ฟารีดา ปันจอร์
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
หลังจากกว่า 17 ปี ของความพยายามในการพูดคุยและเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front – MILF) ในวันที่ 27 มีนาคม 2557 ที่จะถึงนี้มีการกำหนดให้เป็นวันลงนามรับรองในข้อตกลงบังซาโมโรฉบับครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมด หรือ Comprehensive Agreement of Bangsamoro (CAB) ก่อนหน้านี้ การพูดคุยที่ต่อเนื่องถึง 43 ครั้ง ในช่วงเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้งให้ลงตัว โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ความขัดแย้ง และถือเป็นกระบวนการที่สรุปบทเรียนจากก่อนหน้านี้ได้อย่างน่าสนใจ

บทเรียนประการสำคัญคือการทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพอย่างครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กรณีเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างทางของการพูดคุยและเจรจาก็เป็นข้อย้ำเตือนถึงบทเรียนเหล่านี้ ดังเช่นเหตุการณ์อุกอาจเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่เมืองซัมโบอังกา (Zamboanga) ในภูมิภาคมินดาเนา เมื่อกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front – MNLF) บุกจับประชาชนเป็นตัวประกัน ทำให้ผู้คนกว่าร้อยคนถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บ ส่วนอีกหลายพันคนต้องย้ายที่อยู่ การจับกุมตัวประกันนี้เกิดขึ้นหลังจากการที่ผู้นำของ MNLF กล่าวหารัฐบาลว่าไม่นำพวกตนเข้ามาอยู่ในวงพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางในการพูดคุยสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF (ซึ่งเป็นกลุ่มที่แตกตัวจาก MNLF ก่อนหน้านี้)
แม้เมืองซัมโบอังกาจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนหลักใน “บังซาโมโร” หรือพื้นที่ซึ่งอยู่ในกรอบข้อตกลงในการเจรจาสันติภาพที่จะต้องถูกจัดตั้งขึ้น แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ตัวแทนของรัฐบาลรุดหน้าจัดเวทีสร้างความเข้าใจและขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในเมืองดังกล่าว โดยเปิดโอกาสให้แก่ภาคส่วนต่างๆ ได้ส่งเสียง แต่สิ่งนี้ก็ทำให้ต้องมีการทบทวนกันว่าส่วนผสมหนึ่งที่จะทำให้ความขัดแย้งในมินดาเนานั้นยุติลง คือ การทำให้กระบวนการสันติภาพต้องมีลักษณะของการเข้ามาร่วมมือกันจากทุกฝ่ายรวมทั้งกลุ่ม MNLF
การลงนามในวันที่ 27 มีนาคมนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากเมื่อเดือนมกราคมปี 2557 ที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและ MILF ได้พูดคุยในประเด็นสำคัญสุดท้ายในภาคผนวกของกรอบข้อตกลงบังซาโมโร (Framework Agreement on the Bangsamoro, คลิกอ่าน “เปิดข้อตกลง ‘บังซาโมโร’ ฉบับแปลไทย”) คือ “กระบวนการกลับไปสู่ภาวะปกติ” ทำให้ในท้ายที่สุดทั้งสองฝ่ายได้บรรลุถึงการพูดคุยในกรอบข้อตกลงบังซาโมโร ฉบับที่ได้ลงนามความตกลงร่วมกันไว้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ที่ครอบคลุมตั้งแต่กรอบข้อตกลงบังซาโมโร และภาคผนวกทั้งสี่ได้แก่ กลไกการจัดการตัวแบบทางการเมือง การแบ่งสรรรายได้และความมั่งคั่ง การแบ่งสรรอำนาจ กระบวนการกลับไปสู่ภาวะปกติ อีกทั้งประเด็นเพิ่มเติม ซึ่งก็คือ น่านน้ำบังซาโมโรและเขตแดนแห่งความร่วมมือ

พิธีลงนามในกรอบข้อตกลงบังซาโมโรในปี 2555 ระหว่าง นายมาวิค เลโอเนน หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์และ นายโมฮักเกอร์ อิกบาล หัวหน้าคณะพูดคุยฝ่าย MILF พร้อมด้วย เต็งกู ดาโต๊ะอับดุลจัฟฟาร์ เต็งกูมูฮัมหมัด ผู้อำนวยความสะดวกจากมาเลเซีย
