Skip to main content
ซาฮารี เจ๊ะหลง, อิสมาอีล ฮายีแวจิ, มาหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ
ผู้ปฏิบัติงาน สำนักสื่อ Wartani
 
ปาตานี หรือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่สงครามตามความเข้าใจของภาคประชาสังคมคนรุ่นใหม่และประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่เป็นพื้นที่การก่อเหตุความไม่สงบตามความเข้าใจของรัฐไทยและคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ นับเป็นพื้นที่ความขัดแย้งที่มีการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ที่ซับซ้อน มีความต่างและความเหมือนในเวลาเดียวกันกับพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆทั่วโลก  คุณลักษณะพิเศษในพื้นที่นี้มีประเด็นปัญหาที่สามารถหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขได้เกือบทุกกรณี ทั้งเรื่องความมั่นคง อธิปไตย ดินแดน ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ เชื้อชาติ การเมือง ศาสนา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ
 
และปัจจุบันความขัดแย้งนี้เริ่มชัดขึ้น แม้จะยังไม่ถูกยอมรับโดยรัฐและยังไม่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติอย่างเป็นทางการ หากแต่ทุกภาคส่วน ต่างก็มุ่งมายังถนนเส้นนี้ ทั้งหน่วยงานราชการ เอกชน ต่างช่วงชิงพื้นที่การให้ความช่วยเหลือเอาใจใส่ในปัญหาและองค์กรต่างประเทศที่มีบทบาทต่อประเด็นการจัดการความขัดแย้ง การสร้างสันติภาพในระดับโลก ต่างก็เฝ้าติดตามทุกการเคลื่อนไหวในพื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้
 
พื้นที่ความขัดแย้งแห่งนี้มีการใช้ความรุนแรงต่อกันใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ 5 อำเภอของสงขลา อันได้แก่ สะบ้าย้อย จะนะ เทพา นาทวี และสะเดา ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 10 ปี (มกราคม 2547 ถึงปัจจุบัน2557) ซึ่งยังไม่อาจคาดเดาว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จะจบลงอย่างไร  ขณะที่เวลานี้มีผู้สูญเสียชีวิตจากพื้นที่แห่งนี้ จำนวนสูงถึง 6,000 กว่าคน และดูเหมือนตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กมีจำนวนที่น่าตกใจเป็นอย่างมาก เฉลี่ยแค่เฉพาะ 5 ปีหลังสุด ทุกๆหนึ่งร้อยคนจะมีเด็กเสียชีวิต 2.5 คน จากไฟสงคราม
 
จากการรวบรวมข้อมูลสถิติของ สำนักสื่อ Wartani เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 กรณีเด็กอายุระหว่าง 1 - 18 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามที่ปาตานีหรือจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมของปี พ.ศ.2553 (2010) ถึงเดือนเมษายนของปี พ.ศ.2557 (2014) โดยเผยแพร่ด้วยรูปแบบที่ทำให้ผู้บริโภคข่าวสารยุคใหม่เพียงแค่กวาดตาดูครั้งเดียวก็รู้เรื่องได้เลย นั่นก็คือ “อินโฟกราฟิก (Infographics)” ซึ่งข้อมูลที่ได้รวบรวมมา มีดังนี้
 
ปี พ.ศ.2553 (2010)  ตั้งแต่เดือนสิงหาคม - ธันวาคม มีเด็กอายุระหว่าง 1 - 18 ปี จำนวน 12 คน ที่ได้รับผลกระทบ เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 8 คน แยกเป็นจากเหตุระเบิด 2 ครั้ง เหตุยิง 3 ครั้ง และเหตุอื่นๆ 3 ครั้ง
 
ปี พ.ศ.2554 (2011) ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม มีเด็กอายุระหว่าง 1 - 18 ปี จำนวน 65 คน ที่ได้รับผลกระทบ เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 57 คน แยกเป็นจากเหตุระเบิด 12 ครั้ง เหตุยิง 25 ครั้ง และเหตุอื่นๆ 2 ครั้ง
 
ปี พ.ศ.2555 (2012) ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม มีเด็กอายุระหว่าง 1 - 18 ปี จำนวน 65 คน ที่ได้รับผลกระทบ เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บ 53 คน แยกเป็นจากเหตุระเบิด 18 ครั้ง เหตุยิง 25 ครั้ง และเหตุอื่นๆ 0 ครั้ง
 
ปี พ.ศ.2556 (2013) ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคม มีเด็กอายุระหว่าง 1 -18 ปี จำนวน 56 คน ที่ได้รับผลกระทบ เสียชีวิต 5 คน บาดเจ็บ 51 คน แยกเป็นจากเหตุระเบิด 9 ครั้ง เหตุยิง 29 ครั้ง และเหตุอื่นๆ 1 ครั้ง
 
ปี พ.ศ.2557 (2014) ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน มีเด็กอายุระหว่าง 1 - 18 ปี จำนวน 24 คน ที่ได้รับผลกระทบ เสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บ 16 คน แยกเป็นจากเหตุระเบิด 4 ครั้ง เหตุยิง 12 ครั้ง และเหตุอื่นๆ 0 ครั้ง
 
