Skip to main content
บทความโดย : นายมูฮาหมัดอัณวัร  หะยีเต๊ะ (เรือนรับรองปัตตานี)
เสาร์ 30/11/2013
บันทึก/พิมพ์ : น.ส.รอมือละห์  แซเยะ (ภรรยา)
 

             เมื่อความขัดแย้งในปาตานี  ถูกขับเคลื่อนเข้าสู่โต๊ะการพูดคุยสันติภาพ ถึงแม้อีกฝ่ายจะไม่ได้เต็มที่ย่างก้าวเข้าไป เพราะเป็นการจัดฉากหนังมหภาค  แต่ก็ต้องยอมรับว่าสามารถสร้างกระแสความสนใจให้ติดตามเป็นซีรีย์  ประชาชนในพื้นที่รวมกระทั่งองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่เช่นกัน

              แม้ว่าสภาประชาสังคมชายแดนใต้ จะแสดงตนเข้ามีบทบาทในประเด็นการพูดคุยสันติภาพอีกทั้งมีพื้นที่ในหน้าสื่อในช่วงดังกล่าว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสภาประชาสังคมฯกับชาวบ้านระดับล่าง  ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้ง และผลจาการพูดคุย  สภาฯก็ยังไม่สามารถเชื่อมประสานวาระความต้องการของประชาชนได้

            ฉันว่าเป็นหน้าที่และห่วงช่วงเวลาที่ประชาสังคมคนเมอลายูรุ่นใหม่  ที่จะต้องแสดงบทบาททั้งการประสานเชื่อมความต้องการ  การกำหนดยุทธศาสตร์วางยุทธวิธีการขับเคลื่อน เพื่อกระโจมเข้าเป็นหนึ่งในองค์กรนำในกระบวนการสร้างสันติภาพ  ที่มีโต๊ะการพูดคุยสันติภาพเป็นฉากสำคัญแต่จะเป็นฉากสำคัญหรือไม่นั้น  ประชาชนปาตานี 2 ล้านกว่าชีวิตจะเป็นผู้ตัดสิน

            หลังจากเหตุชุมชนใหญ่ที่มัสยิดกลางปาตานี เมื่อปี 2550(2007)  เหล่าปัญญาชนเมอลายูหนุ่มสาว ทั้งที่สำเร็จการศึกษาในระดับระดับอุดมศึกษา และจำต้องยุติสถานะนักศึกษาเพื่อเดินทางกลับมาตุภูมิปาตานี  เพื่อเป็นแรงหนุนในการขับเคลื่อนในส่วนงานภาคประชาชน ย่างก้าวปีที่ 7 ของการเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานภาคประชาสังคมที่หลากหลายด้าน เช่น การสื่อสาร กฎหมาย สิทธิมนุษยชน สิทธิเด็ก สตรี ภาษา วัฒนธรรม เป็นต้น ประเด็นดังกล่าวเหล่านี้เมื่อย้อนกลับไปในห้วงของการก่อร่างสร้างองค์กรการขับเคลื่อนจะอยู่ในรูปแบบ  ประเด็นใครประเด็นมันก็จะถือควงประเด็นติดตามตัวไปตลอด ถือเป็นการฝึกและเรียนรู้ให้ลึกในประเด็นนั้นๆ แต่เมื่อช่วงเวลาขัดแย้งยืดขยายยังหาจุดจบไม่ได้  การขับเคลื่อนบวนระหว่างองค์กรให้เป็นระนาบเดียวกันถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่กำหนดหมุดหมายแห่งสันติภาพบนพื้นที่ปาตานีตามความประสงค์ของชาวปาตานี

