกระแสหลักและผลักดันเรื่องราวจากคนในพื้นที่ออกสู่สาธารณะต่อไป
นักข่าวพลเมือง สำนักสื่อ Wartani รายงาน
ชมย้อนหลัง นักข่าวพลเมือง ตอน หลักสูตรนักผลิตสื่อสันติภาพชายแดนใต้
ออกอากาศเมื่อวันที่ 24 มี.ค 2557 ทาง ThaiPBS