รายงานเอเชียฉบับที่ 181
8 ธันวาคม 2009
ภาคใต้ของไทย : ก้าวไปสู่การแก้ปัญหาด้วยการเมือง?
บทคัดย่อ
เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้ประกาศว่ารัฐบาลจะนำการกำกับนโยบายการแก้ปัญหาในภาคใต้คืนมาจากกองทัพ แต่ว่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลยังคงวุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจเก่ากับผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกโค่นล้มด้วยการรัฐประหาร การแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าไปน้อยมาก แม้ว่ารัฐบาลจะมีความริเริ่มใหม่ๆ แต่ว่าความอ่อนแอของรัฐบาลและความจำเป็นในการพึ่งพาทหารเพื่อหนุนการดำรงอยู่ในอำนาจทำให้กองทัพยังคงมีบทบาทสำคัญในการควบคุมนโยบายภาคใต้ กฎหมายที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดผลลบยังคงบังคับใช้เช่นเดิมและปราศจากกลไกตรวจสอบการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลยังคงมิได้แสวงหาทางเลือกในเชิงนโยบายอย่างจริงจัง สถานการณ์มีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้นภายหลังจากที่เหตุการณ์บรรเทาลงในปี 2551 ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องลงมือปฏิบัติตามสิ่งที่เคยประกาศไว้ หากต้องการจะมุ่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบด้วยการเมืองอย่างแท้จริง
การเปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้นตั้งแต่ปี 2550 มีผลในการทำให้ความรุนแรงลดน้อยลงระดับหนึ่ง แม้ว่าในการดำเนินการนั้นจะก่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างมิชอบต่อผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวซึ่งนำไปสู่ความไม่พอใจในหมู่คนมลายูมุสลิม แม้ว่าจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในปี 2552 จะยังคงน้อยกว่าช่วงก่อนก่อนเปิดยุทธการปิดล้อมตรวจค้น แนวโน้มของเหตุการณ์ก็ไปในทิศทางที่รุนแรงขึ้น ลักษณะของการก่อเหตุมีความโหดร้ายมากขึ้นและเทคนิคการกดระเบิดก็มีความก้าวหน้ามากขึ้น การปฏิบัติการของขบวนการได้พิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถต้านทานการปราบปรามทางการทหารได้ การสังหารชาวมุสลิมในมัสยิดอัลฟุรกอนในขณะที่กำลังละหมาดอยู่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความกังวลมากขึ้นเรื่องความตึงเครียดระหว่างชุมชนที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงผลเสียของการติดอาวุธประชาชนโดยรัฐบาล การสอบสวนสืบสวนของตำรวจได้ระบุว่าผู้ต้องสงสัยว่ากระทำการสังหารโหดในมัสยิดนั้นเป็นคนพุทธ โดยทำไปเพื่อแก้แค้นการลอบโจมตีคนพุทธที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ต่างประเทศได้ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์สังหารในมัสยิดครั้งนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม
การดำเนินการเพื่อเพิ่มบทบาทพลเรือนในการปฏิบัติการในภาคใต้คืบหน้าไปน้อยมาก รัฐบาลได้ประกาศว่าเพิ่มอำนาจศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ด้วยการออกกฎหมายเพื่อให้ศอ.บต.สามารถบริหารงานอย่างเป็นเอกเทศจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งคุมโดยทหาร แต่ว่ากองทัพไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้อนุมัติการต่ออายุพรก.ฉุกเฉินไปแล้วสี่ครั้งซึ่งจะต้องมีการต่ออายุทุกๆ สามเดือน การต่ออายุทุกครั้งก็มีแรงกดดันมาจากทหาร พรก.ฉุกเฉินนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยโดยยังไม่ต้องตั้งข้อหาได้ 30 วัน นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ด้วย นอกเหนือจากพรก.ฉุกเฉินแล้ว ยังมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดปัตตานี ยะลาและนราธิวาสอีกด้วย เกือบหกปีที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน การที่เหตุการณ์การเสียชิวิตของอิหม่ามยะผา กาเซ็งในเดือนมีนาคม 2551 ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะมีผลทำให้การซ้อมทรมานลดน้อยลง แต่ว่าก็ยังคงไม่หมดไป ความล้มเหลวในการนำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมาลงโทษได้ไม่เพียงเป็นความอยุติธรรมต่อคนมลายูมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการดึงดูดคนใหม่ๆ ให้เข้าร่วมขบวนการอีกด้วย