            ในบทความ Patani Design 4: ขบวนการคนหนุ่มสาวเมอลายูปาตานี (1)  เราได้รับรู้ถึงปัจจัยที่เป็นปัญหาดันส่งผลให้กำหนดวาระร่วมทางสังคมต้องหยุดชะงัก  อีกปัจจัยหนึ่งก็คือการถูกคุกคามจากหน่วยงานความมั่นคงจากรัฐ เช่น การตรวจบ้านนักกิจกรรมนักศึกษา บุกบ้านคนทำงานภาคประชาสังคม ปัจจัยถือเป็นปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่ออนาคตทางการศึกษา ของนักกิจกรรมนักศึกษา และส่งผลต่อภาพการทำงานของคนหนุ่มสาวเมอลายูในส่วนงานภาคประชาสังคม ที่จะส่งผลต่อประเด็นการขับเคลื่อนทางสังคม  ซึ่งการกระทำของหน่วยงานความมั่นคงเช่นนี้ ยังหวังผลให้เกิดภาวะความหวาดกลัว กังวล แก่คนหนุ่มสาวที่มีอุดมการณ์เพื่อสังคมรายอื่นๆ ที่มุ่งมั่นสละเวลาช่วยเหลือสังคม ทำให้อนาคตอาจขาดบุคลากรไฟแรงที่จะทำงานเพื่อสังคมต่อไป  แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม ยิ่งรัฐกระทำการมิชอบ คุกคาม คนหนุ่มสาวมากเทาใด จำนวนคนทำงานและกระแสต่อต้านจะมีเพิ่มมากขึ้นเท่าตัว

            ในขณะที่ความรุนแรงที่มาจากความขัดแย้งก้าวเข้าสู่ปีที่ 10  ประสบการณ์การดำเนินงานโดยคนหนุ่มสาวเมอลายูที่ผ่านการขัดเกลาด้วยตัวตนของเขาเอง  การศึกษาในกระบวนการทำงานจากคนหนุ่มสาวจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อาเจะห์ มินดาเนา คนหนุ่มสาวปาตานีจักต้องนำประสบการณ์เหล่านั้นถ่ายทอดสู่เครือข่ายคนหนุ่มสาวรายอื่นๆ และคนรุ่นหลัง ในรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม อย่างการจัดเสวนา กลุ่มศึกษา สิ่งที่สำคัญยิ่งคือการจัดประสบการณ์ หรือการจัดการองค์ความรู้ [Knowledge Management : KM ] เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ไปสู่คนหนุ่มสาว  ทั้งๆที่อยู่ส่วนกลาง  และในพื้นที่ระดับชุมชนได้อย่างตรงตามบทบาทและประเภทสื่อในการรับข้อมูล  สื่อที่จะเป็นช่องทางการถ่ายทอดข้อมูลจะสามารถเข้าสู่รั่วบ้าน  ห้องครัว ห้องนอน โรงเรียนด้วย  สิ่งที่สามารถเข้าไปถึงในระดับนี้ได้ ก็เช่น วิทยุ จดหมายข่าว และเวทีเสวนาระดับชุมชน ที่สำคัญของการสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ควรเป็นสื่อที่สามารถโต้ตอบตั้งคำถามไปมาได้ [การสื่อสารสองทาง]

            ยุคที่มีการผุดขึ้นของวิทยุชุมชน  ที่เบียดกันแย้งคลื่นความถี่  แต่มีเพียงไม่กี่สถานีที่กระโดดเข้าจับประเด็น  และมีบทบาทในกระบวนการสันติภาพ  เป็นจังหวะสำคัญที่คนหนุ่มสาวเมอลายูระดับแนวหน้า  ควรวางแผนการขับเคลื่อนด้านการสื่อสาร  การส่งต่อข้อมูลความรู้ประสบการณ์ที่ได้ผ่านการคัดกรองมาแล้ว  แปลงเป็นเสียงถ่ายทอดผ่านเครือข่ายวิทยุชุมชนต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ  เราต้องยอมรับสื่อวิทยุสามารถเข้าไปถึงครัวเรือนได้อย่างใกล้ชิด หากปล่อยช่วงจังหวะนี้ไป ทำให้พลาดโอกาสที่จะสื่อสารเชื่อมประเด็นสันติภาพแก่ชาวบ้านระดับรากหญ้าเข้าใจได้  ส่วนที่ต้องคำนึงคือภาษาศัพท์ที่ใช้ต้องเป็นที่เข้าใจได้ง่าย  จะต้องแปลภาษาในกระบวนการสันติภาพเป็นภาษาเมอลายูปาตานีท้องถิ่น  และจำเป็นที่ต้องสามารถเชื่อมว่ากระบวนการสันติภาพเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร บทบาทของเขาคืออะไร เขาต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้ได้ซึ่งสันติภาพที่พวกเขาต้องการ

 

            ภาพของวงจรความรู้ [Knowledge Cycle]  ต้องการแสดงให้เห็นองค์ความรู้ หรือประสบการณ์ที่คนรุ่นใหม่เมอลายูภาคประชาสังคมได้เก็บเกี่ยวในพื้นที่ปาตานีและต่างประเทศ  เมื่อมีวัตถุดิบอยู่ในมือ  การที่จะดึงออกมาถ่ายทอดส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย ทั้งที่เป็นนักกิจกรรม นักศึกษา นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม นักเรียน ข้าราชการ จนกระทั่งชาวบ้าน การนำเอาประสบการณ์ความรู้มาจัดการแยกย่อยคัดสรร ถือว่าเป็นกระบวนการที่จำเป็น การจำแนกความรู้ตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าหมาย หรือผู้รับสารในระดับที่แตกต่างกันเป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่ถ่ายทอดส่งต่อออกไป

            การนำเอาประสบการณ์ความรู้จากต่างแดนที่เกี่ยวกับกระบวนการการสร้างสันติภาพ การขับเคลื่อนของหนุ่มสาว หรือการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในพื้นที่ความคัดแย้งที่ใกล้เคียงกับปาตานีอย่างอาเจะห์ มินดาเนา แม้กระทั่งบทบาทของประชาชนในพื้นที่เหล่านี้นำเอาเรียบเรียง จัดจำแนก หมวดหมู่ ประเด็น เพื่อที่จะถ่ายทอดส่งต่อผ่านสื่อที่มีอยู่ในมือทั้งในรูปแบบ VDO วิทยุ วารสาร หรือหนังสือ และเว็บไซท์  ที่จะต้องให้ความสำคัญมากกว่าไม่ใช่เครื่องมือ แต่เป็นเนื้อหาความรู้

            เมื่อสามารถจำแนกหรือจัดการองค์ความรู้ตามความเหมาะสมของกลุ่มเป้าได้แล้ว  ต้องมาคิดหาช่องทางว่าผู้รับสาร หรือกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ใช้สื่อประเภทใด  หากเป็นกลุ่มคนใหม่ในชุมชน  อาจต้องอาศัยมัสยิด หรือสถาบันการศึกษาเป็นตัวช่วยโดยอาจจัดในรูปแบบการอบรมให้ความรู้เป็นการเบื้องต้นแล้วนำรายการที่จัดอยู่  พร้อมทั้งชื่อเว็บไซท์หรือแฟนเผจ  เพื่อหาอ่านต่อเพิ่มเติมในประเด็นที่เขาสนใจ

            ส่วนการถอดบทเรียน เป็นการประเมินการทำงานของคนรุ่นหนุ่มสาวปาตานีว่าบรรลุเป้าตามที่คาดหมายไว้หรือมีอุปสรรคส่วนใดหรือไม่  รวมทั้งการนำประเด็นคำถามข้อเสนอจากกลุ่มเป้าหมายในระดับต่างๆ มาจัดเรียงเป็นข้อมูล หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ  แล้วก็เข้าในกระบวนการจัดองค์ความรู้  แล้วเดินกระบวนการตามภาพวงจรความรู้ [Knowledge Cycle] ต่อไป

            คนรุ่นใหม่เมอลายูปาตานี ผมไม่ได้หมายถึง เพียงแค่คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวอย่างเดียว แต่ผมหมายรวมไปถึงผู้ที่มีแนวคิดที่ต้องการเปลี่ยนผัน ยุคสมัยแห่งความรุนแรงไปสู่ยุคสมัยแห่งสันติภาพ  คนที่มีแนวคิดเช่นนี้ผมเรียกว่า “คนหนุ่มสาว” หรือ “คนรุ่นใหม่” คนกลุ่มนี้มีทั้งแกนนำ และผู้ตาม  การจำแนกความรู้จะทำให้สามารถรับและเรียนรู้ได้ง่าย ที่สำคัญต้องสามารถดึงคนกลุ่มนี้มาเป็นตัวละครหนึ่ง และเป็นตัวละครที่สำคัญในกระบวนการสันติภาพปาตานี

 

หมายเหตุ : บทความฉบับนี้เดินทางไกลเป็นพันกิโลเมตร กว่าจะได้รับการบันทึกและเผยแพร่ ส่งออกจากเรือนจำปัตตานี เดือนพฤศจิกายน 2556  เดินทางให้กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจข้อมูลเนื้อหาก่อนเผยแพร่สู่สาธารณชน และส่งให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ตรวจทาน  กลับมาถึงผู้บันทึกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557  จังหวะนั้นเลยแทรก Patani Design 7

เครดิตภาพประกอบ : Buliato