กองบรรณาธิการสำนักข่าวอามาน
http://voicepeace.org
พล.อ.ชวลิต ย้ำแนวคิด ‘นครปัตตานี’ อีกรอบ ชี้อาจเป็นปกครองส่วนท้องถิ่น ซัด 6 ปี ใช้แต่มาตรการทางทหาร โชว์ไอเดีย "นูซันตารา” ฟื้นความยิ่งใหญ่นครปัตตานี ยันต้องเอาระเบียงเมกกะกลับมา ชู วัดช้างไห้ –กรือเซะ-ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นLandmark โวไม่ใช่เรื่องยาก ฉุนคนหาว่าพูดจาไม่รู้เรื่อง ตอกกลับมืออย่างตนแก้มา 100 เรื่อง จะไปอธิบายให้คนไม่รู้เรื่องฟังทำไม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวคิดนครปัตตานี" ในงานเสวนา "นครปัตตานี...ทางออกในวาระ 6 ปีไฟใต้?" จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 โดย พล.อ.ชวลิตกล่าวตอนหนึ่งว่า ความขัดแย้งในภาคใต้เป็นภาพจำลองของความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ ส่วนเรื่องนครปัตตานีเป็นเรื่องที่ได้เสนอมานานแล้วหลายปี จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จึงได้มีการนำแนวคิดนี้กลับมาเสนออีกครั้ง
"เพราะสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นภาพจำลองใหญ่ที่เกิดในบ้านเมืองที่มีสถานการณ์สร้างความหนักใจ หลายเรื่องล้วนเป็นความขัดแย้งในสังคม ซึ่งต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมา 77 ปี ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีคณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองในปี 2475 ตั้งแต่วันนั้นบ้านเมืองก็มีความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ ตามมาเป็นลำดับ" พล.อ.ชวลิตกล่าว
พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ความขัดแย้งในการต่อสู้ แก้ไขปัญหาทางด้านการเมือง เราได้รุกทางด้านการเมืองหรือไม่ ในอดีตที่ผ่านมาใช้มาตรการทางทหาร เชื่อว่ามาตรการทางทหารจะนำไปสู่ความสำเร็จใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ผ่านมา 6 ปีแล้ว จนเริ่มมีการพูดกัน ทำไมไม่ใช้มาตรการทางด้านการเมือง บางคนว่าได้ทำไปแล้ว ถามว่าคืออะไร คือเอาเงินลงไปพัฒนาเศรษฐกิจ ไปมุ่งกันตรงนั้นจนสับสน ความจริงการแก้ปัญหานั้นแก้ได้ง่ายๆ คือต้องทำให้เป็นประชาธิปไตย
อดีตนายกฯ กล่าวว่า ตนเคยเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 3 ข้อ 1.ยุทธศาสตร์ดอกไม้หลากสี ให้คนไทยตระหนักว่าสังคมไทยประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์มารวมกัน แต่ละชนเผ่าก็มีประเพณีของตนเอง เมื่อมารวมกันก็เหมือนดอกไม้หลากสีในช่อเดียว คือความงดงาม เพราะไม่ปฏิบัติยุทธศาสตร์นี้อย่างจริงจัง ทำให้คนไทยยังไม่เข้าใจสถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
2.ถอยคนละ 3 ก้าว ให้มีพื้นที่ จะได้หันมาพูดจาด้วยความเข้าใจ อโหสิกันได้ โดยให้เกียรติกับคนที่เรจะพูดจา 3.ยุทธศาสตร์ที่เป็นหัวใจคือสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เขามีอำนาจในการปกครองตนเอง ให้อธิปไตยในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ศาสนา วัฒนธรรม การศึกษา ซึ่งเขามีขีดความสามารถในการดำเนินงานได้ เชื่อผมเถอะ ถ้าแก้อะไรไม่ได้ ต้องให้พี่น้องประชาชนเขามีส่วนร่วมแก้ปัญหาเอง
