ความสำคัญของการตักเตือนซึ่งกันและกัน
- ผศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา -
อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนีย์
ประธานร่วมศาสนาเพื่อสันติภาพ สภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย
14 เมษายน 2557
ด้วยอิสลามเป็นศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลโลก ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อจรรโลงความสันติสุขของมวลมนุษยชาติ เราจะพบว่าในคำสอนแห่งพระผู้เป็นเจ้านั้นมีทางออกแก่ปัญหาต่าง ๆ ทุกด้านของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยามที่มีวิกฤติต่าง ๆ ในสังคม
ในฐานะที่เป็นมุสลิมและเป็นตัวแทนของศาสนาอิสลามในสภาศาสนสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ข้าพเจ้า จึงใคร่ขอเชิญชวนให้เราท่านทั้งหลายได้รับฟังคำแนะนำบางประการจากอิสลาม ที่ว่าด้วยการตักเตือนซึ่งกันและกัน อันเป็นสิ่งที่อิสลามให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และมองว่าการเตือนกันด้วยความจริงใจนั้นเป็นหัวใจหลักของคำสอนในศาสนา
ท่านศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความจำเริญและความสันติสุขมีแด่ท่าน) ได้กล่าวความว่า “ศาสนาคือการนะศีหะฮฺ (การพยายามทำดีต่อผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือการตักเตือนด้วยความจริงใจ) ศาสนาคือการนะศีหะฮฺ ศาสนาคือการนะศีหะฮฺ บรรดาสาวกของท่านศาสนทูตถามว่า: เพื่อผู้ใดหรือ โอ้ศาสนทูตของอัลลอฮฺ? ท่านตอบว่า: เพื่ออัลลอฮฺ เพื่อคัมภีร์ของพระองค์ เพื่อศาสนทูตของพระองค์ เพื่อบรรดาผู้นำของมุสลิม และเพื่อผู้คนโดยทั่วไป” (บันทึกโดยมุสลิม)
จากวจนะของท่านศาสนทูตมุหัมมัดข้างต้น เห็นได้ว่าการตักเตือนกันด้วยความจริงใจคือกระบวนการที่อิสลามได้ตอกย้ำในทุกระดับชั้น ไม่ใช่เฉพาะระหว่างสามัญชนเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงระดับผู้รับผิดชอบในการปกครองและดูแลประชาชนอีกด้วย
การละเลยและไม่สนใจสถานการณ์ในสังคม โดยคิดว่านั่นมิใช่ภาระของตน ย่อมเป็นทัศนะที่เลวร้ายและไม่เป็นที่ยอมรับในอิสลาม ในคัมภีร์อัลกุรอานได้ยกตัวอย่างของกลุ่มชนที่ไม่แยแสต่อสังคม กับกลุ่มชนอีกกลุ่มที่ได้พยายามตักเตือนให้สังคมตระหนัก ถึงแม้เกือบจะหวังผลไม่ได้ว่าคนที่ถูกเตือนจะรับฟังหรือเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ ความว่า
color:#333333"> “และจงรำลึกขณะที่กลุ่มหนึ่งในหมู่พวกเขากล่าวว่า “เพราะเหตุใดเล่าพวกท่านจึงตักเตือนกลุ่มชนที่อัลลอฮฺกำหนดไว้แล้วว่าจะทรงเป็นผู้ทำลายพวกเขาหรือเป็นผู้ลงโทษพวกเขาอย่างรุนแรง?” พวกเขาตอบว่า “เพื่อเป็นข้ออ้างต่อพระเจ้าของพวกเจ้าว่าเราได้ทำหน้าที่ตักเตือนแล้ว และเราหวังว่าพวกเขาอาจจะได้ยำเกรงและรับประโยชน์จากการตักเตือนของเรา” ครั้นเมื่อพวกเขาลืมสิ่งที่ถูกเตือนในเรื่องดังกล่าวนั้น อัลลอฮฺก็ทรงช่วยเหลือบรรดาผู้ที่ตักเตือนห้ามปรามการทำชั่วให้รอดปลอดภัย และได้จัดการแก่บรรดาผู้ที่อธรรมเหล่านั้น ด้วยการลงโทษอันรุนแรงเนื่องด้วยการที่พวกเขาละเมิด” (อัลกุรอาน บท อัล-อะอฺรอฟ โองการที่ 164-165)
