Skip to main content

 

เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับนักสิทธิมนุษยชนนั้นอาจจะไม่หวานชื่นและโรยด้วยกลีบกุหลาบ  ด้วยบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ทหารส่วนใหญ่มองนักสิทธิฯ ด้วยสายตาของความหวาดระแวงว่ามาจับจ้องการทำงานเพื่อจับผิดตนเอง และบางครั้งก็ตั้งคำถามไปว่าคนเหล่านี้ไป “รับจ๊อบ”  มาจากองค์กรต่างชาติที่ไหน และมีวัตถุประสงค์อะไรในการเคลื่อนไหวรณรงค์ที่ทหารมักตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา

ผู้เขียนติดตามสถานการณ์ภาคใต้มาอย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปี นับตั้งแต่เหตุการณ์การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็งในวันที่ 4 มกราคม 2547   แม้ว่าโดยส่วนตัวจะทำหน้าที่ในฐานะของนักข่าวและในระยะหลังเป็นนักวิจัย แต่บางครั้งก็เคยถูกนายทหารบางท่านคิดว่าเป็นเครือๆ เดียวกับพวกนักสิทธิมนุษยชน จำได้ว่าในช่วงปี 2551 เคยถูกนายทหารอาวุโสท่านหนึ่งถามว่า “ทำไมไม่ไปไล่ถามโจรที่ฆ่าคน ละเมิดสิทธิมนุษยชน  มาไล่ถามทหารทำไม”    

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้เขียนคิดว่าทั้งนายทหารในพื้นที่ภาคใต้และนักสิทธิฯ ต่างก็เรียนรู้และเข้าใจบทบาทของกันและกันมากขึ้น นายทหารบางท่านก็เริ่มมองนักสิทธิมนุษยชนในแง่ดีว่าเป็นเสมือนไฟฉายที่ส่องให้เห็นถึงสิ่งที่ชาวบ้านรู้สึกว่า ความอยุติธรรม โดยเฉพาะในหมู่ชาวมลายูมุสลิม ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขในเรื่องนั้นๆ ได้ทันท่วงที  ไม่กลายเป็นปมฝังลึกในใจ จนทำให้ชาวบ้านหันหลังให้กับรัฐมากขึ้นไปอีก   อย่างที่ทราบกันดีว่าปัญหาเรื่องความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ผลักให้คนมลายูมุสลิมจำนวนไม่น้อยเข้าไปร่วมจับอาวุธสู้กับรัฐ    ทั้งสองฝ่ายต่างก็เริ่มทำงานประสานกันมากขึ้น นายทหารบางท่านยังเล่าว่าได้ให้เบอร์โทรศัพท์มือถือกับนักสิทธิฯ และได้กำชับว่าถ้ามีกรณีการร้องเรียนการซ้อมทรมานที่ไหน ให้แจ้ง  เพื่อจะได้รีบดำเนินการตรวจสอบได้ทันท่วงที   

ในฝ่ายนักสิทธิมนุษยชนเอง ที่เดิมมักจะใช้วิธีการประณามการกระทำที่ละเมิดสิทธิเป็นหลักใหญ่   หรือที่ฝรั่งเรียกว่า naming and shaming  เพื่อทำให้ผู้ที่ถูกประณามรู้สึกอายและหยุดกระทำกาละเมิดสิทธิมนุษยชน  ในระยะหลังๆ  นักสิทธิฯ ก็พยายามทำงานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันออกระเบียบและกติกาเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์การละเมิดสิทธิฯ เกิดขึ้นอีก  เช่น ระเบียบเรื่องการเยี่ยมผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวภายใต้ พรก.ฉุกเฉินฯ  แน่นอนว่ายังคงมีหลายประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกัน  แต่การฟังกัน ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงการปฏิบัติต่างๆ ให้ดีมากขึ้น  ตามข้อมูลของมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สถิติการร้องเรียนการซ้อมทรมานในช่วงปี 2551 – 2555 นั้น มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ   ในปี 2551 มีการร้องเรียนเรื่องซ้อมทรมาน 88 กรณี  ในปี 2552 จำนวน  61 กรณี ในปี 2553 จำนวน 63 กรณี ในปี 2554 จำนวน 60 กรณี และในปี 2555  การร้องเรียนในเรื่องนี้ลดลงอย่างมาก จนเหลือเพียง 38 กรณี  แต่น่าเสียดายว่าการร้องเรียนกลับเพิ่มมากขึ้นอีกในปี 2556  ซึ่งมีถึง 58 กรณี

การปะทะกันทางคารมของกองทัพและนักสิทธิฯ เริ่มจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน  ภาค 4 ส่วนหน้า ได้จัดแถลงข่าวในวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา และประกาศว่า  “อาจจะมีการดำเนินการทางกฎหมาย” กับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง   โดยทางพ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้  “บิดเบือนข้อเท็จจริง ที่สร้างความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ผู้ที่สร้างความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความทุ่มเท เสียสละ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในเวทีสากล”    (ผู้จัดการรายวัน,  8 พฤษภาคม 2557)