ประธานพรรคเพื่อไทยกล่าวอีกว่า แนวคิดนครปัตตานีนั้นอาจเป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบเขียนข้อเสนอ 3 ข้อ คือ 1.ขออยู่ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2.เอาสังคมภูมิบุตร ที่เคยอยู่กันมาเป็นพันๆ ปี มีไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีน มาอยู่ร่วมกัน 3.ขอดูแลตนเองภายใต้กรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่เราได้เสนอแนวคิดนครปัตตานี จึงเป็นเรื่องธรรมดา
"มีคนบอกว่า พล.อ.ชวลิตพูดไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าจะเอาอย่างไร เรื่องอะไรจะบอก มืออย่างผมแก้ปัญหามา 100 เรื่อง จะไปอธิบายให้คนที่ไม่รู้เรื่องทำไม"
พล.อ.ชวลิตอธิบายว่า นครรัฐปัตตานีคือต้องให้พี่น้องได้คิดเอง อย่างน้อยเขาจะได้ดูว่าเป็นอย่างไร การไม่รู้จะเจรจากับใครนั้น ไม่จริงเลย เพราะคนก่อการอยู่ในพื้นที่ ชาวบ้านเขารู้ว่าใครเป็นใคร เขาจะตกลงกันเองว่าเขาจะเอาอย่างไร เราชอบไปคิดแทนเขา เช่นเดียวกับปัญหาระดับชาติ แทนที่จะให้คนที่ขัดแย้งมาพูดกันเอง จึงจะสำเร็จ คงเข้าใจที่เราไม่พูดไป เพราะต้องการให้พี่น้องคิดกันเอง พูดกันเอง ไม่ใช่ผมพูดไม่รู้เรื่อง การจะก้าวข้ามไปตรงนี้ได้ ความขัดแย้งในลักษณะนี้จะแก้ไขปัญหาต้องแก้ที่ใครจะเข้าใจถึงคำว่า Heart and Mind คือเราต้องให้เกียรติเขา เคารพความคิดของพี่น้องในพื้นที่
"ข้อเสนอการแก้ไขนั้น หัวใจอยู่ที่ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องรู้ปัญหาคืออะไร ตีให้แตก ค่อยมาพิจารณาว่าจะบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรให้สำเร็จเป็นข้อสุดท้าย หัวใจของปัญหามันไม่ใช่ตรงนั้น บางคนบอกว่าต้องเป็นศูนย์ราชการใหญ่ นั่นก็ไม่สนใจพี่น้องประชาชน ขอบคุณที่หลายคนออกมาให้ความเห็น ผมเชื่อว่าทุกฝ่ายมีเจตนาบริสุทธิ์ นอกจากข้อเสนอนครรัฐปัตตานี ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่ผมได้เสนอไป นั่นคือ นูซันตารา ผมแปลเอาว่าความยิ่งใหญ่ของนครปัตตานีในภูมิภาคแห่งนี้"
นอกจากนี้ พล.อ.ชวลิตกล่าวว่า ในอดีตนครปัตตานีเคยเป็นระเบียงเมกกะ ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยต้องสถาปนาให้ได้ในยุคนี้ เพื่อเป็นเกียรติประวัติให้เขา จึงเรียกว่า Mind and Heart แต่การจะเป็น "นูซันตารา" คือพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่เหมือน Landmark ที่ประกอบด้วยวัดช้างไห้ มัสยิดขนาดใหญ่ และศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นี่คือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ เป็นการรวมกันของสังคมภูมิบุตร เอาคำว่าระเบียงเมกกะกลับมาให้ได้ ต่อไปพลังของพี่น้องประชาชนที่จะมารวมตัวกันให้เจริญ จะได้มาดูว่าจะเก็บภาษีอย่างไร จะเก็บอะไรๆ ได้ ตามรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อเสนอเหล่านี้ย่อมไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย