Skip to main content
ยาสมิน ซัตตาร์
นักศึกษาปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล

 

ก่อนถึงการเลือกตั้งผู้แทนเขตและจังหวัดต่างๆ ของตุรกีในวันที่ 30 มีนาคม 2557 อุณหภูมิความร้อนทางการเมืองได้ค่อยๆ พุ่งสูงขึ้น แม้จะเป็นในประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ความตื่นตัวทางประชาธิปไตยกลับมีค่อนข้างสูง เนื่องจากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อพรรค AK (Adalet ve Kalkınma Partisi, พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา) ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐบาล ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีรอยยิบ ตอยยิบ แอร์โดอาน (Rayip Tayyib Erdoğan) ก็ได้ใช้เครื่องมือทางประชาธิปไตยในการเรียกร้องสิทธิของมุสลิมหลายอย่างที่ได้ถูกห้ามไปนับตั้งแต่หลังจากที่อาณาจักรออตโตมานล่มสลายลงไป เช่น การเรียนการสอนด้านอิสลามที่ถูกห้ามอย่างเด็ดขาดได้กลับมาใช้สอนอีกครั้ง หรือ การคลุมฮิญาบในที่สาธารณะและหน่วยงานของรัฐที่เคยถูกห้ามก็เริ่มสามารถคลุมได้อย่างเสรีภายใต้กรอบของสิทธิส่วนบุคคลที่พึงกระทำได้ เป็นต้น
 
 
ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของตุรกีให้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับการสร้างภาพลักษณ์ของการให้ความช่วยเหลือมุสลิมที่ถูกอธรรมไม่ว่าจะในซีเรีย พม่า หรือปาเลสไตน์ อีกทั้งยังพยายามเปิดความสัมพันธ์กับหลายประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจีน รัสเซีย ประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันก็เปิดรับจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่จะให้ทุนการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รัฐบาลยังเดินหน้าความพยายามในการเจรจาสันติภาพกับชาวเคิร์ดจนสามารถหยุดการใช้อาวุธของกองกำลังต่อต้านและหันเข้าสู่ความร่วมมือในการรูปแบบการเจรจาได้
 
            การทำงานของรัฐบาลได้ดำเนินไปด้วยแรงสนับสนุนจำนวนมาก แต่ก็มีผู้ที่คัดค้านไม่ให้เห็นด้วยกับรัฐบาลเช่นกัน โดยเฉพาะฝ่ายซ้าย และกลุ่มเคมาลลิสต์ ที่มองว่ารัฐบาลได้ละเลยความพยายามของ เคมาล อตาเติร์ก ในการสร้างรัฐตุรกีเพื่อให้เป็นรัฐเซคิวลาร์ ประกอบกับการที่นายกรัฐมนตรีที่จบด้านศาสนา และการดำเนินนโยบายหลายครั้ง ก็ถูกมองว่ามีลักษณะของความเผด็จการ อย่างไรก็ดี การคัดค้านจากกลุ่มเหล่านี้ก็ยังไม่น่าแปลกใจเท่ากับการแตกกันของรัฐบาลกับกลุ่มญะมาอัตที่มี ฟัตตุลลอฮฺ กุลเลน (Fethullah Gülen) เป็นผู้นำ เมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะปิดโรงเรียนกวดวิชาเนื่องจากมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เพียงแต่คนที่มีเงินมากพอที่จะเข้าไปเรียนและได้รับความรู้ที่จะไปสอบโดยตรง ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันของโอกาสของเด็กได้ ทั้งนี้โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้นั้นเป็นสาขาหนึ่งของเครือข่ายกุลเลนเช่นเดียวกัน ดังนั้นทางกลุ่มจึงไม่เห็นด้วย และขัดแย้งกัน
 
จนกระทั่งในช่วงเดียวกันก็มีข่าวการคอร์รัปชั่นของสมาชิกรัฐบาลออกมา จึงทำให้เป็นอีกข้อหนึ่งในการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการค้านกันไปมา กระทั่งกลุ่มญะมาอัตที่มีเครือข่ายการทำงานในด้านการศึกษาและเศรษฐกิจทั้งในประเทศตุรกีและต่างประเทศหยุดการให้การสนับสนุนรัฐบาลและโจมตีการทำงานของรัฐบาล ถึงขั้นมีการขอดุอาอฺสาปแช่งรัฐบาล แม้ว่าทางกลุ่มได้บอกว่าไม่มีความประสงค์ที่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองใดๆ ก็ตาม  นักวิชาการหลายคนได้วิเคราะห์ว่านี่ก็คือวิธีการหนึ่งของรัฐบาลที่พยายามหยุด “ความเป็นรัฐขนานกัน” (pararell state) หรืออำนาจจากเครือข่ายที่ขยายไปและยังเน้นการทำงานเพียงเครือข่ายของตนเองด้วยเช่นกัน
 