งบประมาณการพัฒนาจำนวนมากที่รัฐบาลได้จัดสรรสำหรับการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ด้วยแนวทางการเมืองนั้นอาจก่อให้เกิดผลเชิงลบได้ โดยอาจส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมความไม่มั่นคง (industry of insecurity) ผลประโยชน์ต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้รับอาจส่งผลให้เกิดความคิดที่ไม่อยากจะทำให้ความรุนแรงสงบลง รัฐบาลควรจะมุ่งที่จะทำให้การดำเนินการโครงการเหล่านี้เป็นไปด้วยความโปร่งใสและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด การคอร์รัปชั่นจะส่งผลต่อความชอบธรรมของรัฐบาลซึ่งต้องต่อสู้อย่างหนักอยู่แล้วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาต่อคนมลายูมุสลิม นอกจากนี้ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ยังอาจจะไม่มีผลต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบมากนัก เพราะการต่อต้านที่เกิดขึ้นนั้นมาจากความอยุติธรรมและความคับข้องใจในทางการเมือง เช่น การไม่ยอมรับในเรื่องภาษาและชาติพันธุ์
รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ถูกท้าทายโดยกลุ่มผู้สนับสนุนของอดีตนายกฯ ทักษิณมาโดยตลอดและรัฐบาลต้องพึ่งพิงทหารในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านและรักษาอำนาจทางการเมือง ความจำเป็นนี้ส่งผลให้รัฐบาลไม่กล้าที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายภาคใต้ เช่น การยกเลิกกฎหมายที่รุนแรงหรือการเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายพลเรือน นอกจากนี้ รัฐบาลยังขาดความมุ่งมั่นที่จะริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ทางการเมือง เช่น การแสวงหารูปแบบการปกครองใหม่ในภาคใต้ รัฐบาลควรที่จะทบทวนนโยบายที่ปฏิเสธการเจรจากับขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ รวมถึงควรจะศึกษาความเป็นไปได้ถึงรูปแบบการปกครองใหม่ๆ สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ เวทีการพูดคุยอย่างสันตินั้นมีอยู่แล้ว ถ้าหากว่ารัฐบาลมีความจริงจังที่จะพูดคุยกับตัวแทนของขบวนการ ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นในหลายๆ พื้นที่ในโลกที่มีความขัดแย้งแล้วว่าการเจรจานั้นเป็นวิถีทางที่มีประสิทธิภาพในการยุติความรุนแรงและไม่จำเป็นว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่รัฐบาลหวาดกลัว
ข้อเสนอแนะสำหรับรัฐบาลไทย
1. ยกเลิกพรก.ฉุกเฉินและกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และใช้พระราชกำหนดความมั่นคงแทน รวมทั้งดำเนินการเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. วางข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดในการดำเนินการตามมาตรา 21 ของพรบ.ความมั่นคงซึ่งอนุญาตให้ กอ.รมน. มีอำนาจยุติการดำเนินคดีโดยแลกเปลี่ยนกับการเข้า “อบรม” หกเดือน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและมีสิทธิในการปรึกษาหารือกับผู้ที่เขาไว้วางใจเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกดดันให้สารภาพผิดต่อความผิดที่มิได้ก่อ
3. ดำเนินการพูดคุยกับตัวแทนของขบวนการอย่างจริงจังและแสวงหาทางออกทางการเมืองที่ไม่ขัดต่อหลักความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทย เช่น การจัดตั้งโครงสร้างการปกครองแบบพิเศษสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. ยกเลิกกองกำลังประชาชนชาวพุทธที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อ “ป้องกันตนเอง” และกลุ่มติดอาวุธที่จัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการซึ่งมีการควบคุมเพียงหลวมๆ เพราะปฏิบัติการของกลุ่มเหล่านี้มีส่วนทำให้ความตึงเครียดระหว่างชุมชนเพิ่มมากขึ้น
5. ควบคุมการแจกจ่ายอาวุธปืนสำหรับกลุ่มติดอาวุธที่รัฐจัดตั้งขึ้นและการครอบครองอาวุธส่วนตัวของประชาชน การกำหนดเกณฑ์การให้ใบอนุญาต รวมทั้งการปราบปรามการถือครองอาวุธปืนสงครามโดยประชาชน
6. เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางแผนโครงการพัฒนาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณสำหรับการพัฒนา
7. ดำเนินการเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้กระทำการละเมิดสิทธิได้รับการลงโทษ รวมทั้งหยุดการซ้อมทรมานและการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องสงสัย
8. เร่งรัดการสอบสวนและการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยในคดีการสังหารในมัสยิดอัรฟุรกอนเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้น
กรุงเทพฯ/บรัสเซลล์, 8 ธันวาคม 2552