ทั้งนี้ กรอบข้อตกลงบังซาโมโรดังกล่าวถือว่าเป็นแนวทางแรกเพื่อมุ่งไปสู่การยุติความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF นำไปสู่การสร้างหลักการ กระบวนการและกลไกร่วมกัน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่หน่วยการปกครองตนเองบังซาโมโรภายในปี 2559 (ค.ศ.2016) อย่างไรก็ตาม กรอบข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้าย (Final Peace Agreement - FPA) เพราะจำต้องมีคณะกรรมการเปลี่ยนผ่าน (Transition Commission -TC) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนซึ่งมีความหลากหลายในบังซาโมโรที่ได้รับเลือกมาทั้งจากรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF เพื่อร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Basic Law - BBL) ขึ้นมาทดแทนกฎหมายเดิมที่ใช้ก่อตั้งเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา ( Autonomous Region in Muslim Mindanao - ARMM) ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าประสบกับความล้มเหลวมาแล้ว เมื่อกฎหมายได้ผ่านรัฐสภาของฟิลิปปินส์และได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดีแล้ว จะมีการทำประชามติเพื่อกำหนดดินแดนหลักในเขตปกครองตนเองบังซาโมโร หลังจากนั้นจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลแห่งบังซาโมโรขึ้นในปี 2559
กล่าวอีกอย่างก็คือกว่าจะบรรลุถึงข้อตกลงสุดท้าย กรอบข้อตกลงดังกล่าวจะต้องมีการนำไปถกเถียงจากหลายฝ่ายด้วยกัน เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2556 คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการทำงานกับพื้นที่กลางองค์กรภาคประชาสังคมมินดาเนาเพื่อสันติภาพ (Mindanao Civil Society Organizations Platform for Peace – MCSOPP) เพื่อที่จะดำเนินการสร้างแนวร่วมเพื่อการปรึกษาหารือสาธารณะในการร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Basic Law- BBL) สมาชิกของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบไปด้วยกลุ่มและเครือข่ายอย่างน้อย 150 กลุ่มทั้งมุสลิม คริสเตียน และกลุ่มชนพื้นเมืองที่ต้องการสนับสนุนและผลักดันเรื่องของความโปร่งใส การเข้ามามีส่วนรวมของภาคส่วนต่างๆ ในท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการเป็นเจ้าของของกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรร่วมกัน

ภาคประชาสังคมบังซาโมโรร่วมกับประธานคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านร่วมกับลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมในการปรึกษาหารือกับภาคส่วนสาธารณะ ณ เมืองโคตาบาโต
ในแง่นี้ การปรึกษาหารือนั้นจะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีมากขึ้นในการสร้างความเป็นเจ้าของให้กับภาคส่วนสาธารณะของกระบวนการร่างกฎหมายพื้นฐาน และเปิดให้คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านได้เรียนรู้เกี่ยวกับความกังวลและความคาดหวังของผู้คน สุดท้ายแล้ว ภาคประชาสังคมจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่ไมใช่แค่คนสองสามคนบนโต๊ะเจรจา หากแต่เป็นผู้คนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทั้งหมด ซึ่งต้องลงนามข้อตกลงร่วมกันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้แตกต่างจากข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้าย (Final Peace Agreement) ของรัฐบาลกับ MNLF ในปี 2539 ในแง่ของการเข้ามามีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมในกระบวนการสันติภาพ กล่าวคือข้อตกลงในครั้งนั้นส่งผลให้มีการกำหนดเขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา หรือ ARMM โดยในระยะแรกมีการจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (Special Zone of Peace and Development-SZOPAD) โดยมีการลงประชามติในระยะที่สองจากประชาชนเพื่อกำหนดเขตแดนหลักของมินดาเนา และต่อมาจึงริเริ่มงานพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ
กระนั้น ก็มีข้อห่วงกังวลจากภาคประชาสังคมในเวลานั้นว่า MNLF และรัฐบาล ยังคงมีบทบาทนำในการกำหนดชะตากรรมตนเองของบังซาโมโร ทั้งในแง่ของดินแดนและผู้คน ส่วนกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous People - IPs) มักถูกกีดกันมิให้เป็นส่วนหนึ่งของชาวบังซาโมโร เพราะพวกเขาถูกนิยามว่าเป็นเพียงคนบนที่สูงหรือชาวเขาเท่านั้น นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ชาวคริสเตียนก็ยังถูกกีดกันอีกด้วย
จุดบอดทางประวัติศาสตร์ครั้งนั้นได้สร้างความแตกแยกระหว่างผู้คนหรือกลุ่มคนมากขึ้น ประสบการณ์ก่อนหน้านั้นกำลังบอกว่าสันติภาพจะก่อกำเนิดขึ้นได้หาได้มาจากข้างบนเท่านั้น การเจรจาสันติภาพที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลและ MNLF ในขณะที่ภาคส่วนต่างๆ ทำได้เพียงแต่รอคอยและเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อมีการลงประชามติเท่านั้น ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูการขับเคลื่อนแนวทางการกำหนดชะตากรรมตนเองในเวลานั้น กลับเป็นเพียงความต้องการของกลุ่มชนชั้นนำของชนกลุ่มน้อยที่ยังคงอยู่ภายใต้แนวคิดการพัฒนาประเทศในแบบเสรีนิยมใหม่ที่เน้นในเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และการลงทุนจากสถาบันๆ ทั้งในและต่างประเทศ ตามแนวทางของชนชั้นนำของชนกลุ่มใหญ่ที่ครอบงำประเทศอยู่ในช่วงต้นยุค 90 ซึ่งอยู่ในช่วงของประธานาธิบดีฟิเดล รามอส (2535-2541)
ในขณะนั้น รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ว่ามินดาเนาจะถูกผนวกรวมเข้ากับเศรษฐกิจของประเทศ หรือตามกรอบที่กำหนดไว้ เช่น BIMP-EAGA (The East ASEAN Growth Area) ซึ่งเป็นการเติบโตของกลุ่มประเทศอาเซียนตะวันออก ที่ประกอบไปด้วย บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยมินดาเนาจะได้รับการส่งเสริมให้พัฒนาตลาดของประเทศที่เป็นไปได้ในภูมิภาค ขณะที่ MNLF ยังไม่ได้มีโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีความโดดเด่นจะนำเสนอหรืออภิปรายกับรัฐที่ลึกซึ้งมากพอ
แม้ในแง่ของกระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้ายจะมีความคล้ายคลึงกับกรอบข้อตกลงบังซาโมโรระหว่างรัฐบาลกับ MILF ในปัจจุบัน อีกทั้งการนำของของกลุ่มขบวนการ ที่เปลี่ยนจาก MNLF มาเป็น MILF ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการก่อขับร่างและขับเคลื่อนกลไกต่างๆ เพื่อเปลี่ยน ARMM มาเป็นเขตปกครองตนเองบังซาโมโร แต่ในแง่ของเนื้อหาและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมนั้น หลายภาคส่วนได้พยายามเรียนรู้จากสิ่งที่ล้มเหลวในอดีตว่า เหตุผลของการต่อสู้เพื่อกำหนดชะตากรรมของตนเองนั้น จำเป็นต้องมีการทบทวนว่า ชนพื้นเมืองควรจะเป็นที่ยอมรับว่าพวกเขามีประวัติศาสตร์และมีดินแดนที่มีความเฉพาะเช่นเดียวกันชาวโมโรหรือไม่เพียงใด ดังนั้นผู้คนในฐานล่างควรทั้งที่เป็นคนบังซาโมโรและชนพื้นเมืองควรได้รับการสนับสนุนให้ต่อสู้ร่วมกันเพื่อกำหนดชะตากรรมและสร้างชีวิตของตนเองร่วมกัน
ไม่นานมานี้ กระบวนการปรึกษาหารือเพื่อร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ก็เกิดขึ้นภายใต้กรอบข้อตกลงบังซาโมโรดังกล่าว เครือข่ายภาคประชาสังคมมินดาเนาซึ่งได้การลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร ได้จัดให้เกิดกิจกรรมที่สะท้อนการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคสาธารณะและการปรึกษาหารือระหว่างกลุ่มภาคประชาสังคมชนพื้นเมืองต่างๆ 24 กลุ่ม ทั้งจากจังหวัดบูคิดนอน, ดาเวา และโกตาบาโต รวมทั้งผู้นำของชนเผ่าบังซาโมโร ในลักษณะของการหารือเพื่อแบ่งปันข้อมูลและความก้าวหน้าของการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับ MILF โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายพื้นฐานที่เป็นที่ต้องการจากข้อเสนอและข้อแนะนำจากชนกลุ่มน้อย เพื่อไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกกันดังในอดีต เนื่องด้วยเหตุผลจากทั้งการเมือง ผลประโยชน์ของนักการเมืองและตัวแสดงต่างประเทศ
ในการนี้ ผู้นำบังซาโมโรและชนเผ่าร่วมกันในพิธีกรรม “การยืนยันกลับมาเป็นเครือญาติ” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ระหว่างบังซาโมโรและกลุ่มชนพื้นเมืองเพื่อการเข้ามาร่วมมือกันในการเอาชนะอุปสรรคต่างๆ จากภายนอก ที่เคยทำให้ผู้นำแตกแยกกัน