หมายเหตุ: ดูภาพประกอบด้านล่าง
 
 
สามารถสรุปได้ว่าสถิติเด็กอายุระหว่าง 1 – 18 ปี ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุสงครามที่ปาตานี หรือเหตุก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 (2010) – เดือนเมษายน พ.ศ.2557 (2014) มีจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 222 คน แยกเป็นเสียชีวิต 37 คน บาดเจ็บ 185 คน จากเหตุระเบิด 45 ครั้ง เหตุยิง 96 ครั้ง และเหตุอื่นๆ 6 ครั้ง รวมจำนวนเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเด็กทั้งสิ้น 146 เหตุการณ์
 
ซึ่งสามารถเฉลี่ยได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้น 1 ครั้ง เด็กที่ได้รับผลกระทบจำนวน 1.53 คน หรือเฉลี่ยจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบ 4.94 คน ต่อ 1 เดือน
 
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วในวันจันทร์ที่ 14 เม.ย.2557 ที่ผ่านมา เป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก โดยทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบัน ยกเว้นสองประเทศ คือหนึ่ง โซมาเลีย เพราะเป็นประเทศที่รัฐล้มเหลว
 
และอีกหนึ่งประเทศคือ สหรัฐอเมริกา เพราะเขาถือว่าสิทธิเด็กสำคัญต้องได้รับความคุ้มครองเป็นอันดับแรกๆ จึงไม่จำเป็นต้องเซ็นสัตยาบันแต่อย่างใดแต่หลายๆประเทศที่เซ็นสัญญาดังกล่าวกลับมีแต่ข่าวการเสียชีวิตของเด็กๆที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เพราะไม่มีกลไกการปกป้องพลเรือนที่ให้ความสำคัญแก่ชีวิตของเด็กหรือมีแต่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้ในปีพ.ศ. 2535
 
กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับปัจจุบัน (ปี พ.ศ.2550) ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดก็ได้เน้นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของบุคคลรวมทั้งสิทธิเด็กด้วยและได้บัญญัติหลักการสำคัญ ๆ หลายประการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยมีเจตจำนงที่จะคุ้มครองสิทธิเด็กและเป็นการกำหนดว่ากฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องเด็กจะต้องคุ้มครองสิทธิเด็กตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
 
รายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตน ได้แก่
  • สิทธิที่จะมีชีวิตรอด - ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย
  • สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา - มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม
  • สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง - ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ
  • สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม – ในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง
 
และทุกๆ 5 ปี แต่ละประเทศจะต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเด็ก ซึ่งประจำอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของแต่ละประเทศในการรับประกันสิทธิต่างๆ ของเด็กที่ระบุไว้ในอนุสัญญา
 
แม้ว่าประเทศไทยจะมีรายงานความก้าวหน้าเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเด็กทุกๆ 5 ปีจากรัฐบาลและยังมีรายงานเงา (Shadow Reports) ที่เป็นรายงานคู่ขนานจากเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม และล่าสุดได้มีการอนุญาตให้เด็ก กลุ่มเด็ก หรือตัวแทนของเด็ก สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้โดยตรง
 
ในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิ และไม่สามารถใช้กระบวนการที่มีอยู่ในประเทศในการได้รับความยุติธรรม เมื่อคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วในวันจันทร์ที่ 14 เม.ย.2557 ที่ผ่านมาดังกล่าวจะนับเป็นเรื่องดีและน่าภาคภูมิใจ แต่สำหรับในพื้นที่สงครามที่ปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบนั้น ลูกๆของพวกเขาคือความหวังของครอบครัว  เป็นความหวังของชาติ ยังมีอนาคตอีกยาวไกล
 
มีสิทธิที่ควรจะได้รับการถูกปกป้องคุ้มครองจากทุกเหตุการณ์ความขัดแย้งและไม่มีใครมีสิทธิมาทำร้ายเด็กไม่ว่ากรณีใดๆ หากทว่ากลับต้องได้รับผลกระทบสูญเสียทั้งชีวิต บาดเจ็บ พิการ จากสถานการณ์การต่อสู้ที่ไม่คำนึงถึงชีวิตของพวกเขาเลย พ่อแม่บางคนถึงกับเสียสติ ไม่อยากนึกถึงความทรงจำที่เลวร้าย เนื่องจากไม่อาจยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ บางคนไม่สามารถร้องไห้เพราะต้องการรักษาความเข้มแข็งมั่นคงของครอบครัวไว้ แต่ภายในจิตใจบอบช้ำอย่างแสนสาหัส เก็บกดความเศร้าเสียใจ จนอาจกลายเป็นความแค้น
 
อีกประเด็นปัญหาคือเด็กที่ได้รับผลกระทบด้านจิตใจ พ่อถูกควบคุมตัว อยู่ระหว่างดำเนินคดี อยู่ในเรือนจำ พ่อถูกยิงต่อหน้าต่อตา  ที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เพราะพ่อแม่ เสียชีวิตจากเหตุการณ์  
 
ข้อมูลเด็กกำพร้า ตลอดช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีจำนวนประมาณกว่า 6000 คน 
 
ข้อมูลจากสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพแห่งชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ตัวเลขเด็กกำพร้าในเหตุการณ์ความไม่สงบทั้ง 3 จังหวัด ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 7,312 คน
 
ข้อมูลจากมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง พบว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยาวนาน ส่งผลให้จำนวนเด็กกำพร้าในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหากรวมถึงปัญหาการหย่าร้าง และการเสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ แล้ว พบว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนเด็กกำพร้าสูงถึง 9,000-10,000 คน