การรวมตัวของเครือข่ายคนทำสื่อบนพื้นที่ความขัดแย้ง หรือที่เรียกกันว่า ‘สื่อทางเลือกชายแดนใต้’ กับการนัดหมายมารวมตัวกัน นำเนื้อหาหรือรูปแบบการทำงานของแต่ละกลุ่มมาจัดแสดงและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน
ปีนี้พวกเขามีเป้าหมายร่วมกัน ในโอกาสที่ครบรอบหนึ่งปีการพูดคุยกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ จึงมีความพยายามยกระดับคุณค่าของการสื่อสารสู่การเป็น ‘สื่อสันติภาพชายแดนใต้’ ผลักดันการพูดคุยให้เดินต่อ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม เปิดพื้นที่ถกเถียง ชวนส่งเสียง และให้คนในพื้นที่สื่อสารเรื่องราวจากมุม 'คนใน'
รอมฏอน ปันจอร์ ผู้ปฏิบัติงานศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มองว่าการเปิดใจพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา โดยอยู่บนหลักการและเหตุผลนั้น คือกระบวนการสร้างสันติภาพภายในตัว
"การพยายามจะสื่อสารบนความเข้าใจที่ว่า การสื่อสารมีพลังอำนาจ บางอย่างที่จะจัดการกับความขัดแย้งได้ และการมองมนุษย์ที่มีคุณค่า และการพยายามให้มีการส่งเสียง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ถกถียงกันได้มากที่สุด เพราะนี้เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้ความขัดแย้งทีใช้กำลังนั้น ลดน้อยลง แน่นอนว่าถ้าเรามองในสถานการณ์ความขัดแย้งที่มันบานปลาย มันเร้าใจ มันอาจจะขายได้ ดูมีสีสัน แต่สื่อสันติภาพ มันอาจจะเป็นสื่อทางเลือกในแง่ที่ว่า เราพยายามให้คนเห็นทางเลือกที่ว่า เราน่าจะทะเลาะกันแบบนี้ได้ โดยที่ไม่ใช้ความรุนแรง"
เครือข่าย 'สื่อสันติภาพชายแดนใต้' ต่างเชื่อในพลังของการสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกเล่าและอธิบายโดยเจ้าของพื้นที่ ซึ่งพวกเขามีหน้าที่ในการเปิดพื้นที่เหล่านี้ให้คนในพื้นที่ได้เข้ามาใช้และนำเสนออย่างรอบด้าน
วณิชชา เปาะมะ ผู้ดำเนินรายการสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน เชื่อว่าบทบาทสำคัญของคนทำสื่อในพื้นที่คือ นอกจากจะนำเสนอเรื่องราวที่รอบด้านแล้ว ยังต้องสร้างพื้นที่แสดงความคิดเห็นให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยอีกด้วย
"สื่อสันติภาพจะต้องมีพื้นที่ให้กับคนในพื้นที่มากที่สุด หากว่าสื่อพยายามสะท้อนแค่มุมเดียว ก็ยังไม่เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นสื่อเอง ก็จะต้องเปิดพื้นที่ให้กับประชาชนในการที่จะแสดงออก แสดงความคิดเห็น มีพื้นที่ให้ตัวเอง ได้พูดได้คุย เพราะคนในพื้นที่ ขาดพื้นที่ในการที่จะได้คุย ทำให้คนนอกอาจจะไม่ทราบปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น การสื่อสารที่ดีที่สุด คือการเปิดพื้นที่และแสดงความคิดเห็นให้มากที่สุด"
อัศรา รัฐการันต์ เครือข่ายสตรีชายแดนใต้ มองเห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนข่าวสารบนพื้นที่ความขัดแย้งร่วมกัน อย่างมีพลังของกลุ่มเครือข่ายสื่อทางเลือกในชายแดนใต้
"คิดว่าสื่อในพื้นที่นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ถ้าทุกสื่อกระตุ้น เพราะการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนทั้งประเทศ ทั้งคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนนอกพื้นที่จะ สื่อนี่แหละที่จะเป็นตัวกระตุ้นความรู้และความเข้าใจ และสื่อจากชายแดนใต้ของเรายิ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่จะ ทำให้เกิดสันติภาพในพื้นที่"
‘สันติภาพ’ เป็นเรื่องของปลายทาง แต่ตอนนี้ ในระหว่างทาง เราทุกคนล้วนเห็นความสำคัญของพื้นที่ในการแสดงออกร่วมกัน และพวกเขาเชื่อมั่นว่าความสำเร็จจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความร่วมมือของทุกคน ทุกภาคส่วน