ตัวแทนของชนพื้นเมืองและชาวโมโรแลกอาวุธกันในประเพณีการยืนยันกลับมาเป็นเครือญาติ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2555
แง่มุมดังกล่าวเป็นผลมาจากการเข้ามามีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมภายใต้กรอบข้อตกลงบังซาโมโรในฐานะผู้สังเกตการณ์ ตั้งแต่การเจรจาระดับที่เป็นทางการระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินน์ กับ MILF ในการเจรจาสันติภาพตั้งแต่ครั้งที่ 39 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในการนี้ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องเข้าใจประเด็นที่สำคัญ เพื่อที่จะนำข้อมูลต่างๆ ไปเผยแพร่ภายในชุมชนของตนเอง เพราะพวกเขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในเรื่องของความครอบคลุม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วมโดยตรง จากภาคส่วนต่างๆ ในการเจรจาสันติภาพ แม้ว่าในระหว่างของการเจรจาอาจมีอุปสรรคและขั้นตอนต่างๆ ที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน และบ่อยครั้งก็รู้สึกได้ว่าเรื่องของสันติภาพนั้นอาจถูกอ้างจากกลุ่มผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า กระนั้นมีเพียงวิธีการจัดการชีวิตของตนเองโดยปราศจากการข่มขู่โดยการใช้อาวุธ หรือในหนทางของประชาธิปไตยเท่านั้นที่พวกเขาจะต่อสู้เพื่อสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้ โดยร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ จากฐานล่างเพื่อต่อต้านระบบการเมืองส่วนกลางที่ครอบงำชีวิตของพวกเขาอยู่
ความก้าวหน้าของการพูดคุยหรือการแสวงหาสันติภาพของมินดาเนาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเตรียมพร้อมของรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF ในการมุ่งแสวงหาสันติภาพในภูมิภาคอย่างจริงจัง แม้การดำเนินการดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างเส้นทางที่อาจต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆ ในขั้นตอนของการนำกฎหมายต่างๆ ไปบังคับใช้ในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ ทุกฝ่ายมีการให้ความสำคัญกับการแผนที่นำทาง (Roadmap) ที่ถูกออกแบบให้ทุกๆ ขั้นตอนนั้นอยู่ภายในขอบเขตที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความยืดหยุ่น ความโปร่งใส ความครอบคลุมและกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยที่ได้จากเน้นการปรึกษาหารือในวงกว้าง ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์หวังไว้ว่าบังซาโมโรจะได้รับประโยชน์จากการบูรณาการทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน ที่จะเป็นประตูไปสู่การค้าในระดับภูมิภาคทั้งจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย
ประสบการณ์จากรัฐบาลและ MILF ฟิลิปปินส์ดังกล่าวน่าจะเป็นแรงบังดาลใจสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยหรือ “ปาตานี” ต่อไป แม้ว่าในเวลานี้จะยังคงมีความวุ่นวายของการเมืองส่วนกลางเกิดขึ้นโดยไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด และเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลและ BRN ต้องหยุดชะงักลง แต่การก่อตัวและการขับเคลื่อนงานของเครือข่ายภาคประชาสังคมในห้วงเวลาหลายปีที่ผ่านมามีส่วนสำคัญในผลักดันกระบวนการสันติภาพให้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางความรุนแรงในพื้นที่ที่ยังไม่มีมีท่าว่าสิ้นสุด ทั้งนี้หากสัญญาณของการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับ BRN กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ภาคประชาสังคมชายแดนใต้จะต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้นและมีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวแสดงหลักอื่นๆ ในการพูดคุยสันติภาพ
เอกสารอ้างอิง