การดำเนินการโจมตีรัฐบาลเครื่องมือหนึ่งที่ถูกใช้ คือ โซเชี่ยลมีเดีย ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ทวิตเตอร์ เฟสบุ๊ค หรือยูทูบ ภายหลังจากที่คณะรัฐบาลเล็งเห็นว่าการโจมตีนี้จะมีผลต่อความมั่นคง จึงประสานขอความร่วมมือไปยังทางบริษัทเหล่านี้ แต่ได้รับการเพิกเฉย กระทั่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เหตุใดเมื่อเกี่ยวกับอเมริกา หรือประเทศในยุโรป ทางบริษัทเหล่านี้ให้ความร่วมมือ แต่เมื่อเป็นประเทศตะวันออกกลางหรือตุรกีเองก็ดีกลับไม่เป็นเช่นนั้น” สุดท้ายจึงมีมติศาลออกมาให้แบนการใช้ทวิตเตอร์ชั่วคราวเอาไว้ แง่หนึ่งเนื่องจากเกรงว่าความขัดแย้งจะขยายตัววงกว้างไป แต่ขณะเดียวกันอีกแง่หนึ่งก็ถูกมองว่าเป็นความขี้ขลาดของรัฐบาลที่ไม่ยอมรับความจริงด้านการคอร์รัปชั่นที่ถูกเปิดเผยออกมา และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
 
ขณะเดียวกัน ก็ยังเกิดเหตุการณ์การยิงเครื่องบินรบของรัฐบาลซีเรียที่ล้ำเส้นเข้ามาในอาณาเขตของตุรกี จนทำให้เกิดความไม่พอใจของรัฐบาลซีเรียและกลุ่มประเทศที่สนับสนุนรัฐบาลซีเรียเพิ่มขึ้นจากที่ปกติแล้วรัฐบาลตุรกีให้ความช่วยเหลือชาวซีเรียที่อพยพเข้ามาสู่ตุรกีเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดความตึงเครียดบริเวณเขตแดนตุรกีซีเรีย ที่ต้องตรึงกำลังทหารเอาไว้ กรณีนี้จึงถูกใช้โจมตีรัฐอีกกรณี แม้ว่าสำหรับหลายฝ่ายมองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้ขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ เมื่อทำไปเนื่องด้วยการปกป้องความมั่นคงของดินแดน 
 
ด้วยเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้น จึงทำให้เป็นที่กังวลของหลายฝ่ายว่า เสียงสนับสนุนของพรรครัฐบาลปัจจุบันจะลดลงหรือเพิ่มขึ้น แต่เมื่อการปราศรัยของนายกรัฐมนตรีแอร์โดอานที่เมืองหลักของตุรกี ไม่ว่าจะเป็นในอังการ่า ฮาทาย ทรับซอน หรือในอิสตันบูล กลับมีจำนวนคนมากมายที่ออกมาให้การสนับสนุน โดยเฉพาะในอิสตันบูลในวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งคนจำนวนมากได้ออกมาสนับสนุน กระทั่งการจราจรในอิสตันบูลเป็นอัมพาต การคมนาคมสาธารณะต้องถ่ายระบายคนเป็นเวลานาน
 
ที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ ในเวลาที่มีการปราศรัย นายแอร์โดอานมีการขอดุอาอฺต่อพระผู้เป็นเจ้าในการให้ความช่วยเหลือ ก็มีการตอบรับจากประชาชนเหล่านั้นอย่างต่อเนื่อง เสียงที่ต้องการสื่อไปว่า “ถ้าไม่มีคุณฮิญาบของเราจะถูกดึงออกไปอีกหรือไม่?”
 
ปรากฏการณ์เหล่านี้จึงเป็นที่น่าสนใจว่าอิสลามการเมืองในตุรกีจะสามารถดำเนินต่อไปได้ในลักษณะไหน หากผลการเลือกตั้งทั้งในวันที่ 30 มีนาคมนี้ และในอีกสองปีข้างหน้าที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่สำหรับการเปลี่ยนชุดรัฐบาลอีกครั้ง พรรค AK จะไม่ได้รับการเลือกเข้าไป และที่สำคัญเป็นข้อท้าทายสำคัญสำหรับรัฐบาลตุรกีในช่วงนี้ว่าจะประนีประนอมให้ฐานเสียงรวมถึงความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่หายไปได้อย่างไร