โดยทางกอ.รมน.ได้กล่าวถึงกรณีที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เรียกร้องผ่านสื่อมวลชนและทำหนังสือเปิดผนึกถึงแม่ทัพภาค 4 โดยขอให้มีการตรวจสอบกรณีการร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมาน นายอาดิล สาแม ในระหว่างการเข้าจับกุมตัวในวันที่ 26 เมษายน 2557  โดยพ.อ.ประโมทย์ได้อธิบายว่าไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายระหว่างการเข้าจับกุมนายอาดิลแต่อย่างใด เขาอธิบายว่านายอาดิลได้เกิดอาการชักเกร็งและได้ถูกนำส่งโรงพยาบาลในวันที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้สนธิกำลังเข้าจับกุม โดยนายแพทย์รุสกี เจ๊ะแอ  แพทย์เวรประจำห้องฉุกเฉินซึ่งได้ตรวจอาการของเขาในวันนั้น ได้ระบุในใบรับรองแพทย์ว่า นายอาดิลมีอาการ “กล้ามเนื้อบริเวณลิ้นปี่อักเสบ”    

โดยพ.อ.ปราโมทย์ได้อ้างคำพูดของนายแพทย์เวรท่านนี้ว่า “ผลการตรวจร่างกายโดยทั่วไปปกติ ไม่มีอาการแสดงปวด บวม แดง ร้อน หรือเลือดออก รอยจ้ำหรือร้อยช้ำใดๆ รวมทั้งได้ทำการตรวจทางรังสีวิทยา (X-ray) บริเวณหน้าอก ผลการตรวจไม่พบการแตกหักของกระดูกช่องอก ไม่พบอันตรายของเนื้อเยื่อของปอด และไม่พบลม หรือน้ำในช่องปอด จึงลงความเห็นว่า กล้ามเนื้อบริเวณลิ้นปี่อักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากการใช้งานมากเกินปกติ โดยอาจเป็นผลมาจากการชักเกร็งในภาวะเครียดด้านจิตใจ มิใช่เกิดจากการกระแทก”

มีการวิเคราะห์กันว่าท่าทีของกอ.รมน. ภาค4 ในครั้งนี้อาจจะเกิดจากความไม่พอใจที่เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้  ตัวแทนของมูลนิธิฯ ได้เดินทางไปยังกรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อร่วมประชุมประเทศสมาชิกที่เป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี  (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment – CAT)  ของสหประชาชาติ  และได้นำเสนอ “รายงานเงา” (shadow report)  เกี่ยวกับสถานการณ์การซ้อมทรมานในประเทศไทย   ควบคู่กับ “รายงานประเทศ” (country report) ที่จัดทำโดยรัฐบาลไทย 

กอ.รมน. ได้เรียกร้องในการแถลงข่าวว่าให้มูลนิธิผสานวัฒนธรรม “ทำหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมาและตรวจสอบได้ และแสดงความรับผิดชอบต่อเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง และนำเสนอเรื่องราวอันเป็นเท็จไปสู่การรับรู้สาธารณะ ดังเช่นเหตุการณ์ครั้งนี้ และที่ผ่านๆ มาเพื่อไม่ให้สังคมเคลือบแคลงสงสัยในพฤติกรรม และเจตนาที่แท้จริงไปมากกว่านี้”  โดยระบุว่าทางกอ.รมน. “ยังคงให้ความสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม ให้การเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และองค์กรเครือข่ายต่างๆ ที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ในการเข้ามาตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่อย่างโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ในทุกกรณี”

เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดแบบเดิมๆ ของกองทัพต่อการทำงานของนักสิทธิฯ  ที่ยังคงเชื่อว่าพวกเขามีเจตนาแอบแฝง มองไม่เห็นว่าพวกเขาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ นอกจากคอยจับผิดทหารและขัดขวางการจับกุม  “ผู้ก่อเหตุรุนแรง”  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว  การร้องเรียนให้ทางกองทัพตรวจสอบ  การนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้กับสาธารณชน ทั้งในและต่างประเทศเป็นบทบาทปกติขององค์กรภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อหยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งในประเทศอารยะทั้งหลายต่างก็มีเครือข่ายขององค์กรเอกชนที่ทำงานในลักษณะนี้อยู่มากมาย    พวกเขาควรจะได้ทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระและไม่ถูกข่มขู่คุกคาม

ในจดหมายเปิดผนึกที่ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้ทำถึง  พล.ท. วลิต  โรจนภักดี  แม่ทัพภาคที่สี่ได้เขียนหัวเรื่องว่า “ขอให้ตรวจสอบกรณีนายอาดิล สาแมได้รับบาดเจ็บขณะถูกจับกุมและควบคุมตัว” หัวใจของจดหมายฉบับนี้คือการ “ขอให้ตรวจสอบ”  จริงๆ แล้วผู้เขียนก็เห็นว่ามูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ส่งหนังสือในลักษณะเดียวกันให้กับแม่ทัพท่านก่อนๆ  มาโดยตลอด  เป็นวิธีหนึ่งในการทำงานร่วมกัน

พวกเขาช่วยฉายไฟให้ท่านเห็น  เพื่อช่วยกันถอดชนวนของความรู้สึกอยุติธรรมที่อยู่ในใจชาวมลายูมุสลิม    หากท่านตรวจสอบ  “โดยบริสุทธิ์ใจ” แล้วว่าการร้องเรียนนั้นไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ จะมีเหตุผลอันสมควรใดๆ เล่า ที่จะต้องไปเจอกันที่ศาล เก็บแรงกันไว้สร้างสันติภาพในภาคใต้ร่วมกันจะไม่ดีกว่าหรือ

 

รุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักวิจัยอิสระ    เธอเคยเป็นนักวิเคราะห์ของ  International Crisis Group