โองการอัลกุรอานบทนี้ชี้ให้เห็นว่า ยามที่มีเรื่องเลวร้ายในสังคม เราจะเห็นกลุ่มคนสามพวก คือ หนึ่ง พวกที่เป็นต้นเหตุแห่งความเลวร้ายนั้น
color:#333333"> สอง พวกที่คอยตักเตือนห้ามปราม สาม พวกที่อยู่เฉยไม่แยแสไม่ตักเตือน กลุ่มที่จะรอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺนั้นมีพวกเดียวคือคนที่ทำหน้าที่ในการตักเตือนสังคมให้เกิดความตระหนัก ดังนั้น การทำหน้าที่ตักเตือนจึงเป็นภาระที่จำเป็นต้องปฏิบัติ แม้ว่า ความวิบัติที่เกิดขึ้นจะได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรก็ตาม
อนึ่ง อิสลามมองว่าความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนในโลก หรือที่เกิดขึ้นในประเทศของเราทั้งในส่วนกลางหรือภาคใต้ เป็นต้น ล้วนคือบททดสอบหรือการลงโทษจากพระเจ้าที่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมดโดยไม่เลือกกลุ่ม ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า “พวกท่านจงหวั่นเกรงต่อความวิบัติที่จะไม่โดนเฉพาะแค่บรรดาผู้อธรรมที่เป็นต้นเหตุในหมู่พวกท่านเท่านั้น (แต่มันจะครอบคลุมคนทั้งหมด) จงทราบเถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงลงโทษได้หนักหน่วงยิ่ง” (อัลกุรอาน บท อัล-อันฟาล โองการที่ 25)
หากไม่มีการตักเตือนซึ่งกันและกัน ก็ประหนึ่งว่าเราไม่มีปัจจัยแห่งความรอดพ้นเหลืออยู่อีกเลย การพร่ำวิงวอนขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าก็จะไม่เป็นผลใด ๆ อีกต่อไป ถ้าหากว่าเรามิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการตักเตือนดังที่กล่าวนี้ ท่านศาสนทูตมุหัมมัด (ขอความจำเริญและความสันติจงมีแด่ท่าน) ได้สั่งเสียเอาไว้ ความว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺผู้ซึ่งชีวิตข้าอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ พวกท่านต้องร่วมสั่งเสียในความดี หักห้ามจากความชั่ว หรือ(ถ้าพวกท่านไม่ทำเช่นนั้น)เห็นทีอัลลอฮฺจะส่งการลงโทษของพระองค์ลงมายังพวกท่านทั้งหมดครอบคลุม เมื่อนั้น แม้พวกท่านจะวิงวอนขอพรจากพระองค์ พระองค์ก็จะไม่ทรงตอบรับ” (รายงานโดยอัต-ติรมิซีย์)
อิสลามจึงได้เน้นให้มีการตักเตือนซึ่งกันและกัน เพื่อป้องกันความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม ถึงแม้ว่าการตักเตือนดังกล่าวจะเป็นเพียงเสียงเล็กๆ ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใดก็ตาม กระนั้น มันก็มีความสำคัญในฐานะตัวตนของเสียงสะท้อนต่อสำนึกความรับผิดชอบ และความหวังที่อยากจะเห็นความดีงามและสันติสุขเกิดขึ้นในหมู่เพื่อนมนุษย์
ในฐานะที่สถาบันศาสนาคือสถาบันหลักแห่งหนึ่งที่มีเกียรติและได้รับการเทิดทูนด้วยดีในสังคมไทยของเรามาโดยตลอด จึงใคร่ขอเรียกร้องเชิญชวนเหล่าผู้นำศาสนาและตัวแทนศาสนิกชนทุกศาสนา ได้ออกมาให้คำตักเตือนชี้นำด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยร่วมกันน้อมนำหลักคุณธรรมแห่งศาสนาและหลักแห่งความยุติธรรมระหว่างมนุษย์ เป็นประทีปส่องทางสว่างให้กับวิกฤตของปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา ณ เวลานี้ ตามแต่ความสามารถที่พึงมีของแต่ละคน